แค่ 2 เดือน-แค้นถึงขั้นขู่ฆ่า | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้เพียง 2 เดือนเศษๆ มีผลงานหรือไม่มีผลงาน เป็นข้อเท็จจริงที่มองเห็นได้ไม่ยาก แต่เพราะในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 เกิดปัญหาในทางการเมือง ทำให้พรรคก้าวไกลซึ่งชนะอันดับ 1 ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้

เมื่อเปลี่ยนมาให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาล แล้วไปจับขั้วกับพรรคการเมืองในรัฐบาลชุดเดิม ผลักก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน จึงเกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลเพื่อไทยในทางการเมืองอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากผู้ที่ผิดหวังเมื่อก้าวไกลไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้

เพื่อไทยเป็นรัฐบาลมาได้ 2 เดือน เริ่มต้นด้วยการลดค่าครองชีพให้ประชาชน ลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร จากนั้นนายกฯ เศรษฐาก็เดินสายไปทั่วในหลายประเทศ เพื่อฟื้นการลงทุน เปิดประตูการค้า เร่งมาตรการฟื้นการท่องเที่ยว

แต่ฝ่ายที่ต่อต้านเพื่อไทยมาตั้งแต่ตอนตั้งรัฐบาลโดยไม่มีก้าวไกล ยังตั้งป้อมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเศรษฐาอย่างหนักหน่วง

ที่ลดค่าครองชีพให้ประชาชน ก็เห็นว่าทำแบบเฉพาะหน้า ไม่ใช่การแก้ถึงโครงสร้าง

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น ก็โดนวิจารณ์หนัก มองไม่เห็นข้อดี

ขณะที่เสียงของชาวบ้านอีกด้าน มองว่าเศรษฐกิจฝืดเคืองมานาน มาตรการนี้เป็นเรื่องจำเป็น ช่วยให้ชาวบ้านมีเงินจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการค้าเห็นว่า เป็นโอกาสที่ประชาชนจะมีปัจจัยเพื่อซื้อหาสินค้าครั้งใหญ่ ทำให้เงินทองสะพัด เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญ

พูดง่ายๆ ว่า ถ้ามองในแง่ปากท้อง เห็นว่าดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามีจุดยืนการเมืองมากำหนด จะมองไม่เห็นข้อดีของโครงการนี้เลย!

เพราะเห็นว่ารัฐบาลนี้ มีที่มาอย่างไม่ชอบธรรม ไปประนีประนอมกับฝ่ายอำนาจเก่า เท่ากับไปสยบยอมฝ่ายอนุรักษนิยมการเมือง จึงเป็นรัฐบาลที่ไม่มีพลังอำนาจใดๆ ไปต่อรอง จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย

รวมทั้งมองไปถึงขั้นที่ว่า ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองได้ จะไม่มีทางแก้เศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านได้

ในมุมมองของฝ่ายนี้ จึงสามารถสรุปรวบรัดได้เลยว่า เพราะรัฐบาลเศรษฐาประนีประนอมกับอำนาจเก่า ดังนั้น ไม่มีทางทำอะไรได้สำเร็จ

ในแง่ฝ่ายนี้ เพียงแค่ 2 เดือนของเศรษฐา ก็สามารถชี้ได้ว่า ล้มเหลวไปไม่รอด

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ กระแสโจมตีเพื่อไทยตั้งแต่ละทิ้งพรรคก้าวไกล จึงยังคงรุนแรงต่อไป โดยแปรมาเป็นมุ่งโจมตีการทำงานของเศรษฐาในทุกย่างก้าว

 

เพียงแค่ 2 เดือนที่รัฐบาลเศรษฐาเริ่มทำงาน อาจจะตีความอีกทางได้ว่า เหตุการณ์ที่เพื่อไทยทิ้งก้าวไกล เพิ่งผ่านมาแค่ 2-3 เดือน ดังนั้น อารมณ์ชิงชังพรรคเพื่อไทยจากเหตุการณ์นั้นจึงยังไม่ลดระดับลงไป อารมณ์ผู้คนที่ผิดหวังการจัดตั้งรัฐบาล จึงยังคั่งค้างไม่จืดจาง

อารมณ์ที่ยังค้างอยู่ นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเศรษฐาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา อย่างไม่เห็นข้อดีสักเรื่อง

รวมไปถึงเกิดกรณีหนุ่มวัย 29 โพสต์ข้อความในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ แสดงความอาฆาตแค้นนายกฯ เศรษฐา จนกลายเป็นข้อความลักษณะขู่ฆ่า

ต่อมาตำรวจกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แกะรอยติดตามผู้ใช้บัญชีแพลตฟอร์มเอ็กซ์รายนี้ และจับกุมดำเนินคดีได้ในที่สุด

หนุ่มวัย 29 ยอมรับสารภาพขณะตำรวจเข้าจับกุมแจ้งข้อหา อธิบายถึงสาเหตุที่โพสต์ข้อความดังกล่าวว่า เพราะรู้สึกผิดหวังทางการเมือง ผิดหวังในพรรคการเมืองที่ตนเองเชียร์ และเห็นว่ารัฐบาลเศรษฐาพูดจา ไม่ตรงกับที่เคยสัญญาเอาไว้

ดูคำสารภาพแล้วก็เข้าใจได้ว่า นี่คือตัวอย่างของผู้ที่ยังมีอารมณ์ค้าง ความรู้สึกผิดหวังในตอนตั้งรัฐบาลยังไม่ลดระดับลงไป

จึงระบายออกทางโซเชียล และอาจใช้อารมณ์ค้างจนเกินเลย กลายเป็นเข้าข่ายผิดกฎหมาย กลายเป็นการขู่ฆ่านายกรัฐมนตรี

เอาเข้าจริงๆ แล้ว หนุ่มที่โพสต์ข้อความรายนี้ ไม่น่าจะมีพฤติกรรมลึกลับซับซ้อนอะไรมากนัก ไม่ได้ตระเตรียมการเพื่อจะไปสังหารนายกฯ เศรษฐาจริงๆ หรือถ้าตั้งใจจะทำจริงๆ ก็คงไม่ออกอาการอย่างเปิดเผยในโซเชียลเช่นนี้

อีกทั้งเมื่อตำรวจเข้าจับกุม ตรวจสอบบ้านพัก ก็ไม่พบว่ามีการตระเตรียมอะไร

เป็นการระบายอารมณ์โกรธแค้นล้วนๆ ซึ่งก็มาจากอารมณ์ที่ค้างมาตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่แล้วนั่นเอง

ถือเป็นอุทาหรณ์ให้กับบรรดาผู้ที่ยังผิดหวังในตอนตั้งรัฐบาล จะระบายความโกรธแค้นเช่นไร ก็อย่าได้เกินเลยจนเข้าข่ายผิดกฎหมาย

 

ผลจากการทำโพลของ 2 สื่อใหญ่ มติชนและเดลินิวส์ โดยเปิดให้ประชาชนร่วมโหวตตลอดเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 1 เดือนเต็มๆ โหวตผ่านการสแกนทางหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ และเดลินิวส์ รวมทั้งโหวตทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของเครือมติชนและเดลินิวส์ ภายใต้หัวข้อ รัฐบาลเศรษฐาควรเร่งแก้อะไร

ผลการโหวต จากจำนวน 42,848 โหวต ชี้ว่ารัฐบาลต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องก่อน ร้อยละ 60.2 มากกว่าการเร่งแก้ปัญหาการเมือง-ปฏิรูป อยู่ที่ร้อยละ 39.8

เสียงโหวตกว่า 4 หมื่นเสียงนี้ มองว่าปัญหาปากท้องเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนการแก้ปัญหาการเมือง การปฏิรูปองค์กรต่างๆ ก็สำคัญ แต่ยังน้อยกว่า

ผลโหวตนี้อาจไม่ตรงกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในทางการเมือง ที่รัฐบาลเศรษฐาโดนมาตลอด 2 เดือน

เพราะเสียงโจมตีรัฐบาลนั้นมองว่า พรรคเพื่อไทยยึดแนวทางประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจอนุรักษนิยมการเมือง ดังนั้น จะไม่มีพลังต่อรองใดๆ ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ ได้ จึงไม่มีทางแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้

มุมมองเช่นนี้ มีส่วนถูกต้อง เป็นการมองถึงต้นตอปัญหาสังคมไทย

ดังนั้น คนที่มองเช่นนี้ จึงเห็นว่ามีแต่แนวทางตรงไปตรงมา ไม่รอมชอมของพรรคก้าวไกลเท่านั้น จึงจะสามารถแก้ปัญหาของประเทศนี้ได้ ถ้าเอาแบบพรรคเพื่อไทยคือไม่คิดแตะโครงสร้างประเทศที่ล้าหลัง จะไม่มีทางแก้เศรษฐกิจได้

แต่สำหรับประชาชนที่โหวตผ่านโพล อาจจะมองเน้นไปเรื่องเศรษฐกิจก่อน จึงอยากให้รัฐบาลเศรษฐาเร่งแก้ปากท้องก่อน โดยไม่มีกรอบว่า ถ้าแก้การเมืองไม่ได้ ก็ไม่มีทางแก้เศรษฐกิจได้

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยเอง เดินแนวทางประนีประนอมทางการเมือง ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นเช่นนี้มาตลอด ไม่ได้เพิ่งมาประนีประนอมเมื่อได้ตั้งรัฐบาล แล้วไปสยบยอมอำนาจเก่าทุกอย่าง

เพื่อไทยเชื่อเช่นนี้มาตลอด ดังที่ถูกตั้งฉายามายาวนานว่า สู้ไปกราบไป

แนวทางของเพื่อไทยคือ เห็นว่าโครงสร้างของเครือข่ายอำนาจขุนศึกขุนนางนั้น เกินกว่าจะไปปะทะ อีกทั้งเพื่อไทยก็เข็ดหลาบกับการโดนยุบพรรคมาหลายรอบ ผู้นำรัฐบาลต้องโดนคดีโดยองค์กรอิสระ ต้องหนีไปต่างประเทศ

เพื่อไทยจึงต้องการความไว้วางใจ เพื่อได้เป็นรัฐบาล ได้ทำงานด้านเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาเดิมๆ ไม่ต้องห่วงการยื่นร้องแล้วโดนสอยโดนยุบ

แนวทางของเพื่อไทยจะถูกต้อง และทำได้จริงหรือไม่ ต้องคอยดูกันต่อไป

ถ้าไม่สะดุดหัวคะมำเสียก่อน ก็อาจได้เวลาพิสูจน์อีกเกือบ 4 ปี!