ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (107) จับผิด “บีเอ็มดับเบิลยู” i3

คอลัมน์สิ่งแวดล้อม


กลายเป็นประเด็นฮือฮาในสื่ออังกฤษเมื่อค่ายบีเอ็มดับเบิลยู ใช้เฟซบุ๊กเป็นสื่อกลางโฆษณาบรรยายสรรพคุณรถรุ่น i3 อ้างเป็นรถไร้ควันพิษและช่วยดึงสิ่งแวดล้อมกลับคืนมา

ปรากฏว่าสำนักงานมาตรฐานโฆษณาของอังกฤษสั่งเซ็นเซอร์และให้ถอนโฆษณาชิ้นดังกล่าวออกจากโซเชียลมีเดีย

รถรุ่น i3 เป็นรถไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัทบีเอ็มดับเบิลยู ไอ (BMW i) เป็นบริษัทในเครือบีเอ็มดับเบิลยู แห่งเยอรมนี

ถือเป็นรถต้นแบบที่มีทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์ 2 สูบ 647 ซีซี พร้อมถังน้ำมัน 9 ลิตร ร่วมทำงานเพื่อขยายระยะทางวิ่ง

ในปี 2554 ได้เปิดตัวรถต้นแบบ i3 ในงานมอเตอร์โชว์ ที่เยอรมนี ติดตั้งแบตเตอรี่ลิเธียม ให้กำลังไฟ 22 วัตต์ต่อชั่วโมง ชาร์จไฟ 240 โวลต์ 4 ชั่วโมงวิ่งได้ 130-160 กิโลเมตร

ส่วนมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นระบบไฮบริดซิงโครนัส (hybrid synchronous) และมีเครื่องยนต์ขนาดเล็กเป็นตัวชาร์จไฟให้กับแบตเตอรี่ลิเธียมวางอยู่ใต้พื้นรถ ส่งกำลังขับเคลื่อนไปยังล้อหลังผ่านเกียร์ซิงเกิลสปีดให้กำลังสูงสุด 125 กิโลวัตต์/170 แรงม้า และมีแรงบิดสูงสุด 250 นิวตันเมตร

i3 ในรุ่นปี 2017 ทางบีเอ็มฯ จับมือกับบริษัทซัมซุงพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมให้กำลังไฟเพิ่มขึ้น 33 วัตต์ต่อชั่วโมง พร้อมกับพัฒนาซอฟต์แวร์ควบคุมระบบความเย็นทั้งแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า ชาร์จไฟครั้งหนึ่งวิ่งได้ไกล 160 กิโลเมตร และหากทำงานร่วมกับเครื่องยนต์เบนซิน 2 สูบ 647 ซีซี ส่งกำลังไปชาร์จแบตเตอรี่ให้มีระดับคงที่ในขณะขับขี่ ทำให้วิ่งได้ระยะทางเพิ่มเติมอีกกว่า 150 กิโลเมตร

ตัวถังรถทำด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ มีคันเร่งและแป้นเบรกเหมือนรถออโตเมติกทั่วไป น้ำหนักตัวรถรวม 1,315 กิโลกรัม

 

i3 ผลิตส่งขายทั่วโลกแต่ไม่มีในตลาดเมืองไทย สำหรับในตลาดสหรัฐอเมริกา บีเอ็มฯ อ้างเป็นรถไฟฟ้า (extended-range electric vehicle) มีระยะทางวิ่งได้ไกลกว่ารถไฟฟ้าที่ไม่ใช้น้ำมัน โดยล็อกถังน้ำมันเติมได้แค่ 7.2 ลิตรเพื่อสอดคล้องมาตรฐานของรัฐแคลิฟอร์เนีย กำหนดมาตรฐานรถไฟฟ้าต้องปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (zero-emissions vehicle)

ส่วนในอังกฤษ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่นั่น มองว่า การอ้างรถรุ่น i3 ใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กขับเคลื่อนร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (zero) และ clean หรือสะอาด เป็นการโฆษณาไม่ตรงกับความเป็นจริง

บีเอ็มฯ ในอังกฤษ ใช้โซเซียลมีเดีย “เฟซบุ๊ก” เป็นสื่อกลางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อเจาะการขาย และเปิดให้แฟนบีเอ็มฯ ตัวจริงเล่าเรื่องราวที่ประทับใจในการใช้รถ

นอกเหนือจากแฟนเพจชื่นชมรถ i3 ว่าเป็นรถสะอาดไม่ปล่อยมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ทางบีเอ็มฯ เองก็ยังจัดทำโฆษณาบรรยายสรรพคุณรถ i3 ว่าเป็นรถที่มีกระบวนการผลิตเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุทำจากธรรมชาติ และวัสดุรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์

เช่น แผงหน้าปัดรถทำด้วยไม้ยูคาลิปตัส น้ำที่ใช้กระบวนการผลิตคาร์บอนไฟเบอร์ ใช้น้ำปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ

 

สํานักงานมาตรฐานการโฆษณาของอังกฤษชี้ว่า รถรุ่นนี้มีเครื่องยนต์ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การปล่อยควันพิษจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และสามารถประเมินปริมาณสารพิษได้ด้วย ฉะนั้น การอ้างว่ารถ i3 ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์จึงไม่ถูกต้องและสั่งถอดถอนโฆษณาชิ้นนี้ออกไป

“เราได้แจ้งบีเอ็มฯ ว่าในอนาคตหากจะโฆษณาโดยอ้างรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีความสัมพันธ์กับประเด็นสิ่งแวดล้อมต้องมีความชัดเจนว่ารถรุ่นดังกล่าวต้องเป็นรถที่ปลอดจากควันพิษและสามารถพิสูจน์ได้”

ฝ่ายบีเอ็มฯ โต้แย้งว่าเครื่องยนต์นำมาติดตั้งเพื่อชาร์จไฟให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานและไม่ได้เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพราะแฟนบีเอ็มฯ เป็นคนเขียนชื่นชมมาเอง

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยน เป็นคนเจาะข่าวเรื่องนี้ติดต่อไปทางบีเอ็มฯ ขอให้ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น ทางบีเอ็มฯ ปฏิเสธให้ความเห็น ส่วนสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของอังกฤษ บอกปัดเช่นกันอ้างว่าเป็นกรณีส่วนตัว

เมื่อเดอะการ์เดี้ยนถามว่า “clean car” หรือรถสะอาดนั้นมีความหมายอย่างไร สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ฯ ไม่ยอมให้คำจำกัดความ

“การ์เดี้ยน” ตบท้ายข่าวว่าเป็นที่ทราบกันทั่วไปรถพลังงานไฟฟ้าต้องเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าซึ่งมาจากแหล่งผลิตพลังงานเช่นแบตเตอรี่ ไม่มีการปล่อยก๊าซพิษใดๆ ออกมา

แตกต่างกับรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล น้ำมันหรือก๊าซ ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกนำไปสู่ภาวะโลกร้อน

 

พูดถึงเรื่องมลพิษอากาศในอังกฤษ มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ก่อนอังกฤษประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ทางคณะกรรมาธิการของอียูชี้ว่าอังกฤษมีปริมาณมลพิษในอากาศสูงเกินมาตรฐานที่อียูกำหนดไว้ โดยเฉพาะกรุงลอนดอน

ต่อมาผู้บริหารกรุงลอนดอน นำระบบจัดเก็บภาษีที่เรียกว่า ที-ชาร์จ (T-Charge) 10 ปอนด์ต่อวัน (ราวๆ 440 บาท) กับรถเครื่องยนต์ดีเซลและรถใช้น้ำมันทุกชนิด ที่จดทะเบียนก่อนปี 2549 และรถไม่ได้มาตรฐานยูโรโฟร์ (Euro-4)

วิธีเรียกเก็บภาษี มีลักษณะเหมือนภาษีใช้รถในชั่วโมงการจราจรแออัด (congestion charge) เพื่อควบคุมปริมาณรถบนถนนและลดมลพิษในอากาศ

คนที่ขับรถในใจกลางกรุงลอนดอนทุกวันนี้ ถ้าขับในช่วงระหว่าง 7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ต้องเสียภาษีวันละ 11.50 ปอนด์ หรือราว 508 บาท

เมื่อนำระบบที-ชาร์จมาคิดผนวกด้วย ต้องควักเงินเพิ่มเป็น 21.50 ปอนด์ หรือประมาณ 950 บาทต่อวัน

วิธีการเก็บภาษีอย่างนี้ กำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เพราะได้ผลทันตา ทั้งรายได้เข้ารัฐ คลี่คลายปัญหาจราจรคับคั่ง ลดมลพิษในอากาศ และปกป้องสุขภาพผู้คน

ผมเห็นว่าถึงเวลาที่ผู้บริหารประเทศของเราควรหยิบเรื่องนี้มาขบคิดและลงมือทำกันได้แล้ว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ