ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
คําตัดสินของศาลฎีกาในวันที่ 20 กันยายน 2566 ที่พิพากษาตัดสิทธิทางการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้งของอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช ตลอดชีวิต ตามข่าว “ศาลฎีกา พิพากษา ถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งช่อ พรรณิการ์ ตลอดชีวิต ฝ่าฝืนจริยธรรม” ในลิงก์ https://www.matichon.co.th/politics/news_4189851 ได้ส่งผลสะเทือนต่อการเมืองไทยมากมาย
หนึ่งในนั้นก็คือวิวาทะระหว่าง “อ.ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กับบรรดา “ด้อมส้ม” ทั้งหลาย หลังจากที่เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคก้าวไกลที่ไม่มีการแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ หรือมีปฏิกิริยาอย่างล่าช้า
อย่างไรก็ตาม หลังแสดงท่าทีออกไปก็เกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” จากติ่งส้มหรือแฟนคลับของพรรคก้าวไกลเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ท้ายที่สุดเมื่อเริ่มรับแรงกระแทกไม่ไหว ในวันที่ 22 กันยายน 2566 ปิยบุตรจึงตัดสินใจถอยออกมาอยู่ห่างๆ และลั่นวาจาว่าจะขออยู่แบบเงียบๆ ไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือพูดถึงพรรคก้าวไกลอีก ภายหลังจากที่ได้ปล่อยข้อเขียนชุดสุดท้ายถึงพรรคก้าวไกลจนครบแล้ว
ดังคำกล่าวของปิยบุตรว่า
“ยอมรับว่าเกิดอารมณ์เบื่อขึ้นมาแล้ว ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรเพื่อสาธารณะไปทำไม พูดไปแล้วก็ถูกทัวร์มาจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายความมั่นคง ผู้สนับสนุนเพื่อไทย และผู้สมัครก้าวไกลด้วย โดนหมดทุกทาง ก็เลยเริ่มคิดถึงการพักผ่อนสบายๆ ลดบทบาทในการแสดงความเห็นในที่สาธารณะ ข้อเขียนต่างๆ ก็อาจจะเขียนเรื่องหนัง เรื่องเพลง ฟุตบอล ไม่พูดเรื่องการเมืองดีกว่า เพราะพูดแล้ว มันมาทุกทาง ไปนั่งคิดถึงตัวเองบ้าง ว่าที่ผ่านมาทำไปทำไม ทำแล้วให้คนเกลียดเรามากขึ้นจากทุกทางด้วย จากนี้จะพยายามไม่พูดถึง แล้วก็ไปทำอย่างอื่น เขียนหนังสือตำราที่ค้างไว้ตั้งแต่เป็นอาจารย์ คิดว่าถึงว่าจะยุติเรื่องพวกนี้ซะที กลับไปทำงานวิชาการดีกว่า ไปเขียนหนังสือให้มันเสร็จ เรื่องการเมืองก็ให้เขาว่าไป” ตามข่าว “ปิยบุตรประกาศยุติคอมเมนต์การเมืองหลังเจอทัวร์ด้อมส้ม เตรียมข้อเขียนสุดท้ายถึงก้าวไกล”
ในลิงก์ https://www.matichon.co.th/politics/news_4193334
เรื่องราวนี้ชวนให้หวนกลับไประลึกถึงเหตุการณ์ของชายอีกผู้หนึ่งในอดีตเมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีก่อน ณ นครรัฐเอเธนส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของประเทศกรีซ
ชายผู้นั้นมีนามว่า “โสกราตีส” (Socrates) อาจารย์ของนักปรัชญาชื่อก้องอีกคนหนึ่งคือเพลโต (Plato)
ต่างกันที่ว่าครั้งนั้นโสกราตีสถูกศาลประชาชนของเอเธนส์ลงทัณฑ์ด้วยการห้ามพูด แต่เขาก็ไม่ยอมหยุดพูด จึงทำให้ได้รับโทษประหารในเวลาต่อมา
ขณะที่ปิยบุตรไม่ได้ถูกพิพากษาจากศาลใดๆ ให้หยุดพูดหรือหยุดวิจารณ์เลย เพียงแต่เลือกที่จะยุติการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยตัวเอง อาจเนื่องจากความเบื่อหน่าย เอือมระอา ท้อแท้ หรือไม่ก็หมดใจที่พูดไปก็เท่านั้น ทำนองเดียวกับการทำคุณบูชาโทษ
กรณีของโสกราตีสสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการสนทนาและซักถามกับผู้คนมากมายในเมืองถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เขาสงสัย ท่าทีเช่นนี้เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในเอเธนส์ว่านอนสอนยากและมีนิสัยชอบตั้งคำถาม
เมื่อเป็นเช่นนี้มากเข้าก็เริ่มมีคนไม่พอใจมากขึ้น ทำให้เกิดการฟ้องร้องโสกราตีสให้หยุดพฤติกรรมเช่นนั้น
ข้อหาที่โสกราตีสได้รับก็คือ
หนึ่ง ยุยงปลุกปั่นหรือทำให้เยาวชนเสียผู้เสียคน (corrupting the youth)
สอง ไม่จงรักภักดีหรือเชื่อถือศรัทธาในพระเจ้าของชาวเอเธนส์ (not believing in the gods of the state)
ซึ่งโสกราตีสปฏิเสธ นอกจากนั้น ยังพยายามโน้มน้าวว่าไว้ชีวิตเขาและปล่อยให้ตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ อย่างที่ผ่านมาจะเป็นประโยชน์กับชาวเมืองมากกว่า
โดยเปรียบเทียบตัวเองกับ “เหลือบ” หรือ “ไร” (gadfly) ที่ไต่ตอมม้า ซึ่งแม้จะสร้างความรำคาญอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร
คำพูดของเขาได้รับการบอกเล่าในหนังสือของเพลโตเรื่อง “อโปโลเกีย” (Apologia หรือ Apology) ซึ่ง ส.ศิวรักษ์ แปลท่อนนี้ไว้ว่า
“ท่านสุภาพชนชาวเอเทน ด้วยเหตุฉะนี้ ข้าพเจ้าจึงมิได้แก้คดีเพื่อตัวเอง ดังที่มักจะเข้าใจกัน ข้าพเจ้าแก้คดีให้ท่าน เพื่อท่านจะได้ไม่สูญสิ่งซึ่งเทพประทานด้วยการลงโทษข้าพเจ้า เพราะถ้าท่านฆ่าข้าพเจ้าเสียแล้ว ท่านจะหาคนอย่างข้าพเจ้าไม่ได้ง่ายๆ อาจฟังดูน่าหมั่นไส้ แต่ข้าพเจ้าก็พูดได้ว่าข้าพเจ้าอยู่ในกรุงนี้ตามเทวบัญชาดุจตัวไรที่ไม่พรากไปจากม้า ทั้งๆ ที่ม้าสูงใหญ่ ได้รับการเลี้ยงดูดีจนขี้เกียจ จึงต้องได้รับความรบกวน ข้าพเจ้าคิดว่าเทพส่งข้าพเจ้ามาทำหน้าที่นี้ มารบกวน และแนะนำจี้ไช ให้แต่ละท่านไม่หยุดนิ่ง ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ท่านทั้งหลายตลอดวัน ท่านจะหาคนอื่นอย่างข้าพเจ้าอีกไม่ได้ง่ายๆ และถ้าท่านฟังข้าพเจ้า ท่านย่อมจะไม่พรากชีวิตข้าพเจ้า แต่อาจเป็นเพราะท่านไม่พอใจ เหมือนคนง่วงต้องตกใจตื่น จึงไม่ชอบข้าพเจ้า”
แม้โสกราตีสจะชี้ชวนให้เห็นว่าการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์เป็นยาขมที่ดีต่อชีวิตมนุษย์ แต่ก็มิอาจเปลี่ยนใจมหาชนได้ เขาถูกตัดสินให้ต้องเลือกระหว่างมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างเงียบเชียบหรือไม่ก็ตายเสีย
ซึ่งเขาเลือกตายโดยไม่สะทกสะท้าน
ด้วยการกล่าวว่า “ชีวิตที่ไม่ได้รับการตรวจสอบไม่มีค่าที่จะมีชีวิตอยู่” (The unexamined life is not worth living.) หลังจากนั้นเขาก็ดื่มน้ำ “เฮมล็อก” (hemlock) ซึ่งเป็นน้ำจากพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งซึ่งมีผลทำให้ถึงแก่ชีวิตในเวลาต่อมา
ชีพจรของโสกราตีสสิ้นสุดลง แต่กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ยังอยู่ กระทั่งปลุกชีวิตทางปัญญาของประชาชนมหาศาลในกาลต่อมาให้โชติช่วงชัชวาลและหาญกล้าท้าทายต่ออำนาจ
ส่วนสังคมไทยในปัจจุบัน การประกาศยุติการพูดของปิยบุตรกลายเป็นกลับตาลปัตรกับโสกราตีสในเอเธนส์ไปได้ ที่ชวนประหลาดใจเข้าไปอีกก็คือ มีเสียงเรียกร้องวิงวอนจากนักการเมืองขั้วตรงข้ามไม่ให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์เสียด้วย
เช่น นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง หลายสมัย ซึ่งเขียนในเฟซบุ๊กของตนว่า
“คนไทยสูญเสียความสามารถในการรับฟังซึ่งกันและกันไปอย่างสิ้นเชิง ประชาธิปไตยที่อาจารย์หวังจึงเหี่ยวเฉาก่อนที่จะเบิกบาน เราสร้างสังคมให้อยู่ในกลุ่มปิดที่สื่อสารและรับฟังกันเฉพาะคนในกลุ่มเดียวกัน ตามความเห็นของแคสส์ ซันสไตน์ แห่ง ม.ฮาร์วาร์ดที่เรียกว่าห้องเสียงสะท้อน (echo chamber) ผมตระหนักถึงเรื่องนี้ ผมจึงเดินออกจากประชาธิปไตย (เพียวๆ) มาสมาทานเป็นนักเสรีนิยมประชาธิปไตยไม่ยุ่งกับสังคมที่เป็นอยู่ในห้องเสียงสะท้อน ผมจึงไม่ยุ่งกับรัฐ และรัฐก็อย่ามายุ่งกับผม ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผมก็ตามสบายเถิด เพราะผมไม่ใช่นักประชาธิปไตย ที่แออัดกันอยู่ในห้องแห่งเสียงสะท้อน (echo chamber) ผมเพียงเห็นว่า สังคมนี้ควรจะมี อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล โลดแล่นให้ความเห็นในวงการเมือง ถ้าทบทวนได้ผมอยากให้อาจารย์ทบทวน เพราะถ้าอาจารย์หยุดผมก็คงเฉาเพราะไม่รู้จะเถียงกับใครเพื่อให้เกิดปัญญา” ตามข่าว “นิพิฏฐ์อ้อนปิยบุตร ทบทวนความตั้งใจหยุดวิจารณ์การเมือง” ในลิงก์ https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4196200
อารมณ์ความรู้สึกที่เบื่อหน่ายหมดใจของปิยบุตรที่ว่ากล่าวตักเตือนเพื่อน แล้วถูกถล่มจนทำให้ต้องหยุดพูดไปเอง เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยาก ซึ่งใครๆ ก็เป็นไม่ต่างกัน
ส่วนคุณูปการของเสียงสะท้อนจากผู้คนหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อการสรรค์สร้างสังคม ตลอดจนพัฒนาผู้คนในสังคมนั้นๆ ก็เป็นสิ่งที่หลายคนยอมรับ
กล่าวคือ ไม่ว่าแต่ละคนจะมีความคิดเห็นต่างกันอย่างไรต่างก็ได้รับหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกด้วยกันทั้งนั้น ขณะเดียวกันก็เคารพและคำนึงถึงคุณค่าของการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายแบบกรณีที่นิพิฏฐ์กล่าวมา
เว้นเสียแต่ว่าเจตนาที่แท้จริงของนิพิฏฐ์จะไม่ได้อยากฟังคำวิจารณ์ของปิยบุตรจริงๆ แต่ต้องการล่อให้ปิยบุตรเปิดแผลพรรคก้าวไกลให้คนอื่นเห็นเสียมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงของนิพิฏฐ์นอกจากตัวของเขาเอง
ดังนั้น จึงควรเลือกมองโลกในแง่ดีว่า เขาปรารถนาบรรยากาศที่เปิดกว้างทางการเมือง ซึ่งผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ไม่ว่าจะมีความเห็นขัดแย้งกันแค่ไหนก็ตาม
นี่คือพื้นฐานทั่วไปใน “สังคมสมัยใหม่” (modern society) หรือ “สังคมเปิด” (open society) อันมีลักษณะเสรีและเป็นประชาธิปไตย ที่ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก ตราบเท่าที่พฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ และไม่น่าจะมีประเด็นอะไรให้ถกต่อ
แต่พอโผล่มาอยู่ในบริบทของสังคมไทยเดี๋ยวนี้ ที่เหมือนมีอะไรประหลาดๆ ผิดฝาผิดตัวอยู่เต็มไปหมด
อันถูกก็ว่าผิด อันผิดก็ว่าถูก
พอมาเจอเรื่องที่ถูกเข้าจริงๆ แบบเป็นปกติธรรมดา ก็เลยอดฉงนใจไปไม่ได้
ว่าฝันไปหรือเปล่าเนี่ย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022