เกษียร เตชะพีระ : “4 ด่านวาทกรรมสิทธิมนุษยชนไทย” (1)

เกษียร เตชะพีระ

การประเมินมองสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยของเจ้าหน้าที่รัฐบาล (“ยุครัฐบาล คสช. ไม่มีละเมิดสิทธิมนุษยชน,” โพสต์ทูเดย์, 29 มิถุนายน 2559) แตกต่างราวฟ้ากับเหวเมื่อเทียบกับข้อค้นพบจากงานสำรวจวิจัยของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรื่อง ในนามของความ(อ)ยุติธรรมภายใต้ คสช.: รวมรายงานผลกระทบจากการรัฐประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชน 2557-2558 หนา 290 หน้าที่เปิดตัวออกมาเมื่อ 1 เมษายน ศกนี้

fsfsss

น่าสนใจว่าทำไมจึงมองแตกต่างกันขนาดนี้?

รัฐบาล คสช. มีวิธีการมอง ตีความและเข้าใจปัญหาสิทธิมนุษยชนไทยอย่างไรหรือจึง “เห็น” ภาพสถานการณ์กลับตาลปัตรไปคนละเรื่องชนิดจากหลังเท้าเป็นหน้ามือ?

จากการติดตามสดับตรับฟังประมวลสรุปถ้อยแถลงของผู้นำและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเวทีสาธารณะทั้งในและนอกประเทศ ประกอบกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักวิชาการและนักสังเกตการณ์ทางการทูตบางคน

ผมพอสรุปได้ว่าทางรัฐบาลมีวาทกรรม (ในความหมายเครื่องมือทางภาษาเพื่อคุมคำ–>คุมความหมาย–>คุมความคิด–>คุมคน) ในการจัดการปัญหาสิทธิมนุษยชนไทย 4 ช่วงชั้น หรือ 4 ด่านด้วยกัน กล่าวคือ :

1) วาทกรรมเอกลักษณ์ไทย (Thai uniqueness)

2) วาทกรรมสภาวะยกเว้น (the state of exception)

3) วาทกรรมจำแนกการบังคับใช้กฎหมาย vs. ปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นคนละเรื่อง (law enforcement vs. human rights)

4) วาทกรรมแบ่งแยกตัวป่วนหน้าเดิมๆ ส่วนน้อย vs. คนส่วนใหญ่ที่ไม่เดือดร้อน (familiar troublesome minority vs. untroubled majority)

ผมขอขยายความและตั้งข้อสังเกตวิเคราะห์วิจารณ์ประกอบไปทีละชุดวาทกรรม

1) วาทกรรมเอกลักษณ์ไทย

เอาเข้าจริงนี่เป็นวาทกรรมเก่าแก่มาก ย้อนรอยถอยหลังไปได้ถึงรัชกาลที่ 5 และมักถูกชนชั้นนำรวมทั้งคนชั้นกลางในสังคมเราหยิบยกมาใช้อ้างอิงรองรับสนับสนุนการเปิดช่องให้ตัวเองไม่ต้องยึดถือปฏิบัติตามหลักการกฎเกณฑ์นิยามสากลต่างๆ อย่างสบายใจไม่ต้องคิดมาก ด้วยเหตุผลเรื่องบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวเฉพาะชาติเฉพาะสังคมทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแบบระบบอุปถัมภ์-พ่อปกครองลูก (clientelism-paternalism) ของตนอันเป็น “เอกลักษณ์ไทย” ที่ไม่เหมือนชาติอื่นใด และไม่มีชาติอื่นใดเหมือนในโลกนี้

ฉะนั้น หลักการกฎเกณฑ์กติกาสากลสัมบูรณ์ (universal, absolute) ทั้งหลายไม่ว่าประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, หลักนิติธรรม, รัฐธรรมนูญ, ระบบและกระบวนการยุติธรรม, ฯลฯ ก็ต้องประยุกต์ปรับใช้โดยสัมพัทธ์ (ตามหลักสัมพัทธนิยมหรือ relativism) กับ “เอกลักษณ์ไทย” อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเรา จะมายัดเยียดบังคับใช้กันอย่างทื่อๆ เถรตรงทั้งแท่งทั้งชุดไม่ได้

เรื่องนี้พวกฝรั่งลูกกำพร้าในสังคมอินดิวิด้วน (individual จงใจสะกด “ด้วน” เพื่อสะท้อนวิธีคิดที่อีลีตไทยมองฝรั่งว่าด้วนขาดจากครอบครัวพ่อแม่ชุมชนเหมือนคนพิการ, ต่างจากคนไทยเรา…) หรือปัจเจกนิยมตัวใครตัวมันของตะวันตกไม่มีทางเข้าใจ “ความเป็นไทย” อันอบอุ่นเอื้ออาทรแบบปิตาภิบาล (paternalistic governance) ของเราได้ (ดูตัวอย่างใน http://m.thailandtoday.in.th/monarchy/elibrary/article/167)

เราอาจตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นต่อวาทกรรมเอกลักษณ์ไทยได้ดังนี้ :

1)มันมีลักษณะ “หนังบาง” หรือปกป้องตัวเอง (thin-skinned or defensive) กล่าวคือ เป็นการถกเถียงจากจุดยืนที่รู้ว่าตนเป็นคนส่วนน้อย เป็นข้อยกเว้น ที่จะต้องหาเหตุผลมาปกป้องคุ้มครองความผิดแปลกแตกต่างของตน หาทางให้คนส่วนใหญ่หรือหลักการกฎเกณฑ์กติกาของโลกยอมเปิดทางยกเว้นให้ไทยแหกคอกออกไปโดยไม่ต้องหมุนตามโลกได้ (ไม่ต้อง globalization)

ฉะนั้น สิ่งแรกสุดอันเป็นยอดปรารถนาของวาทกรรมเอกลักษณ์ไทยคือให้โลกยอมรับให้ไทยแตกต่างออกไปจากโลกได้ ในทางกลับกัน สิ่งสุดท้ายอันเหลือเชื่อในครรลองฝันของวาทกรรมเอกลักษณ์ไทยคือแบบไทยๆ นี่ต่างหากควรเป็นแกนหลักและศูนย์กลางโลก พึงถือเป็นหลักการกฎเกณฑ์กติกามาตรฐานของโลก แล้วหาทางรุกคืบเข้ายึดโลกเพื่อให้โลกหมุนตามไทยแบบไทยาภิวัตน์ (Thai-ization)

แหะๆ เราค่อนข้างเจียมตัวเจียมใจ ไม่ทะเยอทะยานขนาดนั้นนะครับ (แต่ถ้าในเมืองไทย ก็ว่าไปอีกอย่าง…)

ดังสะท้อนออกในบทกลอนอร่อยเด็ดเผ็ดแสบของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ในมติชนรายวัน 18 ธันวาคม 2554 ว่า :

“คนทั้งโลกมองเห็นเป็นสีดำ แต่เจ้ากรรมมองเห็นเป็นสีขาว

ความเป็นไทยคล้ายมนุษย์ต่างดาว ไม่เหมือนชาวโลกนี้ที่เป็นคน”

2)มีปัญหาแต่ต้นสำหรับวาทกรรมเอกลักษณ์ไทยว่าลักษณะของคนไทย สังคมไทย วัฒนธรรมไทยในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็น “เอกะ” คือสอดบรรสานกลมกลืนเป็นปึกแผ่นเอกภาพหนึ่งเดียวกัน อย่างไม่มีรอยตะเข็บปริแตกแยกแบ่งแปลกต่างขัดแย้งกันออกเป็นหลากฝ่ายหลายกระแส, จริงหรือ?

ในฐานะคนสอนรัฐศาสตร์ที่ต้องอ่านค้นข้อมูลประวัติการเมืองไทยที่ผ่านมาเป็นวิชาชีพ มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยนะครับ ดังที่ผมพยายามสะท้อนออกผ่านบทกลอนเปรียบเทียบ (กลอนก็เป็นเอกลักษณ์ไทยอย่างหนึ่งนะครับ คนไทยเป็นชาติเจ้าบทเจ้ากลอน…) ด้านล่างนี้ (19 มิถุนายน 2557) :

ไทยไหนไทยแท้จริง?

“ไทยปรีดีอภิวัฒน์จัดรัฐใหม่ ไทยมโนฯ ต้านไว้ให้ถอยหลัง

ไทยพิบูลฯ แหวกไทยแปลกใหม่จัง ไทยกุหลาบเหนี่ยวรั้งอำนาจนิยม

ไทยสฤษดิ์ปฏิวัติพัฒนา ไทยจิตรลุกทายท้าการขี่ข่ม

ไทยถนอมรัฐประหารมะกันชม ไทยเสกสรรค์เรียกระดมสิบสี่ตุลาฯ

ประวัติไทยมีไทยหลายไทยอยู่ ไทยใคร่รู้ไทยไหนไทยยิ่งกว่า

เราชาวไทยต้องเป็นไทยไม่สร่างซา แต่ปัญหาไทยไหนไทยแท้จริง?”

3)จะเห็นได้ว่าในช่วงจังหวะคับขันหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่กำหนดนิยามตัวตนและอนาคตบ้านเมืองของเราในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จะมีความแตกต่างขัดแย้งและทางเลือกมากกว่าหนึ่งเสมอ เช่น :

– การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475-2476 : ปรีดี พนมยงค์ vs. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

– ความเป็นไทยใหม่แบบชาตินิยมทหารสมัยรัฐบาลพิบูลสงคราม : จอมพล ป. พิบูลสงคราม vs. กุหลาบ สายประดิษฐ์

– เผด็จการทหารอาญาสิทธิ์เพื่อการพัฒนาสมัยรัฐบาลคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ : จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ vs. จิตร ภูมิศักดิ์

– การลุกฮือของนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 : จอมพลถนอม กิตติขจร vs. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

เป็นต้น

คำถามสำหรับวาทกรรมเอกลักษณ์ไทยก็คือในจังหวะดังกล่าวที่ปรากฏทางเลือกสองแพร่ง (หรือมากกว่า) ขึ้นในสังคมไทย ใครกันที่มีสิทธิ์พูดแทนชาติไทย? ทางเลือกไหนเป็นตัวแทนความเป็นไทยที่แท้จริงกันแน่?

คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือมันตัดสินกันด้วย [อำนาจ] ไม่ใช่ด้วย [วัฒนธรรม] และผู้กุมอำนาจเหนือกว่าที่บำราบปราบปรามทางเลือกอื่นของสังคมลงไปได้ ก็อ้างสิทธิ์ในการสถาปนาตนเองและวิถีทางที่ตนรักชอบขึ้นมาเป็น “ความเป็นไทย” หรือ “เอกลักษณ์ไทย” แล้วกดทับฝ่ายค้านและทางเลือกต่างๆ ลงไปให้กลายเป็นอื่นและไม่เป็นไทย ถ้าหากยังแข็งขืนดึงดื้อไม่ชอบไม่ยอมรับ “ความเป็นไทย” แห่งอำนาจสถาปนา ก็จงย้ายไปอยู่ที่อื่นซะ เช่น ในคุก ในป่าหรือเมืองนอก เป็นต้น

ก็แลอำนาจแห่งวาทกรรมเอกลักษณ์ไทย จะโดยตั้งใจหรือไร้เจตนา จึงมักก่อเกิดด้านตรงข้ามของมัน คือ วาทกรรมแห่งความอึดอัดต่อความเป็นไทย ขึ้นมาเป็นกระสายเสมอ ดังที่ผมเคยจงใจลองแต่งกลอนฟิวชั่นไทยปนฝรั่งเพื่อสะท้อนกลุ่มอาการนี้ไว้ว่า :

I AM AN UD-AD MAN!

I am an ud-ad man.

Living in ud-ad Thailand.

I wonder why it is so.

Maybe because the general tells me to go.

I am an ud-ad man.

He says I don”t own this land.

It”s alright if I agree with him.

Otherwise my future looks dim.

I am an ud-ad man.

He wishes to kick me out of this land.

Simply because I think otherwise.

And he says that isn”t right.

I am an ud-ad man.

Born and grown up in ud-ad Thailand.

It”s the land of the free

so long as you don”t talk, hear and see.

This is the ud-ad land.

Bear with it if you can.

Here love is compulsory.

And hatred is given freely.

Long live ud-ad-ness!

Think otherwise and you might be dead.

Ud-ad is uniquely Thai.

Freedom is a foreign vice.

(ดูคำแปลกลอนนี้เป็นไทยโดย อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ที่ http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1363712402&grpid=03&catid=)

(ยังมีต่อ)