นักเล่นกับเวลา ผู้ยืนอยู่บนพรมแดน ระหว่างศิลปะและดีไซน์ Maarten Baas

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัม หรือพิพิธภัณฑ์ไรจ์กส์ (Rijksmuseum) ในเนเธอร์แลนด์ นอกจากจะมีผลงานศิลปะและวัตถุทางประวัติศาสตร์ของศิลปินชั้นครู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปินในยุคทองของดัตช์ (Dutch Golden Age) อย่าง ฟรันส์ ฮัลส์ (Frans Hals), โยฮานเนสต์ เฟอร์เมียร์ (Johannes Vermeer) และ เรมบรันต์ (Rembrandt) แล้ว

ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีผลงานของศิลปินสมัยใหม่ หรือแม้แต่ผลงานของศิลปินและนักออกแบบร่วมสมัยอีกจำนวนไม่น้อย

หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นผลงานเล็กๆ ที่วางแอบไว้ตรงในมืดตรงทางเดินหน้าห้องน้ำของพิพิธภัณฑ์ แต่กลับเป็นผลงานที่เตะตาโดนใจเราอย่างมาก

เลยขอเอามาเล่าสู่กันอ่านในตอนนี้

Grandfather Clock (2008)

ผลงานชิ้นนี้เป็นของศิลปิน/นักออกแบบชาวดัตช์ มาาร์เทน บาาส์ (Maarten Baas) ที่มีชื่อว่า Grandfather Clock (2008) ผลงานวิดีโอจัดวางที่นำเสนอภาพเคลื่อนไหวบนจอ ที่ดูเหมือนตัวเขากำลังใช้ปากกาเมจิกสีดำวาดภาพเข็มนาฬิกาทั้งเข็มสั้นและเข็มยาวจากหลังกระจกด้านใน และใช้ผ้าขี้ริ้วลบเข็มเดิม และวาดขึ้นมาใหม่ โดยเปลี่ยนตำแหน่งทุกๆ นาที เพื่อทำการบอกเวลา

โดยวิดีโอมีความยาว 12 ชั่วโมง พอดิบพอดี และฉายหมุนวนบอกเวลาไปเรื่อยๆ ราวกับเป็นการแสดงกลไกเบื้องหลังการเดินของเวลาแบบแฮนด์เมด (จริงๆ) ให้เราเห็น วิดีโอชิ้นนี้ติดตั้งในกล่องนาฬิกาสเตนเลสรูปทรงคล้ายนาฬิกาลูกตุ้มโบราณ หรือ Grandfather Clock เหมือนชื่อของงานนั่นเอง

REAL TIME (2016), ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/2NspFlD

หลังจากผลงานชิ้นนี้ ในปี 2016 บาาส์ยังทำผลงานศิลปะจัดวางชุดนี้ในชื่อ REAL TIME (2016) ที่ติดตั้งในสนามบินอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮล (Amsterdam Airport Schiphol) โดยเป็นผลงานวิดีโอจัดวางติดตั้งบนนาฬิกาของสนามบิน ที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนตัวเขากำลังใช้ลูกกลิ้งกลิ้งสีวาดภาพเข็มนาฬิกา บนกระจกผ้าจากด้านใน และใช้ผ้าขี้ริ้วลบเข็มเดิม และวาดขึ้นมาใหม่ โดยเปลี่ยนตำแหน่งทุกๆ นาที เพื่อทำการบอกเวลาเช่นเดียวกัน

บาาส์ทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอ “ภาพความเหมือนจริงอย่างสุดขั้วของเวลา”

โดยวิดีโอชิ้นนี้ติดตั้งในกล่องนาฬิกาสเตนเลสที่ติดบันไดเอาไว้ เพื่อให้ผู้ชมจินตนาการได้ว่ามีคนกำลังปีนขึ้นไปวาดภาพอยู่ในนาฬิกานี้จริงๆ

และด้านหลังของนาฬิกาก็ยังมีวิดีโอที่ฉายภาพเงาทางด้านหลังของคนที่กำลังวาดภาพอยู่ข้างในนาฬิกาเพื่อความสมจริงอย่างยิ่งยวด

REAL TIME (2016), ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/2NspFlD

ในวิดีโอ ผู้ชมจะเห็นบาาส์ปฏิบัติหน้าที่วาดและลบเข็มนาฬิกาบอกเวลาโดยสวมชุดหมีสีน้ำเงิน ใช้ผ้าขี้ริ้วสีเหลือง และถังน้ำสีแดง ซึ่งนอกจากจะเป็นชุดและอุปกรณ์ทำความสะอาดของพนักงานทำความสะอาดในสนามบินแล้ว

โทนสีเหล่านี้ยังเป็นการสดุดีต่อผลงานของจิตรกรชาวดัตช์ชื่อดังอย่าง พีต มอนเดรียน (Piet Mondrian) อีกด้วย ผลงานชิ้นนี้ของเขาเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนจะเห็นเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนออกจากเนเธอร์แลนด์

เดิมทีผลงานชิ้นนี้เป็นซีรีส์ของผลงานในปี 2009 ของเขา ที่ทำขึ้นในมหกรรมดีไซน์ Salone Del Mobile ในมิลาน อิตาลี โดยเป็นนาฬิกาลูกตุ้มไขลานขนาดมหึมา ที่มีวิดีโอเป็นเข็มนาฬิกาขนาดยักษ์ที่เคลื่อนตัวบอกเวลาด้วยคนที่ใช้ไม้กวาดกวาดขยะอยู่

หลังจากนั้นผลงานชิ้นนี้ก็ถูกทำต่อยอดออกมาในรูปแบบอื่น เช่น เป็นแอพพ์ในไอโฟน และเป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะ เป็นต้น

REAL TIME (2016), ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/2NspFlD

มาาร์เทน บาาส์ จบการศึกษาจากสถาบัน Design Academy Eindnoven ในเนเธอร์แลนด์ในปี 1996 และสถาบัน Politecnico di Milano ในกรุงมิลาน อิตาลี

ในปี 2002 เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานในชุด “Smoke” ซึ่งเป็นโครงการที่เขาทำสำหรับจบการศึกษา เพื่อเป็นการสำรวจธรรมชาติของความงามและความสมบูรณ์แบบ ดังเช่นที่เขากล่าวว่า

“ในธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลง ซึ่งก่อให้เกิดความงามบางอย่าง แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์เองก็มีแนวโน้มที่จะพยายามรักษาสิ่งต่างๆ เอาไว้ให้คงสภาพสวยงามแบบเดิมอย่างที่เคยเป็น ผลงานชุดนี้จึงเป็นการเล่นกับการรับรู้เกี่ยวกับความงามที่ว่านั้น”

เขาจึงนำเฟอร์นิเจอร์คลาสสิคอย่างเก้าอี้อาร์มแชร์ เก้าอี้กินอาหาร โคมไฟห้อยเพดาน โต๊ะและตู้สไตล์หลุยส์แบบโบราณ หรือแม้แต่แกรนด์เปียโน มาลนไฟจนไหม้เกรียม ก่อนที่จะเอาไปเคลือบด้วยเรซิ่นใสสังเคราะห์ เพื่อให้คงสภาพเดิมเอาไว้อย่างนั้น จนกลายเป็นงานดีไซน์ที่ผสานความคลาสสิคแบบโบราณเข้ากับแนวคิดอันแหวกแนวแบบร่วมสมัย

Smoke Red and Blue Chair Gerrit Rietveld, ขอบคุณภาพจาก https://shorturl.at/OQV68

นอกจากนั้น เขายังร่วมงานกับดีไซเนอร์ชื่อดังและแบรนด์ดังอีกหลายคนในผลงานชุด “Where There’s Smoke…” ที่นำเอางานเฟอร์นิเจอร์คลาสสิคชื่อดังของดีไซเนอร์หลากหลายคน ซึ่งมีทั้งผลงานของ ชาร์ลส์ และ เรย์ อีมส์ (Charles & Ray Eames), เฆอร์ริต ริตต์เวลด์ (Gerrit Rietveld), สองพี่น้องคัมพาน่า (Campana brothers) หรือแม้แต่สถาปนิกระดับตำนานอย่าง แอนโทนี เกาดี้ (Antoni Gaud?) มาลนไฟตามแบบฉบับของเขา

เขายังทำดีไซน์คอลเล็กชั่นนี้ให้กับนักสะสมและพิพิธภัณฑ์ชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก

ผลงานของบาาส์ได้รับการสะสมและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกอย่าง พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA), พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (V&A) ลอนดอน และพิพิธภัณฑ์ไรจ์กส์

ผลงานของเขายืนอยู่บนพรมแดนระหว่างศิลปะและดีไซน์ ด้วยการผสมผสานแนวคิดของศิลปะคอนเซ็ปช่วลอาร์ต งานฝีมือ งานศิลปะจัดวาง งานศิลปะวิดีโอ งานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ และงานศิลปะแสดงสดเข้าไว้ด้วยกัน เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานอันแหกคอก เต็มไปด้วยไหวพริบปฏิภาณ และเปี่ยมสไตล์

 

บาาส์กล่าวถึงความคิดและแรงบันดาลใจเบื้องหลังการทำงานของเขาว่า

“เราอายุมากขึ้น ฉลาดและเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็สูญเสียพลังแห่งความเป็นเด็กไปเช่นเดียวกัน งานของผมคือการมองหาความไร้เดียงสา ความประหลาดใจ และความอยากรู้อยากเห็นแบบเด็กๆ ให้คงอยู่ในตัวเอาไว้”

นอกจากจะได้แรงบันดาลใจจากดีไซเนอร์ชั้นนำอย่าง เยอร์เคน เบย์ (Jurgen Bey) และเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง เบอร์ตเยิน พอต (Bertjan Pot) แล้ว เขายังได้รับอิทธิพลทางความคิดจากศิลปินชาวออสเตรียผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะร่วมสมัย เจ้าของผลงาน “ประติมากรรมหนึ่งนาที” (One Minute Sculptures) อย่าง แอร์วิน วูร์ม (Erwin Wurm) อีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ไรจ์กส์ ตั้งอยู่บนถนน Museumstraat 1 เมืองอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 09:00 -17:00 น สนนราคาค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 22.50 เด็กอายุ 18 ปีและต่ำกว่า เข้าชมฟรี ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rijksmuseum.nl/en

ข้อมูล https://maartenbaas.com/, https://bit.ly/2NspFlD, https://shorturl.at/gkyGX, https://shorturl.at/lBJMQ

ขอขอบคุณกองทุนศิลปะชวลิต เสริมปรุงสุข สนับสนุนการเดินทาง #84chavalitfestival •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์