จรัญ มะลูลีม : สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ในซาอุดีอาระเบีย (3)

จรัญ มะลูลีม

มุฮัมมัด บิน สัลมาน มกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบียนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในความเป็นคนหาญกล้า และบางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นผู้ที่ใช้ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงอย่างขาดความยับยั้งชั่งใจเพื่อจะเปลี่ยนประเทศและจุดยืนของตนเองในดินแดนเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลาง อย่างที่เป็นที่รับรู้กันดี เมื่อเขาได้จับเอาเจ้าชาย 11 พระองค์และเจ้าหน้าที่อาวุโส 38 คน รวมทั้งนักธุรกิจชั้นนำที่ถูกจับกุมตามคำสั่งของพระองค์มาคุมขัง

ที่น่าสนใจก็คือ ในบรรดาผู้ถูกจับกุมนี้มีทั้งผู้ควบคุมและดูแลงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ รัฐมนตรีเศรษฐกิจและนักการเงินชั้นนำของซาอุดีอาระเบีย

แม้คนเหล่านี้จะถูกเอาไปคุมขังที่โรงแรมหรู แต่การที่ซาอุดีอาระเบียพูดถึงคนเหล่านี้ว่าเป็น “ผู้ทรยศ” ก็เป็นลางร้ายให้เห็นชะตากรรมของผู้คนเหล่านี้ในอนาคตได้

 

นอกจากจะจับกุมและคุมขังบุคคลชั้นนำของประเทศในข้อหาคอร์รัปชั่นแล้ว มกุฎราชกุมารวัย 31 พรรษาผู้นี้ยังเข้าไปแสดงอำนาจภายนอกประเทศให้เห็นอีกด้วย ท่ามกลางสงครามเยเมนที่พระองค์ถูกวิพากษ์อย่างหนักในความตายของชาวเยเมนที่ถูกกองพันซาอุดีอาระเบียถล่มอย่างหนักเพื่อปราบชาวฮูษี ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลและได้รับการหนุนช่วยจากอิหร่าน

นอกจากนี้ มกุฎราชกุมารสัลมานยังได้บีบให้นายกรัฐมนตรีเลบานอน ฮาริรี (Saad Hariri) ซึ่งสนิทสนมกับซาอุดีอาระเบีย ประกาศลาออกจากตำแหน่งในโทรทัศน์ช่องหนึ่งของประเทศซาอุดีอาระเบียเองโดยสร้างภาพให้เห็นว่าวิกฤตในเลบานอนมีที่มาจากขบวนการฮิสบุลลอฮ์ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐบาลผสมของฮาริรี

ที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมของชาวเยเมนก็ได้แก่การปิดล้อมชายแดนและน่านฟ้าของเยเมนโดยซาอุดีอาระเบีย ด้วยข้ออ้างที่ว่ากลุ่มฮูษี (Houthi) ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิหร่านมีความตั้งใจโจมตีสนามบินที่กรุงริยาด

ในเวลาใกล้เคียงกัน มกุฎราชกุมารสัลมานยังได้ออกมาเตือน มะห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) ของปาเลสไตน์ที่กำลังทำข้อตกลงว่าด้วยการทำงานร่วมกันกับขบวนการฮามาสที่เป็นชาวปาเลสไตน์ด้วยกัน เนื่องจากซาอุดีอาระเบียมองว่าขบวนการฮามาสนิยมอิหร่าน

 

ความพยายามของมกุฎราชกุมารในเรื่องต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นถูกมองว่าเป็นการกระชับอำนาจของพระองค์ เพื่อเข้ามาแทนที่กษัตริย์สัลมานพระราชบิดาซึ่งมีพระชนมายุ 81 พรรษาแล้ว

ด้วยเหตุนี้มกุฎราชกุมารจึงต้องแสดงบทบาทในการต่อต้านสำนักคิดชีอะฮ์ของอิหร่าน ในขณะที่อิหร่านในปัจจุบันกำลังรณรงค์ให้เกิดความสามัคคีระหว่างสำนักคิดซุนนีและชีอะฮ์เพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือการเอาเรื่องนี้มาฉวยโอกาสสร้างความแตกแยกขึ้นในโลกมุสลิม โดยสหรัฐและอิสราเอล ทั้งๆ ที่เป็นที่รับรู้กันดีอยู่แล้วว่าความขัดแย้งซุนนีและชีอะฮ์นั้นเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าศาสนา นอกจากนี้ MBS ยังเป็นศัตรูกับกองกำลังต่างๆ ที่ได้รับการหนุนช่วยจากอิหร่านในตะวันออกกลางอีกด้วย

เป็นที่รับทราบกันดีอีกเช่นกันว่ามกุฎราชกุมารหนุ่มผู้นี้ได้รับการหนุนช่วยจากประธานาธิบดีทรัมป์ และที่ปรึกษาอาวุโสของทรัมป์อย่างคุชเนอร์ (Jared Kushner) ซึ่งเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียและพูดคุยกับมกุฎราชกุมารสัลมานเป็นเวลานานก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการกระทำที่มีความเปราะบาง

ผู้สนับสนุนมกุฎราชกุมารของตะวันตกมองกว่ามกุฎราชกุมารผู้นี้กำลังเชื่อมต่ออำนาจเพื่อที่จะเข้ามาเป็นผู้นำของประเทศอนุรักษนิยมและเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันด้วยการโน้มน้าวประเทศให้เป็นไปตามความต้องการของพระองค์

ในทางเศรษฐกิจ MBS ได้ประกาศถึงแผนการต้อนรับนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนและขายหุ้นน้ำมันให้กับบริษัทน้ำมันของรัฐ

 

การจับกุมบุคคลสำคัญของประเทศในเดือนกันยายน (2017) ทำให้กลุ่มนักการศาสนาบางคนมองว่าเป็นการกวาดล้างนักการศาสนาไปด้วยในตัว

การกระทำของมกุฎราชกุมารที่ค่อนข้างจะรุนแรงทำให้ความหวังในความก้าวหน้าอันมาจากการพัฒนากลายเป็นการทำให้ราชอาณาจักรต้องอ่อนแอลง

ทั้งนี้ พระองค์ไม่ได้จับกุมนักการศาสนาที่ไม่เห็นด้วยกับพระองค์เท่านั้น แต่พระองค์ยังจับกุมนักหนังสือพิมพ์เสรีนิยมและนักมนุษยธรรมอีกด้วย ซึ่งเป็นศัตรูโดยธรรมชาติกับพระองค์

นักธุรกิจที่โลกรู้จักกันดี และมีชื่อเสียงไปทั่วโลกอย่างเจ้าชายวะลีด บิน ฏอลาล (Al Waleed bin Talal) ซึ่ง MBS จับกุมตัวไปนั้น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เข้าไปลงทุนในบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Apple, Twitter และ Lyft การกระทำดังกล่าวของ MBS จึงเป็นที่กล่าวขานกันอย่างมากในหมู่นักลงทุนต่างชาติ

ที่รุนแรงที่สุดก็คือสงครามที่มกุฎราชกุมารผู้นี้ได้เริ่มต้นขึ้นที่เยเมนในปี 2015 ซึ่งกลายมาเป็นพื้นที่ที่นำไปสู่วิกฤตมนุษยธรรมที่สำคัญที่สุดของโลกอยู่ในเวลานี้

ความขัดแย้งซาอุดีอาระเบีย-กาตาร์ก็ได้นำไปสู่ความขัดแย้งกับผู้ปกครองซุนนีของประเทศในอ่าวเปอร์เซีย

การลาออกของฮาริรีกลายเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ฝ่ายฮิสบุลลอฮ์ในเลบานอนมากกว่าจะนำเอาความอ่อนแอมาให้ และเมื่อกลับถึงเลบานอนแล้วฮารีรีก็ขอกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม เท่ากับว่าอิทธิพลของ MBS ไม่เข้มแข็งพอต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในเลบานอน

 

การเติบโตอย่างรวดเร็วของ MBS ในหมู่เจ้าชายทั้งหลายในครอบครัวกษัตริย์เพื่อขึ้นมาเป็นมกุฎราชกุมาร ด้วยระยะเวลาแค่สองปีนั้นเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาในประวัติศาสตร์ราชวงศ์อัล-สะอูดอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นที่รับรู้ของคนภายนอกราชวังน้อยมากจนกระทั่งถึงเดือนมกราคม ปี 2015 เมื่อพระราชบิดาของพระองค์คือกษัตริย์สัลมาน บิน อับดุลอะซีส ได้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์

นับจากนั้นเป็นต้นมา MBS ก็กลายเป็นหน้าตาของซาอุดีอาระเบียนอกประเทศและการปฏิรูปภายในประเทศ

MBS ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองมกุฎราชกุมารโดยพระราชบิดาของพระองค์ นับจากนั้นเป็นต้นมาพบว่า MBS เริ่มส่องประกายเหนือมกุฎราชกุมาร คือ เจ้าชายมุฮัมมัด บินนายีฟ (Muhammad bin Nayef) MBS ขึ้นมาดูแลนโยบายต่างประเทศและมีความมุ่งมั่นในการปฏิรูปเศรษฐกิจตามวาระที่มีขึ้นเมื่อปีที่แล้ว (2016)

ตลอดระยะเวลาการทำงาน MBS ได้รับการหนุนช่วยจากกษัตริย์ผู้เป็นพระราชบิดาซึ่งมีพระชนพรรษากว่า 80 พรรษา ซึ่งแม้แต่มกุฎราชกุมารเองในเวลานั้นก็รู้สึกได้ถึงการที่ลูกพี่ลูกน้องของพระองค์กำลังเบียดขับความสำคัญของพระองค์ให้เหลือน้อยลง

ในที่สุดกษัตริย์สัลมานก็ทำให้ความสงสัยของชาวซาอุดีอาระเบียหมดไปเมื่อพระองค์ได้เปลี่ยนเจ้าชายนายีฟ พระราชนัดดาของพระองค์ออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมารและเอาโอรสของพระองค์เข้ามาแทนที่ ในทางปฏิบัติเท่ากับเป็นการขจัดอุปสรรคทั้งมวลด้วยการแต่งตั้งพระราชโอรสวัย 31 พรรษาขึ้นมาเป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งจะไม่ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นหากพระองค์จะสละตำแหน่งหรือสวรรคต