แพทย์ พิจิตร : ประวัติการยุบสภาในประเพณีการปกครองไทย (24)

การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดเกิดขึ้น พ.ศ.2556 ในสมัย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม

ที่มาของการยุบสภาครั้งดังกล่าวนี้มีสาเหตุมาจากการที่ประชาชนออกมาต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.นิiโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง

และประชาชนที่ออกมาต่อต้านนี้ก็มีทั้งฝ่าย นปช. ด้วย ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว

นับแต่ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2556-22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการชุมนุมทั้งจากฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดยชนวนสำคัญเริ่มจากการชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งเดิม นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นผู้เสนอร่าง แต่ภายหลังมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ นำโดย นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานกรรมาธิการ และคณะ

จนมีการคัดค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

การคัดค้านต่อต้านดังกล่าวยังได้ขยายวงกว้างไปยังผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งคนเสื้อแดงบางกลุ่มก็คัดค้านการนิรโทษกรรมนี้ด้วย

และแน่นอนว่า กลุ่มต่างๆ ที่เคยต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ต่างก็ออกมาร่วมชุมนุมประท้วง รวมทั้งกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามที่ออกมาเคลื่อนไหวล่าสุดในปี พ.ศ.2555

ในการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว ได้มีการยกระดับการชุมนุมโดยเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมบางส่วนและแกนนำปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลในช่วงต้นเดือนตุลาคม

ทางรัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคง ครอบคลุมพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตพระนคร และเขตดุสิต ตั้งแต่วันที่ 9-18 ตุลาคม แต่ทางผู้ชุมนุมและแกนนำก็ยังไม่ยุติการชุมนุม

จนเมื่อถึงวันที่ 10 ตุลาคม ปีเดียวกัน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เสริมกำลังเข้ามาล้อมรอบที่ชุมนุมจนมีปริมาณมากกว่าผู้ชุมนุม

โดยปิดมิให้มีการเข้าและปิดไม่ให้แม้แต่การส่งอาหารและน้ำ รวมถึงห้องน้ำเข้าไปได้สู่ที่ชุมนุม และได้เข้าเจรจากับแกนนำขอให้ยุติการชุมนุมไปก่อน

จนกระทั่ง หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนที่จะเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม จะเสร็จสิ้นภารกิจ โดยให้สัญญาว่าจะไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม และจะยินยอมให้กลับมาชุมนุม ณ หน้าทำเนียบรัฐบาลได้อีกครั้ง

ทางแกนนำจึงมีมติที่จะถอนที่ชุมนุมกลับไปยังสวนลุมพินี

แต่ทว่าก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่ยินยอมและเดินทางไปชุมนุมต่อ ณ แยกอุรุพงษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตราชเทวี นอกพื้นที่การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง

โดยกลุ่มนี้ได้ใช้ชื่อว่า เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โดยแกนนำเป็นคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงแห่งองค์การนักศึกษารามคำแหง และ นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความแห่งสภาทนายความ

และในคืนวันเดียวกันเวลาประมาณ 02.00 น. ก็มีผู้โยนระเบิดเพลิงลงมาจากทางด่วนอุรุพงษ์ 4 ลูก มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน

 

ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติในวาระ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว เมื่อเวลา 04.24 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 อันเป็นการพิจารณาอย่างรวบรัด “หักดิบ” ใช้เวลาเพียง 1 ชั่งโมงในการพิจารณา 5 มาตรารวด รวมเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้ในวาระ 2 และวาระ 3 ทั้งสิ้น 19 ชั่วโมง

โดยการรวบรัดตัดบทโดยประธานสภาที่มาจากพรรคเพื่อไทยและอาศัยใช้เสียงข้างมากของพรรคและปิดกั้นการอภิปรายของ ส.ส. ที่รอการแปรญัตติอีกจำนวนมาก

ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้แผ่กระจายไปทั่วอย่างรวดเร็วในช่วงวันที่ 1-11 พฤศจิกายน 2556

ทั้งจากแวดวงนักวิชาการ คณาจารย์ และนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแทบทุกแห่งทั่วประเทศ เอ็นจีโอ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลุ่มวิชาชีพต่างๆ นักธุรกิจและองค์กรภาคเอกชน พนักงานภาคเอกชน-รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ ผู้พิพากษากลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดินจำนวน 63 คน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เป็นต้น ต่างออกมาแสดงท่าทีชัดแจ้ง

เป็นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนจำนวนมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

และแม้แต่กลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนที่เป็นฐานหลักของพรรคเพื่อไทยก็คัดค้าน

ส่งผลให้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ออกมาแถลง “ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ใช้เสียงข้างมากมาฝืนความรู้สึกของประชาชนโดยเด็ดขาด…ขอเสนอให้วุฒิสภา…ใช้ดุลพินิจ…และไม่ว่าวุฒิสภาจะตัดสินอย่างไร…เชื่อว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงคะแนนผ่านร่าง พ.ร.บ. …จะยอมรับการตัดสินใจนั้นด้วยเหตุด้วยผล…”

ซึ่งจากข้อความที่แถลงนี้ก็ไม่ได้มีนัยความหมายทางการเมืองอะไรนอกจากให้เป็นดุลพินิจของวุฒิสภาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นี้

และในวันเดียวกันนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ทำหน้าที่เป็นประธานวิปรัฐบาลแถลงข่าวว่าวิปรัฐบาลมีมติเห็นชอบที่จะถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้งหมด

ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 หลังจากการอภิปรายถกเถียงกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมมีมติให้ถอนด้วยคะแนน 301 ต่อ 1 และนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ได้แถลงว่า ได้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปหมดแล้ว ทั้งพรรคเพื่อไทยและสภายืนยันว่าจะถอนกฎหมายนี้ออก และรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกลับมาพิจารณาอีกโดยเด็ดขาด

และเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมประท้วงยุติการชุมนุม

แต่ในความเป็นจริง ตามรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับกรรมาธิการเสียงข้างมากที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาไม่สามารถถอนได้

 

ขณะเดียวกัน แกนนำมวลชนเสื้อแดงได้ออกมาแถลงข่าวชี้ว่า การที่ผู้ที่ออกมาชุมนุมไม่ยุติการชุมนุมทั้งที่รัฐบาลและ ส.ส.พรรคเพื่อไทยประกาศจะไม่นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาพิจารณา แสดงให้เห็นว่า การชุมนุมเรียกร้องมีเป้าหมายที่จะล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าจะเพียงต่อต้านร่าง พ.ร.บ.

และแกนนำมวลชนเสื้อแดงได้ประกาศว่าจะเปิดเวที นปช. เพื่อปกป้องประชาธิปไตยในพื้นที่ต่างจังหวัดจำนวน 10 เวที

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีการประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมีมติเอกฉันท์ด้วยคะแนน 141 เสียงไม่รับร่างไว้พิจารณา

ฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ยกระดับการต่อต้านโดยมุ่งดำเนินการจนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวจะไม่มีทางกลับมาได้อีก

 

2.ความขัดแย้งภายในสภาผู้แทนราษฎร จากความขัดแย้งในข้อ 1 ส่งผลให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 153 คนลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากจะอธิบายสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นไปตามหลักการยุบสภาตามประเพณีการปกครองระบบรัฐสภา ก็น่าจะเป็นเหตุผลสองข้อข้างต้นนี้มากกว่าจะอธิบายเพียงว่าเกิดจาก “ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกของชนในชาติ”

หรืออธิบายตามความที่ประกาศในพระราชกฤษฎีกาการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 ข้างต้น

จากที่กล่าวมา เราสามารถสรุปภาพรวมสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยทั้ง 13 ครั้ง

สำหรับความเห็นของผู้เขียน เมื่อประมวลสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 13 ครั้ง จะพบว่า มีสาเหตุหลักในการยุบสภาดังนี้คือ

1. ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา 2 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2481, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2529)

2. ความขัดแย้งภายในรัฐบาล 4 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2519, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2531, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2538, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2539)

3. ครบวาระ 3 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2489, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2543, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2548)

4. สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา 2 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2526, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556)

5. มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554)

6. เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลหลังจากเกิดวิกฤตทางการเมือง 1 ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2535)

ขณะเดียวกัน ในการยุบสภาบางครั้ง อาจมีสาเหตุมากกว่า 1 ข้อ ดังที่จะได้กล่าวในตอนต่อไป