เจาะปมร้อน กกต. ส่อ “วงแตก” สัญญาใจเปลี่ยนเก้าอี้ “ประธาน”

ภาพจาก : www.patrolnews.net

บรรยากาศทางการเมืองหลังผ่านการทำประชามติกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อองค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับความสัมพันธ์ของเหล่า 5 เสือ กกต. ที่ถอดรหัสออกมาในขณะนี้ น่าจะอยู่สภาพ “วงแตก”

หลังปรากฏข่าวครึกโครมของสื่อหลายสำนักถึงกระแสข่าวการเปลี่ยนตัวคนนั่งเก้าอี้ “ประธาน กกต.” แบบสายฟ้าแลบ

ประเด็นร้อนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีข่าวหลุดออกมาว่า กกต. 3 ใน 5 คน ผนึกกำลังกัน ต้องการเปลี่ยนตัว “ประธานซุป” “ศุภชัย สมเจริญ” อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ออกจากตำแหน่งประธาน กกต.

โดย กกต. 1 ใน 3 คน หยิบยกประเด็นการบริหารงานภายในของสำนักงานขึ้นมาอภิปรายระหว่างการประชุมลับของ กกต. เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในลักษณะทำนองตำหนินายศุภชัย เกี่ยวกับการทำหน้าที่ต่างๆ

พร้อมกับทวงถามถึงข้อตกลงที่ได้เคยให้ไว้เมื่อครั้งได้รับการสรรหาเป็น กกต. ว่าหากได้รับเลือกเป็นประธาน กกต. ก็จะดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปีเท่านั้น

แต่ขณะนี้พ้นระยะเวลาดังกล่าวมาแล้ว เหตุใดจึงยังไม่มีการดำเนินการตามที่ให้สัญญาใจกันไว้

ศุภชัย สมเจริญ
ศุภชัย สมเจริญ

แม้นายศุภชัย จะชี้แจงถึงเหตุผลของการทำหน้าที่ประธาน กกต. เพื่อต้องเตรียมการเรื่องการออกเสียงประชามติ จึงอยากทำภารกิจสำคัญให้สำเร็จลุล่วงก่อน

ประกอบกับความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายว่าหากลาออกจากตำแหน่งประธาน กกต. จะทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กกต. ไปด้วยหรือไม่

รวมทั้งเกรงว่าถ้าปรับเปลี่ยนตำแหน่งช่วงนี้จะเป็นการขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 40/2559 ที่ให้งดการสรรหากรรมการองค์กรอิสระทั้งหมดไว้ก่อนและให้คนเก่าดำรงตำแหน่งจนครบวาระหรือไม่

แต่ กกต. ฝ่ายที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธาน กกต. เห็นตรงกันข้ามว่า เหตุผลทางกฎหมายที่นายศุภชัยอ้างว่าจะขออยู่ในตำแหน่งต่อไปนั้นไม่น่าจะใช่

เพราะการลาออกจากตำแหน่งประธาน กกต. ไม่ทำให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ กกต. เนื่องด้วยกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ปฏิบัติมาแล้วเมื่อคราว นายชัช ชลวร ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจนถึงปัจจุบันได้ และคำสั่ง คสช. ที่ 40/2559 ก็เป็นกรณีการห้ามสรรหาใหม่ จึงไม่มีผล

หากนายศุภชัย จะลาออกจากตำแหน่งประธาน กกต. ก็ยังสามารถเป็นกรรมการ กกต. ได้ ไม่ต้องดำเนินการสรรหาใหม่แต่อย่างใด

ทว่า ก็มีการแย้งว่า ตามกฎหมายหรือระเบียบ กกต. ไม่ได้กำหนดให้ กกต. มีอำนาจพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธาน กกต.

จนท้ายที่สุด กกต. เสียงข้างมาก จึงได้มอบหมายให้สำนักงานทำหนังสือถึง คสช. เพื่อสอบถามความชัดเจนในกรณีดังกล่าว

ทั้งนี้ ถ้าจะโฟกัสถึงบทบาทของ กกต. 5 คน เวลาลงมติวินิจฉัยหรือชี้ขาดเรื่องใดก็ตาม ประธานและกรรมการ ก็จะมีสิทธิโหวตได้เพียง 1 คะแนนเสียงเท่ากันหมด แต่ประธาน กกต. จะได้สิทธิในการทำหน้าที่ดำเนินการประชุม การเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง พิจารณาเสนอความเห็นยุบพรรคการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด มีเงินเดือนมากกว่ากรรมการคนอื่นๆ รวมทั้งมีอำนาจควบคุมกำกับนโยบายและงบประมาณ

ขณะที่ประเด็นการเปลี่ยนตัวผู้ทำหน้าที่ประธาน กกต. นั้น ไม่ได้มีเฉพาะแค่ กกต.กลาง ปัญหาแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับ กกต.จังหวัดหลายจังหวัด บางกรณีถึงกับต้องส่งเรื่องมาให้ กกต.กลางชี้ขาด บางจังหวัดถึงขั้นทะเลาะกันต่อหน้า กกต.กลางด้วยซ้ำ เหตุเพราะไม่สามารถตกลงกันเองได้ เถียงกันจน กกต.กลางต้องยื่นคำขาดว่าถ้าตกลงกันไม่ได้จะปลดออกยกชุดเลย

แต่ก็มีบางจังหวัดที่แก้ไขปัญหาด้วยการทำข้อตกลงว่าจะสลับหมุนเวียนการทำหน้าที่ประธาน กกต. กันคนละ 1 ปี หรือตามช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม

แน่นอนว่า เมื่อจู่ๆ ประธานศุภชัย ถูกเพื่อนร่วมงานทวงสัญญาใจให้ลงจากหลังเสือแบบกลางคันแบบนี้ ย่อมมีแรงสั่นสะเทือนต่อภาพลักษณ์ขององค์กร กกต. ไม่มากก็น้อย

รวมทั้งการตั้งคำถามตามมามากมายว่าสาเหตุของการขอเปลี่ยนตัวผู้ทำหน้าที่ “แม่ทัพ กกต.” ช่วงจังหวะนี้ มีนัยยะใดกันแน่ และความสัมพันธ์ของ กกต. 5 คนตอนนี้เป็นอย่างไร ร้าวฉานหรือขัดแย้งหนักตามข่าวลือที่ออกมาหรือไม่

กอปรกับนับตั้งแต่ กกต. ชุดนี้ เข้ามารับตำแหน่งเมื่อช่วงปลายปี 2556 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 5 เสือ กกต. ต้องเผชิญกับเผือกร้อน สารพัดปัญหาทั้งศึกภายในและภายนอก ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็น “โมฆะ”

ภุชงค์ นุตราวงศ์
ภุชงค์ นุตราวงศ์

ข้อกล่าวหาการล้วงลูกการทำงานภายในสำนักงาน กกต. หลังปลดลูกหม้อคนสำคัญอย่าง “ภุชงค์ นุตราวงศ์” ออกจากตำแหน่งเลขาธิการ กกต. รวมทั้งสถานะการเงินของสำนักงาน ที่มีข่าวว่าเข้าขั้นภาวะวิกฤต หรือ “ถังแตก”

ขณะที่การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวัน 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ยอดผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงก็ไม่เป็นไปตามเป้าที่ กกต. ตั้งไว้ จนล่าสุดมาถึงข่าวการขอเปลี่ยนตำแหน่งประธาน กกต. นั่นเอง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่บั่นทอนจิตใจและสร้างความหวั่นวิตกให้กับ “คนใน” อย่างพนักงาน กกต. เป็นอย่างมาก ถึงกับมีการวิเคราะห์กันต่อว่า อาจเป็นโอกาสให้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เซ็ตซีโร่ กกต. ทั้ง 5 คนเพื่อสงบปัญหาความขัดแย้งก็เป็นได้

จากปมปัญหาที่เกิดขึ้นหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าอยากให้ กกต. รีบจบศึกการทวงบัลลังก์เก้าอี้ “ประธาน กกต.” โดยเร็ว เนื่องจากมองว่า เป็นเรื่องภายในองค์กร กกต. เปรียบเหมือนการอยู่ในครอบครัวเดียวกันเป็นเรื่องปกติที่จะมีความขัดแย้งกันบ้าง แต่สามารถพูดจาและตกลงกันได้

และยิ่งมีข่าวว่าจะลิดรอนอำนาจของ กกต. โดยเฉพาะข้อเสนอของกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ต้องการให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) จัดการเลือกตั้งแทน กกต. ย่อมไม่เป็นผลดีต่อ กกต. เลย

เช่นเดียวกับ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี แม้จะออกมาระบุว่า กรณีการสับเปลี่ยนตำแหน่งประธาน กกต. ไม่เป็นการขัดคำสั่ง คสช. เพราะไม่ได้สรรหาใหม่ แต่จะสามารถทำได้หรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องภายในของ กกต. ที่จะต้องไปบริหารจัดการกันเอง

แต่ก็จะมีปัญหาอยู่เล็กน้อยประกอบการพิจารณาของ กกต. อยู่คือการสลับสับเปลี่ยนใดๆ ที่นำไปสู่การนำความกราบบังคมทูลอาจจะเป็นสิ่งที่ต้องคิดกันหลายชั้น

เพราะถือเป็นการเพิ่มพระราชภาระ

ดังนั้น หากไม่จำเป็นก็ขอว่าอย่าเพิ่งคิดอ่านอะไรเลย เราต้องเตือนแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะทำกันบ่อยในแต่ละองค์กร

เพราะขนาดรัฐบาลจะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ยังต้องคิดกันดีๆ ว่าเมื่อใดถึงจะถึงเวลาที่สมควร

และหากมีข้อตกลงกันในการสับเปลี่ยนกันหากครบ 2 ปีนั้น ถือเป็นข้อตกลงภายในของ กกต. เอง ไม่ได้ถือว่าต้องผูกมัดหรือเกี่ยวพันกับคนอื่นที่ต้องรับรู้ด้วย

15-10

เมื่อพิจารณาดูจากคำตอบของ “วิษณุ” ถือเป็นการส่งสัญญาณมายัง กกต. แบบชัดเจนว่าการสลับสับเปลี่ยนแปลงตำแหน่งช่วงนี้อาจไม่เหมาะสมเป็นแน่

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ 3 เสือ กกต. ตัดสินใจยอมยุติศึกชิงบัลลังก์เก้าอี้ประธาน กกต. ไว้ก่อนตามคำทักท้วงของหลายฝ่าย พร้อมกลับมาเดินหน้าเร่งร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้ทันต่อกรอบระยะเวลา

แต่ถึงอย่างไรประเด็นนี้ก็ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า 3 เสือ กกต. จะยอมถอยแบบสุดซอย

หรือแค่เพียงรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมแล้วค่อยเดินหน้าทวงสัญญาใจจากประธาน กกต. กันใหม่