ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก : (จบ) ปัญหาโควิด-19 ระบาด

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก

: (จบ) ปัญหาโควิด-19 ระบาด

 

รายงานทางการขององค์การอนามัยโลกระบุว่า จาก 3 มกราคม 2020-8 พฤศจิกายน 2023 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีน 99,318,718 ราย เสียชีวิต 121,790 คน (https://covid19.who.int/region/wpro/country/cn)

เทียบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 103,436,829 ราย และเสียชีวิต 1,138,309 คน (https://covid19.who.int/region/amro/country/us) ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 4,758,429 ราย และเสียชีวิต 34,488 คนในช่วงเวลาเดียวกัน (https://covid19.who.int/region/searo/country/th)

ศาสตราจารย์ โฮเฟิง หง ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การเมืองจีนและโลกแห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา สรุปปิดท้ายบทสัมภาษณ์เมื่อต้นปี 2022 เกี่ยวกับประสบการณ์โควิด-19 ระบาดในจีนไว้ว่า (https://thedigradio.com/podcast/clash-of-empires-w-ho-fung-hung/) :

แผนภูมิเปรียบเทียบการประเมินประสิทธิศักย์ของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดต่างๆ : วัคซีนประเภท mRNA สูงสุดกว่า 90% เทียบซิโนแวคของจีนที่ 50% https://www.statista.com/chart/23510/estimated-effectiveness-of-covid-19-vaccine-candidates/

แดเนียล เดนเวอร์ : คำถามสุดท้ายนะครับ ผมอยากทราบว่าประสบการณ์ของจีนในการจัดการโรคระบาดโควิด-19 นั้น ด้านหนึ่งส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมภายในประเทศของรัฐอย่างไร และอีกด้านหนึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะของรัฐจีนในระบบโลกเช่นใดหรือครับ?

ทั้งนี้เพราะในเรื่องดังกล่าวจีนได้ก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงลบขึ้นมามากในต่างประเทศ แต่หากเปรียบตัดกับโลกตะวันตกแล้ว ทางการจีนก็อาจช่วยรักษาชีวิตคนหลายล้านในประเทศไว้ด้วยเหมือนกัน (ดูตัวเลขเปรียบเทียบขององค์การอนามัยโลกด้านบน)

ขณะเดียวกัน การค้าของจีนก็เติบโตเร็วกว่าอัตราเฉลี่ยของโลกถึง 5 เท่าในรอบ 3 ปีหลังนี้ (ดู WTO, World Trade Statistical Review 2022, pp. 10-11, https://www.wto.org/english/res_e/booksp_e/wtsr_2022_e.pdf) ทว่า มาตอนนี้ (มีนาคม 2022) เชื้อโอไมครอนกำลังลุกลามไปทั่วจีนแล้วโดยที่ประชากรวัยชราในสัดส่วนใหญ่โตอย่างน่าตกใจก็ยังไม่ได้รับวัคซีน นำไปสู่การล็อกดาวน์ในภูมิภาคต่างๆ ที่ทำการผลิตเพื่อส่งออกอย่างสำคัญหลายแห่งน่ะครับ (ดูรายงานข่าว “Surge of Omicron Infections Prompts Lockdowns in China,” The New York Times, 14 March 2022, https://www.nytimes.com/2022/03/14/world/asia/china-covid-omicron-lockdowns.html)

โฮเฟิง หง : ประสบการณ์ของจีนกับโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงสองปีหลังนี้โลดโผนผันผวนขึ้นลงเหมือนรถไฟเหาะครับ แรกทีเดียวเมื่อเชื้อโควิดเริ่มปะทุในเมืองอู่ฮั่น เรื่องที่พูดคุยกันคือการที่ทางการจีนปกปิดมันไว้ก่อให้เกิดโรคระบาดนี้ขึ้นมาอย่างไร และผู้คนในจีนไม่พอใจการปกปิดที่ว่านี้แค่ไหน ตอนนั้นอู่ฮั่นกำลังทนทุกข์ทรมานและชาวโลกก็มองจีนเป็นประเทศอำนาจนิยมประเภทที่คอยปกปิดความผิดพลาดของตัว ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตลุกลามไปทั่วโลก

แต่แล้วเรื่องพูดคุยก็ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วหลังเชื้อไวรัสโคโรนาขึ้นถึงฝั่งสหรัฐและยุโรปแล้ว เผยให้เห็นความบ้อท่าของรัฐบาลทั้งหลายที่ปกครองอยู่ครับ ขณะเดียวกัน จีนก็เร่งระดมกลไกอันเข้มงวดเคร่งครัดยิ่งของตนมาล็อกดาวน์ภูมิภาคต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคและผู้คนหลายล้านคน อันเป็นการตัดขาดสายทางแพร่เชื้อไวรัสลงไป

 

พอถึงปลายปี 2020 ต่อต้นปี 2021 ก็ดูเหมือนว่าจีนประสบความสำเร็จในการควบคุมเชื้อไวรัสโคโรนาเอาไว้ได้ขณะที่เหล่าประเทศตะวันตกกลับล้มเหลว จีนก็เลยได้ทีคุยโอ่โอ้อวดตัวแบบของตน แต่ครั้นมาถึงเรื่องวัคซีน มันก็ปรับเปลี่ยนกระแสการพูดคุยไปอีกทาง เพราะวัคซีน mRNA ซึ่งบรรดาประเทศตะวันตกสร้างขึ้นนั้นมีประสิทธิผลมากทีเดียวครับ ขณะที่ฝ่ายจีนกลับต้องดิ้นรนขวนขวายหาทางทำวัคซีน mRNA ของตัวบ้าง พวกเขาผลิตได้แต่ซิโนแวคและซิโนฟาร์มซึ่งเป็นวัคซีนแบบดั้งเดิมที่มีประสิทธิผลน้อยกว่าน่ะครับ

แล้วมาถึงคลื่นการระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนระลอกนี้ เราก็ได้เห็นขีดจำกัดของแนวทางป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ด้วยการล็อกดาวน์ครับ ทั้งนี้เพราะเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่นี่มันแพร่กระจายไปได้ยิ่งกว่าเดิมมาก ขณะเดียวกัน งานวิจัยก็แสดงให้เห็นว่าวัคซีนต่างๆ ของจีนมีประสิทธิผลในการป้องกันอาการป่วยหนักได้น้อยกว่าวัคซีน mRNA ครับ

ดังนั้น ตอนนี้เรื่องพูดคุยจึงเป็นว่าจีนจะสามารถเดินแนวทางล็อกดาวน์แบบเข้มงวดเคร่งครัดของตนต่อไปหรือไม่ และดูเหมือนว่าตัวสี จิ้นผิง เองก็กำลังเปลี่ยนน้ำเสียงไปแล้วครับ โดยหันไปเน้นย้ำอันตรายของการยังความเสียหายต่อเศรษฐกิจแทน บางคนเสนอแนะว่าจีนอาจกำลังเคลื่อนออกห่างแนวทางล็อกดาวน์แบบเข้มงวดเคร่งครัดนี้อย่างช้าๆ และเงียบๆ ก็เป็นได้ แต่มันก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกชัดได้นะครับ เอาเป็นว่า บัดนี้ภาพที่เห็นก็คือสหรัฐเอย ยุโรปเอย และประเทศเอเชียอื่นๆ เอย ตั้งแต่สิงคโปร์ ไปเกาหลีใต้ จรดญี่ปุ่น แม้ว่าจะไม่รวมไต้หวันด้วยนั้น กำลังโผล่พ้นโรคระบาดโควิด-19 ออกมาได้ด้วยวัคซีน mRNA เหล่านี้ครับ

ทว่า ในขณะเดียวกันจีนกลับติดแหง็กอยู่ในการล็อกดาวน์แบบเข้มงวดเคร่งครัดและต้องจ่ายราคาค่างวดให้กับการนี้อย่างหนักระหว่างที่ตนดิ้นรนพัฒนาวัคซีน mRNA แบบของตัวขึ้นมา

 

ฉะนั้น คำถามที่ว่าใครรับมือโรคระบาดโควิด-19 ได้ดีกว่ากันจึงยังไม่ถูกเฉลยไขให้ตกไปนะครับ เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมของจีนทั้งในระดับโลกและในประเทศอย่างไรด้วย แต่ที่แน่ชัดก็คือความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกส่วนที่เหลือย่ำแย่ลงเนื่องจากโรคระบาดครั้งนี้ ไม่ว่าจีนจะจำกัดปิดกั้นไวรัสโคโรนาได้ดีเพียงใด จีนก็ยังคงไม่สามารถขจัดภาพพิมพ์ใจผู้คนทั้งหลายได้ว่าจีนเองนั่นแหละที่ไม่ยอมร่วมมือในทางสากลกับองค์การอนามัยโลกเพื่อสอบสวนกำเนิดของไวรัสตัวนี้ครับ

ผู้คนมากหลายยังเชื่อว่าจีนซุกซ่อนปิดงำข่าวสารข้อมูลและขัดขวางการสอบสวนทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศในเรื่องนี้ การปกปิดตอนแรกเริ่มของจีนยังคงเป็นปัญหาอยู่ครับ ผู้คนพากันถกเถียงอย่างชอบด้วยเหตุผลว่าถ้าหากจีนยอมรับว่ามีไวรัสโคโรนาแต่เนิ่นกว่านี้ บางทีโรคระบาดทั่วโลกอาจไม่ปะทุขึ้นมาก็ได้ บางทีอาจปิดกั้นมันไว้ได้ในจีนหรือที่เมืองอู่ฮั่น

ดังนั้น โรคระบาดครั้งนี้จึงน่าจะมีผลกระทบต่อการบริหารปกครองโลก ต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน และต่อความสัมพันธ์ของจีนกับโลกอย่างยืนนานแน่ๆ ครับ มั่นใจได้เลย