การศึกษา / หย่าศึก ‘ผอ.สพท.-ศธจ.’ หรือทอดเวลา ‘ระเบิดลูกใหม่??’

การศึกษา

หย่าศึก ‘ผอ.สพท.-ศธจ.’
หรือทอดเวลา ‘ระเบิดลูกใหม่??’

ลดอุณหภูมิร้อนแรงได้พอสมควรเมื่อ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามร่างแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พิจารณา
หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.)/ผู้อำนวยการโรงเรียน (ผอ.ร.ร.) กับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) นำมาสู่ปัญหา ผอ.สพท. งัดข้อปฏิเสธการร่วมงานกับ ศธจ.
ผู้อำนวยการโรงเรียนฟ้องร้อง ศธจ. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากยังไม่พิจารณาเลื่อนเงินเดือน
ผู้อำนวยการโรงเรียนฟ้อง ศธจ. เนื่องจากยังไม่ลงนามย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนตามมติคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)
ผู้อำนวยการโรงเรียนตอบปฏิเสธ ศธจ. ที่สั่งการให้ชี้แจงข้อร้องเรียนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยให้เหตุผลว่ารอ ผอ.สพท. สั่ง
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 ที่ให้โอนการใช้อำนาจการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53 (3)(4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของ ศธจ. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)
จากเดิมเป็นอำนาจของ ผอ.สพท. และ ผอ.ร.ร.

ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ชมรม/สมาคมครูจังหวัดร้อยเอ็ด สะท้อนปัญหาว่าหลังมีคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560 เกิดปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาเรื่องต่างๆ เช่น การพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะของครู เลื่อนเงินเดือน แต่งตั้งครู ผอ.ร.ร. และรักษาการ ผอ.ร.ร. ส่งผลให้รักษาการ ผอ.ร.ร. ไม่กล้าตัดสินใจเรื่องบุคลากรและงบประมาณ ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาตามมา
นอกจากนี้ มีปัญหาความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติ สิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณ
มีการโอนอัตรากำลังของเขตพื้นที่ฯ และตัดอัตรากำลังของครูที่เกษียณที่ควรคืนแก่โรงเรียนจำนวนกว่า 1,400 อัตรา ไปให้สำนักงาน ศธจ.
งบประมาณของ สพท. โดนแบ่งไปให้สำนักงาน ศธจ. ขณะที่ภาระงานยังเหมือนเดิม
ตลอดเดือนที่ผ่านมา ชร.ผอ.สพท. แท็กทีม ส.บ.ม.ท. และชมรม/สมาคมครูจังหวัดร้อยเอ็ด เคลื่อนไหวต่อต้านอย่างเป็นระบบเพื่อเรียกร้องให้คืนการใช้อำนาจตามมาตรา 53(3) และ (4) ให้แก่ ผอ.สพท. และ ผอ.ร.ร.
อาทิ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรายชื่อสนับสนุน การให้ครูโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี ประธานกรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และสื่อ
เพื่อแสดงถึงพลังสนับสนุนเรื่องนี้

ร้อนถึงประธานชมรม ศธจ. ต้องออกมาโต้กลับ
โดยชี้แจงข้อกล่าวหาของ ชร.ผอ.สพท. พร้อมเรียกร้องให้ทอดเวลาไปอีกระยะก่อนคืนอำนาจ ให้เหตุผลว่า ศธจ. เพิ่งตั้งไข่ จึงยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า ศธจ. ทำงานบกพร่อง
ขณะเดียวกันผู้แทนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ศธจ. 4 ภาค ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ชี้แจงข้อกล่าวหาของ ชร.ผอ.สพท.
พร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าการปฏิรูปการศึกษาโดยไม่ควรแก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 19/2560
และขอเวลาให้ ศธจ. ทำงานครบ 1 ปีก่อนโอนอำนาจคืน ผอ.สพท. และ ผอ.ร.ร.

12 ธันวาคม ศธ. ตัดสินใจเบรกอุณหภูมิที่ร้อนแรงด้วยการเปิดโต๊ะแถลงข่าวร่วมกันระหว่างปลัด ศธ. เลขาธิการ กพฐ. ตัวแทน ผอ.สพท. และตัวแทน ศธจ. ประมาณ 50 คน มีประธานชมรม ศธจ. ร่วมด้วย
สรุปความว่า รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะเสนอแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2560 โดยคืนอำนาจตามมาตรา 53(3) และ (4) ให้แก่ ผอ.สพท. และ ผอ.ร.ร. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานบุคคล
นอกจากนี้ จะให้ ศธจ. เป็นผู้แทน ศธ. ทำหน้าที่ประสานงาน บูรณาการการศึกษาในดับจังหวัด โดยจะตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษาและคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง 2 ชุดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศธจ. เป็นเลขานุการ
สำหรับคณะกรรมการบริหารงานบุคคล จะมี ผอ.สพท. ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีสัดส่วนเท่ากับ ผอ.สพท. และผู้แทนจากส่วนต่างๆ
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. ระบุว่า ผอ.ร.ร. มีอำนาจลงนามอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครูที่ไม่มีวิทยฐานะ หรือครูผู้ช่วยและครู คศ.1 ตั้งแต่การแต่งตั้ง เลื่อนขั้นเงินเดือน หรืออื่นๆ ที่เป็นมติของ กศจ.
ส่วนครูที่มีวิทยฐานะแล้ว เป็นอำนาจของ ผอ.สพท. ตามที่ กศจ. อนุมัติ ขณะที่ กศจ. มีหน้าที่พิจารณาตามที่ ผอ.สพท. เสนอ โดยจะมีการคานอำนาจกัน กรณีที่ กศจ. เห็นว่าไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ก็จะไม่อนุมัติหรือขอให้ชี้แจงเพิ่มเติม เป็นการถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่าง ผอ.สพท. และ กศจ. เรื่องบริหารงานบุคคลจะจบที่คณะกรรมการชุดนี้
ส่วน ศธจ. ทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องที่ ผอ.สพท. และ ผอ.ร.ร. เสนอ กศจ. ศธจ. เปรียบเหมือนแม่บ้านใหญ่
หากเรื่องใดไม่เป็นไปตามขั้นตอน ศธจ. อาจใช้วิธีการประสานภายในให้ สพท. และ ผอ.ร.ร. ปรับแก้

ด้าน นายเชิดศักดิ์ ศรีสง่าชัย ศธจ.ขอนแก่น ประธานชมรม ศธจ. ห่วงใยว่า ตามประกาศของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) ให้ ผอ.สพท. จัดทำข้อมูลการย้ายของข้าราชการทุกประเภททุกตำแหน่ง ก่อนเสนอคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) ให้ความเห็นต่อ กศจ. ฉะนั้นถ้ายังไม่มีการแก้ไขประกาศ คปภ. เท่ากับว่า ผอ.สพท. เป็นคนจัดทำข้อมูล ผอ.สพท. กลั่นกรองข้อมูลใน อกศจ. และ ผอ.สพท. ยังไปร่วมพิจารณาในคณะกรรมการบริหารงานบุคคลด้วย ซึ่งเกรงว่าจะเป็นการใช้อำนาจซ้ำซ้อนซึ่งจะเป็นประเด็นในอนาคตหรือไม่
ขณะที่ นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 1 ประธาน ชร.ผอ.สพท. เสนอให้ดึงผู้แทนคณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษา ผู้แทนคณะกรรมการบริหารงานบุคคล ผู้แทน ศธจ. ผู้แทน ผอ.ร.ร./ผู้แทนครู ฯลฯ เป็นกรรมการกลั่นกรองการย้าย ก่อนเสนอให้คณะกรรมการบริหารงานบุคคลพิจารณา โดยตัดตอน อกศจ. ออก
เพื่อตอบคำถามสังคมได้ว่า ผอ.สพท. ไม่ได้ชงเองกินเอง

ส่วน นายพิทักษ์ บัวแสงใส ประธานชมรมครูจังหวัดร้อยเอ็ด ระบุว่า เพื่อไม่ให้นำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ ไม่ควรให้ ศธจ. เป็นตัวแทน ศธ. สั่งการพื้นที่ฯ เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวายและสับสนแก่ครู เพราะผู้บังคับบัญชาของครูคือ ผอ.สพท. แต่เมื่อให้ ศธจ. ซึ่งเปรียบเหมือนต่างกรม มาสั่งการ จะทำให้ครูสับสนได้
ส่วนการที่ ผอ.สพท. ในจังหวัดทุกคนนั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารงานบุคคลในสัดส่วนเท่ากับผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นแค่การแบ่งอำนาจกันระหว่าง ผอ.สพท. กับ ศธจ. ควรมี ผอ.ร.ร. และครูซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแท้จริงเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารงานบุคคลในสัดส่วนเท่ากับ ผอ.สพท./ผู้ทรงคุณวุฒิ เพราะถือเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลดีที่สุด
เป็นปัญหาที่เจ้ากระทรวงต้องรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นในสายตาของสังคมคงมองได้แค่ว่าเป็นการแบ่งเค้กอำนาจกัน แล้วเด็กๆ นักเรียนได้อะไร??