สุรชาติ บำรุงสุข : 41 ปีแห่งการเคลื่อนไหว – แด่คุณป้าฉลบชลัยย์ พลางกูร

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“คุณฉลบเป็นคนที่เห็นใครถูกรังแกเป็นไม่ได้ เธอจะช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ”

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ชีวิตในคุกบางขวางทำให้พวกเรามีโอกาสพบคนที่หากเป็นในภาวะปกติแล้ว ก็คงจะไม่ได้พบ

ดังที่กล่าวถึงในตอนที่แล้วว่า หากผมยังเป็นนิสิตจุฬาฯ และไม่ได้มีสถานะเป็น “นักโทษการเมือง” แล้ว ผมคงไม่ได้พบและนั่งคุยกับผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาด้านสิทธิมนุษยชนอย่างคุณแพทริเซีย เดเรียน ซึ่งยืนเด่นท้าทายผู้นำรัฐเผด็จการมาตลอด

บุคคลอีกท่านหนึ่งที่ยืนท้าทายกับผู้นำเผด็จการไทยมาอย่างยาวนานจนอาจต้องถือเป็น “คนในตำนาน” และเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยความกรุณากับชีวิตของพวกเราชาว 6 ตุลาฯ ที่ถูกจองจำในขณะนั้นก็คือ คุณป้าฉลบชลัยย์ พลางกูร

เป็นคนที่ทำให้ชีวิตในความเป็น “คนคุก” ของพวกเราไม่เศร้าหมองจนเกินไป

เพราะอย่างน้อยก็เห็นความเอาใจใส่และกำลังใจที่นักต่อสู้ทางการเมืองในรุ่นก่อนมีต่อพวกเรา

หญิงเหล็กแห่งเสรีไทย

ผมเชื่อว่าหากย้อนเวลากลับไปตอนอยู่ในคุกของพวกเราทั้ง 18 คน แล้ววันหนึ่งเมื่อถูกเปิดตัวออกมาเยี่ยมญาติก็พบว่า มีคุณป้าคนหนึ่งมาเยี่ยมพวกเรา ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าคงเป็นญาติของพวกเราคนใด

มาทราบต่อมาว่าคุณป้าชื่อ “ฉลบชลัยย์ พลางกูร” และไม่ได้เป็นญาติพวกเราเลยสักคน แต่คุณป้าต้องการมาเยี่ยมด้วยความห่วงใย และเป็นตัวแทนในการนำพากำลังใจของนักต่อสู้รุ่นก่อนมาสู่พวกเรา

เมื่อรู้ว่าคุณป้าเป็นใครแล้วก็อดตื่นเต้นไม่ได้ เพราะเคยอ่านเรื่องเสรีไทยซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ตัดสินใจลุกขึ้นต่อต้านการเข้ามาของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

คนกลุ่มนี้มีอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำ แต่ในระหว่างความพยายามในการเชื่อมต่อเสรีไทยในบ้านกับกองบัญชาการของสัมพันธมิตรในจีนที่จุงกิงด้วยการส่งคนออกไปติดต่อ แต่ก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา สายการติดต่อของเสรีไทยชื่อ “จำกัด พลางกูร”

คุณลุงจำกัดจึงเป็นอีกคนในตำนานของเสรีไทย แม้เรื่องราวของวีรกรรมนี้จะรับรู้กันเมื่อสงครามสิ้นสุดแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยถึงสถานะของการเป็น “วีรบุรุษเสรีไทย” ที่อุทิศตนด้วยการเดินทางจากไทยผ่านลาวไปจีน และเสียสละชีวิตในภารกิจอันมีเกียรติเพื่อเอกราชของไทย

เพราะเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง หากไม่มีเสรีไทยเป็นดัง “แนวกันชน” ต้านแรงกดดันของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความไม่พอใจของอังกฤษแล้ว ก็ไม่ชัดเจนว่าอนาคตของประเทศหลังสงครามจะออกมาในรูปแบบใด

คุณป้าพูดเสมอถึงการตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิตที่ยอมให้คุณลุงเสี่ยงชีวิตเดินทางไปจีน ก็เพราะ “ทำให้เขามีโอกาสรับใช้ชาติ ถ้าเผื่อว่าเขาพลาดโอกาสอันนี้ไป เขาคงเสียใจมาก”

คุณป้าเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ระดับอนุปริญญา) และต่อมาได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อด้านอนุบาล

และเมื่อกลับจากอังกฤษแล้วได้เปิดโรงเรียนอนุบาลขึ้นชื่อ “ดรุโณทยาน” หรือในภาษาอังกฤษคือ “Kindergarten”

คุณลุงมีเจตนารมณ์ว่าโรงเรียนนี้จะไม่สอนแต่ความรู้อย่างเดียว แต่จะสอนให้รักประชาธิปไตยด้วย เจตนารมณ์เช่นนี้สะท้อนอย่างชัดเจนถึงการต่อสู้ของทั้งสองท่าน

และในการสูญเสียที่เกิดขึ้น คนที่ยื่นมือเข้ามาก็คืออาจารย์ปรีดีด้วยคำกล่าวที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันยาวนานว่า “ต่อไปนี้ขอให้ถือว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน”

ตอนอยู่ในคุก พวกเราพอรับทราบถึงความสัมพันธ์เช่นนี้อยู่บ้าง เพราะในช่วงนั้นมีการเคลื่อนไหวในต่างประเทศและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษ “กรุงเทพฯ 18” คุณป้ามาเล่าว่าอาจารย์ปรีดีก็ร่วมลงนามด้วย… คุณป้ามาเยี่ยมพวกเราทั้งสามที่เรือนจำเป็นประจำ จนคุณป้ากลายเป็นคนที่ผู้คุมบางขวางคุ้นหน้าคนหนึ่ง และเลิกฟังบทสนทนาของคุณป้ากับพวกเราที่บางขวางไปโดยปริยาย

การมาเยี่ยมของคุณป้า นอกจากจะมาเล่าเรื่องราวต่างๆ แล้ว คุณป้ายังทำอาหารมาส่งให้พวกเราได้อิ่มท้องกัน จนผมเรียกคุณป้าว่า “เจ้ากรมส่งกำลังบำรุง”

สำหรับนักโทษคดี 6 ตุลาฯ และการส่งเช่นนี้มิได้มีแต่อาหารและสิ่งของอุปกรณ์เท่านั้น แต่ที่สำคัญก็คือคุณป้าส่งกำลังใจอย่างสำคัญให้แก่พวกเรา เพราะสำหรับชีวิตคนคุกแล้ว ไม่มีอะไรจะสำคัญเท่ากับกำลังใจ…

ขาดอะไรก็ขาดได้ แต่ถ้าขาดกำลังใจแล้ว ชีวิตในที่คุมขังจะเป็นความโหดร้ายอย่างยิ่ง และอาจจบลงด้วยความเศร้า

หลังจากได้รับการปลดปล่อยแล้ว ผมได้มีโอกาสฟังคุณป้าเล่าเรื่องราวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2…

ได้ฟังเรื่องราวของเสรีไทย…

ได้ฟังเรื่องของอาจารย์ปรีดี เรื่องราวเหล่านี้ตอกย้ำความรู้สึกของผมว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมไม่เคยถูกยุติลงด้วยอำนาจเผด็จการ แต่เป็นการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น…จากยุคสู่ยุค

แม้การต่อสู้เช่นนี้จะเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและขมขื่นเพียงใด แต่บนถนนสายนี้ก็มีผู้คนที่ตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ไม่เคยขาด

ผมเคยพูดเสมอว่าคุณป้าเป็น “หญิงเหล็ก” คนหนึ่งในขบวนการเสรีไทยที่ได้อุทิศชีวิตของสามีให้กับการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศ

เพราะแม้คุณลุงจำกัดจะเสียชีวิตที่จุงกิง แต่ก็เป็นโอกาสอย่างสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบว่าได้เกิดขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นในไทยแล้ว และหลังจากนี้จึงนำไปสู่การเชื่อมต่อระหว่างเสรีไทยภายในกับเสรีไทยภายนอก

คุณป้าจากเราไปในเดือนเมษายน 2560 ด้วยอายุ 100 ปีเศษ คงต้องยอมรับว่าชีวิตของคุณป้าเป็นตำนานอย่างแท้จริง

แม้พื้นที่นี้จะไม่มากพอที่จะบันทึกชีวิตและการต่อสู้ที่เกิดขึ้นทุกอย่างได้ แต่เรื่องราวของคุณป้าฉลบชลัยย์และโรงเรียนดรุโณทยานจะเป็นสิ่งที่ถูกเล่าขานดังตำนานหนึ่งของสังคมไทย

และพวกเราชาว 6 ตุลาฯ ได้กลายเป็น “นักเรียนดรุโณทยานรุ่นพิเศษ” ไปโดยปริยาย เพราะเคยมีลูกศิษย์ผมที่ไปเยี่ยมคุณป้าที่โรงเรียนแล้วพบกับผม ถามว่า “อาจารย์เรียนดรุโณทยานรุ่นไหน”

ผมตอบไปว่าผมเป็น “รุ่นพิเศษ”…เป็นรุ่นพิเศษจริงๆ ครับ

กำลังใจ… กำลังใจ!

กําลังใจสำคัญอีกส่วนยังมาจากบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่ที่แวะเวียนมาเยี่ยมพวกเรา ช่วงแรกก็อาจจะไม่ได้คุยเรื่องการเมือง แต่หลังๆ เมื่อผู้คุมเองคุ้นเคยกับเรามากขึ้น ความเข้มงวดก็เปลี่ยนแปลงไป

หลายครั้งที่เราคุยสถานการณ์การเมืองกับบรรดาคนที่มาเยี่ยม และผมเองต้องเป็นผู้เขียนบันทึกรายงานทุกครั้ง ก็ตัดเรื่องที่ดูจะเป็นการเมืองออกไป

ในช่วงแรกมีเพื่อนที่มาเยี่ยมกลัวเราจะไม่ได้ข่าวสาร ก็ใช้วิธีไปซื้อข้าวมันไก่ และเอาหนังสือพิมพ์ส่วนที่เป็นข่าวห่อมา แต่เผอิญข้าวมันไก่ห่อนั้นมีหนังสือพิมพ์ห่อมา 5-6 ชั้น เราก็เลยได้ข้าวมันไก่ แต่ไม่ได้หนังสือพิมพ์

กำลังใจเช่นนี้ทำให้รู้สึกว่าชีวิตในคุกไม่โดดเดี่ยวจนเกินไปนัก และหลายครั้งที่เพื่อนหรือน้องที่สนิทจะมาบอกว่าเพื่อนคนโน้นคนนี้ (ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในป่า) ฝากความคิดถึงมา

ดูเหมือนเมืองกับป่าในยุคนั้นอยู่ไม่ห่างไกลกันแต่อย่างใด หรือบางทียังมีการฝากจดหมายมาให้ก็มี

พวกเราพอจะรับรู้ได้ว่าสงครามในชนบทดูจะร้อนแรงมากขึ้น และแรงสนับสนุนจากสากลดูจะทวีมากขึ้นด้วย…

พวกเขาฝากกำลังใจจากป่ามาให้พวกเราเข้มแข็ง เราก็ฝากความคิดถึงจากคุกกลับไปให้พวกเขายืนหยัดต่อสู้ ไฟสงครามในชนบทหลังจากเหตุการณ์ล้อมปราบปี 2519 ดูจะลุกโชติช่วงขึ้น แม้พวกเราจะถูกคุมขังอยู่ก็พอรับรู้ได้ถึงสถานการณ์สงครามที่กำลังเกิดขึ้น…

เปลวไฟสงครามร้อนแรงขึ้นทุกวัน

นอกจากบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่แล้ว การเรียกร้องให้ปลดปล่อยพวกเราในเวทีสากลก็ดังไม่หยุด กระแสสากลกำลังถูกขับเคลื่อนจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางในนโยบายของสหรัฐ จากประเด็นความมั่นคงกำลังแปรเปลี่ยนเป็นกระแสสิทธิมนุษยชน

และในกรณีนี้รัฐบาลไทยตกเป็น “จำเลย” อย่างชัดเจนจากการคุมขังนักโทษคดี 6 ตุลาฯ ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กระแสสากลของรัฐมหาอำนาจที่แต่เดิมเคยสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการเพื่อการต่อต้านคอมมิวนิสต์กลับกลายเป็น “ลมเปลี่ยนทิศ” อันส่งผลให้ความชอบธรรมของรัฐบาลเผด็จการ 6 ตุลาฯ ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากเวทีสากลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้พวกเขาจะพยายามขายวาทกรรมของการเป็น “รัฐบาลต่อต้านคอมมิวนิสต์” แต่ทิศทางที่รัฐบาลกรุงเทพฯ พยายามนำเสนอในเวทีสากลกลับกลายเป็น “สินค้าตกยุค” เพราะการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจ

ฉะนั้น หลังจากปี 2520 ที่ทิศทางใหม่ของนโยบายสหรัฐถูกขับเคลื่อนจากวอชิงตันแล้ว รัฐบาลกรุงเทพฯ พร้อมกับบรรดาปีกขวาจัดทั้งหลายก็ตกอยู่ในสภาพของการ “ติดกับ” อยู่กับนโยบายต่อต้านและปราบปรามคอมมิวนิสต์แบบเดิม

จนทำให้บรรดาปีกขวาที่ไม่สุดโต่งเริ่มต้องคิดถึงนโยบายใหม่ และหวังว่าจะทำให้ไทยไม่ต้องกลายเป็น “โดมิโนตัวที่ 4″… ฝันร้ายของปี 2518 ยังเป็นสิ่งที่น่ากลัวเสมอ

ในอีกส่วนหนึ่ง กำลังใจที่สำคัญมาจากครอบครัวของพวกเราแต่ละคน ในท่ามกลางความเป็นห่วงของพ่อกับแม่ ผมรู้สึกว่าพ่อกับแม่ยังดีใจที่เราไม่เสียชีวิตในเช้าวันนั้นเช่นที่เกิดขึ้นกับเพื่อนบางคน

บางครั้งพ่อกับแม่มาจากพิษณุโลก หรือบางครั้งน้องสาวก็มาเยี่ยม และยังโชคดีที่คุณป้าที่เลี้ยงผมมาตั้งแต่เด็กก็แวะมาเยี่ยมเช่นกัน ตลอดรวมถึงการมาเยี่ยมของเพื่อนๆ และยังมีคุณป้าฉลบชลัยย์อีกด้วยแล้ว

อีกทั้งยังมีเครือมาศ เพื่อนผู้หญิงจากคณะอักษรศาสตร์ที่รู้จักกันตั้งแต่ปี 2516 แวะเวียนมาเยี่ยมเช่นกัน

จนวันหนึ่งในการเดินทางของชีวิต เธอได้กลายเป็น “คู่ทุกข์คู่ยาก” ของผม

คงต้องยอมรับว่าชีวิตในบางขวางไม่ได้เงียบเหงาและว้าเหว่เกินไปจนมีแต่ความหดหู่

สงครามและความสูญเสีย!

ในความเป็นนักโทษการเมืองนั้น เราเป็นเหมือนคนที่ไม่รู้อนาคตของตัวเอง เพราะหากเป็นนักโทษปกติแล้วก็คงพอจะคาดเดาถึงโทษที่จะได้รับจากการตัดสินได้บ้าง

แต่สำหรับพวกเราแล้วทุกอย่างคือการเมือง และจะหนักหรือเบาก็เป็นเรื่องทางการเมืองเช่นกัน

ยังเคยล้อกันเล่นๆ ว่าเราอาจจะได้ลดโทษบ้างตอนฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี ในปี 2525 เพราะถ้ารัฐบาลในปี 2519 ยังคงมีอำนาจอยู่แล้ว โอกาสที่จะออกไปสู่โลกภายนอกคงจะไม่ใช่เรื่องที่ควรฝันถึงแต่อย่างใด

ในสภาพเช่นนี้ เราเริ่มรับรู้มากขึ้นถึงเหตุการณ์ที่สนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในตอนเช้าวันที่ 6 ตุลาคม มีคนมาเล่าว่าหนึ่งในผู้เสียชีวิตในเช้าวันนั้นคือ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเป็นรุ่นน้อง แต่มีตำแหน่งเดียวกับผมที่จุฬาฯ

นอกจากนี้ ยังรับทราบด้วยความตกใจกับชะตากรรมของรุ่นน้องที่คณะ ซึ่งถูกจับแขวนคอที่ต้นมะขามที่สนามหลวง วิชิตชัยเข้าร่วมทำกิจกรรมและเดินทางไปสมทบในการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ผมไม่เคยคิดเลยว่าปฏิบัติการของฝ่ายขวาจัดในเช้าวันนั้นจะเป็นไปด้วยความโหดร้ายรุนแรงมากกว่าที่คิด

ย้อนกลับไปดูแล้ว อดคิดไม่ได้ว่าปฏิบัติการวันนั้นเหมือนการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ขบวนนิสิตนักศึกษาต่างหาก

ขณะเดียวกันผมก็เริ่มรับรู้ถึงชะตากรรมของเพื่อนๆ ที่ตัดสินใจเดินทางสู่ฐานที่มั่นในชนบท

ข่าวที่เป็นกำลังใจก็คือพวกเขาปลอดภัย และเมื่อมีเพื่อนที่รู้จักคนใดประกาศการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธผ่านสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นสถานีของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว ก็มักจะมีเพื่อนที่มาเยี่ยมส่งข่าวให้ทราบ ข่าวสงครามในชนบทเดินทางมาถึงพวกเราอย่างรวดเร็ว

แล้วข่าวร้ายชิ้นแรกก็เดินทางมาถึง มีเพื่อนแจ้งว่าน้องนิสิตหญิง วิมลศรี จากคณะนิเทศศาสตร์ ที่แม้จะไม่ได้ทำงานกับฝ่ายผมโดยตรง แต่เธอก็เข้ามาช่วยผมหลายครั้ง เธอเป็นคนเอาการเอางานคนหนึ่งในตึกจักรพงษ์ แล้วตัดสินใจ “เข้าป่า” ในภาคใต้

วิเป็นน้องจุฬาฯ คนแรกที่ผมรับทราบถึงการสูญเสีย วันที่มีเพื่อนนิเทศฯ จุฬาฯ มาแจ้งข่าวนั้น รู้สึกเหมือนมีอะไรมาจุกที่คอจนพูดไม่ออก… เหมือนเสียน้องจริงๆ ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตพวกเราในฐานะนิสิตจุฬาฯ จะเดินทางมาถึงจุดของการจับอาวุธเข้าต่อสู้กับฝ่ายรัฐ อันเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิตคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากในขณะนั้น

แต่นี่คือปรากฏการณ์ของคนหนุ่มสาวที่ตัดสินใจจะเปลี่ยนแปลงโลกของสังคมไทย

และแน่นอนว่าการตัดสินใจเช่นนี้มีราคาของชีวิตที่ต้องจ่าย

น้องสาวผมคนนี้เป็นชีวิตแรกที่ผมรับรู้ด้วยความเจ็บปวด

และนี่คือชีวิตของคนหนุ่มสาวที่อุทิศตัวเองให้กับ “สงครามปฏิวัติ” แม้ต่อมาในยุคหลังอาจจะถูกดูแคลนว่าเป็นความฝันเฟื่องของคนรุ่นผม แต่นี่คืออุดมคติที่คนหนุ่มสาวในปี 2519 ฝันถึง และยอมเอาชีวิตเข้าแลก

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นถึงการขยายตัวของสงครามปฏิวัติไทย คนหนุ่มสาวลูกหลานชนชั้นกลางได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนการปฏิวัติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

นิสิตนักศึกษาได้ย้ายเวทีการเรียกร้องอย่างสันติในเมือง ไปสู่การจับอาวุธต่อสู้ในชนบท…

เพื่อนๆ เหล่านี้กำลัง “จับปืน” แทน “จับปากกา”

และมีความหวังว่าการล้มของโดมิโนตัวที่ 4 ก็ไม่น่าจะอยู่ไกลมากนัก!