คลายสงสัย “ของกลางยาเสพติด” จับได้แล้ว เอาไปไว้ไหน? อย่าไปเชื่อข่าวลือวนๆเวียนๆ

หลังจากสองสัปดาห์ก่อน คอลัมน์นี้พาไปถอดรหัสปริศนาเกี่ยวกับ “คดียาเสพติด” ว่าทำไมยิ่งจับ ถึงยิ่งเยอะ ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สัปดาห์นี้ จะพาไปเจาะลึกอีกหนึ่งประเด็นข้างเคียง นั่นคือ ในการแถลงข่าวตรวจยึดยาเสพติดจำนวนมากแต่ละครั้งนั้น มักเกิดคำถามว่ายาเสพติดดังกล่าวถูกนำกลับมา “เวียนข่าว” หรือไม่?

ขณะที่บางคนกล่าวหาการทำงานของเจ้าหน้าที่ ถึงขั้นว่าอาจมีช่องโหว่ในการยักยอกของกลาง

ประเด็นนี้ “นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย” เลขาธิการ ป.ป.ส. ยอมรับว่าการจับกุมผู้ต้องหาในคดียาเสพติด หากจะมีช่องโหว่ ก็อาจจะเกิดขึ้นในชั้นการจับกุม

แต่ขอชี้แจงว่าการลงพื้นที่จับกุมคดียาเสพติดในแต่ละครั้ง จะมีหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงาน ป.ป.ส. ตำรวจ บช.ปส. เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจท้องที่นับสิบๆ คน หากจะกระทำการทุจริตแสดงว่าทุกหน่วยงานและทุกคนที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจะต้องร่วมมือกัน ซึ่งเป็นไปได้ยาก

เช่น การตรวจยึดยาบ้า 4 ล้านเม็ด เมื่อยึดได้แล้ว ก็จะต้องนำของกลางมาตรวจนับ หากมีหนึ่งคนต้องการยักยอกไว้ 1 ล้านเม็ด แล้วทุกคนที่ร่วมกันทำงานจากหลายหน่วยจะยอมหรือไม่?

แต่ก็ต้องยอมรับว่าการทุจริตเช่นนั้นอาจเกิดขึ้นได้บ้าง เช่น การตรวจยึดกัญชา 80 กิโลกรัม แต่มีการนำส่งแค่ 50 กิโลกรัม ก็จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งทางวินัยและดำเนินคดีอาญา

ส่วนของกลางยาเสพติดเมื่อถูกตรวจยึดได้ ผู้จับกุมจะต้องนำยาเสพติดของกลางพร้อมตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนในพื้นที่ทันที

หากเป็นคดีใหญ่ หรือคดีที่จับกุมโดย บช.ปส. ก็จะต้องส่งให้พนักงานสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดทันทีเช่นกัน จะนำยาเสพติดมาเก็บไว้ก่อน 5 วัน 10 วัน แล้วค่อยส่งนั้นเป็นไปไม่ได้ และจะไม่มีการจัดเก็บยาเสพติดของกลางไว้ที่ สน. หรือ สภ. ต่างๆ

เมื่อพนักงานสอบสวนลงบันทึกแล้ว ยาเสพติดจะต้องถูกส่งไปตรวจพิสูจน์ที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หากปริมาณมากจะถูกส่งมายังสำนักงานตรวจพิสูจน์ของ ป.ป.ส.

เพื่อนำยาเสพติดเหล่านั้นไปให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ว่าเป็นยาเสพติดของจริง ไม่ใช่เอาของปลอมมาจัดเก็บ และจะต้องนับจำนวนให้ตรงกับบันทึกจับกุม

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ตรวจของกลางเรียบร้อยแล้ว ก็จะออกใบบันทึกผลตรวจให้พนักงานสอบสวนนำไปใช้ประกอบสำนวนคดี

เลขาธิการ ป.ป.ส. เน้นย้ำว่าในแต่ละขั้นตอนการจัดส่งยาเสพติด จะมีการตรวจนับ ตรวจพิสูจน์ ก่อนที่จะรับช่วงต่อ เพราะหากรับมาแล้วเกิดความผิดปกติ ผู้ที่ส่งและผู้รับจะต้องรับผิดชอบ ถูกตั้งกรรมการสอบสวน

 

จากนั้นยาเสพติดจะถูกส่งต่อไปจัดเก็บไว้รวมกันที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนักวิทยาศาสตร์ที่ อย. ทำหน้าที่ตรวจสอบยาเสพติดอีกครั้งว่าเป็นของจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการนำยาเสพติดของปลอมมายัดไส้

ถือเป็นจุดสุดท้ายของเส้นทางการจัดเก็บยาเสพติด ซึ่งจะถูกรวมไว้ในห้องที่เรียกว่า “ห้องมั่นคง” มีตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ ทำหน้าที่เก็บกุญแจคนละหนึ่งดอก และกุญแจทุกดอกจะต้องเสียบและไขพร้อมๆ กัน จึงสามารถเปิดประตูของห้องดังกล่าวได้

โดยในแต่ละปีจะมีการกำหนดวันเปิดตรวจสอบ “ห้องมั่นคง” รวมทั้งการเปิดห้องเพื่อนำยาเสพติดไปเผาทำลาย

การเผาทำลายยาเสพติดของกลางในแต่ละปี จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาประกอบด้วย คณะกรรมการตรวจนับ คณะกรรมการรับของกลางไปสู่ที่เผาทำลาย คณะกรรมการเผาทำลาย คณะกรรมการประชาสัมพันธ์

โดยใช้เจ้าหน้าที่หลากหลายหน่วยงานเพื่อป้องกันการยักยอกของกลางในกระบวนการนี้ มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมเชิญคณะทูตจากต่างประเทศ หน่วยงานต่างๆ รวมถึงสื่อมวลชน มาร่วมเป็นสักขีพยานในการเผาทำลาย

ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบยาเสพติดอีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่เตาเผาทำลายชนิดพิเศษ แต่ในส่วนสารเคมีที่มีการนำมาใช้ผลิตยาเสพติด หน่วยงานที่ตรวจยึดได้จะเป็นผู้จัดเก็บไว้ โดยมีสำนักงาน ป.ป.ส. ทำหน้าที่ตรวจสอบไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งตำรวจพื้นที่ ทหาร และหน่วยงานอื่น

ก่อนรวบรวมนำมาเผาทำลายเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ขั้นตอนตรวจยึดยาเสพติดจนถึงขั้นตอนการเผาทำลาย มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเป็นระบบ และจะต้องเซ็นรับรองผลการตรวจสอบของตัวเอง หากพบความผิดพลาดในขั้นตอนใดก็จะต้องมีผู้รับผิดชอบ

โดยประเทศไทยจะใช้วิธีเก็บยาเสพติดรวมไว้ที่เดียว ขณะที่ในบางประเทศจะมีการกระจายเก็บไปยังสถานที่ต่างๆ แต่เลขาธิการ ป.ป.ส. มองว่าการกระจายเก็บอาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้มากกว่า

สำหรับสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศ ขณะนี้ยาเสพติดที่เป็นตัวปัญหามากที่สุด ยังคงเป็น “ยาบ้า” ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 ตรวจยึดยาบ้าได้ประมาณ 140 ล้านเม็ด ในปี 2560 ตรวจยึดได้กว่า 200 ล้านเม็ด

ของกลางประมาณครึ่งหนึ่งเป็นส่วนที่จะแพร่ระบาดภายในประเทศ ที่เหลือมีเป้าหมายส่งต่อไปยังประเทศที่สาม

ส่วน “ยาไอซ์” ในปี 2559 ตรวจยึดได้ประมาณ 1 พันกิโลกรัม ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 4 พันกิโลกรัม แต่มีเปอร์เซ็นต์การแพร่ระบาดในประเทศไม่มาก ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ค้าพยายามส่งยาเสพติดประเภทนี้ออกนอกประเทศ เนื่องจากมีราคาสูง ทว่า ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดไม่แพ้กัน

ยาเสพติดอีกหนึ่งตัวที่มีการเฝ้าระวังคือ “เคตามีน” ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ที่ใช้ในทางการแพทย์ เลขาธิการ ป.ป.ส. พบว่ามีการตรวจยึดเคตามีนในประเทศได้มากขึ้น โดยเป็นยาเสพติดที่ใช้ในสถานบันเทิงกับกลุ่มวัยรุ่น

ด้วยเหตุนี้ ป.ป.ส. จะต้องปรับนโยบายเฝ้าระวังยาไอซ์และเคตามีนให้เข้มงวดมากขึ้นไปอีก

เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ระดับการจับกุม การจัดเก็บ และการเผาทำลาย ว่ามีระเบียบขั้นตอนที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

โดยเจ้าหน้าที่พยายามอย่างถึงที่สุด ทั้งการป้องกันการนำยาเสพติดเข้ามาแพร่ระบาด การปราบปรามขบวนการ ตั้งแต่ระดับผู้สั่งการ จนถึงการแพร่ระบาดในชุมชนต่างๆ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐาน

และยังมีการเฝ้าระวัง ออกมาตรการที่เข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ โดยเน้นการสนธิกำลังร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ในการปฏิบัติงานแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันข้อครหาและการโจมตีจากฝ่ายผู้ถูกจับกุม

นายศิรินทร์ยา ชี้ว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงส่วนน้อย ที่จะกระทำการทุจริต และตัวเองในฐานะเลขาธิการ ป.ป.ส. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลปัญหาด้านยาเสพติดของประเทศ ขอย้ำว่าทุกขั้นตอนการทำงานดำเนินไปอย่างรัดกุม

จึงเป็นไปได้ยาก ที่จะมีการนำยาเสพติดของกลางกลับไปเวียนแถลงข่าว ยักยอก หรือนำยาเสพติดของปลอมมาสลับกับของจริง

ดังที่เล่าลือกันต่างๆ นานา