กรองกระแส / คำสั่ง แปรเปลี่ยน คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 53/2560 รุก อาจเป็น ‘รับ’

กรองกระแส

คำสั่ง แปรเปลี่ยน
คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 53/2560
รุก อาจเป็น ‘รับ’

คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44
เป็นมาตรการ “รุก” ทางการเมืองอย่างแน่นอน
รูปธรรมอันเด่นชัดคือ การออกมาแสดงปฏิกิริยาอย่างพร้อมเพรียงกันจากพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย
ยืนยันว่านี่คือ การรีเช็ต โดยมีเป้าหมายเดียวกันกับเซ็ตซีโร่
เหมือนกับเป็นการ “รุก” อย่างเข้มข้น ไม่เพียงแต่เป็นการจัดระเบียบให้กับพรรคการเมืองเก่า พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคการเมืองใหม่ พรรคการเมืองขนาดเล็ก ซึ่งมีความโน้มเอียงจะสนับสนุน คสช. สนับสนุนการสืบทอดอำนาจให้กับ คสช. เท่านั้น
หากแต่ยังเป็นอีก “เงื่อนไข” หนึ่งซึ่งจะทำให้แนวโน้มการเลื่อนการเลือกตั้งดำเนินไปอย่างมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น
ที่คิดกันว่าน่าจะเป็นในเดือนพฤศจิกายน 2561 ก็อาจเป็นไปไม่ได้
โอกาสที่ คสช. และรัฐบาลจะสร้างผลงานและความสำเร็จโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจก็จะมีมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ตัดโอกาสฝ่ายตรงกันข้ามให้เหลือน้อยลงเป็นลำดับ

ผลพวงคำสั่ง
กับ “ตาสว่าง”

กระนั้น ภายในมาตรการ “รุก” ทางการเมืองลักษณะนี้ก็ทำให้สังคมประจักษ์ในความเป็นจริงของการสมคบคิดทางการเมืองลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
เห็นว่ารากฐานแห่งคำสั่งหัวหน้า คสช. มีความเป็นมาอย่างไร
ที่สำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง 1 ข่าวการตรวจจับอาวุธสงครามและวัตถุระเบิด กับ 1 การออกโรงของ นายสุเทพ เทือกสุบรณ เลขาธิการ กปปส. และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป เสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง
ทั้งหมดนี้ล้วนเพื่อนำไปสู่การ “ยื้อ” การปลดล็อกพรรคการเมือง และการเลื่อนโรดแม็ปการเลือกตั้งให้ทอดยาวออกไป
บทบาทของบรรดา “นกต่อ” ทางการเมืองจึงถูก “เปิดโปง”
ก่อนหน้านี้อาจมีการขุดคุ้ยโจมตีจากพรรคเพื่อไทยประสานเข้ากับ นปช.คนเสื้อแดง แต่สังคมก็ไม่เต็มใจที่จะยอมรับ แต่คราวใหม่นี้ที่ออกโรงขุดคุ้ย เปิดโปง โจมตีอย่างเอาการเอางานกลับเป็นพรรคประชาธิปัตย์ และรวมถึงบางคนที่เคยเคลื่อนไหวในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและบางคนที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ใน กปปส.
จึงทำให้มองเห็นถึงลักษณะ “สมคบคิด” อันต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้อย่างเด่นชัด

ปฏิกิริยาสังคม
หมดความเกรงใจ

ท่าทีของนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะเป็น นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เริ่มรุนแรง แข็งกร้าว
พุ่งเป้าโจมตีไปยัง “คสช.” โดยตรง
ถึงกับระบุว่า กระบวนการใช้มาตรา 44 ต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 สะท้อนลักษณะไม้หลักปักเลน และยิ่งใช้อย่างพร่ำเพรื่อ จะยิ่งขาดบทบาทและไม่มีความหมายมากยิ่งขึ้น
เนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาจาก “แม่น้ำ 5 สาย”
ยิ่งกว่านั้น ยังมีความพยายามที่จะยื่นกรณีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 เพื่อให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แม้จะประเมินและแจ้งในทิศทางว่าผลการวินิจฉัยจะออกมาอย่างไรแต่ก็ต้องการคำตอบ
เท่ากับทำให้องค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาอยู่ในกระแสและวังวนความขัดแย้งในทางการเมืองลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เท่ากับชี้ให้เห็นว่าสังคมเริ่มกล้าที่จะเผชิญหน้ากับ “คสช.”

สถานการณ์การเมือง
ยกก้อนหินทุ่มขาตนเอง

คําสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 สำแดงเจตจำนงอย่างเด่นชัดว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในมาตรการ “รุก” อันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง
เป้าหมายอยู่ที่พรรคการเมืองเก่า พรรคการเมืองใหญ่
เป้าหมายอยู่ที่การจัดระเบียบให้กับพรรคการเมืองเก่า พรรคการเมืองใหม่ เปิดช่องทางให้กับพรรคการเมืองใหม่ พรรคการเมืองขนาดเล็ก ซึ่งแสดงความโน้มเอียงอย่างเด่นชัดว่าจะสนับสนุน คสช. สนับสนุนนายกรัฐมนตรีจากคนนอก
กระนั้น เครื่องมือนี้ของ คสช. ก็ไม่แน่ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายในทางการเมืองได้อย่างครบถ้วน หากแต่ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวก็เริ่มปรากฏปฏิกิริยาในการโต้กลับ
เด่นชัดยิ่งว่า อีกฝ่ายรู้เท่าทันกับ “เครื่องมือ” นี้
เด่นชัดยิ่งว่า อีกฝ่ายมองเห็นโครงสร้างแห่งการแสวงหาอำนาจ การสืบทอดอำนาจได้อย่างทะลุปรุโปร่งตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยเฉพาะกลุ่มที่เสนอคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”
เผลอๆ ก้อนหินที่คิดจะทุ่มใส่คนอื่นอาจเป็นการทุ่มใส่ขาของตัวเองก็ได้