เผยแพร่ |
---|
สถานีคิดเลขที่ 12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร0
รอดไหม-ยากคาดเดา
“ไหม”น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ที่กำลังโดดเด่นอยู่ในขณะนี้
ตั้งคำถาม และแสดงความห่วงใย อยู่ 2 เรื่อง ว่า จะ”รอดไหม”
“รอดไหม”แรกคือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท
“รอดไหม”ที่สอง คือ พรรคก้าวไกลที่เธอสังกัดอยู่
ทั้งนี้ในเรื่องแรก น.ส.ศิริกัญญา ถือเป็น หัวหอกหลักของพรรคในการออกมาท้วงติง วิพากษ์วิจารณ์ นโยบายนี้
และดูเหมือนจะมีน้ำหนักอยู่ไม่น้อย
เพราะมีปฏิกริยาตอบโต้จากแกนนำรัฐบาลและเพื่อไทย เป็นขบวน และในหลายรูปแบบ
ตอบโต้ทั้งในเชิงแนวคิด หลักการ ที่มีเหตุ มีผล
เรื่อยไปไกลถึงขนาด “ท้าพนัน” จากประธานวิปรัฐบาล ว่า หากโครงการนี้สำเร็จ ให้น.ส.ศิริกัญญา ไป “บวชชี”
ซึ่งชี(She) ก็ตอบโต้กลับไปแบบ นุ่มเนียน ว่า “อยากให้เป็นองครักษ์ที่ถูกต้อง คือ โต้ตอบในประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมา ถ้าไปโต้อย่างอื่น เป็นเรื่องอื่น มันก็ไม่ช่วยทำให้เกิดความกระจ่างชัดเจนมากขึ้น”
ถือเป็น สีสัน ที่คงไม่ต้องไปขยายประเด็นต่อ
เพราะสิ่งที่ควรจะเป็นนั้น ควรจะเป็นไปในแนวทางที่ว่า หากจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับสิ่งที่น.ส.ศิริกัญญา เสนอ เป็นสิทธิที่สามารถ”มองต่างมุม” ได้ และก็สามารถตอบโต้ หักล้าง ด้วยเหตุผล ได้อย่างเต็มที่
ซึ่งหากมีข้อมูลและเหตุผลที่ดีกว่า ชี(She)ก็ต้องเสียรังวัด และถูกเย้ยไพอย่างหนักไปเอง
ประเด็นสำคัญ สิ่งที่ตอบโต้เธอ ต้องมีน้ำหนัก และเคลียร์ที่ชัดเจนพอสมควร
หากยังคลุมเครือ และไม่เป็นกระบวนอย่างตอนนี้ ก็น่าห่วงใยว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท จะรอด หรือไม่รอด
ซึ่งเมื่อว่ามาถึงประเด็น”รอดหรือไม่รอด”นี้ แล้ว
น.ส.ศิริกัญญา ก็ได้เสนอในเชิงหลักการไว้น่าสนใจ ว่า ถ้าจะมีการยกเลิกหรือล้มเลิกโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็ขอให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย
อย่าเอากลไกข้างนอกมาใช้
คือไม่ควรมีองค์กรอิสระองค์กรไหนก็ตาม ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องของนโยบายหาเสียง
องค์กรอิสระ ที่น.ส.ศิริกัญญา พูดถึง คงหมายถึง คณะกรรมการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และทุกสิ่งทุกอย่างจะไปจบ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
โดยองค์กรอิสระเหล่านี้ ถูกพูดถึง และถูกคาดหมาย ว่าจะเป็นองค์กรที่”ชี้เป็นชี้ตาย” การอยู่หรือไปของนโยบายนี้
ซึ่งน.ศ.ศิริกัญญาและพรรคก้าวไกล เห็นว่าไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน และที่ผ่านมีคำถามและข้อสงสัยต่อสิ่งที่องค์กรเหล่านี้วินิจฉัยมีอยู่มากมาย
ดังนั้น เรื่องเงินดิจิตัล ที่ถูกนำเสนอเป็นนโยบายของพรรคการเมือง และเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ควรจะถูกตัดสินผ่านกระบวนการประชาธิปไตย โดยฝ่ายบริหารและรัฐสภาเป็นหลัก
จะเอาหรือไม่เอา ต้องตัดสินใจร่วมกัน
มิใช่ไปขึ้นกับองค์กรใดองค์หนึ่ง
เพราะมันคาดหมายได้ยากและมีปัจจัยอันน่าสงสัยมากมายกับการชี้ว่า อะไร ควรรอด และไม่รอด
ซึ่งสังคมไทยเผชิญภาวะเช่นนี้มาหลายกรณีแล้ว
แน่นอนกล่าวสำหรับ พรรคก้าวไกล ก็เผชิญชะตากรรมมาตลอดรายทางที่ก้าวเดินมา
และในอนาคตอันใกล้ก็ยังต้องเผชิญอีก
นั่นคือ กรณีเรื่องถือหุ้นสื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และกรณีพรรคก้าวไกลถูกกล่าวหาเรื่องล้มล้มการปกครองกรณีของแก้ไขกฏหมายอาญา มาตรา112
ซึ่ง น.ส.ศิริกัญญารับตรงๆว่า มีความกังวล และลุ้นมาก เป็นเรื่องที่สองนอกเหนือจากเงินดิจิทัล ว่าจะรอดไหม
ก้าวไกลจะถูกยุบพรรค ถูกตัดสิทธิหรือประหารชีวิตทางการเมือง หรือไม่
ไม่มีใครรู้ เพราะไร้บรรทัดฐานชี้ขาดจนยากจะคาดเดา
————–