วางบิล เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / สู่ร่มกาสาวพัสตร์ กิจของสงฆ์

วางบิล
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สู่ร่มกาสาวพัสตร์
กิจของสงฆ์

ท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์อารัมภบทให้พระบวชใหม่ เรียกตามภาษาพระคือ “พระนวกะ” ส่วนมากมักจะอุปสมบทในพรรษา จะได้เรียนวิชาพุทธศาสนา และปฏิบัติธรรมพร้อมกัน เมื่อพระปานบวชหลังออกพรรษา พระนวกะลาลิกขาไปแล้ว จึงต้องมาเรียนโดยตรงจากท่านเจ้าอาวาส
“พระพุทธเจ้าบัญญัติอนุศาสน์ไว้เป็นกิจเบื้องต้นของภิกษุ 8 อย่าง เรียกว่า นิสัย 4 และอกรณียกิจ 4
“นิสัย 4 ปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิต คืออาศัยอาหารบิณฑบาต อาศัยผ้าบังสุกุล อาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ และอาศัยมูตรเน่าเป็นยา
“ส่วนอกรณียกิจ 4 กิจที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การเสพเมถุน โดยที่สุดแม้สัตว์ตัวเมีย การลักขโมย ถือเอาของที่เขาไม่ให้ โดยที่สุดแม้เส้นหญ้า แกล้งพรากสัตว์จากชีวิต หมายเอามดดำมดแดงเป็นที่สุด และพูดอุตตริมนุสสธรรมอันไม่มีอยู่ในตน ไม่เป็นความจริง แม้พูดว่าเรายินดีในเรือนร้าง”
ท่านเจ้าคุณใหญ่เคี้ยวหมากระหว่างพูดและหยิบกระโถนข้างหน้ามาบ้วนน้ำหมากไปพลาง จากนั้น ท่านอธิบายความโดยละเอียดต่อไปว่า “การที่พระต้องอาศัยอาหารบิณฑบาตนั้น เพราะพระต้องเป็นผู้มักน้อย สันโดษ จะทำอาหารเองไม่ได้ จึงต้องออกบิณฑบาตรับอาหารจากชาวบ้านเป็นเครื่องยังชีพ อาหารที่ได้มาเก็บได้เพียงชั่ววันเท่านั้น พ้นคืนหนึ่งไปแล้วจะนำมาฉันอีกไม่ได้ แต่ถ้ามีญาติโยมนำอาหารมาถวายจะไม่บิณฑบาตก็ได้ การออกบิณฑบาตถือว่าออกหาอาหารด้วยปลีแข็ง ทำให้ไม่ติดในรสของอาหาร
“ผ้านุ่งห่มหรือจีวรต้องเป็นผ้าบังสุกุล หมายถึงผ้าเปื้อนฝุ่น หรือผ้าที่ชาวบ้านเขาทิ้งแล้ว หรือผ้าที่เขาพันห่อศพมาทิ้ง พระไปชักเอามาเรียกว่าชักผ้าบังสุกุล เอามาตัดย้อมเป็นผ้านุ่ง เรียกว่า อันตรวาสก คือสบง ผ้าที่ใช้ห่มเรียกว่าเรียกว่า อุตราสงค์ หรือจีวร และผ้าที่ทาบบนไหล่ เรียกสังฆาฏิ ถือเป็นผ้าสามผืนที่ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม พระต้องอยู่ด้วยผ้าสามผืนนี้ ที่พระครูพรหมให้อธิษฐานเป็นผ้าครองนั่นแหละ ต้องนำติดตัวไปด้วยเมื่ออยู่นอกวัด หรือไปค้างที่อื่น”

ท่านเจ้าอาวาสอธิบายให้รู้ว่า สมัยก่อนผ้าหายาก พระจะทอนุ่งเองไม่ได้ ส่วนสมัยนี้มีญาติโยมมาถวายกันแยะ ถือว่าเป็นผ้าที่ใช้ได้ พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ใช้ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม หรือผ้าแพร ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าที่แกมกันเช่นด้ายแกมไหมได้ ถือเป็นอติเรกลาภ หรือลาภอันเหลือเฟือ
พระต้องอาศัยโคนไม้เป็นที่อยู่อาศัย เพราะการเข้าบวชคือการออกจากเรือนมารักษาศีลบำเพ็ญธรรม ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติให้สงฆ์อยู่ตามโคนไม้ใหญ่ ขณะที่อนุญาตให้อาศัยในวิหารหรือกุฏิที่ชาวบ้านสร้างถวาย เรือนมุงแถบเดียวเป็นเพิง เรือนชั้น เรือนโล้นหลังคาตัด และถ้ำ เพื่อหลบฝน ร้อน หนาว หรือหลบจากสัตว์ร้าย
ส่วนที่ต้องอาศัยมูตรเน่าเป็นยานั้น น้ำมูตรคือน้ำปัสสาวะ เก็บไว้สำหรับดองยา เช่น ดองสมอ รักษาระบบการย่อยให้เป็นปกติ ฉันได้ทุกเวลา ทำเองได้ ส่วนอื่นที่ฉันได้แม้ในยามวิกาลคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยน้ำตาล เก็บไว้ได้ชั่ว 7 วัน ถือเป็นอติเรกลาภเช่นกัน
“ไอ้เนยนี่ เนยแข็งที่ฝรั่งเรียกชีส ฉันไม่ได้ เพราะตามกรรมวิธีการผลิตผสมมีพังผืดหรือกระเพาะลูกวัวอยู่ด้วย ส่วนเนยเหลวหรือบัตเตอร์ฉันได้ นี่ต้องระวัง เพราะฉันเข้าไปแล้วจะเป็นอาบัติ” ท่านเจ้าคุณใหญ่อธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจยิ่งขึ้น
“ส่วนกิจที่ทำไม่ได้ หรืออกรณียกิจ 4 ประการ คือ การเสพเมถุน หรือการร่วมเพศรส เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเพศบรรพชิต และเป็นข้าศึกต่อการประพฤติพรหมจรรย์ การเสพเมถุนนั้น แม้เพียงชั่วเมล็ดงาก็ถือว่าผิด เป็นปาราชิก คือขาดจากความเป็นพระ ที่ถือเอาเป็นปาราชิก คือปล่อยให้องคกำเนิด หรือองคชาตของเราล่วงล้ำเข้าไปในองคกำเนิดของหญิง ของสัตว์ตัวเมีย หรือแม้แต่ทางปาก ทางทวารหนัก สองประการหลังนี้ หมายถึงผู้ชายด้วยกันเอง และกะเทยด้วย ถือเป็นปาราชิกทั้งสิ้น ข้อนี้เป็นข้อแรกในปาฏิโมกข์ หรือเป็นข้อแรกของศีลบัญญัติ ภิกษุใดเสพเมถุนจะเปรียบเสมือนบุรุษถูกตัดศีรษะแล้วฉะนั้น ไม่อาจคุมร่างกายไว้ได้
“ในพระวินัยปิฎกกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้เอาองคกำเนิดใส่ในปากอสรพิษร้าย หรือซุนเข้ากองไฟยังดีเสียกว่า เพราะหากถึงแก่ชีวิตก็เป็นเพียงตายไปเฉพาะตัวเท่านั้น ไม่มีทุกข์ไม่มีบาปติดตัวไปด้วย”
อกรณียกิจข้อแรกนี้ ท่านเจ้าอาวาสอธิบายละเอียดเพื่อพระหนุ่มเณรน้อยจะได้ไม่ผิดศีลปราชิกขณะครองผ้าเหลือง
“หากต้องการรายละเอียดที่พิสดารไปกว่านี้ให้หาอ่านในพระไตรปิฎกฉบับแปล ว่าด้วยพระวินัยปิฎก”

ท่านเจ้าคุณใหญ่ขยับตัวหยิบกระโถนบ้วนน้ำหมาก พระปานเริ่มรู้สึกว่าขาทั้งสองข้างเป็นเหน็บ แต่ยังนั่งนิ่งมิได้ขยับตัว ใจจดจ่อรับฟังข้ออนุศาสน์ที่ยังเหลืออีก 3 กรณี
“กิจที่ไม่ควรทำข้อสองคือ การถือเอาของที่เจ้าของไม่ให้เป็นส่วนของตัว ถือเป็นการขโมย ที่สุดถือเอาแม้เส้นหญ้า โดยบัญญัติราคาไว้บาทหนึ่ง หรือห้ามาสกก็ดี ราคาควรแก่บาทหนึ่งก็ดี หรือเกินกว่าบาทหนึ่งก็ดี ถือว่าขาดจากความเป็นพระ เหมือนใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้ว ไม่อาจจะเป็นของเขียวสดได้
“กิจข้อที่สามคือการแกล้งพรากสัตว์จากชีวิต หรือการฆ่าสัตว์แม้ที่สุดถึงมดดำมดแดง คือเจตนาฆ่าสัตว์ ภิกษุจักไม่ทำ ยิ่งเป็นการฆ่าคน แม้ที่สุดทารกในครรภ์มารดา ถือเป็นปาราชิก เหมือนศิลาหนาแตกสองเสี่ยงเป็นของกลับต่อกันไม่ได้
“กิจที่ไม่ควรทำข้อสุดท้าย คือการพูดอวดอุตตริมนุสสธรรมอันไม่มีในตน อันไม่เป็นความจริง แม้พูดว่าเรายินดีในเรือนร้าง หากภิกษุใดพูด เช่นว่า ได้ฌาน ได้วิโมกข์ ได้สมาธิ สมาบัติ ได้มรรคได้ผลก็ดี หมายถึงพูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตนเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อจะได้นับถือเพื่อหวังลาภสักการะ ถือว่าขาดจากความเป็นพระ เหมือนตาลยอดด้วน ไม่อาจงอกขึ้นอีก”
การอบรมอนุศาสน์ของเจ้าคุณใหญ่เป็นการพูดและอธิบายติดต่อกัน โดยอาการเอนตัวลงบนหมอนอิงบ้าง หยัดกายขึ้นคายชานหมากบ้าง หยิบหมากคำใหม่ใส่ปาก ขยับตัวไปมา ดัดนิ้วดัดมือบ้าง
ส่วนพระปานยังนั่งนิ่งแทบไม่ขยับส่วนไหนของร่างกาย รับฟังอนุศาสน์อย่างแทบว่าจะจดจำทั้งหมดให้ได้ จนรู้แน่ว่าเป็นเหน็บชาขาทั้งสองข้าง ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสมองมาที่พระปาน แล้วพูดต่อถึง ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องหมั่นศึกษาอบรม ศีลเป็นสิ่งที่ภิกษุต้องรักษาให้คงอยู่ ถ้ารักษาศีลดี ศีลจะใช้อบรมสมาธิ เมื่อสมาธิเกิด ปัญญาจะตามมา
“เอ้า–เอาหนังสือไปอ่านเพิ่มเติม หมั่นอ่านให้เข้าใจ จะได้ไม่ละเมิดศีล” ว่าแล้วท่านเอี้ยวตัวไปหยิบหนังสือ “นวโกวาท” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรสส่งให้ แล้วบอกอนุญาตกลับได้