ใต้ดิน ใต้ฟ้า สองนิทรรศการศิลปะ ที่สำรวจสถานะของประชาชน ภายใต้อำนาจการเมือง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกัน

ที่น่าสนใจก็คือ นิทรรศการที่ว่านี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวที่จัดแสดงคู่กัน ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า ใต้ดิน โดย มิตร ใจอินทร์ ร่วมกับ ใต้ฟ้า โดย อารียนา ชัยวาระนนท์ ที่นอกจากจะเป็นศิลปินเจ้าของผลงานในนิทรรศการหลังแล้ว เธอยังเป็นภัณฑารักษ์ของสองนิทรรศการนี้อีกด้วย

มิตร ใจอินทร์ ศิลปินชาวเชียงใหม่ ผู้ทำงานศิลปะที่อยู่บนพรมแดนก้ำกึ่งระหว่างงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และสถาปัตยกรรมทางสังคม และใช้ผลงานศิลปะเป็นหนทางในการสื่อสารทัศนคติส่วนตัวเกี่ยวกับศิลปะกับชีวิตประจำวัน และประเด็นทางสังคมการเมือง

ในครั้งนี้เขากลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการที่แปลกตากว่าที่เคย โดยเป็นนิทรรศการแรกที่จัดแสดงในความมืดมิด ต่างกับบรรยากาศของสีสันอันสว่างสดใสที่ปรากฏในผลงานในอดีตของเขา

ราวกับจะเชิญชวนผู้ชมให้เดินเข้าไปในถ้ำเพื่อสังเกตแสงสว่างอันสลัวรางในความมืดก็ไม่ปาน

นิทรรศการใต้ดิน
นิทรรศการใต้ดิน
นิทรรศการใต้ดิน

อารียนา ชัยวาระนนท์ ภัณฑารักษ์ กล่าวถึงที่มาของนิทรรศการ ใต้ดิน ของ มิตร ใจอินทร์ ว่า

“นิทรรศการนี้เกิดขึ้นจากการพูดคุยกับ มิตร ใจอินทร์ เกี่ยวกับบริบทของเมืองไทย สถานการณ์ทางการเมือง และความมืดมิดที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มิตร ใจอินทร์สนใจในการสื่อสารความมืดมิดนี้ออกมาให้เห็นเป็นภาพ ด้วยการใส่ความมืดมิดนี้ลงในงานศิลปะของเขา ซึ่งโดยปกติผลงานของเขามักจะถูกทำออกมาในโทนที่สว่างไสว สีสันสดใสฉูดฉาด”

“นิทรรศการนี้จึงเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากสำหรับเขา เป็นการเปิดหนทางใหม่ๆ ในการทำงานของเขา ด้วยโทนสีใหม่ เทคนิคใหม่ ที่เขาใช้เท้าเหยียบในการวาดภาพลงบนผืนผ้าใบ โดยทีมงานของเขาทำการเหยียบย่ำลงไปบนผ้าใบราวกับกำลังเต้นระบำในสตูดิโอ และผ้าใบเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกรองพื้นเหมือนงานในนิทรรศการก่อนหน้าของเขาที่เป็นอุโมงค์ (สว่าง) มีแค่สีหมึกที่ประทับลงไปด้วยเท้าเท่านั้น นั่นหมายความว่าคุณสามารถมองทะลุผ้าใบได้เมื่อมีแสงเล็กน้อย”

“เมื่อเราทำนิทรรศการในความมืดแบบนี้ ก็จะมีห้วงเวลาที่แสงสลัวส่องลอดออกมา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบริบททางการเมืองไทยในตอนนี้และในอนาคต ที่ตกอยู่ในความมืดมิดอย่างยาวนาน แต่ก็มีแสงสลัวรางลอดออกมาให้เห็น และแสงเหล่านี้ก็ส่องออกมาในหลากสีสัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของช่วงเวลาอันแตกต่าง”

“เมื่อคุณเข้ามาในนิทรรศารครั้งแรก จะมีอุโมงค์ยาวที่มีแต่แสงสลัวสีน้ำเงิน ซึ่งสีน้ำเงินนั้นมีความหมายหลายอย่างในประเทศไทย ทั้งท้องฟ้า หรือชนชั้นสูงและฝ่ายอนุรักษนิยม”

“เมื่อเรานำท้องฟ้ามาอยู่ใต้ดิน ก็ทำให้เราเกิดคำถามทันทีว่า นี่เป็นท้องฟ้าจริงหรือไม่ เราสามารถไว้ใจมันได้ไหม เมื่อเราออกจากอุโมงค์เข้าไปในห้องใหญ่ที่มีแสงสีมากมาย ซึ่งมีที่มาจากประติมากรรม(ติดหลอดไฟ) ที่แยกตัวอยู่ในห้องเล็กๆ แคบๆ แต่ละห้อง และเมื่อคุณเดินเข้าไปในห้องเหล่านี้ คุณก็จะรู้สึกถึงความร้อนของแสงไฟที่ออกมาจากประติมากรรมเหล่านั้น ที่มีขนาดความสูงเท่ากับคน การเข้าไปอยู่ในห้องยังทำให้เรารู้สึกเหมือนกับเข้าไปอยู่ในห้องขังที่ผู้คนถูกคุมขังอีกด้วย”

“ประติมากรรมแต่ละชิ้นก็มีหลากสีสัน และรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับมนุษย์ที่มีความเป็นปัจเจกในแต่ละคน ผลงานนี้ของเขา กระตุ้นให้เราระลึกถึงตัวเองในพื้นที่คุมขังที่กักขังร่างกายของคนผู้แปลกแยกแตกต่างจากเรา เพื่อทำให้เราอยู่ในสภาวะของความเข้าอกเข้าใจในการแบ่งปันพื้นที่กับมนุษย์คนอื่นๆ”

นิทรรศการใต้ดิน
นิทรรศการใต้ดิน
นิทรรศการใต้ดิน

ซึ่งเจ้าประติมากรรมติดหลอดไฟที่ว่านี้ เป็นรูปแบบการทำงานที่ศิลปินเคยทำในโครงการ Bangkok Apartments (2022) ในนิทรรศการ Dreamday ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน และในโครงการ dreammantra (2023) ในนิทรรศการ Dreamworld ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม โดยเป็นผลงานประติมากรรมหลากสีสันจากกระดาษและวัสดุเก็บตกเหลือใช้ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมสัมผัสจับต้องผลงาน หรือแม้แต่นำกลับบ้านได้ โดยแลกกับสิ่งตอบแทนที่ไม่ใช่เงิน

ซึ่งผลงานของมิตร ใจอินทร์ ในนิทรรศการนี้แตกต่างตรงที่สีสันอันดำทะมึน และถูกจัดแสดงโดยเปิดให้แสงจากหลอดไฟหลากสีสันเรืองรองในห้องอันมืดมิด

และถึงแม้จะเปิดโอกาสให้ผู้ชมสัมผัสจับต้องผลงานได้เหมือนกัน แต่เขาไม่ให้เอากลับบ้านนะจ๊ะ!

“มิตร ใจอินทร์ ท้าทายแนวคิดที่ว่าศิลปะเป็นสิ่งที่สูงส่งและเหินห่างจากผู้คน ด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าใกล้ สัมผัส จับต้อง (หรือแม้แต่เหยียบย่ำ) ผลงานศิลปะของเขา และสิ่งที่พิเศษเกี่ยวกับนิทรรศการครั้งนี้ นั่นคือ ในวันเปิดนิทรรศการที่ผ่านๆ มาของเขา ผู้ชมมักจะถ่ายภาพเซลฟีกับผลงานของเขา”

“แต่นิทรรศการนี้แสดงในที่มืด จึงยากมากที่จะถ่ายภาพ สิ่งที่งดงามเกี่ยวกับการจัดแสดงงานในลักษณะนี้ก็คือการทำให้เรามีส่วนร่วมกับงานศิลปะอย่างใกล้ชิด แทนที่จะแค่ชมงาน ถ่ายภาพแล้วก็จากไป เราต้องสัมผัส ต้องเข้าใกล้ ต้องเลิกม่านผ้าใบ (ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ) ออก เพื่อเดินเข้าไปชมงานในห้อง และสัมผัสกับความร้อนของหลอดไฟบนประติมากรรม เรายังสามารถสัมผัสผลงานเหล่านี้ได้จริงๆ ด้วย”

“ถึงแม้ในนิทรรศการนี้จะไม่สามารถเอางานกลับบ้านได้เหมือนนิทรรศการก่อนหน้าของเขา แต่สิ่งที่คุณนำกลับบ้านไปด้วยคือมุมมองใหม่ๆ เพราะเมื่อเราเข้าไปอยู่ในห้องมืด สายตาของเราต้องปรับให้ชินกับความมืด และบริบททางการเมืองของไทยในช่วงเวลานี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในความมืดมิด คนไทยถูกทำให้มืดบอดต่อข้อมูลข่าวสารจากการเซ็นเซอร์ปิดกั้นของอำนาจรัฐ ดังนั้น เราจึงต่างตกอยู่ในความมืด ถึงแม้เราจะไม่รู้ตัวก็ตาม”

แต่ในทางกลับกัน อำนาจรัฐเองก็ไม่สามารถปิดกั้นเซ็นเซอร์ปิดหูปิดตาประชาชนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเทคโนโลยีการสื่อสาร และโลกออนไลน์ที่ทำให้เราสามารถเปิดหูเปิดตาให้สว่างในช่วงเวลาอันมืดมนได้ ไม่ต่างอะไรกับแสงสว่างจากประติมากรรมของเขาที่ส่องลอดม่านดำสนิทออกมาให้เราเห็นได้ ถึงแม้จะดูเลือนรางก็ตาม

“นิทรรศการนี้เป็นเหมือนการแสดงให้เราเห็นว่า แม้เราจะถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในความมืดมิด แต่เราก็สามารถมองเห็นแสงสว่างที่นำพาไปสู่ทางออกได้”

นิทรรศการใต้ดิน
นิทรรศการใต้ดิน
นิทรรศการใต้ดิน
นิทรรศการใต้ดิน

ด้วยความที่เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงในที่มืดเช่นนี้ ทำให้เราอดนึกไปถึงเครือข่ายวิชาการและเว็บไซต์ที่นำเสนอการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากเครือข่ายวิชาการโดยเสรีอย่าง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ภูมิลำเนาเดียวกับมิตร ใจอินทร์ ไม่ได้

เพราะนอกจากความมืดจะสื่อถึงการปิดหูปิดตาประชนแล้ว

ในทางกลับกัน ความมืดก็สามารถเป็นที่ซ่อนเร้นหลีกหนีจากการควบคุมคุกคามของอำนาจรัฐ เพื่อแสดงออกทางความคิดได้อย่างเสรีเช่นเดียวกัน

“ฉันเคยทราบมาว่า มิตร ใจอินทร์ เคยดำเนินการให้เกิดพื้นที่ใต้ดินที่ประชาชนสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองและเลือกอนาคตของตัวเองได้ โดยหลบเร้นจากสายตาของผู้มีอำนาจเบื้องบน (ฟ้า) สิ่งนี้เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ทางรถไฟใต้ดินในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นช่องทางสำคัญทางการเมือง เส้นทางลับ และเครือข่ายชุมชนของคนผิวดำ และประชาชน ที่สนับสนุนให้เกิดการต่อสู้เพื่อการเลิกทาสในสหรัฐอเมริกา”

“ทางรถไฟใต้ดินในบริบทนั้นจึงเป็นเหมือนเส้นทางสู่เสรีภาพ ดังนั้น พื้นที่ใต้ดินจึงสามารถเป็นเส้นทางสู่เสรีภาพในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน”

“สิ่งที่น่าสนใจในการเชื่อมโยงนิทรรศการนี้เข้ากับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็คือ มันแสดงให้เห็นว่าตลอดมา มิตร ใจอินทร์ มักผูกพันกับแนวคิดที่ว่า ประชาชนธรรมดาจะสามารถชูนิ้วกลางให้อำนาจรัฐที่กดขี่เราได้อย่างไร”

นิทรรศการใต้ฟ้า
นิทรรศการใต้ฟ้า
นิทรรศการใต้ฟ้า

นอกจากนิทรรศการใต้ดินแล้ว ในหอศิลป์เคียงข้างยังจัดแสดงนิทรรศการใต้ฟ้า โดย อารียนา ชัยวาระนนท์ ที่นำเสนอภาพวาดเหมือนจริง ที่สื่อสารถึงประเด็นเกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองเบื้องบนที่ครอบงำประชาชนเอาไว้ข้างใต้

“นิทรรศการใต้ฟ้า เกิดจากการที่ฉันทำวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยของไทยในแง่ที่ศิลปินมักจะใช้สัญลักษณ์ของท้องฟ้าในการพูดถึงชนชั้นนำของประเทศ ในขณะที่ฉันทำงานวิจัยนี้ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในภาษาจีนมีคำว่า เทียน (Tiān 天) ที่แปลว่า “ท้องฟ้า” ซึ่งหมายถึงจักรพรรดิจีนด้วย และยังมีคำว่า เทียนเซี่ย (Tianxia 天下) ที่หมายถึง “ทุกสิ่งที่อยู่ใต้สรวงสวรรค์” ซึ่งเป็นแนวคิดเก่าแก่ที่บอกว่า ทั้งโลกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิจีน หมายถึง ใครสักคนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในการปกครองผู้คน ซึ่งแนวคิดนี้ประเทศจีนในปัจจุบันนำมาใช้เป็นเครื่องมืออ้างความชอบธรรมในการแผ่ขยายลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

“ในนิทรรศการนี้ ฉันสำรวจแนวคิดของท้องฟ้า และผู้ปกครองผู้ทรงอำนาจ ทั้งในประเทศจีนและประเทศไทย โดยนำภาพถ่ายในประวัติศาสตร์ ที่บางภาพเคยถูกเซ็นเซอร์ในอดีต จากทั้งประเทศจีนและไทยมาวาดใหม่ โดยลบภาพของผู้ปกครองที่อยู่ในภาพ และแทนที่ด้วยพื้นที่ว่างสีน้ำเงิน ที่นอกจากจะเป็นพื้นที่ว่างที่เชื่อมภาพวาดทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว ยังเชื่อมโยงพรมแดนระหว่างประเทศจีนกับไทย, พื้นที่ในโลก, ประวัติศาสตร์ และเวลาในแต่ละยุคสมัยเข้าไว้ด้วยกันด้วย”

“เพราะถึงคนจะตายไปแล้ว แต่อำนาจก็ยังคงอยู่ ผู้นำสามารถเปลี่ยนคนได้ แต่อำนาจยังคงอยู่บนนั้น แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง พื้นที่ว่างสีน้ำเงินก็เป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่เราสามารถเติมแต่งอะไรใหม่ๆ ลงไปก็ได้ตามใจเรา”

(เช่นเดียวกับ “บลูสกรีน” ที่ใช้ในการถ่ายทำวิชวลเอฟเฟ็กต์ในภาพยนตร์นั่นเอง)

นิทรรศการใต้ฟ้า
นิทรรศการใต้ฟ้า
นิทรรศการใต้ฟ้า

นิทรรศการ ใต้ดิน โดย มิตร ใจอินทร์ ร่วมกับ ใต้ฟ้า โดย อารียนา ชัยวาระนนท์ ภัณฑารักษ์โดย อารียนา ชัยวาระนนท์

จัดแสดงที่ Gallery VER และ Cartel Artspace ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม-24 ธันวาคม 2566

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือโทรศัพท์ 0-2120-6098

ภาพถ่ายโดย Marisa s. •

นิทรรศการใต้ฟ้า
นิทรรศการใต้ฟ้า

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์