“Marlina the Murderer in Four Acts” หนังเคาบอย-โร้ดมูฟวี่อินโดนีเซีย และ “ปฏิบัติการเอาคืน” ของผู้หญิง

คนมองหนัง

(เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์)

“Marlina the Murderer in Four Acts” เป็นภาพยนตร์จากประเทศอินโดนีเซีย ผลงานการกำกับฯ ของคนทำหนังสตรี “โมลี ซูร์ยา” ซึ่งเดินสายไปตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่งตลอดปีที่ผ่านมา หลังเปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกที่คานส์เมื่อช่วงกลางปี

หากพิจารณาที่รูปลักษณ์และบรรยากาศ ภาพยนตร์เรื่องนี้คล้ายจะอยู่ในตระกูล “หนังเคาบอย” แต่นี่ก็เป็นหนังเคาบอยอันผิดแผกออกไปจากจารีต

อย่างน้อย การมีตัวละครนำเป็นผู้หญิงที่มีบ้าน/ภูมิหลังให้ยึดโยง ก็แตกต่างลิบลับกับบรรดาวีรบุรุษพเนจรผู้ไร้ที่มาและที่ไปส่วนใหญ่ในหนังตระกูลนี้

นอกจากนั้น หนังยังมีเนื้อหาส่วนที่เป็นภาพยนตร์ “โร้ดมูฟวี่” ว่าด้วยการออกเดินทางเพื่อทวงถามความยุติธรรมของลูกผู้หญิง กระทั่งเรื่องราวเคลื่อนตัวไปจากความเป็น “หนังเคาบอยแบบเดิมๆ” มากพอสมควร

จุดเริ่มต้นของ “Marlina the Murderer in Four Acts” เกิดขึ้น ณ บ้านหลังเล็กๆ ซอมซ่อ ในพื้นที่ชนบทอันเปลี่ยวร้างห่างไกลความเจริญ

หน้าบ้านมีหลุมศพของสมาชิกชายในครอบครัว

ส่วนในบ้านประกอบไปด้วยหญิงสาวบุคลิกกร้านโลกวัยไม่น่าจะเกิน 40 ปี ผู้ยังมีชีวิตอยู่ และร่างไร้วิญญาณของแม่สามี ที่นั่งแข็งทื่อแห้งกรังและถูกห่อคลุมไว้ด้วยผ้าห่ม (บ่งบอกถึงฐานะทางเศรษฐกิจอันขัดสนของครัวเรือนแห่งนี้ ซึ่งไม่มีแม้แต่เงินมาจัดการศพสมาชิกรายล่าสุดที่เสียชีวิต)

แล้วก็มีชายฉกรรจ์ (แก่ยันหนุ่ม) กลุ่มหนึ่งเดินทางมายังบ้านหลังนี้ พวกเขาเข้ามาครอบครอง อยู่อาศัย ตั้งวงกินข้าวเย็น โดยบังคับให้หญิงสาวหุงหาอาหารให้ ขณะที่ปศุสัตว์ซึ่งเลี้ยงไว้หน้าบ้าน ก็ถูกนำขึ้นรถบรรทุกโดยสองสมาชิกรุ่นเยาว์ของแก๊ง และขนย้ายไปยังที่อื่น

ก่อนที่หัวหน้าแก๊งจะข่มขืนหญิงสาวเจ้าของบ้านในห้องนอนของเธอเอง

หญิงสาวไม่ยอมงอมืองอตีน เธอเริ่มต้นปฏิบัติการเอาคืนโดยลำพัง ผู้ชายส่วนใหญ่ที่เข้ามาปล้นสะดมและยึดครองบ้านถูกสังหารทิ้ง แต่ไม่ใช่ทุกคน

ดังนั้น พร้อมๆ กับที่หญิงสาวพยายามนำเอาศีรษะของโจรหัวหน้าแก๊งไปเป็นหลักฐานยืนยัน เพื่อแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าบ้านเธอถูกปล้น (โดยมีเพื่อนร่วมทางเป็นหญิงท้องแก่ที่มุ่งหน้าไปหาสามี ซึ่งทำงานอยู่ในหมู่บ้านอีกแห่ง คุณยายแก่ๆ ที่พาหลานชายจ๋องๆ ไปเข้าพิธีวิวาห์ และพนักงานขับรถชายวัยกลางคน) หัวขโมยที่หลงเหลือก็ออกเดินทางไล่ล่าเธอ

ผ่านโครงเรื่องที่แบ่งซอยออกเป็นสี่องก์ตามชื่อตอน อันได้แก่ การปล้นสะดม, การเดินทาง, คำสารภาพ และการก่อกำเนิด

หากอ่านจากเรื่องย่อแค่นี้ “Marlina the Murderer in Four Acts” ก็คล้ายจะเป็นหนังโร้ดมูฟวี่ว่าด้วยลูกผู้หญิงที่ถูกกระทำโดยผู้ชาย

แต่เอาเข้าจริง “การเดินทาง” ของตัวละครหญิงในเรื่องกลับไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่สมประสงค์มากนัก

หญิงสาวที่เพิ่งถูกปล้นและข่มขืนอุตส่าห์ออกเดินทางไกล เพื่อจะได้รับปฏิกิริยาเพิกเฉยไม่ไยดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งดูจะเพลิดเพลินกับการตีปิงปองมากกว่าสืบสวนสอบสวนคดี มิหนำซ้ำ เธอยังถูกหลอกหลอนจากผีโจร ซึ่งออกตามหาหัวที่หายไปของตัวเอง

เช่นกันกับหญิงท้องแก่ที่ถูกสามีตบตี ด่าทอ ขับไล่ เพราะเขาหลงเชื่อความเท็จว่า “ภรรยาจอมร่าน” ของตนเองไปมีเพศสัมพันธ์กับหนึ่งในโจรหนุ่มซึ่งรอดชีวิต (ขณะตั้งท้องเก้าเดือน)

ผู้หญิงในหนังจึงออกร่อนเร่พเนจรเพื่อไปพบปะกับโลกที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ โลกที่ผู้ชาย/ผู้มีอำนาจเมินเฉยกับความจริง โลกที่ผู้ชายคิดจะควบคุมบงการอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ

และแม้โลกกว้างใบนั้นจะมีชัยชนะของคนตัวเล็กๆ ดำรงอยู่บ้าง นั่นก็เป็นชัยชนะอันน่าเซอร์ไพรส์ของฮีโร่หนุ่มมาดจ๋องที่ไปเข้าพิธีสมรสเกือบไม่ทัน ไม่ใช่ชัยชนะของบรรดาผู้หญิงที่แลดูมีบุคลิกแกร่งกล้ามากกว่า

ไปๆ มาๆ หญิงสาวที่โดนปล้น-ข่มขืนและหญิงท้องแก่ที่โดนสามีทิ้ง ก็ถูกบีบบังคับโดยโจรผู้ชายที่เหลือ ให้ต้องรีบหวนคืนกลับไปยังบ้าน/หมู่บ้านของพวกเธอ เพื่อชดใช้อะไรบางอย่าง

แต่โจรหนุ่มหารู้ไม่ว่าพื้นที่ในบ้านต่างหากที่เป็น “พื้นที่ทางอำนาจ” ของสตรีเหล่านี้ อย่างน้อย การมีศพสตรีชราคนหนึ่งตั้งมั่นดำรงอยู่ประหนึ่งดัง “รูปปฏิมา” ซึ่งไม่ยอมระเหยหายไปไหน ก็บ่งชี้ถึงสภาวะดังกล่าวอยู่ลึกๆ

เหตุการณ์การยึดครองบ้าน บีบบังคับให้ผู้หญิงที่แลดูว่านอนสอนง่ายทำอาหารค่ำให้กิน แล้วลงเอยด้วยการขืนใจพวกเธอ จึงเวียนวนมาอีกคำรบ

พร้อมๆ กับการลุกฮือขึ้นต่อต้านของลูกผู้หญิง (ที่คราวนี้เพิ่มจำนวนเป็นสองคน) ซึ่งสามารถฉวยใช้พื้นที่ซอกหลืบมุมลับของบ้าน (ตั้งแต่ห้องครัวถึงห้องนอน) มาเป็นเครื่องมือในการลงทัณฑ์ผู้ชายได้อย่างน่าทึ่งและดิบเดือดดุดัน

ก่อนการถือกำเนิดใหม่จะอุบัติขึ้น

บทสรุปของ “Marlina the Murderer in Four Acts” ดูจะท้าทาย สนทนา และโต้เถียงกับ “หนังอาร์ตฮอลลีวู้ด” อย่าง “Mother!” ของ “ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้” โดยบังเอิญ

ทั้งนี้ พื้นที่ในบ้าน/ครัวเรือนของหนังจากอินโดนีเซีย ยังมีสถานะเป็นพื้นที่ในกำมือของสตรีเพศอย่างแท้จริง มิใช่พื้นที่ซึ่งดูเหมือนจะเป็นของสตรี (แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่) ดังปรากฏในหนังของอาโรนอฟสกี้

นอกจากนี้ หนังของซูร์ยายังมองโลกในแง่ดีว่า หน้าที่ “การให้กำเนิดบุตร” โดยผู้หญิง ถือเป็นชัยชนะหรือบ่อเกิดแห่งความหวังใหม่บางประการของพวกเธอ สวนทางกับ “Mother!” ที่เสนอว่านั่นคือ “การผลิตซ้ำ” วงจรอำนาจเดิมๆ ซึ่งมีผู้ชาย/พระเจ้าเป็นศูนย์กลาง

อย่างไรก็ดี หนังอินโดนีเซียเรื่องนี้มิได้ปิดฉากตนเองลงอย่างสมบูรณ์แบบหมดจด จนไม่มีอะไรสนุกๆ ให้คาดเดาต่อขนาดนั้น

เพราะแม้ว่าบ้านจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือพื้นที่ทางอำนาจของพวกเธอ แต่หญิงสาวเจ้าของบ้านและเพื่อนสตรีผู้เพิ่งให้กำเนิดลูกน้อย (ที่ไม่ถูกระบุเพศแน่ชัด) กลับเลือกจะออกเดินทางสู่โลกภายนอกอีกครั้ง โดยไม่ทราบจุดหมายแน่ชัด

ท้ายสุด “บ้าน” จึงกลายเป็นพื้นที่แห่งอดีตของหญิงชราผู้ตายจากไปแล้ว และพื้นที่ซุกซ่อนซากศพของเหล่าชายฉกรรจ์ผู้ถูกปลิดชีพซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ขณะที่ “โลกภายนอก” อันกว้างใหญ่ กลับกลายเป็นพื้นที่อันท้าทายศักยภาพของสตรีเหล่านี้มากกว่า เพราะมันคือโลกที่เต็มไปด้วยระบบอำนาจอันแผ่ไพศาลของผู้ชาย (จากเจ้าหน้าที่รัฐแสนเกียจคร้าน, ผัวห่วยๆ รวมถึงผีหัวขาด) ตลอดจนสมาชิกหนุ่มรายสุดท้ายในแก๊งโจร ซึ่งยังหลงเหลือรอดชีวิต!