ระบบความคิด ยุติธรรมไทย มีสิ่งใดผิดเพี้ยน

ประวัติศาสตร์มนุษยชาติบันทึกไว้…กว่า 2,400 ปีก่อน เมื่อ “โสเครตีส” ปราชญ์ผู้มองเห็นคุณค่าทางปัญญาในตัวมนุษย์ คิดและลงมือจุดประกายทางความคิด กระตุ้นให้ผู้คนใคร่ครวญ สงสัย ตั้งคำถาม และถกเถียงกันในสิ่งที่มี ที่เห็น และที่เป็นอยู่ พฤติการณ์ของโสเครตีสกลับกลายเป็น “ภัย” ที่สั่นคลอนความมั่นคงแห่งรัฐเอเธนส์

การแสวงความรู้ ด้วยความขี้สงสัย ไม่เชื่อในสิ่งที่เห็น ที่เป็นอยู่ ไม่เชื่อฟังเรื่องเล่า ตำนาน เทพเจ้า และพิธีกรรม ถูกตีความว่าเป็นการกระด้างกระเดื่อง

“โสเครตีส” เป็นอันตรายต่อขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนาและสถาบันการเมืองของเอเธนส์ ถูกดำเนินคดี

“โสเครตีส” ว่ามนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นตรงที่มี “ปัญญา” มนุษย์มีมากกว่าการกินนอนถ่ายและสืบพันธุ์ มนุษย์เจริญกว่าสัตว์ทุกชนิดในโลกตรงที่มีปัญญาซึ่งธรรมชาติได้ให้มา

แต่สุดท้าย “โสเครตีส” ก็ตกเป็นเหยื่อและตายด้วยน้ำมือของสิ่งที่เรียกว่า “ระบบยุติธรรม”

“ระบบยุติธรรม” ของเอเธนส์เมื่อกว่า 2,400 ปีก่อน เป็นเครื่องมือสำหรับกำจัดคนเห็นต่าง!

 

ล่วงผ่านมาจนถึงปัจจุบันมนุษย์ผู้มีปัญญาก็ยังคงเห็นว่า “ความคิดเห็น” ที่ไม่เห็นพ้องต้องกัน หรือที่เห็นแตกต่างกันเป็น “ภัยคุกคาม” และยังคงนิยมใช้ “กฎหมาย” กับ “กลไก” ในระบบยุติธรรมสำหรับกำจัด “ผู้เห็นต่าง”

“อำนาจรัฐ” จึงมีอิทธิฤทธิ์เหนือสิทธิเสรีภาพของผู้คนเสมอ!

กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า ส่งเสริมลัทธิอนาธิปไตย หรือเห็นดีเห็นงามกับการละเมิดสิทธิของผู้อื่น หากประสงค์จะบอกกล่าวถึงระบบความคิดที่พิกลพิการในระบบยุติธรรมซึ่งพบเห็นกันอยู่ทั่วไป

ควรหรือไม่ที่จะต้องเร่งปฏิรูป

วันก่อน โพลมติชน-เดลินิวส์ สรุปผลออกมาแล้วว่า ร้อยละ 60 ประชาชนยังให้น้ำหนักกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้อง

ส่วนอีกร้อยละ 40 เห็นควรเร่งแก้ปัญหาการเมืองและปฏิรูปโครงสร้างสังคม

ดูจากเฉพาะ “เสียงร้อยละ 40” จะเห็นว่า ความสำคัญเร่งด่วนถูกเรียงลำดับจาก

1.แก้รัฐธรรมนูญ 2.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 3.ปฏิรูปกองทัพ 4.กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 5.รัฐสวัสดิการ และ 6.ปัญหาอื่นๆ

ในที่นี้จะเจาะจงตรงเรื่อง “กระบวนการยุติธรรม” ซึ่งกล่าวได้ว่า ขณะนี้ตกอยู่ในสภาพที่ “ยับเยิน”!

ถึงขนาดนั้นจริงหรือ

 

ถ้ากล่าวคำว่า “กระบวนการ” ควรต้องนึกให้เห็นภาพสายน้ำที่ไหลสืบเนื่อง เชื่อมโยงไม่ขาดสาย

กว่าสิบปีมานี้ “กระบวนการยุติธรรม” ของไทยรวนไปทั้ง “กระบวน”

จนถึงขั้นกล่าวกันว่า “ไม่มีความเป็นกระบวน”!

หากเป็น “สายน้ำ” ประเดี๋ยวเชี่ยว ประเดี๋ยวเอื่อยไหล ประเดี๋ยวนิ่งสงบ ประเดี๋ยวใส ประเดี๋ยวขุ่นข้น ประเดี๋ยวก็แห้งเหือด เห็นโขดหิน เห็นเม็ดทราย ซากไม้ตายผลุบโผล่ ไม่คล้ายกับสภาพของ “สายน้ำ”

ถึงแม้ตัวเนื้องานของ “ตำรวจ-อัยการ-ศาล” จะแตกต่างกัน แต่ “ปรัชญา” หรืออุดมคติเบื้องหลัง “วิชาชีพทั้งสาม” ก็เป็นสิ่งเดียวกัน

นั่นคือผดุงความยุติธรรม!

ตำรวจถูกนับเป็น “ต้นธาร” ของการอำนวยความยุติธรรม เพราะงานเริ่มตั้งแต่ทำหน้าที่พูดคุยซักถาม สืบค้น เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน สอบสวนทำสำนวน พร้อมกับทำความเห็นทางคดี แล้วส่งให้ “อัยการ” พิจารณาวินิจฉัย

การชี้ขาดในชั้นต้นว่า “ฟ้อง” หรือ “ไม่ฟ้อง” เป็นงานของอัยการ ซึ่งถ้าคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว “อัยการ” จะเป็นมือกฎหมายคนสำคัญที่มีบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย

ศาลเป็นไม้สุดท้ายที่จะชี้ขาดด้วย “คำพิพากษา”

การทำหน้าที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงราวเนื้อเดียวกันนี้เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรม”

แต่ “กระบวนการ” นี้จะผิดเพี้ยนไปทันที ถ้า “ผู้มีอำนาจ” ตีความว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นแค่ “เครื่องมือ” มีไว้ใช้ทำลายใครก็ตามที่ไม่ศิโรราบ ที่โต้เถียง ที่ขัดแย้ง ที่เห็นต่าง หรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ

ดังจะเห็นได้จากหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่ง คสช.ที่ 77-78/2557 ย้าย “นายอรรถพล ใหญ่สว่าง” จากเก้าอี้อัยการสูงสุด

การออกคำสั่งย้าย “อัยการสูงสุด” กับการใช้ “ศาลทหาร” แทน “ศาลยุติธรรม” นับเป็น “ความเลวร้าย” ในประเทศที่อ้างว่าเป็นนิติรัฐ

 

หากสำหรับสังคมไทยแล้ว “ความเลวร้าย” ที่ว่านั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเป็น “ความปกติ”

นานเข้าก็คุ้นเคย และเย็นชา จนผู้คนจำนวนหนึ่ง “จำนน” และยินดีรับใช้ กระทั่งเกิดคำถามว่า “กระบวนการยุติธรรม” ยังคงมีอิสระในการทำหน้าที่ปกปักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของปวงชนหรือไม่

ในประเทศของเรามีการรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญไม่ใช่คณะบุคคลที่ประชาชนเลือกมา “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นแม่บทแห่งกฎทั้งปวงจึงเป็นเพียง “หน้ากาก” อำพรางใบหน้าที่แท้จริงของคณะบุคคลผู้มีอำนาจ

รัฐธรรมนูญโดยมือของผู้สถาปนารัฐธรรมนูญก็ย่อมจะตอบสนองความต้องการของคณะผู้มีอำนาจ

สถานะที่แท้จริงของประชาชนผู้ทรงสิทธิหรือผู้เป็น “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” จึงถูกลดทอนให้เป็นแค่ “ตัวประกอบ” ภายใต้ระบอบการปกครองที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ซึ่งตัวเล่นที่ทรงอิทธิพลหรือทรงอำนาจจริงๆ ไม่ใช่พลเมือง ไม่ใช่พลเรือนธรรมดาๆ หากแต่เป็น “ข้าราชการ”

ปรัชญาการทำงานของ “ข้าราชการ” ในระบบยุติธรรมจึงถูกบิดเบือนให้เบี่ยงเบนไป

รับใช้ “นาย” ไม่ใช่รับใช้ “ประชาชน”!

ทัศนคติที่ผิดพลาดจึงนำไปสู่การทำหน้าที่ผิดเพี้ยนจนเป็น “เหตุ” ทำให้กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบสั่นคลอน!

เมื่อตั้งหน้าตั้งตารับใช้นายกันอย่างไม่มีเงื่อนไข ศักดิ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ก็ถูกลิดรอน!

“ระบบยุติธรรม” กลายเป็นเครื่องมือสำหรับกำจัดคนเห็นต่าง

บุคลากรในองค์กรของกระบวนการยุติธรรมเรียงลำดับความสำคัญปัญหา หรือภัยคุกคามสังคมผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปหมด

การใช้ปัญญาขบคิดใคร่ครวญถูกประเมินค่าให้ต่ำกว่าการกินนอนถ่ายและสืบพันธุ์

การจุดประกายทางความคิด การตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถามและถกเถียงกันในสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่กลับกลายเป็น “อาชญากรรม” ที่จะต้องเล่นงานหรือลงโทษกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

ใช่เป็นภัยร้ายแรงยิ่งกว่าข้าราชการและนักการเมืองทุจริตฉ้อฉลโกงกิน ที่ยังคงชูคอหน้าสะลอนจริงหรือ!?!!!