ธุรกิจพอดีคำ : “นั่งไหนดี”

เจฟฟ์ เบซอส(ซ้าย) บิล เกตส์ (ขวา) AFP PHOTO / David Ryder AND EMMANUEL DUNAND (COMBO) This combination of pictures created on July 27, 2017 shows a June 17, 2014 photo of Amazon founder and CEO Jeff Bezos (L)in Seattle, Washington and a February 16, 2017 photo of Co-chair of the Bill & Melinda Gates Foundation Bill Gates in Brussels. Amazon founder Jeff Bezos became the world's richest person on July 27, 2017, as a jump in the share price of the US tech giant enabled him to overtake Microsoft founder Bill Gates, Forbes magazine estimated. The magazine said its real-time tracking of personal fortunes showed Bezos with a net worth of $90.5 billion, ahead of the $90 billion for Gates. / AFP PHOTO / GETTY IMAGES NORTH AMERICA AND AFP PHOTO / David Ryder AND EMMANUEL DUNAND

กรวิชญ์ นัดสัมภาษณ์งานกับองค์กรแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีออฟฟิศสวยงาม โอ่อ่า

บริษัทที่มีพนักงานหลายพันคน มากหน้าหลายตา

เขาอยากจะฝากอนาคตของตัวเองไว้ที่บริษัทแห่งนี้

เมื่อเดินเข้ามาก็พบกับ “โต๊ะต้อนรับ” ทำด้วยหินอ่อน

“มาติดต่ออะไรคะ” หน้าตาไม่ค่อยรับแขก

“ผมมาสัมภาษณ์งานครับ” กรวิชญ์ตอบ

“แลกบัตรค่ะ”

กรวิชญ์ยื่นบัตรประชาชนให้ กับพร้อมแลกบัตรมาหนึ่งใบ

“เชิญขึ้นไปด้านบนได้เลยค่ะ ชั้น 25”

กรวิชญ์เดินเลี้ยวซ้ายไปในทางที่พนักงานหลายสิบคนกำลังมุ่งหน้าไป

มาที่มุมหนึ่งของตึก ก็ต้องตกใจ เพราะคนเยอะมาก กำลังต่อแถวขึ้นลิฟต์อยู่

กรวิชญ์ต่อแถวอยู่หลายนาที แต่ลิฟต์ก็ดูจะเคลื่อนลงมารับพนักงานไม่ทันใจ

มีเสียงบ่นให้ได้ยินกันประปรายในหมู่พนักงาน

กรวิชญ์กระวนกระวายใจ กลัวจะขึ้นไปสัมภาษณ์ไม่ทัน

พลันเหลือบไปเห็นลิฟต์อีกหนึ่งตัวที่อีกข้างของตึก

ไม่มีคนเลยแม้แต่คนเดียว

เขาดีใจมาก ตัดสินใจออกจากแถว วิ่งไปที่ลิฟต์ตัวนั้น

ทันทีที่จะกดปุ่มลิฟต์

ก็มี “รปภ.” วิ่งเข้ามา หน้าตาตื่น ท่าทางไม่เป็นมิตร

แล้วเอ่ยว่า…

ถ้าผมให้คุณนึกถึงบุคคลที่รวยที่สุดในโลกหนึ่งคนตอนนี้

คุณนึกถึงใครครับ

บิล เกตส์ แห่งไมโครซอฟต์

เจฟฟ์ เบซอส แห่งอเมซอน

ใช่ครับ สองคนนี้เป็นสองคนที่ “แข่ง” กันมาตลอด

สลับกันไปมาเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก เนื่องจากราคาหุ้นที่ขึ้นๆ ลงๆ ของทั้งสองบริษัท

ทำให้ความมั่งคั่งของทั้งสองคนปรับเปลี่ยนตามตลาดหุ้น

หากแต่ว่า มีอีก “หนึ่งคน” ที่ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ได้ชื่อว่าเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกหลายครั้ง เทียบเคียงกับสองคนที่กล่าวมาข้างต้น

คนหนึ่งคนนั้น เขาไม่ได้เป็นชาวอเมริกัน

แต่เกิดในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ประเทศ “สเปน”

ชายชรานามว่า “อแมนซิโอ ออร์เตกา (Amancio Ortega)”

ผู้ก่อตั้งอาณาจักรอุตสาหกรรมเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ ชื่อว่า “อินดิเท็กซ์ (Indetex)”

สาวๆ หลายๆ ท่านที่หลงรักห้องเสื้อ “ซารา (ZARA)”

แบรนด์ที่โด่งดังไปทั่วโลกนี้ ต้นตำรับ “แฟชั่นความเร็วสูง (Fast Fashion)”

ผู้ก่อตั้งก็คือ “ออร์เตกา” ผู้นี้นี่แหละครับ

ล่าสุดผมเพิ่งได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ “ชายชราผู้ร่ำรวย” ผู้นี้

หนังสือมีชื่อว่า “ซาราและพี่น้อง (ZARA and her Sisters)”

มีเรื่องน่าสนใจอยูหลายเรื่องทีเดียว

ไว้จะนำมาทยอยเล่าให้ฟังกันครับ

แต่เรื่องหนึ่ง ที่ไม่อยากรอ อยากเล่าเลย

ก็คือเรื่อง “เก้าอี้” ครับ

ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท “อินดิเท็กซ์ (Indetex)” ณ เมือง “อาร์ทีโซ (Arteixo)” ประเทศสเปน

ณ แผนกที่มีความชุลมุนวุ่นวายมากที่สุด แผนกที่ทำเงิน ทำกำไรให้กับบริษัทมากที่สุด

นั่นคือแผนก “เสื้อผ้าผู้หญิง” ของแบรนด์ “ซารา”

เป็นออฟฟิศที่ดูเรียบง่าย มีโต๊ะใหญ่ๆ หลายตัววางอยู่ พร้อมรูปภาพ เสื้อผ้า มากมาย

มี “นักออกแบบ” จากทั่วโลกยืนพูดคุย ขบคิดกัน ถึง “เสื้อผ้า” แบบใหม่ที่จะนำออกสู่ตลาด

ที่โต๊ะแถบนั้น จะมี “เก้าอี้” ธรรมดาๆ อยู่หนึ่งตัว ที่ไม่มีใครนั่ง

เป็นเก้าอี้ของ “ออร์เตกา” เจ้าของบริษัท

และนี่คือ “ออฟฟิศ” ทำงานของเขานั่นเอง

ไม่มีห้องทำงานส่วนตัวอย่างชัดเจน

มีเพียงเก้าอี้วางไว้ในบริเวณที่เป็น “หัวใจ” ของบริษัท

เป็นที่ที่ “บทสนทนา” สำคัญๆ เกิดขึ้นเสมอ แบบ “ไร้รูปแบบ”

มิใช่ห้องประชุมโอ่อ่าใหญ่โต หรือออฟฟิศสวยหรู

ใกล้ชิดลูกน้อง ออกไอเดียได้ทันที ทำให้องค์กรเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว

ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) อดีตผู้ว่าการรัฐ “นิวยอร์ก” ในประเทศสหรัฐอเมริกา

เจ้าของบริษัทข้อมูลทางการเงินระดับโลก “บลูมเบิร์ก (Bloomberg)”

ก็เป็นอีกคนที่โด่งดังเรื่องการจัด “ออฟฟิศ” ของตัวเอง

เพราะไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศเมื่อสมัยที่ทำงาน หรือเมื่อเขาลงเล่นการเมือง

เขาก็มักจะนั่งอยู่ตรงกลางห้องทำงานขนาดใหญ่

รายล้อมไปด้วยลูกน้องหลักสิบหลักร้อย ในชั้นเดียวกัน

เหตุผลคือเรื่องของ “ความโปร่งใส (Transparency)”

เมื่อลูกน้องเห็นหัวหน้าทำงาน เห็นว่าหัวหน้าคุยกับใคร คุยอะไรอยู่ทุกวัน

ลูกน้องก็จะเห็นว่า บริษัทกำลังทำอะไรอยู่แบบ Real-Time

เกิดบทสนทนาที่ “สำคัญ” ได้ทุกเมื่อ ไม่ต้องรอให้มีการ “นัดประชุม” สื่อสารกันให้วุ่นวาย

องค์กรก็สามารถ “เคลื่อน” ไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว

พร้อมๆ กัน เป็นจังหวะเดียวกัน

ณออฟฟิศแห่งเดิมใจกลางเมืองกรุงเทพฯ

“คุณขึ้นลิฟต์ตัวนี้ไม่ได้นะครับ” รปภ. ออกคำสั่ง

กรวิชญ์หันหน้าไป เห็นป้ายข้างๆ ลิฟต์ จึงเข้าใจ

“ลิฟต์สำหรับผู้บริหารเท่านั้น พนักงานห้ามใช้”