ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ตุลาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเสียง |
เผยแพร่ |
จ่าหัวให้มันสะดุดตาไปอย่างนั้นแหละครับ
เพราะในความเป็นจริงแล้วมันคือลำโพงที่มีโครงสร้างตู้ขึ้นรูปด้วยวัสดุอันไม่เคยพบเห็นมาก่อน
หากจะว่าเป็นนวัตกรรมของตู้ลำโพงก็คงไม่ผิดนัก เนื่องเพราะแต่ไหนแต่ไรมาหลักๆ แล้ว วัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำตู้ลำโพงก็มีแต่ไม้แบบ Real Wood กับไม้สังเคราะห์แบบ MDF : Medium Density Fiberboard ซึ่งเป็นแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลาง
แต่ลำโพงรุ่นนี้ของ Rega Research วัสดุที่นำมาใช้ขึ้นรูปโครงสร้างตู้นั้น ทำมาจากแก้วกับซีเมนต์ที่เรียกว่า GRC : Glass Reinforced Cement ทำนองซีเมนต์เสริมใยแก้ว, อะไรแถวๆ นี้แหละครับ
ซึ่งตอนที่เห็นเป็นข่าวพาดหัวบอกแต่เพียงทำนองว่า Rega ทำให้ผู้คนทึ่งอีกแล้ว กับการออกแบบลำโพงรุ่นใหม่ที่ใช้ซีเมนต์กับแก้วมาทำเป็นตู้
แค่นั้นแหละครับที่อ่านแล้วให้นึกในใจว่าจะแหกคอกอะไรอีก กระทั่งได้อ่านรายละเอียดในเนื้อความ จึงได้ทราบว่าเป็นวัสดุ GRC ซึ่งจะว่าไปหลังๆ ลำโพงระดับ Hi-End และ Super Hi-End หลายๆ ค่ายนะครับ ได้นำวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ ที่มีองค์ประกอบของวัสดุอันหลากหลาย มาใช้ในการขึ้นรูปเป็นโครงสร้างตู้ด้วยเหตุผล และหลักการ รวมทั้งเทคนิคกรรมวิธีรที่แตกต่างกันไป
แต่ยังไม่เคยได้ยินเจ้าไหนใช้ซีเมนต์กับแก้วมาก่อนเลย
กล่าวสำหรับ Rega AYA ผู้ผลิตบอกว่าใช้เวลาในการคิดค้นและพัฒนามานานกว่าสิบปี นำทีมในการนี้โดย Roy Gandi ผู้ก่อตั้งแบรนด์ โดยทีมออกแบบมั่นใจว่ามันจะสามารถส่งมอบประสิทธิภาพ ด้วยการให้รายละเอียดและสมดุลเสียงที่เหมาะสมกับทุกแนวดนตรี ที่เป็นความชื่นชอบของทุกคนได้อย่างถึงพร้อม จากการทำงานที่สอดประสานกันอย่างลงตัวทั้งในส่วนของตู้ ครอสส์โอเวอร์ และชุดตัวขับเสียงที่ออกแบบและผลิตขึ้นเองแบบ In-House ในลักษณะ Handmade ที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดอย่างประณีตและพิถีพิถันยิ่ง
โดยเฉพาะกับการออกแบบโครงสร้างตู้ที่แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มลำโพงตั้งพื้น (Floortanding Loudspeaker) แต่ได้จัดวางอยู่บนขาตั้งโลหะแกะสลักทำให้มีลักษณะลอยตัวเหนือพื้น ที่นอกจากจะแลดูสวยงามแปลกตาแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังผ่านการคิดคำนวณทางด้านผลกระทบในแง่ของ Floating Effect มาอย่างรอบด้าน เพื่อให้สามารถรังสรรค์เสียงดนตรีออกมาได้ด้วยความสุนทรีย์อย่างแท้จริง
ทีมออกแบบได้บอกว่ากว่าสิบปีที่ใช้เวลาในการทดลองและพัฒนา กระทั่งได้ความลงตัวกับวัสดุ GRC ที่มีน้ำหนักอันเหมาะสมในการนำมาใช้ทำตู้ลำโพง และได้ทดสอบแล้วว่าให้การทำงานได้ดีกับชุดตัวขับเสียงของ Rega เอง อันประกอบไปด้วยทวีตเตอร์รุ่น ZRR High Frequency Unit ตัวขับเสียงย่านความถี่กลาง/ต่ำรุ่น MX-125 Bass/Mid Driver ซึ่งมีขนาด 5 นิ้ว และตัวขับเสียงย่านความถี่ต่ำขนาด 7 นิ้ว รุ่น RR7.8 Bass Driver
โดยชุดตัวขับเสียงทั้งหมดได้ถูกติดตั้งเข้ากับโครงสร้างตู้ที่ออกแบบในลักษณะ Band Pass Cabinet Design ซึ่งภายในมีแผ่นกรอง Acoustic Filter คั่นระหว่างส่วนติดดั้งชุดไดรเวอร์ซึ่งอยู่ตอนบน กับ Port หรือท่ออากาศที่อยู่ตอนล่างของตู้
โดยชุดตัวขับเสียงทั้งสามและพอร์ต ต่างอยู่บนแผงหน้าตู้ที่เรียงกันลงมาในแนวดิ่ง ส่วนการติดตั้งชุดตัวขับเสียงนั้นวางในลักษณะมิด/เบสกับวูฟเฟอร์ขนาบทวีตเตอร์ไว้ตรงกลาง โดยที่มิด/เบสอยู่ด้านบนเกือบชิดติดขอบตู้
ด้วยการออกแบบดังกล่าว พร้อมใช้วงจรครอสส์โอเวอร์ที่กำหนดให้ลำโพงทำงานในระบบ 2.5 Way ทีมวิศวกรเสียงของ Rega บอกว่าลำโพงสามารถให้การตอบสนองต่อเสียงเบสได้อย่างแม่นยำ เที่ยงตรง เปี่ยมไปด้วยพลังอันทรงประสิทธิภาพ ขณะที่เสียงกลางมีความชัดจนและเปิดเผย รวมทั้งเสียงแหลมที่อุดมไปด้วยรายละเอียด เป็นภาพรวมของเสียงที่คือเอกลักษณ์อันยอดเยี่ยมของผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ Rega อย่างแท้จริง
และเป็นอีกผลิตภัณฑ์อันให้ความคุ้มค่าอย่างยอดเยี่ยม ที่ได้ผลิตขึ้นเป็นพิเศษในสหราชอาณาจักร
เกี่ยวกับการพัฒนาตู้ลำโพงด้วยการหล่อด้วยซีเมนต์ผสมใยแก้วนี้ Rega บอกว่าได้เล็งเห็นประโยชน์และพัฒนาร่วมกับบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของสหราชอาณาจักรมานานมากแล้ว หลังจากพบว่าราคาของ MDF นั้น นับวันมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขัดกับแนวทางการออกแบบและผลิตอุปกรณ์ของแบรนด์ ที่มุ่งมั่นในการนำเสนอคุณภาพเสียงระดับโลกภายใต้ราคาที่สมเหตุผล
ทั้งยังได้กล่าวย้ำว่าจะเห็นได้จากระยะเวลาตลอดครึ่งศตวรรษ แบรนด์ได้ทุ่มเทให้กับการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ อยู่เนืองๆ นับตั้งแต่เครื่องเล่นแผ่นเสียงและอุปกรณ์ประกอบอย่างโทนอาร์มเรื่อยมา ที่การทดลองและวิจัยของเราได้นำมาซึ่งการใช้วัสดุที่อาจจะดูแปลกแยกไปจากที่เคย แต่ผลที่ได้รับมันคือความน่าพอใจขณะที่ผู้บริโภคเองก็มิพักต้องรับภาระกับราคาที่สูงเกินความจำเป็น
และเทคนิคในการนำมาใช้ขึ้นรูปโครงสร้างตู้ลำโพงล่าสุดนี้ มิเพียงจะให้ความคุ้มค่าเป็นพิเศษทางด้านราคาเท่านั้น หากยังมีความสมบูรณ์แบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างน่าทึ่งมากอีกด้วย
นี้, เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็น ว่า Rega Research จะไม่หยุดนิ่งในการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิศวกรรมเสียง เพื่อการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มค่าสูงสุดภายใต้ประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยม ขณะที่หลายๆ บริษัทอาจประสบความเสร็จทางด้านการตลาดจากคำโฆษณาหรูๆ ฟังดูชวนให้เชื่อแบบเคลิบเคลิ้ม รวมไปถึงการนำเสนอผลประโยชน์ทางการเงินให้กับผู้ค้าปลีกนั้น
แบรนด์ Rega กลับไม่เคยใช้เงินเพื่อการนั้นเลย เพราะทุกเม็ดเงินของแบรนด์จะถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าเพื่อให้ได้มาซึ่งงานวิจัยและพัฒนา อันจะนำไปสู่คุณภาพเสียงที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคเท่านั้น
ว่ามาเพลินๆ ถึงตรงนี้แล้ว ขอนอกเรื่องเพื่อนำเรื่องราวทำนองคนละเรื่องเดียวกันมาเล่าสู่กันฟังนิด เนื่องเพราะทำให้นึกย้อนไปกว่า 40 ปีที่แล้ว คราวได้ฟัง Dr. Amar G. Bose ผู้ก่อตั้งลำโพง Bose พูดคุยบนโต๊ะอาหารครั้งมาเยี่ยมผู้บริหาร บจก.อัศวโสภณ ผู้นำลำโพงโบสเข้ามาขายในบ้านเรา
ดร.โบสบอกว่า ที่ Bose Corporation นั้น จะมีกฎเกณฑ์อยู่อย่างหนึ่ง คือจะต้องแบ่งงบฯ (กี่เปอร์เซ็นต์จำไม่ได้แล้วครับ) ของรายได้ในแต่ละปี เพื่อนำไปใช้ในส่วนของงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
และนี้เองเป็นที่มาของคติที่ว่า Better Sound Through Research ซึ่งใช้กำกับอยู่ใต้โลโก้ของแบรนด์มาตั้งแต่ยุคแรกๆ
แต่ก็ไม่ทราบนะครับ ว่าทุกวันนี้กฎเกณฑ์เจียดงบฯ (ด้วยจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ชัดเจน) จากรายได้ เพื่องาน R&D ที่ว่าของค่ายโบส คอร์ป จะยังคงมีใช้อยู่อีกหรือเปล่า
กลับมาที่ Rega AYA กันต่ออีกหน่อยครับ ระบุว่าระบบการทำงานเป็นแบบ Bass Reflex, 2-1/2 Ways อิมพีแดนซ์ 6 โอห์ม วัดค่าความไว (Sensitivity) ได้ 89dB รองรับกำลังขับ 110W/Ch มิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 258 x 871 x 215 มิลลิเมตร น้ำหนัก 14.1 กิโลกรัม/ตู้
เป็นลำโพงที่ขายตะแกรงปิดแผงหน้าตู้แยกต่างหากนะครับ (เหมือนจะไม่เคยเจอแบรนด์ไหนทำแบบนี้) ด้วยเหตุผลว่ามันไม่ใช่สิ่งจำเป็น และเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายลงไปอีก
แต่หากซื้อไปใช้ก็ติดตั้งไม่ยาก เพราะเป็นการตรึงเข้ากับแผงหน้าตู้ด้วยหมุดแม่เหล็กแค่นั้นเอง
เปิดราคาที่อังกฤษคู่ละ 1,499 ปอนด์ ส่วนตะแกรงปิดแผงหน้าคู่ละ 80 ปอนด์ครับ •
เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022