Genentech ตำนานไบโอเทคยุคใหม่ ตอนที่ 6 (ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 11)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

Genentech ตำนานไบโอเทคยุคใหม่ ตอนที่ 6

(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 11)

 

ลองหลับตานึกภาพถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันของโลกในยุค 1970s

มนุษย์เพิ่งไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จครั้งแรก (1969) จากนั้นก็ส่งยานลงจอดดาวศุกร์ (1970) ดาวอังคาร (1971) แล้วก็บินเฉี่ยวไปดาวพุธ (1974) ดาวพฤหัสฯ และดาวเสาร์ (1979)

ดินแดนหวงห้ามของเหล่าทวยเทพบนท้องฟ้าอยู่ไม่เกินเราจะคว้ามาสัมผัสได้

ส่วนบนพื้นโลก เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ก็พัฒนาไปแบบก้าวกระโดด

ในทศวรรษนี้เราได้เห็นการมาถึงของไมโครโปรเซสเซอร์จากบริษัทน้องใหม่อย่าง Intel (1971) ที่กลายเป็นหัวใจของคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบัน

รวมทั้งการก่อตั้งบริษัทชั้นนำของยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่าง Microsoft (1975) และ Apple (1976)

จากทศวรรษนี้ทุกครัวเรือนจะได้เข้าถึงและใช้งานสมองกลอัจฉริยะที่เคยมีแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์

และในโลกของชีวโมเลกุลที่ก่อนหน้านี้ดูจะเป็นเพียงงานขึ้นหิ้งของนักวิจัยเนิร์ดๆ กลุ่มเล็กๆ ก็กลับกลายมาเป็นแหล่งผลิตยาวิเศษและขุมทรัพย์มูลค่ามหาศาลที่ทุกคนต้องจับตามอง

สองนักวิจัย Stanley Cohen-Herbert Boyer ตัดต่อดีเอ็นเอระหว่างแบคทีเรียสำเร็จครั้งแรก (1973)

จากนั้นก็ตัดต่อดีเอ็นเอกบใส่แบคทีเรีย (1974) พิสูจน์ว่าดีเอ็นเอเป็นภาษาสากลที่โยกย้ายไปมาข้ามสปีชีส์ได้

และขณะที่ทั้งวงการวิชาการ รัฐบาล และภาคธุรกิจกำลังมึนว่าจะเอายังไงกับเทคโนโลยีใหม่นี้ดี Robert Swanson นักธุรกิจหนุ่มวิสัยทัศน์ไกลก็จับมือกับ Boyer ตั้งบริษัท Genentech (1976) มารีบคว้าโอกาสนี้ไว้ในมือก่อนที่สมรภูมิชิงความเป็นเจ้าแห่งงานพันธุวิศวกรรมประยุกต์จะดุเดือด

Genentech สตาร์ตอัพหน้าใหม่เอาชนะคู่แข่งที่มีทั้งนักวิจัยรุ่นเก๋าและบริษัทยายักษ์ใหญ่ในศึกสามครั้งซ้อน กลายเป็นทีมแรกของโลกที่พันธุวิศวกรรมแบคทีเรียให้ผลิตโปรตีนมนุษย์สำเร็จติดๆ กันสามปีคือ โซมาโทสแททิน (1977), อินซูลิน (1978) และ HGH (1979)

โดยสองตัวหลังเป็นฮอร์โมนที่ถูกใช้เป็นยารักษาโรคกันมานาน ตลาดใหญ่ มูลค่าสูง โปรตีนฮอร์โมนของ Genentech ผลิตง่ายกว่า เร็วกว่า ต้นทุนต่ำกว่า แถมยังปลอดภัยกว่าของใครๆ ในตลาดตอนนั้น

Cr : ณฤภรณ์ โสดา

ความสำเร็จของ Genentech และทีมวิจัยคู่แข่งอื่นๆ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันทำให้ทั้งนักวิจัยและนักลงทุนฝันกันไปไกลว่าจากนั้นเราจะสามารถผลิตยามหัศจรรย์อะไรก็ได้ออกมาด้วยการพันธุวิศวกรรม

ปลายทศวรรษที่ 1970s เงินลงทุนในสตาร์ตอัพไบโอเทคพุ่งสูงถึงกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อีกหนึ่งในยามหัศจรรย์ที่ว่าคือ “อินเตอร์เฟียรอน (interferon)” โปรตีนปริศนาที่ถูกค้นพบตั้งแต่ช่วงปี 1950s และคาดกันว่ามีฤทธิ์ต่อต้านไวรัส ด้วยสมมุติฐานว่าไวรัสเป็นสาเหตุของมะเร็ง (ซึ่งปัจจุบันก็พบว่าจริงตามนั้นสำหรับมะเร็งบางชนิด)

ทำให้ในวงการเวลานั้นเชื่อว่าโปรตีนนี้จะสามารถเป็นยาครอบจักรวาลที่ใช้จัดการมะเร็งทุกชนิด

อินเตอร์เฟียรอนที่ผ่านมาได้จากการเพาะเลี้ยงเซลล์เม็ดเลือดขาวมนุษย์ซึ่งเลี้ยงยาก ใช้เวลานาน ผลผลิตน้อย ดังนั้น การพันธุวิศวกรรมแบคทีเรียให้ผลิตอินเตอร์เฟียรอนจึงเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ในฝันของบริษัทยาและไบโอเทคทั้งหลาย

คาดกันว่ามูลค่าตลาดของอินเตอร์เฟียรอนอาจจะสูงกว่าของอินซูลินและ HGH อีกหลายเท่า

แต่ปัญหาของอินเตอร์เฟียรอนคือเรายังไม่รู้เลยว่ามันจะเวิร์กจริงไหม (ต่างจากอินซูลินและ HGH ที่เวอร์ชั่นธรรมชาติถูกใช้ในการรักษานานแล้ว) ขนาดตลาดเลยได้แค่การคาดคะเน ยิ่งกว่านั้นลำดับอะมิโนของโปรตีนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้

ข้อจำกัดนี้ทำให้ Genentech ไปโฟกัสงานอินซูลินและ HGH ให้สำเร็จก่อนจะมาเซ็นสัญญาร่วมพัฒนาอินเตอร์เฟียรอนอย่างเป็นทางการกับ F. Hoffmann-La Roche บริษัทยารายใหญ่สัญชาติสวิสต้นเดือนมกราคม 1980

ความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค 1970s
Cr : ณฤภรณ์ โสดา

Biogen บริษัทไบโอเทคหน้าใหม่ที่ร่วมก่อตั้งโดย Walter Gilbert จาก Harvard (หนึ่งในทีมคู่แข่งงานอินซูลินที่เล่าไปเมื่อสองตอนก่อน) ในปี 1978 และเริ่มลุยงานพันธุวิศวกรรมอินเตอร์เฟียรอนตั้งแต่ต้น กลางเดือนมกราคม 1980

เพียงสัปดาห์เดียวหลังจาก Genentech-Roche เซ็นสัญญากัน ทีม Biogen ก็แถลงข่าวใหญ่ประกาศความสำเร็จในการผลิตอินเตอร์เฟียรอนด้วยแบคทีเรียพันธุวิศวกรรม

ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนยกย่องให้งานนี้เป็นอีกความสำเร็จครั้งใหญ่ของวงการไบโอเทค หลายเสียงวิจารณ์แย้งว่า Biogen เร่งแถลงข่าวเกินไปทั้งที่ยังไม่ได้ยืนยันประสิทธิภาพหรือแม้แต่ลำดับอะมิโนของอินเตอร์เฟียรอนที่ได้ อาจจะเป็นเพราะกลัวโดน Genentech แย่งซีนไปอีกรอบ

ทีม Genentech ตั้งหน้าตั้งตาเดินงานอินเตอร์เฟียรอนต่อโดยได้ David Goeddel กลับมานำทีมอีกครั้ง

Genentech-Roche แถลงข่าวความสำเร็จในการผลิตอินเตอร์เฟียรอนในเดือนมิถุนายน 1980 พร้อมทั้งฟาดทีม Biogen กลับไปว่างานนี้ของ Genentech ไม่เพียงแต่ผลิตอินเตอร์เฟียรอนได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีรายงานมาเท่านั้น แต่เรายังได้ทดสอบเบื้องต้นกับลิงและยืนยันฤทธิ์การต้านไวรัสอีกด้วย

สี่เดือนให้หลัง งานนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำอย่าง Nature

การประกาศความสำเร็จในการผลิตอินเตอร์เฟียรอนด้วยแบคทีเรียพันธุวิศวกรรมของ Genentech
Cr : ณฤภรณ์ โสดา

งานอินเตอร์เฟียรอนของ Biogen และ Genentech เพิ่มความคึกคักให้วงการพันธุวิศวกรรมขึ้นไปอีก นิตยสารธุรกิจและการเงินชั้นนำอย่าง Forbes ในเดือนมิถุนายน 1980 ประเมินมูลค่ารวมของสี่สตาร์ตอัพไบโอเทคตัวท็อป (Genentech, Biogen, Genex, Cetus) ไว้ที่รวมกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากต้นปีถึงเท่าตัว

สำหรับ Kleiner & Perkins บริษัทลงทุน (VC) ที่ปลุกปั้น Genentech มาตั้งแต่ต้น ปี 1979-1980 คือช่วงเวลาสุกงอมที่จะเก็บเกี่ยวผลกำไรจากสตาร์ตอัพไบโอเทคแห่งนี้ หนทางปิดเกมที่ Kleiner & Perkins มองไว้มีสองทาง ถ้าไม่ขายให้สตาร์ตอัพให้บริษัทใหญ่ๆ ก็ต้องเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชนให้คนทั่วไปเข้าซื้อหุ้นได้

Kleiner & Perkins พาทีม Genentech ไปสังสรรค์เปิดโต๊ะเจรจาขายสตาร์ตอัพกับบริษัทยาใหญ่ๆ อย่าง Johnson & Johnson และ Eli Lilly & Company ที่ราคาขายร่วมร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐแต่ก็ยังปิดดีลไม่ได้

Johnson & Johnson ยังมองไม่ออกว่างานพันธุวิศวกรรมจะไปเชื่อมโยงตรงไหนกับธุรกิจหลักที่บริษัททำอยู่แล้ว

ส่วน Eli Lilly & Company ก็ปฏิเสธเช่นกัน เพราะมองว่าตอนนี้เป็นหุ้นส่วนให้ Genentech ทำวิจัยให้ก็ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นประโยชน์ที่จะซื้อทั้งบริษัทมาดูแลเอง

Cr : ณฤภรณ์ โสดา