Born in GAZA

วัชระ แวววุฒินันท์

ช่วงนี้คงไม่มีพื้นที่ไหนในโลกที่ผู้คนให้ความสนใจมากไปกว่าที่ GAZA เป็นแน่ มีข่าวการโจมตีจากกองทัพอิสราเอลในพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้แทบจะทุกวัน และที่ตามมาคือความสูญเสียย่อยยับของผู้คน

ฉนวนกาซา เป็นพื้นที่ขนาดเล็กเพียง 365 ตารางกิโลเมตร มีความกว้างสุดเพียง 10 ก.ม. ส่วนความยาวอยู่ที่ 41 ก.ม. ที่เล็กๆ แห่งนี้กลับมีประชากรอยู่อาศัยถึง 2.3 ล้านคน โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองกาซา มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในโลกในอัตรา 9,000 คนต่อตารางกิโลเมตร

ในพื้นที่แห่งนี้มีค่ายผู้อพยพอยู่ถึง 8 แห่ง โดยการดูแลขององค์การสหประชาชาติ

เมื่อเกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังฮามาสที่ปกครองกาซากับอิสราเอล อิสราเอลก็ได้เล่นบทหนักหวังจะไม่ให้ศัตรูเหลือรอดไปได้ การระดมการโจมตีทั้งทางอากาศอย่างต่อเนื่องจึงเกิดขึ้น และตามมาด้วยการบุกทางภาคพื้นดิน

ในข่าวเราจะได้เห็นภาพบ้านเรือนและอาคารต่างๆ ถูกทำลายเสียหาย ผู้คนต่างอพยพหนีตายตามคำสั่งให้อพยพของอิสราเอลในเวลาไม่กี่วัน ส่งผลกระทบกับชีวิตของประชากรชาวปาเลสไตน์อย่างมาก

โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ต้องพลอยรับเอาความโหดร้ายของสงครามเข้ามาในโลกที่ไร้เดียงสาของพวกเขาอย่างหลีกหนีไม่ได้

มีสารคดีความยาวชั่วโมงนิดๆ ใน Netflix ที่ชื่อ “Born in GAZA” สร้างขึ้นในปี 2014 มีตัวละครคือเด็กๆ ราว 10 คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับผลพวงของสงครามในช่วงนั้นอย่างยากลำบาก เวลาผ่านไป 9 ปี ภาพของความเสียหายก็ได้กลับมาเยือนพวกเขาอีกครั้ง ซึ่งเดิมที่ผ่านมาก็แทบจะมีสงครามเกิดขึ้นทุกๆ 2 ปีอยู่แล้ว

สารคดีเรื่องนี้จึงช่วยย้ำเตือนว่า สงครามไม่เคยปรานีใครแม้แต่กับเยาวชน

โดยข้อมูลจากสารคดีบอกไว้ว่า ในช่วงปี 2014 ที่มีสงครามระหว่างวันที่ 7 กรกฎาคม ถึง 26 สิงหาคม นั้น มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตถึง 1,475 คน ในนั้นมีที่เป็นเด็กจำนวนไม่น้อย โดย 70% ของเด็กที่เสียชีวิตมีอายุน้อยกว่า 12 ปี

ขอหยิบยกความรันทดของพวกเขาเหล่านี้ที่รอดชีวิตมาได้ แต่ต้องจมอยู่กับความอดอยาก ขาดแคลน สิ้นหวัง มาถ่ายทอดให้ฟังสักหน่อย

Mohamed เด็กชายวัย 10 ปี ต้องออกจากโรงเรียนมาเก็บสิ่งของในกองขยะและตามซากปรักหักพังเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงิน เพื่อช่วยครอบครัวไม่ให้อดอยาก บางครั้งเขาก็เจอลูกระเบิด ที่ไม่รู้ว่ามันจะระเบิดขึ้นมาหรือไม่

แม่ของเขาป่วยด้วยโรคตับและไทรอยด์ มีน้องอีกสองคนที่ยังเล็ก โตขึ้นเขาอยากเป็นชาวประมง แต่ชาวประมงในปาเลสไตน์ตอนนี้ทำมาหากินลำบาก เพราะอิสราเอลกำหนดให้สามารถหาปลาได้ไม่เกิน 6 ไมล์จากชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อชาวประมง 3,600 ครอบครัวทันที

Mahmud ที่บ้านทำฟาร์มบนพื้นที่ 75 เอเคอร์ ฟาร์มได้ถูกทำลาย 11 ครั้งในช่วงสงครามระหว่างปี 2001-2014 เขาเล่าว่าทหารอิสราเอลบุกมาฆ่าอูฐและแกะของพวกเขา ตอนนี้ครอบครัวไม่มีบ้านจะอยู่ ขาดน้ำ และไม่มีเงิน พวกเขาเป็น 1 ในครอบครัวเกษตรกร 24,000 ครอบครัวที่ถูกบังคับให้ทิ้งที่ทำกินและทรัพย์สิน

เขาให้สัมภาษณ์ด้วยใบหน้าที่อมทุกข์อย่างยิ่ง เพราะชีวิตไม่รู้ไปทางไหน เขาบอกว่า “อยากไปโรงเรียนโดยไม่ต้องกลัว อยากจะอยู่สงบๆ เหมือนเด็กคนอื่นๆ ในโลกบ้าง”

Rajaf เสียพ่อที่เป็นคนขับรถพยาบาลไปในระหว่างสงคราม ในสายตาของเขา พ่อคือฮีโร่ที่เสี่ยงภัยจากการตระเวนรับคนบาดเจ็บเพื่อนำส่งโรงพยาบาล บางครั้งต้องขนเหยื่อที่บาดเจ็บ 7 คนในรถคันเดียว ชิ้นส่วนต่างๆ ของเหยื่อปะปนกันไปหมด

และในวันที่ 1 สิงหาคม 2014 รถที่พ่อเขาขับโดนระเบิด ไฟไหม้จนไม่เหลือซาก ทุกคนในรถตายหมด รวมทั้งพ่อเขาด้วย

Rajaf สนิทกับพ่อมาก เขาไม่เข้าใจว่า ทำไมรถพยาบาลที่มุ่งช่วยเหลือคนเจ็บจึงถูกระเบิดด้วย

น้องชายของเขายังวนเวียนอยู่กับพ่อ บางครั้งก็ยืนซึมอยู่หน้ารูปถ่ายของพ่อ และบอกกับแม่ว่าเขาเห็นพ่อ นั่นทำให้น้องเขานอนไม่หลับ ฝันร้ายบ่อยๆ

และบอกกับแม่ว่า “อยากตาย”

เรื่องของ Shaima กับ Bisan ก็น่าหดหู่ เด็กหญิงทั้งสองอายุ 6 ขวบ Bisan มีศักดิ์เป็นน้าของ Shaima แต่อายุเท่ากัน

ตัว Shaima เล่าว่าเธอกลัวมากจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิด เธอได้แต่นั่งสวดมนต์อยู่ในบ้าน โชคดีที่ในครอบครัวไม่มีใครเสียชีวิต

ผิดกับ Bisan ที่พ่อกับแม่และพี่ชายต้องตายเนื่องจากสงคราม เธอจึงมาอาศัยอยู่กับ Shaima

เด็กทั้งสองพากันเล่นสนุกเท่าที่ทำได้เพื่อให้ลืมเรื่องเลวร้ายนั้น

แต่สำหรับ Bisan แล้ว เด็กหญิงจะมีอาการหลุดทันที หากมีคนถามถึงพ่อกับแม่ ซึ่งยามที่เธอคิดถึงพวกเขาก็จะใช้การวาดรูปแทน ในภาพนั้นเป็นภาพพ่อ แม่ และพี่ ที่นอนเสียชีวิตอยู่บนถนน โดยมีเครื่องบินรบอยู่ในภาพด้วย

และเธอก็นอนกอดภาพนั้นตอนกลางคืน

ตอนที่เกิดเหตุของสงคราม Malak เด็กสาววัยประมาณ 12 ปี เรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียน Mabalia ซึ่งเป็นโรงเรียนเฉพาะเด็กหญิงในการดูแลของ UN

ที่นี่ควรจะเป็นที่ที่ปลอดภัยเพราะเป็นโรงเรียน และติดธง UN ด้วย

แต่ไม่ใช่ ระเบิดลูกแรกถูกทิ้งลงใส่ห้องน้ำของโรงเรียน ตามมาด้วยลูกที่สองที่ฆ่าคนไปครึ่งหนึ่งของคนที่มี

และลูกที่สามก็ได้พรากชีวิตน้องและญาติของเธอไป ในเหตุการณ์นั้น 22 คนต้องเสียชีวิต และ 80 คนบาดเจ็บ

ช่วงนั้นเธอต้องไปพักอยู่ในค่ายที่แออัด ไม่มีพัดลม ไม่มีทีวี ที่นั่นไม่มีความสงบใดๆ มีแต่เสียงร้องของเด็กเต็มไปหมด บางคนแค่ได้ยินเสียงปิดประตู ก็ถึงกับสะดุ้งตกใจแล้ว ระหว่าง 35 วันที่อยู่ที่นั่น จะมีอาหารให้กินแค่ 1 มื้อต่อวัน

เธอมักฝันร้ายถึงระเบิด และได้บอกว่า “ต่อไปนี้ ฉันจะไม่ไว้ใจใน UN อีกแล้ว”

เด็กชาย Udai ต้องเสียใจอย่างหนักจากบ้านที่ถูกระเบิดทำลายไม่มีชิ้นดี นอกจากสูญเสียที่อยู่แล้ว เขายังสูญเสียพี่ชายวัย 22 ปีที่รักมากไปด้วย

เขาเล่าว่าพี่ของเขาเสียชีวิตจากระเบิด ร่างนั้นถูกทำลายเป็นชิ้นๆ นั่นทำให้เขาต้องฝันร้ายตลอดมาจนบัดนี้

3 เดือนหลังเหตุการณ์นั้น เขาและครอบครัวก็ยังไร้ที่อยู่ เพราะอิสราเอลจำกัดเรื่องวัสดุก่อสร้าง พ่อเขาเองก็กังวลว่าหากสร้างที่อยู่ใหม่แล้ว อาจโดนระเบิดทำลายลงอีกก็ได้ ทุกวันนี้เขายังต้องอาศัยอยู่ในถนน และฤดูหนาวที่หนาวเย็นกำลังจะมาถึง

เด็กน้อย Sondos วัย 6 ขวบ เธอวิ่งไปที่มัสยิดระหว่างที่มีการทิ้งระเบิด เพราะคิดว่าน่าจะเป็นที่ที่ปลอดภัย โชคร้ายเธอโดนระเบิดจนลำไส้ออกมาจากช่องท้อง เธอสลบก่อนถูกนำตัวไปส่งโรงพยาบาล ในห้อง ICU เธอหลับไปสองวันเต็มๆ หมอที่ทำการผ่าตัดบอกว่าหัวใจเธอหยุดเต้นไปถึง 2 ครั้ง เธอต้องรักษาตัวอยู่ 17 วันจึงกลับบ้านได้ แต่ก็ต้องเดินทางมาเพื่อทำความสะอาดแผลเป็นระยะ ทุกครั้งที่ทำแผลเธอจะร้องลั่นด้วยความเจ็บปวด ได้แต่บอกว่า “พอแล้วๆ”

คำถามที่สะเทือนใจจากเธอคือ ประโยคที่ว่า “ฉันไม่ได้เป็นทหารสักหน่อย ทำไมเขาทำกับฉันอย่างนี้”

 

ยังมีเรื่องที่น่าเศร้าของเด็กชายกลุ่มหนึ่งที่เป็นทั้งญาติและเพื่อนกันจำนวน 8 คน พวกเขามักออกมาจับกลุ่มเตะฟุตบอลกัน เมื่อเกิดสงครามพวกเขาเหลือกันอยู่เพียง 4 คน พวกที่เหลืออยู่นั้นก็อยู่ด้วยความหวาดกลัวตลอดว่า วันหนึ่งเขาอาจต้องตามเพื่อนๆ ไป

นี่เป็นส่วนหนึ่งของความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ชาวปาเลสไตน์ ยิ่งเมื่อได้ดูเป็นภาพและน้ำเสียงของพวกเขาแล้ว เราจะได้เห็นสีหน้าที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความหวาดกลัว และความกังวล ซึ่งสำหรับเด็กในวัยนี้แล้วมันเกินจะรับได้จริงๆ

Mohamed ที่เป็นตัวเปิดเรื่องและปิดเรื่อง ตอนท้ายเราได้เห็นภาพเขาแหวกว่ายในทะเลอย่างมีความสุข เขาบอกว่า เขาเกิดมาใกล้ทะเล รักทะเล ช่วงเวลาที่ได้ว่ายน้ำ มันช่วยให้เขาได้ลืมปัญหาและทิ้งความทุกข์ไว้ข้างหลัง

และเขาได้บอกด้วยสายตาที่ยังพอมีความหวังว่า

“โตขึ้น ผมอยากเป็นชาวประมง ผมจะขับเรือพาครอบครัวออกทะลไปจับปลากัน”

 

นั่นเป็นความฝันของเด็กน้อยคนนี้ ที่ตอนนี้เวลาผ่านมา 9 ปีแล้ว เขาจะยังมีความฝันนั้นอยู่หรือไม่ หรือได้ทำตามความฝันนั้นไหม

ข้อสำคัญคือ เขายังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ ในช่วงเวลาอันแสนโหดร้ายนี้

ทำให้นึกถึงบทเพลงหนึ่งของวงเฉลียงที่ชื่อ “กล้วยไข่” ที่ขึ้นต้นเพลงว่า

“…เกิดสงครามพันครั้ง เด็กก็ยังสวยงาม เป็นเพียงแค่สงคราม ความเดียงสาเท่าเดิม…” •

 

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์