คลองอรชรที่หายไป

ปริญญา ตรีน้อยใส
โปสการ์ด ราชกรีฑาสโมสร ปี พ.ศ. 2443

เคยพาไปมองคลองถนนตรงในอดีต หรือถนนพระรามที่สี่ในปัจจุบัน ว่าฝรั่งที่พำนักในกรุงเทพฯ ขอให้ขุดเพื่อเป็นคลองลัด ที่จะช่วยย่นระยะทางจากปากน้ำ มายังกรุงเทพฯ ไม่ต้องแล่นเรืออ้อมตรงบางคอแหลม โดยสัญญาว่าจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ปากน้ำ

เพียงแต่ว่า เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ ฝรั่งมิได้ย้ายไปตามที่ตกลง จึงไม่ค่อยมีการสัญจรในคลองถนนตรงมากนัก

ในขณะที่ถนนตรงที่ได้มาจากดินขุดคลองกลับเป็นที่นิยม ฝรั่งพากันไปขี่ม้าเล่นเป็นที่สุขสำราญ

จนมีสถานที่พบปะสโมสรเกิดขึ้น

 

นายแฟรงกลิน เฮิร์สต์ (Mr.Franklin Hurst) ชาวอังกฤษ ที่เคยรับจ้างรัฐบาลสยามสำรวจเส้นทางรถไฟ และต่อมาเป็นผู้จัดการห้างมาคลิน จึงมีหนังสือกราบทูลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ขอเช่าที่ดินและจัดตั้งสโมสรสำหรับแข่งม้าและกีฬาฯ ในบริเวณพื้นที่นาหลวง ใต้วัดปทุมวนาราม มาจนถึงคลองถนนตรง

เพื่อความสะดวกในการเดินทางไปสโมสร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองและตัดถนนขึ้น จากถนนคลองตรง ไปจนถึงวัดปทุมวนาราม

ทั้งนี้ เพื่อให้คนในสยามรู้จักมาตรวัดระยะทางแบบสากล จึงทรงเลือกตำแหน่งที่จะขุดคลองและตัดถนนให้มีความยาวเท่ากับหนึ่งไมล์พอดี จึงเป็นที่มาของการเรียกขานกันว่า ถนนนิวแมน ที่มาจากถนนนิวแมนส์ไมล์ (Newman’s mile Road) ที่แปลว่า ถนนยาวหนึ่งไมล์ของนิวแมน

เพราะนายวิลเลียม เฮนรี นิวแมน (Mr.William Henry Newman) เป็นกงสุลอังกฤษในเวลานั้น

แผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2482  (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 56  หน้า 1364  วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2482) ในกรอบแดงคือชื่อที่ระบุคลองอรชรและถนนสนามม้า

ดูเหมือนว่ากิจการสโมสรในตอนแรกนั้นไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งปี พ.ศ.2444 กลุ่มชาวต่างประเทศและชาวไทย นำโดยนายอเล็กซานเดอร์ โอลารอฟสกี้ กงสุลรัสเซีย ได้ขอตั้งสโมสรขึ้นใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงมาตรฐานการเพาะพันธุ์ม้าและกีฬาอื่นๆ ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2444 และพระราชทานนามว่า ราชกรีฑาสโมสร

สำหรับคลองที่ขุดขึ้นเพื่อนำดินมาถมเป็นถนนนั้น เรียกขานกันว่า คลองอรชร ด้วยคำว่า อุชุ แปลว่า ไปโดยความไม่คด หรือหมายถึง คลองที่ตรง นั่นเอง

คงต้องถามผู้รู้ว่า ทำไมคำว่า อรชร จึงแปรเปลี่ยนกลายเป็น อรชรอ้อนแอ้น ที่มีความนัยถึงหญิงสาวที่มีทรวดทรงงดงาม อ่อนไหว

แต่ที่รู้แน่ชัดว่า ถนนนิวแมนสไมล์ ถนนสายสั้นๆ ระยะทางหนึ่งไมล์ ที่สร้างเพื่อเป็นทางสัญจรไปยังสนามม้านั้น ชาวบ้านเลือกที่จะเรียกขานว่าถนนสนามม้า ก่อนจะมาเป็นถนนอังรีดูนังต์ในปัจจุบัน

แม้ว่าการจราจรบนถนนอังรีดูนังต์จะเบาบาง แต่ก็มีการถมคลองเพื่อขยายผิวการจราจร เลยทำให้คลองอรชรหายไป กลายเป็นลานที่จอดรถรอรับ-ส่งนักเรียน เป็นต้นทางรถประจำทาง เป็นที่พักรถของคนขับแท็กซี่ และเป็นศูนย์รวมฟู้ดทรักส์ชื่อดังในสื่อออนไลน์ •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส