รัฐบาลกับการฟื้นสถานะไทยในเวทีโลก | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความนี้เขียนขณะที่คุณเศรษฐา ทวีสิน ไปจีนพร้อมนักธุรกิจ โดยที่คนไทยแทบไม่รู้อะไรเลย ข่าวที่รัฐบาลสื่อสารกับคนไทยคือจีนเชิญคุณเศรษฐาไปร่วมประชุม คุณเศรษฐาชวนนักธุรกิจไปเพื่อช่วยกันคุยเรื่องการค้าและการลงทุน คุณเศรษฐาวาดรูป และคุณเศรษฐาจับมือกับประธานาธิบดีปูตินจนคนเห็นว่าคุณเศรษฐาตัวสูงดี

ประเทศไทยได้อะไรจากการประชุมครั้งนี้คงต้องใช้เวลาคุยกันอีกยาว เพราะสิ่งที่รัฐบาลพูดมีแต่เรื่องการขยายตัวทางการค้า, การซื้อเรือเหนือน้ำจากจีนแทนเรือดำน้ำ, สร้างแลนด์บริดจ์, ดึงบริษัทใหญ่ๆ ของจีนมาเปิดโรงงานในไทย ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัว ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลที่จับต้องได้จริงๆ มากกว่าราคาคุย

ขณะที่รัฐบาลทำให้คนไทยเข้าใจว่าการประชุมที่จีนเป็นเรื่องการลงทุน ความเป็นจริงคือการประชุมนี้ต่อยอดมาจากแนวคิดจีนในการสร้างเส้นทางสายไหมใหม่เพื่อเชื่อมโยงจีนกับโลกทั้งหมด แกนหลักของเวทีตั้งแต่แรกเริ่มจึงมุ่งทำให้จีนขยายตัวเหนือเอเชีย, ตะวันออกกลาง, แอฟริกา และกระทั่งละตินอเมริกา

ในแง่นี้เวทีที่คุณเศรษฐาไปคือเวทีที่รัฐบาลจีนเชื่อมโยงการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับการเมืองระหว่างประเทศ เพราะจีนเชื่อว่ายิ่งจีนเชื่อมต่อกับโลกโดยสร้างระบบคมนาคม, โครงสร้างพื้นฐาน และโรงผลิตไฟฟ้าในประเทศอื่นๆ จีนก็จะมีอิทธิพลต่อหลายประเทศเพิ่มขึ้นจนมีสถานะในเวทีโลกสูงขึ้นโดยปริยาย

 

ไม่ว่าคุณเศรษฐาและรัฐบาลไทยจะมองการประชุมนี้อย่างไร เวทีนี้ไม่ใช่เวทีเพื่อการค้าและการลงทุนล้วนๆ อย่างที่คุณเศรษฐาและรัฐบาลทำให้คนไทยคิดแน่ๆ

เพราะปรัชญาของเวทีนี้คือการสร้างเครือข่ายทางอำนาจของรัฐจีนเหนือรัฐบาลในภูมิภาคที่ไกลโพ้นโดยสร้างโครงข่ายคมนาคมและการลงทุนขึ้นมา

ประเทศไทยในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มักถูกวิจารณ์ว่ามีนโยบาย “ตามก้นจีน” เพราะเน้นค้าขายกับจีนและดำเนินนโยบายต่างประเทศตามจีนเพื่อแก้ปัญหาถูกโลกบอยคอตหลังรัฐประหาร 2557 แต่ที่จริงนโยบาย “ตามก้นจีน” มีความหมายมากกว่านั้นเพราะหมายถึงการพึ่งพิงจีนอย่างแทบไม่มีวันโงหัวขึ้นได้เลย

ถ้าจะมีอะไรที่เข้าข่าย “ตามก้นจีน” ยิ่งกว่าท่าทีไทยสมัยคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ สิ่งนั้นก็คือที่ประชุมเส้นทางสายไหมซึ่งรัฐบาลจีนเรียกให้เก๋ไก๋ขึ้นว่า BRI เพราะรัฐบาลจีนใช้เงินลงทุนทุกรูปแบบในประเทศต่างๆ แล้วกว่า 3,000 โครงการ ส่วนเม็ดเงินที่ใช้ไปแล้วก็มากระดับ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

จีนถูกวิจารณ์มากว่าทำนโยบายนี้เพื่อ “การทูตแบบเป็นหนี้” (Debt Trap Diplomacy) โดยปล่อยกู้ให้รัฐบาลหลายประเทศที่ภายหลังไม่มีปัญญาใช้หนี้ได้ ผลก็คือรัฐบาลและภาคเอกชนจีนกลายเป็นเจ้าของทรัพย์สินในประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง ตัวอย่างเช่นศรีลังกาต้องให้จีนเป็นเจ้าของสิทธิท่าเรือ 99 ปี

ไม่มีใครรู้หรือมีหลักฐานชัดๆ ว่าจีนจงใจปล่อยกู้ให้ประเทศยากจนร่วมโครงการนี้เพื่อให้หนี้ท่วมหัวจริงหรือไม่

แต่คำว่านโยบาย “การทูตแบบเป็นหนี้” ถูกใช้อธิบายสถานการณ์ที่ประเทศอย่างปากีสถาน, ศรีลังกา, แซมเบีย ฯลฯ กู้เงินจีนทำโครงการนี้จนเป็นหนี้โดยไม่มีปัญญาใช้หนี้จีนจริงๆ

 

ประธานาธิบดีจีนเคยประกาศว่า BRI หรือเรียกง่ายๆ ว่า “เส้นทางสายไหมใหม่” คืออภิมหาโครงการแห่งศตวรรษ และสิบปีที่ผ่านมาก็ชี้ว่าโครงการนี้ทำให้จีนทะยานเป็นมหาอำนาจระดับโลกที่เงินจีนเป็นล้านๆ ไปลงทุนในแทบทุกทวีปในแง่สะพาน, ท่าเรือ, ทางด่วน, โรงไฟฟ้า, ระบบโทรคมนาคม, ทางรถไฟ ฯลฯ

มองในแง่เศรษฐศาสตร์การเมือง จีนริเริ่มนโยบายนี้ตั้งแต่สิบปีที่แล้วช่วงเศรษฐกิจดีจนต้องระบายเงินในประเทศไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอื่นๆ แต่ปัญหาคือเศรษฐกิจจีนวันนี้เติบโตช้าจนหนี้ในประเทศพุ่งและภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดวิกฤตที่อาจกระทบโครงการนี้ทางใดทางหนึ่งในระยะยาว

ตรงข้ามกับคุณเศรษฐาที่ทำให้คนไทยเข้าใจว่าการประชุมนี้เป็นโอกาสในการเชิญชวนนายทุนต่างชาติมาลงทุนในไทย

หัวใจของการประชุมนี้คือการเมืองระหว่างประเทศที่จีนต้องการยกระดับความเป็นมหาอำนาจโดยใช้ประเด็นเศรษฐกิจและการลงทุนเป็นยานพาหนะเท่านั้นเอง

พูดอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่คนไทยถูกรัฐบาลไทยชวนให้เห็นว่าการไปประชุมที่จีนคือโอกาสด้านการลงทุน ธรรมชาติของการประชุม BRI กลับเป็น “อภิมหาโครงการด้านภูมิรัฐศาสตร์” (Geo-political Mega Project) ควบคู่กับเป็น “อภิมหาโครงการด้านเศรษฐกิจ” (Economics Mega Project) ตลอดเวลา

สำหรับคนไทยที่รักในผลประโยชน์ของประเทศจริงๆ ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล สิ่งที่ควรระวังในเวทีนี้คือทำอย่างไรให้คุณเศรษฐากลับจากจีนพร้อมข้อตกลงที่ประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุด

ไม่ใช่ข้อตกลงที่ทำให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีเศรษฐกิจเป็นฉากหน้าอย่างไม่รู้ตัว

 

พูดอย่างเป็นทางการแล้ว ประเทศไทยร่วมการประชุมพร้อมกรอบข้อตกลงกับจีนตามแนวทาง 5 กระทรวงคือพาณิชย์, วัฒนธรรม, ทรัพยากรธรรมชาติ, ต่างประเทศ และคมนาคม แต่ขณะที่กรอบกระทรวงอื่นเป็นเรื่องกว้างๆ อย่างความร่วมมือทางวัฒนธรรม กรอบคมนาคมกลับมีหลายเรื่องน่ากังวล

ข้อเสนอกระทรวงคมนาคมพูดเยอะเรื่องเชื่อมโยงโครงสร้างขนส่งข้ามพรมแดน, พัฒนาแหล่งพลังงาน, ขยายความร่วมมือด้านส่งน้ำมันและก๊าซ เพิ่มอัตราเข้าถึง 4G และ 5G รวมทั้งสร้างเครือข่ายครอบคลุมสายเคเบิลภาคพื้นดินและใต้ทะเลทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับยุทธศาสตร์ของประเทศโดยตรง

ปัญหา “ตามก้นจีน” เป็นเรื่องใหญ่ที่พัวพันกับสถานะของประเทศไทยในการเมืองโลกมาตลอดเวลาที่คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ เพราะเมื่อรัฐบาลเลือกยุทธศาสตร์ “ตามก้นจีน” ท่าทีของไทยต่อประเด็นอื่นอย่างพม่า, ยูเครน, ไต้หวัน, อิสราเอล ฯลฯ ก็ถูกกำกับภายใต้การชำเลืองมองทิศทางลมจากกรุงปักกิ่งตลอดเวลา

ไม่ใช่ความลับว่าประธานาธิบดีจีนมองตัวเองเป็น “จักรพรรดิ” ของโลกปัจจุบัน

แต่ที่เป็นปริศนาคือรัฐบาลปัจจุบันมองความสัมพันธ์กับจักรพรรดิแห่งบูรพาทิศอย่างไรบ้าง เพราะถึงแม้กระทรวงการต่างประเทศจะมีข้าราชการรุ่นเก่าและใหม่ที่ตระหนักถึงปัญหานี้ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้ารัฐบาลว่ามีวิธีคิดอย่างไร

น่าสนใจว่าคุณเศรษฐาไปจีนโดยเชิญนักธุรกิจใหญ่ ไปพร้อมข้ออ้างเรื่องช่วยเจรจาการค้าและการลงทุน แต่คำถามคือการลงทุนกับนักธุรกิจ เท่ากับผลประโยชน์ประเทศโดยทันทีหรือไม่ เพราะถ้าจีนลงทุนร่วมกับนักธุรกิจ โดยใช้แต่วัตถุดิบจีนและเทคโนโลยีออโตเมชั่น คนไทยก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรแม้แต่การจ้างงาน

ถ้ารัฐบาลคุณเศรษฐามองความสัมพันธ์กับจีนไม่ต่างรัฐบาลคุณประยุทธ์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ นักธุรกิจใหญ่ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับจีนแน่นแฟ้นอยู่แล้วก็จะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากการเจรจาของรัฐบาลยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนวาระของประเทศอย่างการฟื้นสถานะของไทยในเวทีโลกก็จะไม่ใช่เรื่องหลักอย่างที่ควรเป็น

รัฐบาลคุณประยุทธ์ไม่เคยแบ่งแยกระหว่างผลประโยชน์ของประเทศกับนักธุรกิจใหญ่ จนเกิดนโยบายเศรษฐกิจแบบ “ประชารัฐ” ที่ถูกวิจารณ์ว่า “อุ้มนักธุรกิจ” มาตลอด 9 ปี

ส่วนรัฐบาลคุณเศรษฐาจะแบ่งแยกผลประโยชน์ของประเทศกับ “นักธุรกิจ” หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครรู้ ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างที่สุดก็ตาม

 

คุณเศรษฐาเคยให้สัมภาษณ์ว่าไทยเป็นประเทศเล็กจนต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยความระมัดระวัง และถึงแม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศใหญ่ไม่ว่าโดยบรรทัดฐานใด ไทยก็ไม่เล็กจนต้องคอยมองจีนก่อนกำหนดนโยบายระหว่างประเทศทุกครั้ง เพราะมีหลายประเทศที่เล็กแต่มีบทบาทในโลกมากเหลือเกิน

เก้าปีของคุณประยุทธ์ทำให้ประเทศไทยแทบไม่เหลือความน่านับถือ เราหุบปากเงียบเรื่องพม่า ส่งอุยกูร์กลับจีน จับนักฟุตบอลบาห์เรนกลับประเทศ เพิกเฉยรัสเซียรุกรานยูเครน จับประชาชนคดี 112 และหนทางฟื้นฟูสถานภาพในเวทีโลกคือตอบเรื่องที่โลกกังวล ไม่ใช่เดินสายประชุมเวทีที่ทุกประเทศไปเหมือนกัน

คุณเศรษฐามีสิทธิภูมิใจที่ได้จับมือกับประธานาธิบดีรัสเซีย แต่คุณเศรษฐาต้องไม่ลืมว่าคุณประยุทธ์ก็เคยทำแบบนี้กับรัสเซีย และประโคมข่าวกับคนไทยว่ารัสเซียจะขนเงินมาลงทุนในไทย ส่วนไทยก็จะได้โอกาสไปค้าขายในรัสเซียคู่ขนานไปด้วย แต่ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย

มีเรื่องอีกมากที่รัฐบาลต้องทำเพื่อฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเวทีโลก แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือการดำเนินนโยบายที่เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระจากความหวั่นเกรงมหาอำนาจภายนอก ทำเรื่องที่ประเทศดีๆ ควรทำ รวมทั้งพูดเรื่องที่ประเทศซึ่งสง่างามควรพูดอย่างสันติภาพและสิทธิมนุษยชน

พอได้แล้วกับความคิดว่าการเดินสายประชุมแสดงถึงความนับถือจากโลกและความยอมรับต่อรัฐบาล