หมกมุ่นดิจิทัล มุ่งปั่น GDP ลืมมองหนี้ตนเอง

กว่าสองเดือนนับแต่การเข้าทำหน้าที่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทย คงไม่มีเรื่องใดที่รบกวนสมาธิการทำงานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้เท่าเรื่องนโยบายการเงินเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 56 ล้านคนที่ใช้เงิน 560,000 ล้านบาท ที่ต้องพยายามหาคำตอบถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ เทคโนโลยีที่จะใช้ และวิธีการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน จนถึงการรับและเบิกเงินของร้านค้า

ประชาชนล้วนรอฟังคำตอบจากรัฐบาล ในขณะที่คณะทำงานทั้งชุดใหญ่ชุดเล็กของรัฐบาลก็พยายามหาคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดิน การกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ ความเป็นไปได้ในการออกพระราชกำหนด จนมาจบที่การจะออกเป็นพระราชบัญญัติเงินกู้ ตามการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2566

การหมกมุ่นในเรื่องนี้ ทำให้ประเทศเสียโอกาสอย่างไร การหลงความต้องการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP โดยคิดเพียงการเพิ่มการบริโภค (Consumption) ด้วยวิธีการแจกเงินจากการกู้ โดยลืมมองภาระหนี้สินของประเทศ เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

 

ลงทุนสั่งจัดทำงบประมาณแผ่นดินใหม่
หวังได้เงินมาทำนโยบาย

งบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2567 นั้น ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2566 ในวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท แต่เมื่อมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2566 ทำให้ไม่สามารถนำเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณเข้าสู่สภาได้

เมื่อมีรัฐบาลใหม่ของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล แทนที่จะนำงบประมาณเข้าสภา แต่การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566 กลับได้ใช้อำนาจในการให้จัดหน่วยราชการที่ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ แก้งบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็น 3.48 ล้านล้านบาท โดยมีการประมาณการรายได้เพิ่มขึ้น 130,000 ล้านบาท จากเงินกู้ 100,000 ล้าน และจากการประมาณรายได้เพิ่ม 30,000 ล้านบาท

ตัวเลข 130,000 ล้านบาท คือตัวเลขที่หวังนำไปรวมกับงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรใหม่ โดยสามารถประหยัดรายการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้กลายเป็นเม็ดเงินที่มากพอมาใช้ในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แต่เมื่อส่วนราชการต่างๆ จัดทำรายการงบประมาณเข้ามาใหม่ กลับไม่สามารถตัดทอนได้เท่าที่ควร

การสั่งให้มีปฏิทินการจัดทำงบประมาณใหม่ ทำให้งบประมาณที่ล่าช้าแล้ว ล่าช้าออกไปอีก แทนที่จะสามารถใช้ได้เร็วก็กลับช้ามากขึ้นอีก 4 เดือน โดยกว่าที่ พ.ร.บ.งบประมาณจะสามารถประกาศใช้ได้ต้องล่าช้าถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 แถมยังไม่สามารถเอางบประมาณแผ่นดินมาใช้สนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใดๆ ได้ กล่าวคือ ตัดออกไม่ได้แม้แต่บาทเดียว ทำให้ต้องหาทางออกโดยการออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้

เป็นการเสียเวลา เสียเปล่ากับการทบทวนงบประมาณไปอีก 4 เดือน ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐในด้านการลงทุนต่างๆ ล่าช้า การทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับเอกชนไม่สามารถเริ่มต้นได้เพราะงบประมาณยังไม่ผ่านสภา

เม็ดเงินค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Government Spending) ซึ่งเป็นรายการใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของประเทศไม่เกิดขึ้นเพราะหมกมุ่นกับการหาแหล่งเงินมาทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอย่างน่าเสียดายเวลาที่สูญเปล่าไป

 

อยากได้ ตัวเลข GDP ไว้อวดใคร

คนในรัฐบาลชอบหยิกยกตัวเลข GDP ของประเทศว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าของผลิตภัณฑ์ภายในประเทศอยู่ที่ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.8 และเป็นค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และพยายามกล่าวถึงตัวเลข GDP ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เป็นรัฐบาล เพื่อดันค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปถึงวันละ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรีแรกเข้าที่ 25,000 บาท

หากพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรม ค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.87 เกิดจากตัวเลขที่ติดลบในปี พ.ศ.2563 จากวิกฤตการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2562 ที่ต้องถึงขนาดปิดประเทศและห้ามผู้คนออกนอกบ้าน รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นศูนย์

ในขณะที่ตัวเลขการพยากรณ์ของธนาคารโลกถึง การขยายตัว GDP ของประเทศไทยในปี พ.ศ.2567 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 และ 3.5 ในปี พ.ศ.2568 ซึ่งยังถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ (ยกเว้นเมียนมา)

การคำนวณค่าของ GDP มาจากปัจจัย 5 ตัว ที่เขียนเป็นสูตร GDP = C + I + G + (X-M)

เท่ากับ การเติบโตของ GDP มาจาก รายจ่ายเพื่อการบริโภค (C : Consumption) + รายจ่ายเพื่อการลงทุน (I : Investment) + รายจ่ายของรัฐบาล (G : Government Spending) + (ตัวเลขการส่งออก – ตัวเลขการนำเข้า) (M-X : Import – Export)

แต่แทนที่รัฐบาลจะส่งเสริมให้เอกชนลงทุน เพื่อเพิ่ม I : Investment

แทนที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ เพื่อเพิ่ม G : Government Spending

แทนที่จะส่งเสริมการส่งออก ลดการนำเข้า เพื่อเพิ่ม M-X : Import-Export

รัฐบาลกลับเลือกการเพิ่ม C : Consumption โดยไม่ใช้วิธีการส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้จากการผลิต การประกอบการของตนเพื่อให้สามารถมีรายจ่ายเพื่อการบริโภคมากขึ้น แต่กลับใช้วิธีการแจกเงินให้แก่ประชาชนไปบริโภค

รายจ่ายเพื่อการบริโภคของประชาชน จึงเป็นรายจ่ายที่มาจากรายได้จอมปลอม ชั่วคราว และสูญสลายได้ในพริบตา

GDP ที่มุ่งหวัง แน่นอนว่าอาจขยับขึ้นไว้อวดคนในประเทศ ปรากฏต่อชาวโลก แต่มิใช่สิ่งยั่งยืนของการพัฒนา

หนี้สาธารณะที่เพิ่ม

ตัวเลขหนี้สาธารณะที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ของปี พ.ศ.2567 คือ 12.08 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 64.0 ของ GDP

การกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 500,000 ล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะคงค้างขยับขึ้นไปเป็น 12.58 ล้านล้านบาท แม้จะยังไม่ทะลุกรอบเพดานที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่เคยขยับเพดานเป็นร้อยละ 70 ของ GDP ก็ตาม แต่ก็เป็นการสะสมหนี้สาธารณะ สูงขึ้นไปถึงประมาณร้อยละ 65 ของ GDP และเป็นภาระต่อการใช้คืนของทุกรัฐบาลในอนาคต

ยิ่งรูปแบบการออก พ.ร.บ.เงินกู้ หากกฎหมายดังกล่าวผ่านสภา การออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อจูงใจให้คนที่มีเงินมาถือพันธบัตรรัฐบาล แม้จะมีความมั่นคงแต่ก็ต้องมีอัตราดอกเบี้ยที่แข่งขันกับหุ้นกู้อื่นๆ ของเอกชน ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.5 หรือเท่ากับดอกเบี้ย 17,500 ล้านบาทต่อปี หากใช้คืนใน 4 ปี คือดอกเบี้ยอีก 70,000 ล้านบาท

ขนาดไม่มีเงินกู้ 500,000 ล้านบาทเพิ่มเข้ามา รัฐบาลก็มีภาระที่ต้องตั้งงบประมาณใช้คืนปีละราว 100,000 ล้านบาท พอมีเงินกู้ 500,000 ล้านบาทมาเพิ่มและบอกว่าจะตั้งงบประมาณใช้คืนให้ได้ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เท่ากับ พ.ร.บ.งบประมาณ ปี พ.ศ.2568-พ.ศ.2570 ต้องกันเงินเพื่อใช้คืนหนี้อีกอย่างน้อยปีละเกือบ 200,000 ล้านบาท

จากอดีตถึงปัจจุบัน ประเทศไทยตั้งงบประมาณแบบขาดดุลมาโดยตลอดประมาณปีละ 600,000-700,000 ล้านบาท ในขณะที่การใช้คืนเงินกู้อยู่ที่ประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลเพื่อไทยรับปากจะใช้คืนใน 4 ปี ต้องตั้งงบประมาณใช้คืนเงินกู้เป็นปีละ 300,000 ล้านบาท หรือประมาณเกือบร้อยละ 8-9 ของงบประมาณแผ่นดิน

แจกแบบปังๆ รอบเดียว แต่ใช้หนี้กันหัวโตละครับ