แรงงานไทยเผชิญวิบากกรรม ‘ซ้ำ’ นายจ้าง ‘ยิว’ เล่นแง่ ยื้อเวลาจ่ายเงิน นายกฯ ลั่น กลับเลยไม่ต้องรอ อยู่ต่อไม่คุ้มเสีย

จากสถานการณ์การสู้รบกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ตั้งแต่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการสู้รบที่มีความรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์ มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน ซึ่งในจำนวนนั้นมีกลุ่มแรงงานชาวไทย ที่จากบ้านไปทำงานแลกเงินรวมอยู่ด้วย

สถานการณ์ล่าสุดในอิสราเอลตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาเบาลงแม้แต่น้อย ต่างฝ่ายต่างเพิ่มความรุนแรงเพื่อหวังให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้

ในขณะเดียวกันแรงงานชาวไทย รวมถึงกลุ่มนักศึกษาชาวไทยถูกทยอยส่งตัวกลับมาเพื่อให้รอดปลอดภัยจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ตัวเลขแรงงานไทยที่ลงทะเบียนขอกลับบ้านอยู่ที่ 8,500 กว่าราย ไม่ประสงค์กลับ 123 ราย ยังถูกจับเป็นตัวประกัน 19 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 18 ราย และยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 31 ราย

ซึ่งมีการทยอยนำร่างแรงงานผู้เสียชีวิตกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว โดยชุดแรกจำนวน 8 ราย กลับมาถึงเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา

และในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ จะมีการนำร่างผู้เสียชีวิตกลับมาเพิ่มอีก 7 ราย เพื่อให้ครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิตมารับร่างไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป

ส่วนจำนวนแรงงานไทยที่ได้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ล่าสุดตัวเลขอยู่ที่ 4,296 คน

เกินครึ่งจากจำนวนผู้ที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับ

 

ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การนำแรงงานชาวไทยกลับบ้านอย่างหนาหู ทั้งจำนวนที่นำกลับในแต่ละรอบน้อยกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ ซึ่งใช้ระยะเวลามากถึง 12 ชั่วโมงต่อหนึ่งรอบ ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ที่ดำเนินการนำคนของตัวเองกลับประเทศในทันทีที่เกิดเหตุภายในอิสราเอล

ประเด็นนี้ พรรคก้าวไกล โดย นายสหัสวัต คุ้มคง ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล เคยตั้งกระทู้สดสอบถามเพิ่มเติมในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ถึงแนวทางการตั้งศูนย์อพยพที่เป็นทางการให้คนไทยมารวมตัวกัน เพื่อความปลอดภัย มีทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ศูนย์อพยพดังกล่าว เพื่อสะดวกในการขนย้ายคนไทยกลับได้ทีละมากๆ

ขณะเดียวกันควรประสานนำรถไปขนแรงงานไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย และกรณีแรงงานที่ต้องการเดินทางกลับไปทำงานที่อิสราเอล หลังเหตุการณ์สงบจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร

ก่อนจะได้รับคำตอบจากนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าการตั้งศูนย์อพยพคนไทยนั้น กระทรวงการต่างประเทศสั่งการไปแล้วตั้งแต่วันแรก อยากทำมาก แต่เนื่องจากแรงงานไทยอยู่กระจัดกระจาย และจำเป็นต้องขนย้ายคนไทยออกจากจุดเสี่ยงที่เป็นอันตรายก่อน จึงเป็นข้อจำกัดไม่สามารถขนคนไทยกลับประเทศได้คราวละมากๆ

การนำรถเข้าไปช่วยเหลือแรงงานไทยในพื้นที่นั้น การจะขับรถออกจากพื้นที่ได้ ต้องขออนุญาตจากอิสราเอล เพราะเคยมีการขับรถออกมาโดยไม่รับอนุญาต ทำให้เกิดความเข้าใจผิดมาแล้ว

ขณะที่แนวทางช่วยเหลือคนไทยที่อยากกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีกครั้ง หากเหตุการณ์สงบนั้น อิสราเอลให้คำมั่น แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ถ้าอยากกลับมาทำงานอีกจะพิจารณาให้เป็นกรณีพิเศษ

 

แต่ทว่าการดำเนินการพาคนไทยกลับบ้าน ต้องมาสะดุดกับอุปสรรคครั้งใหม่ เมื่อนายจ้างอิสราเอลยื้อเวลาการจ่ายเงินเดือนให้กับแรงงานไทยออกไปเป็นวันที่ 10 พฤศจิกายน และยังมีการเพิ่มจำนวนเงินค่าจ้าง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แรงงานไทยอยู่ต่อ

ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ต้องการเงินเหล่านี้ส่งกลับมาให้ครอบครัว เพราะอย่างที่รู้ดีว่าค่าจ้างรายเดือนขั้นต่ำที่อิสราเอล มากกว่าประเทศไทยถึง 3 เท่า มากพอที่จะเปลี่ยนใจให้แรงงานไทยบางรายเปลี่ยนแผนการเดินทางกลับบ้าน และขออยู่ต่อเพื่อรอรับเงินเดือน หรือรอให้สถานการณ์ความรุนแรงยุติลงเพื่อจะได้ทำงานต่อ

ประเด็นนี้เอง ทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องยกหูโทรศัพท์พูดคุยกับเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย พร้อมกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทางทูตอิสราเอลเองก็ยอมรับว่ามีการเพิ่มเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจจริง ส่วนการเลื่อนจ่ายเงินไปเป็นวันที่ 10 พฤศจิกายนนั้น ทูตอิสราเอลไม่ทราบเรื่อง

ซึ่งนายกฯ เศรษฐาได้ย้ำว่ามีจริง และต้องดูเรื่องนี้ให้เรา

 

ผลกระทบจากสถานการณ์ในอิสราเอล มีเหล่านักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ออกมาส่งเสียงและแสดงความเป็นห่วงว่า หากสถานการณ์ไม่สิ้นสุดลงในเร็ววัน จะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย ทั้งเรื่องของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูง รวมถึงการส่งออกที่อาจชะลอตัว

สอดคล้องกับการคาดเดาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และองค์การการค้าโลก ที่มองว่าหากเหตุการณ์นี้ยืดเยื้อต่อไป เศรษฐกิจและการค้าโลกจะชะลอตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะประเทศไทย ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป เป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว จนมีรายชื่อออกมาคัดค้านไปก่อนหน้านี้

24 ตุลาคมที่ผ่านมา การประชุมที่พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐาได้กล่าวถึงเหตุการณ์สู้รบระหว่างประเทศอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ถือเป็นเครื่องสะท้อนว่าเหตุใดรัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศครั้งมโหฬาร เพราะแรงงานไทยเปลี่ยนใจจะไม่กลับไทยแม้ว่าความรุนแรงของสถานการณ์จะเพิ่มมากขึ้น เพียงเพราะนายจ้างจะให้เงินเพิ่มอีก 5 หมื่นบาท

ที่น่าตกใจกว่านั้นคือเลื่อนวันออกเงินเดือนเป็นวันที่ 10 พฤศจิกายน หากคิดให้ดีแสดงว่าเงินเดือนจะไม่ออก เพราะอาจจะมีการใช้ปฏิบัติการภาคพื้นดิน และอาจจะมีการสูญเสียครั้งมโหฬาร

ดังนั้น จึงฝาก ส.ส.ที่มีแรงงานไทยอาศัยอยู่ในพื้นที่ ให้ไปบอกญาติพี่น้องพวกเขาด้วย ว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนนับหมื่นคนต้องเสี่ยงชีวิตดูแลคนเป็นแสนเป็นล้านคน ปัญหาดังกล่าวเป็นภาพที่สะท้อนกลับมาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทุกคนพยายามหาเงิน พยายามอยู่ต่อเพื่อให้ได้เงินอีก 5 หมื่นบาท

ขณะที่นายจ้างอิสราเอลก็เอาเปรียบจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของเรา ถือเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ รัฐบาลจึงพยายามเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการลดค่าน้ำ ค่าไฟ พักหนี้เกษตรกร รวมถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

นายเศรษฐากล่าวด้วยว่า แม้จะมีนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกเรื่องการรักษาวินัยการเงินการคลัง เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง แต่ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องเดียว ไม่ได้หมายความว่าเราทำโครงการนี้หรือโครงการอื่นๆ แล้วจะเป็นการทำให้วินัยการเงินการคลังเสียหากเป็นสิ่งที่อธิบายได้

“แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศจัดเครื่องบินรับแรงงานไทยได้วันละ 800-1,000 ที่ แต่คนที่กลับมาเริ่มลดน้อยลง เพราะนายจ้างอิสราเอลเริ่มปั่นหัวว่าจะได้เงินเพิ่มขึ้น แต่เมื่อดูจากสถานการณ์ สำนักข่าวกรองหรือฝ่ายความมั่นคง ชัดเจนว่าสถานการณ์สู้รบจะรุนแรงมากขึ้น แล้วอาจจะลุกลามไปประเทศข้างเคียงด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ แต่ผมพูดเพื่อให้เกิดการพาดหัว เชื้อเชิญให้คนไทยกลับมาเถอะ เงินจำนวนไหนก็ไม่สามารถทดแทนชีวิตได้”

นายเศรษฐากล่าว

 

ล่าสุด มีรายงานข่าวนายกฯ ได้เรียก 2 รมช.คลัง หารือถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล และมาตรการช่วยเหลือแรงงานไทยที่มีการกู้เงิน เพื่อเดินทางไปทำงานต่างประเทศและในอิสราเอล และเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้แรงงานไทยยอมเสี่ยง ไม่ยอมกลับไทย ซึ่งจะมีคำตอบออกมาเร็วๆ นี้

และตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม เป็นต้นไป จะมีเที่ยวบินรองรับแรงงานไทยกลับจากอิสราเอลมาลงที่สนามบินดอนเมืองเพิ่มอีกแห่ง เพื่อช่วยให้การอพยพแรงงานไทยมากขึ้นตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ นั่นก็คืออย่างน้อยวันละ 800 คน

ภารกิจนำคนไทยกลับจากประเทศอิสราเอลครั้งนี้ ถือเป็นบททดสอบใหญ่ของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อเกิดประเด็นนายจ้างเพิ่มมูลค่าเงินจูงใจให้แรงงานไทยอยู่ต่อ กลายเป็นอุปสรรคใหม่ให้รัฐบาลต้องหาวิธีโน้มน้าวใจแรงงานไทยกลับมา รวมไปถึงเมื่อกลับมาแล้ว จะมีแนวทางชดเชยกลุ่มคนเหล่านี้ที่ขาดโอกาสจากการทำงานอย่างไร เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำให้เห็นหลังจากนี้

ไม่มีใครตอบได้ว่า สงครามอิสราเอล-ฮามาส จะจบลงเมื่อใด แต่ที่แน่ๆ ผลกระทบต่อแรงงานไทย และเศรษฐกิจไทย เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง