‘ไม่ปรับตัว’ ตาย-ติดคุก-ถูกออก | เหยี่ยวถลาลม

แทบไม่ต้องมีคำอธิบายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแวดวงตำรวจก่อนหน้านี้

คนที่รับราชการ “ตำรวจ” ได้ ไม่ใช่โง่ เพียงแต่ไม่รู้จักปรับตัว จึงพบจุดจบที่แย่ๆ มีตั้งแต่ ตาย ถูกดำเนินคดี ติดคุก ถูกออกจากราชการ

ประเทศไม่ได้ออกแบบ “องค์กรตำรวจ” เพื่อให้เป็นกลุ่มมาเฟีย เรียกรับสินบน เรียกเก็บค่าคุ้มครอง อุ้มรีดนักธุรกิจต่างชาติ จ่ายสินบนผู้สื่อข่าว

และเช่นเดียวกัน ประเทศก็ไม่ได้ออกแบบ “กองทัพ” เพื่อให้เป็นกองกำลังอิสระเอาไว้ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจฝ่ายบริหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มล้างสภานิติบัญญัติ

ที่จริงแล้ว การทำผิดหน้าที่ย่อมพ่วงด้วย “ความผิด” ตามกฎหมาย หาก “ผู้มีหน้าที่” ไม่บังคับใช้ก็เข้าข่าย “ละเว้น”

 

ยกตัวอย่างเช่น ในที่เกิดเหตุยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือสารวัตรแบงก์ คาโต๊ะอาหารกลางลานบ้าน “กำนันนก” หรือนายประวีณ จันทร์คล้าย ตำรวจที่นั่งร่วมโต๊ะกับสารวัตรแบงก์กับโต๊ะติดๆ กัน รวมทั้งตำรวจทั้งหลายที่ “ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามวิสัยที่ตำรวจควรทำ” ก็ต้องถูกดำเนินคดีฐาน “ละเว้น”

เป็นตำรวจแต่ไม่ได้ทำอะไรในที่เกิดเหตุ ไม่ระงับเหตุ ไม่จับกุมคนร้าย ไม่วิทยุสกัดจับกุม ปล่อยให้หนีไป ไม่ได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ แต่เผ่นหนีเอาตัวรอด ชอบด้วยประการทั้งปวงที่จะต้องตกเป็น “ผู้ต้องหา”

ลำดับถัดไปก็ต้อง “เอาออกจากราชการตำรวจ”

สำหรับ “ผู้กำกับเบิ้ม” หรือ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.2 บก.ทล. ผู้บังคับบัญชาสายตรงของ “สารวัตรแบงก์” ซึ่งนั่งร่วมโต๊ะนั้นตัดสายกรรมทั้งหมดด้วยการตัดสินใจ “ยิงตัวตาย”!

ที่เหลืออีก 15 นายถูกดำเนินคดีฐานละเว้น มีตั้งแต่ระดับ “ผู้กำกับการ” 2 นาย คือ “ผกก.สน.พญาไท”กับ “ผกก.กองสืบสวน” จังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย “รองสารวัตร” ซึ่งมีอยู่ครบทุกสายงานตำรวจ เช่น สายป้องกันปราบปราม สายสอบสวน สายสืบสวน สายจราจร และทางหลวง

เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่บ้านกำนันนก จึงเป็นบทตอกย้ำว่า “ส่วยทางหลวง” ยังดำรงอยู่จริง!

 

“ตํารวจทางหลวง” อยู่ในบังคับบัญชาของ “กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง” มี พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช หรือ “ก้อง” เป็น ผบช.ก.

คนนี้ต้องเรียกว่า “ผู้น้อง”

“ก้อง” ผู้น้องต้องขึ้นต่อ “ผู้พี่” คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.ที่ลุกจากเก้าอี้ “ผบช.ก.” ไปเมื่อปี 2564 เพื่อให้ “ผู้น้อง” ขยับขึ้นมาสวมแทน

“คดีบ้านกำนันนก” ถูก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ลงมือขุดคุ้ยในระยะแรกส่อนัยยะบางประการ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญจน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ขณะนั้น “เบรกหัวทิ่ม”

หยุดปฏิบัติการของทีม “โจ๊ก”!

มอบหมาย “หน้าที่” ให้เป็นของ “ทีมก้อง” ผบช.ก. ผู้น้องของ “บิ๊กต่อ” สืบสวนสอบสวนสะสาง

ล่วงผ่านวันเศร้าจากเหตุการณ์ “บ้านกำนันนก” ได้ไม่นานนัก

เช้าตรู่ของวันหนึ่ง “ชุดคอมมานโด” ตำรวจไซเบอร์บุกค้นบ้านพัก “รอง ผบ.ตร.” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล คราวนี้ดังเสียยิ่งกว่าพลุระเบิด!

“โจ๊ก หวานเจี๊ยบ” ตั้งคำถามสวนตำรวจที่มาขอค้นในทันทีว่า บ้านนี้ บ้านผม บ้านนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ตำรวจไม่รู้หรือว่าเป็นบ้านผม ถือเป็นการหลอกศาลหรือเปล่าที่ไปขอหมายค้นโดยไม่บอกว่าเป็นบ้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

คำพูดที่หมิ่นเหม่ของ “โจ๊ก หวานเจี๊ยบ” ชวนให้ผู้อนุมัติหมายถึงกับ “หูผึ่ง” แต่ศาลคงสงสารผู้ที่กำลังมึนจึงไม่ถือสาหาความ “ฐานหมิ่นศาล” เลือกที่จะชี้แจงกับสาธารณะสั้นๆ ว่า การออกหมายค้นบ้านที่โจ๊กพักอาศัยนั้น “ชอบด้วยกฎหมาย”

การออก “หมายอาญา” จำเป็นจะต้องลืมสถานะชั้นยศและตำแหน่ง เพียงแต่สังคมไทยชอบทึกทักว่า “เรื่องเล็กๆ ของคนใหญ่” ไม่อาจใช้แนวทางเสมอหน้ากันได้

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.กมค. “ชุดกล้าตาย” ออกมาอธิบายเพิ่มเติมว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการออกหมายจับตำรวจจะต้องระบุชั้นยศตำรวจ และตำแหน่ง และขณะขอออกหมายจับก็ได้ให้การกับศาลแล้วว่าบุคคลตามหมายจับมีอาชีพอะไร ไม่ได้ปิดบัง

“แต่สำหรับผม การดำเนินคดีกับบุคคลที่ประกอบอาชีพเป็นตำรวจต้องยึดถือเกียรติอาชีพหน้าที่ การตัดสินใจไม่ใช้ยศตำรวจ ถือเป็นการป้องกันเกียรติยศศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจ”

คดีเว็บพนันออนไลน์มีตำรวจตั้งแต่ชั้น “นายพล” ลงไปถูกดำเนินคดีถึง 8 นาย ทั้งหมดอยู่ในทีม “โจ๊ก”

“โจ๊ก” ถูกค้นที่พักอาศัย และ “นายตำรวจติดตาม” ยศ “พันตำรวจตรี” ก็ถูกจับกุมตัวตามหมายจับในวันที่ 25 กันยายน

 

“โจ๊ก” เสียรังวัดก่อนที่ “ก.ตร.” จะมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง “ผบ.ตร.” คนใหม่ในวันที่ 27 กันยายน

นำไปสู่ “ดราม่า” ว่า การแต่งตั้ง “ผบ.ตร.” ควรเรียงไปตาม “ลำดับอาวุโส”!

อาวุโสอันดับ 1 พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ (เกษียณกันยายน 2567)

อาวุโสอันดับ 2 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล (เกษียณกันยายน 2574)

อาวุโสอันดับ 3 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร (เกษียณกันยายน 2569)

อาวุโสอันดับ 4 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล (เกษียณกันยายน 2567)

ถ้าว่ากันตาม “อายุ” รอยกับต่อศักดิ์ อยู่แค่ปีเดียวก็ไป ต่อจากนั้น กิตติ์รัฐหรือต่าย นั่งต่อ 2 ปี

คิวต่อไปคือ “โจ๊ก” จะได้นั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.ยาวถึง 5 ปี

แต่คำว่า “อาวุโส” ที่ใช้ในการแต่งตั้งตำรวจนั้นเรียงลำดับจาก “ใครขึ้นสู่ตำแหน่งปัจจุบันก่อน-หลัง”

เรียงลำดับจึงต้องเป็นดังนี้

1.รอย (เกษียณ 2567) 2.โจ๊ก (เกษียณ 2574) 3.ต่าย กิตติ์รัฐ (เกษียณ 2569) 4.ต่อศักดิ์ (เกษียณ 2567)

ถ้าแต่งตั้ง ผบ.ตร.เรียงตามลำดับอาวุโสอย่างเคร่งครัด ผลก็คือ

“รอย” จะเป็น ผบ.ตร.ถึงสิ้นกันยายน 2567

จากนั้น “โจ๊ก” จะเป็น ผบ.ตร. ตั้งแต่ตุลาคม 2567-สิ้นกันยายน 2574 ยาวนานถึง 7 ปี ลบสถิติ

นี่คือ “เหตุผล” ที่ตำรวจทุกคนต้อง “วิ่ง” เพื่อขึ้นสู่ตำแหน่งให้เร็วกว่าคนอื่นเพื่อ “ลำดับอาวุโส”!

“ปัญหา” การวิ่งเต้น ประจบสอพลอ สั่งสมมาหลายทศวรรษ แต่ฟอนเฟะเหลวแหลกที่สุดในยุค คสช.ยึดอำนาจตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

จึงมีคำกล่าว…สงสัยในปัจจุบันให้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ ทำความเข้าใจยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง แต่ถ้ายังคงใช้วิถีเดิมๆ ก็ไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

ย้อนหลังไปดู “เส้นทาง” เติบโตและศึกษาภูมิหลังแต่ละคนก็จะพบว่า “คำพูด” กับ “การกระทำ” สวนทาง “เบื้องหน้า” กับ “เบื้องหลัง” แตกต่าง ทุกความเคลื่อนไหวมีเรื่องราวซ่อนเร้น

องค์กรตำรวจจะตกต่ำและเสื่อมทรามหนักยิ่งขึ้น!?!!