อภิญญ ตะวันออก : แฮง งอร์-บนช่องว่างความตาย และมรดกกรรมการเมือง

ชมรมผู้ลี้ภัยเขาอีด่างและไซต์ทู คือภาพผู้คนยุคหลังพลพตที่ฉันรำลึกถึง ในจำนวนนี้ ไม่มีใครที่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งชมรมเขาอีด่างอย่างสมบูรณ์เท่ากับ งอร์ แฮง สำนางชื่อที่เขาตั้งขึ้นเพื่อเป็นมงคลเมื่อตัดสินใจเป็นผู้ลี้ภัยในค่ายดังกล่าว

งอร์, แฮง ในที่นี้หรือ แฮง งอร์ (Haing S. Ngor) นักแสดงสมทบเจ้าของรางวัลอะคาเดมี อะวอร์ดจากภาพยนตร์เรื่องทุ่งสังหาร/เดอะ คิลลิ่งฟิลด์ส์ (1984)

ชีวิตของ แฮง งอร์ ที่มาจากครอบครัวใหญ่พ่อมีเชื้อสายเป็นจีนแม่เป็นเขมร ชาวตนเลบาตี จังหวัดตาแก้วที่พากันอพยพเข้ากรุงพนมเปญตอนสงครามกลางเมือง แฮงตอนนั้นยังเป็นหมอที่พระเกตุมาลาโรงพยาบาล เขาอพยพกลับตนเลบาตีพร้อมมี-ฮวยภริยา ตอนเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญ

เมื่อเอาตัวรอดจากการถูกนำตัวไปสังหารเพราะน้าสาวปูดเรื่องที่เขามีประวัติเป็นหมอ แฮงและภริยาต่อมาถูกส่งตัวไปเขตพระตะบอง ทั้งสองใช้แรงงานในชนบทที่นั่น ซึ่งทำให้ฮวยต้องจบชีวิตพร้อมกับลูก 7 เดือนในครรภ์ก่อนที่ระบอบพลพตจะพังพินาศแค่เพียงครึ่งปี

แต่คนที่เหลือรอดชีวิตอย่าง แฮง งอร์ ต่างหาก ที่รู้สึกเหมือนถูกคุกคาม

เมื่อถูกซักประวัติย้อนหลังจากคนของรัฐ แฮงจึงหวาดระแวงและตัดสินใจหลบหนี

 

พฤษภาคม 1979 แฮง งอร์ ตัดสินใจเดินเท้าจากพระตะบองไปชายแดนไทยพร้อมกับญาติอีก 2 คน ตั้งแต่ฮวยจากไป แฮงก็สิ้นหวังกับอาชีพหมอที่เขาไม่อาจช่วยชีวิตเธอได้

แต่โชคร้าย เมื่อมาถึงเขาอีด่าง และให้ชื่อแก่เจ้าหน้าที่ว่า งอร์ แฮง สำนาง/โชคดีนั้น ทันทีเมื่อมีผู้ทราบว่าเป็นนายแพทย์ แฮงถูกส่งตัวไปยังที่ทำการคลินิกของศูนย์อพยพ

ตอนนี้เอง ที่เราเริ่มเห็นแล้ว นายแพทย์แฮงไม่ใช่คนที่ปรับตัวได้ดีเท่าใดนัก เมื่อเขาสารภาพว่า รู้สึกกดดันเมื่อต้องทำงานกับทีมแพทย์ต่างชาติ

แฮง งอร์ เองเรียนจบหลักสูตรนักเรียนแพทย์แบบฝรั่งเศสที่กรุงพนมเปญ เขารู้สึกถึงความอึดอัดในการสื่อสารที่จำกัดด้วยภาษาอังกฤษที่เขาจำเป็นต้องฝึกอย่างเร่งรัด และทำให้เขาไร้สุขในการสื่อสาร โดยเฉพาะเมื่อหลายครั้งในวิธีรักษาของทีมแพทย์อาสา ต่างไปจากวิธีของตน

กอปรกับเมื่ออยู่อย่างโดดเดี่ยว และญาติถูกส่งไปสหรัฐก่อนหน้า แฮง งอร์ ต่อมาตกหลุมรักอีกครั้งกับหญิงไทย เธอมีหน้าละม้ายคล้ายกับฮวย แต่เมื่อเธอเห็นล็อกเก็ตของอดีตภริยาที่เขาสวมติดคอตลอดเวลา

แฮงถูกเข้าใจผิดว่ายังรอคอยภริยาคนเก่าในเขมร และหลอกเธอแต่งงานในฐานะภริยาคนที่ 2 ทั้งสองร้างความสัมพันธ์กันไป แต่ไม่นานเขาก็ได้รับแจ้งให้เดินทางไปสหรัฐเมื่ออยู่เขาอีด่างครบ 14 เดือน

เมื่อไปสมทบกับญาติที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย แฮง งอร์ เริ่มทำงานที่สำนักงานไชน่าทาวน์เซอร์วิสเซ็นเตอร์ ด้วยรายได้สัปดาห์ละ 400 เหรียญ ด้วยบุคลิกเย็นชาไม่สุงสิงกับผู้คน เขายังมักปฏิเสธที่จะไปร่วมพบปะสังสรรค์เช่นในงานแต่งงาน ที่จะมีชาวเขมรจำนวนมากไปชุมนุมกัน

แฮงได้รับคำชวนจาก สีโสวัตถิ์ โสรีรัตน์ และ ฌอง เฟอร์นันเดช น้องชายนายพลในรัฐบาลลอนนอล ที่เล่าลือกันว่ามีโปรเจ็กต์หนังที่ต้องมีนักแสดงเขมร มีเขมรในลองบีชแห่กันไปคัดตัวถึง 7 พันคน ในจำนวนนั้นมีลูกสาว ลอง โบเร นายกรัฐมนตรีสมัยลอนนอลด้วยคนหนึ่ง

คิดดูสิ แฮง งอร์ ซึ่งอ้างว่าไม่สนใจการคัดตัว แต่กลับยอมไปงานวิวาห์ ซึ่งขณะนั้นมีสต๊าฟฮอลลีวู้ดคนหนึ่งดักรอแคสติ้งและถ่ายรูปครึ่งตัว

แฮง งอร์ ผู้มีใบหน้าเคร่งเครียด ทรุดโทรม และสำเนียงอังกฤษแสนเหน่อ กลับได้รับคำเชิญให้ไปสัมภาษณ์อีกครั้งที่ 2-3-4-5-6-7 และ 8 ครั้งในแบบต่างๆ เริ่มจากครั้งที่ 4 ที่เขาได้พบกับ โรล็องด์ จ็อฟเฟ่ ผู้กำกับฯ และออกแบบให้เขาแสดงไดอะล็อกสั้นในแบบต่างๆ

ในที่สุด แฮง งอร์ ชายปากแข็งผู้ไม่ชอบการแสดง กลับคว้าบทนักข่าวดิ๊ต ปราน ผู้ช่วยชิดนีย์ แชนเบิร์ก ในภาพยนตร์ “ทุ่งสังหาร/เดอะ คิลลิ่ง ฟิลด์ส์” แฮง งอร์ ซึ่งขณะนั้นมีสถานะกึ่งผู้ลี้ภัย เดินทางมาเมืองไทยเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์

แฮงได้พบกับ แซม วอเตอร์สตัน (รับบท ชิดนีย์ แชนเบิร์ก) ทั้งสองถูกชะตาตั้งแต่ทริปไปเขาอีด่าง-เชียงใหม่ และตลอด 5 เดือนของการถ่ายทำ รวมทั้งการพบกับ จอห์น มัลโควิช ในบทอัล ร็อฟอ็อฟ และเป็นคู่ชิงออสการ์ในสาขาดาราสมทบชาย

ที่ตกเป็นของ แฮง ส. งอร์ อย่างปริ่มเปรมในปีนั้น

 

ตลอดเวลาที่ แฮง งอร์ หายตัวไปถ่ายทำภาพยนตร์นั้น ไม่มีเพื่อนร่วมงานคนใดในสำนักงานไชน่าทาวน์เซอร์วิสเซ็นเตอร์ระแคะระคาย

ในบันทึก “Survival in the Killing Fields” (1987, 2003) ที่ แฮง งอร์ เขียนร่วมกับ โรเจอร์ วอร์เนอร์ นั้น เขายอมรับว่ามีนิสัยหวาดระแวงและเก็บงำจากสมัยเขมรแดง

ใช่แต่ แฮง งอร์ หรอกที่เก็บงำ แต่ โรล็องด์ จ็อฟเฟ่ เองต่างหากที่เชื่อมั่น โดยตลอดการถ่ายทำทั้งไทย อเมริกาและแคนาดาทุกโลเกชั่น เขาไม่เคยให้ แฮง งอร์ ติดภาพหรือพบกับ ดิ๊ต ปราน ตัวละครหลักตามที่แฮงร้องขอ

จ็อฟเฟ่ให้เหตุผลว่า แฮง งอร์ ไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดบุคลิกเฉพาะตัวของปราน มันจะดีกว่ามากที่เขาแสดงเป็นตัวเอง

แต่เมื่อทั้งสองได้พบในคราวเดินสายโปรโมตหนัง แฮง งอร์ ยังรู้สึกเสียดายที่เขาไม่ได้พบกับ ดิ๊ต ปราน ก่อนถ่ายทำ “มันจะสมบูรณ์กว่ามาก” เขาคิดเช่นนั้น

ทั้งคู่เมื่อดูภาพยนตร์ฉบับเต็ม เห็นพ้องว่า ความโหดร้ายที่ตนประสบจากระบอบเขมรแดงนั้น ยังห่างไกลกับที่เห็นในภาพยนตร์ในระหว่างการถ่ายทำนั้น แฮง งอร์ มักจะให้ความเห็นต่อจ็อฟเฟ่ถึงความจริงที่เขาพบในเหตุการณ์ ซึ่งบางครั้ง จ็อฟเฟ่ก็ไม่เห็นพ้อง และว่า

“ในโลกของภาพยนตร์ ผู้คนยังอยากจะดูอะไรที่สวยงาม”

และด้วยเหตุนั้นหรือไม่ ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กวาดรางวัลและรายได้

ความโด่งดังของหนัง ยังทำให้ แฮง งอร์ และ ดิ๊ต ปราน ร่วมทำโครงการหาทุนเพื่อผู้ลี้ภัยที่ชมรมชายแดนไทย แฮง งอร์ ยังระดมทุนจากคนในวงการ ก่อตั้ง “มูลนิธิด๊อกเตอร์แฮง ส. งอร์” เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

แต่ในที่สุด แฮง งอร์ ก็มีโอกาสกลับมาพบพี่ๆ น้องๆ ที่พนมเปญอีกครั้ง

 

มันคือตอนที่เขารวมตัวกันที่ตนเลบาตีและตอนนั้น งอร์ ฮง สรุน น้องชายของเขาซึ่งพลัดพราก

การกลับมาพบกันอีกรอบ คือตอนที่กัมพูชาเปิดให้มีการเลือกตั้ง และพี่น้องตระกูลงอร์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้สกุลงอร์ร่วมกัน แต่ ฮง สรุน ได้เปลี่ยนชื่อสกุลเป็น จัน สรุน ที่อาจจะมาจากทางมารดาและมีเชื้อสายเขมร

แต่ จัน สรุน ไม่ปรากฏลงสมัครเลือกตั้งสังกัดพรรคซีพีพี/ประชาชนกัมพูชา (1993) แต่พี่ชายนักแสดงกลับสนับสนุนและทุ่มสุดตัว การเป็นปฏิปักษ์กับพรรคฟุนซินเปกที่แฮงให้เหตุผลที่ว่า ไม่ต้องการเห็นระบอบพลพตหวนกลับมาอีก นับเป็นครั้งแรกๆ ที่ผู้คนเห็นถึงความเกรี้ยวกราดของ แฮง งอร์

ไม่มีตัวเลขชัดเจนเกี่ยวกับเม็ดเงินที่ แฮง งอร์ ทุ่มเทให้พรรคน้องชาย-จัน สรุน และ นายฮุน เซน ขณะนั้น และถึงพรรคซีพีพีจะแพ้ แต่ จัน สรุน กลับมีตำแหน่งเป็นถึงอธิบดีกรมป่าไม้ และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรป่าไม้และการประมงหลายสมัย

ไม่เพียงเท่านั้น ภริยาโลกจุมเตียวสก แก้ว จันสรุน ประธานบริษัท “สก แก้ว” ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของประเทศ และเชื่อว่าเป็น 1 ในนอมินีธุรกิจในอาณาจักรฮุนเซน

ภริยาจัน สรุน ยังมีสายสัมพันธ์ผ่านเครือญาติภริยาสมเด็จฮุน เซน แต่นั่นคือธุรกรรมทางการเมืองแบบกัมพูชา และความสัมพันธ์เชิงเครือญาติแบบนั้นเอง ที่ทำให้เกิดการสถาปนาระบอบเครือญาติ พวกพ้อง การปกครองที่เป็นปึกแผ่น และไม่อาจสลัดกันออกไปได้

ถ้า แฮง งอร์ ยังอยู่ จะรู้สึกอย่างไรนะถ้ามีคนบอกว่า จัน สรุนน้องชายช่างมีใบหน้าเหมือนเขา แต่กลับมีน้ำเสียงเหมือนสมเด็จฮุน เซน

 

แต่ แฮง งอร์ ไม่มีโอกาสจะรับรู้ความสำเร็จของจัน สรุน ตั้งแต่ 25 กุมภาพันธ์ 1996 เมื่อเขาถูก 3 วัยรุ่นเขมร-อเมริกันทำร้ายจนเสียชีวิต

ตำรวจพบว่า คนร้ายมีแรงจูงใจจากทรัพย์สินและสร้อยคอล็อกเก็ตทองคำที่แฮงสวมติดตัว ตามคำมั่นสัญญาที่จะอยู่กับภริยาจนกว่าจะตาย และผลจากการสืบคดีครั้งนั้น ทำให้ทราบว่า แฮง งอร์ แทบจะไม่เหลือติดสมบัติใดๆ ในสหรัฐ หลังจากที่เขาได้โอนทรัพย์สินเกือบทั้งหมดไปลงทุนล่วงหน้า (ทางการเมือง) ที่กัมพูชาแต่ครั้งก่อน

และจนบัดนี้ ก็ยังนึกไม่ออกว่า ใครกันแน่ที่เป็นผู้ถือครองผลประโยชน์ลึกลับนั่น

ระหว่าง จัน สรุน กับ สมเด็จฮุน เซน