ต้นตอ ‘ประชาธิปไตยประหลาด’

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

ต้นตอ ‘ประชาธิปไตยประหลาด’

 

ระบอบประชาธิปไตยไทยมีความแปลกประหลาด

เราแบ่งอำนาจอธิปไตย อันหมายถึงอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการประเทศออกเป็น 3 ส่วน บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ

แน่นอนว่า เมื่อเป็นระบอบการปกครองที่ความคิดรวบยอดอยู่มีกรอบที่ว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” การเริ่มต้นทั้งหมดจึงอยู่ที่อำนาจนิติบัญญัติ เพราะสถาบันที่ใช้ควบคุมอำนาจนี้คือ “รัฐสภา” ที่ “สภาผู้แทนราษฎร” อันหมายถึงตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้ามาอยู่ในนั้น เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดของการเชื่อมโยงกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจตามระบอบการปกครองที่ประเทศเลือกใช้

ความประหลาดของการเมืองการปกครองประเทศเราเริ่มต้นตรงที่ ความเอาใจใส่อย่างจริงจังของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แทนที่จะทำหน้าที่ตามนิยมของการจัดสรรคเพื่อคาน 3 อำนาจอธิปไตยคือให้ “นิติบัญญัติ” รับผิดชอบเรื่องออกกฎหมาย และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

กลับกลายเป็นว่า งานที่ ส.ส.ส่วนใหญ่ทุ่มเทคือการลงพื้นที่ดูแล แก้ปัญหาให้ประชาชน

ประชาชนเรียกร้องและคาดหวังการดูแลทุกเรื่องจาก ส.ส. กระทั่งคำว่า “เห็นหน้าเฉพาะช่วงหาเสียง หลังจากนั้นหายหน้า” เป็นข้อกล่าวหาที่ ส.ส.ทุกคนต้องระวังไม่ให้ตัวเองมีภาพเช่นนั้น

ทั้งที่หน้าที่ดังกล่าวเป็นบทบาทที่โครงสร้างอำนาจอธิปไตยวางไว้ให้เป็นความรับผิดชอบของ “ฝ่ายบริหาร” อันหมายรวมถึง “ข้าราชการ” ที่เป็นกลไกการทำงานในภาคปฏิบัติด้วย

 

หาก “ข้าราชการ” เป็นที่พึ่งในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงแบบพึ่งได้ ส.ส.จะไม่ถูกเรียกร้องให้มาทำหน้าที่แทน

แต่เพราะเป็นที่รู้กันว่า “ระบบราชการ” ไม่ใช่ล้มเหลวในการทำหน้าที่รองรับฝ่ายบริหาร ส.ส.จึงต้องไปทำหน้าที่แทน ด้วยหนีไม่ออกเพราะประชาชนเป็นผู้ให้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง หากไม่ทำตามเสียงเรียกร้อง โอกาสจะหลุดจากตำแหน่งตามวาระที่ต้องเลือกตั้งใหม่ทุก 4 ปี ย่อมมีความเป็นไปได้

เพราะกลไกราชการทำหน้าที่ไม่ได้ อำนาจบริหารก็รวน และพากันรวนไปถึงอำนาจนิติบัญญัติ

นี่คือความประหลาด

 

เราเรียกร้องการ “ปฏิรูประบบราชการ” มายาวนาน แต่ไม่เคยทำสำเร็จ

ขณะที่งบประมาณ “เงินเดือนข้าราชการ” เป็นภาระใหญ่ของประเทศที่จะต้องเก็บภาษีจากประชาชนมาจ่าย กับการทำงานที่เปรียบเปรยว่า “เช้าชามเย็นชาม”

แต่ทั้งที่ระบบการแบ่งสรรประโยชน์ของงบประมาณประเทศ ถูกขนานนามว่า “รัฐสวัสดิการข้าราชการ” คืออาชีพข้าราชการได้รับการดูแลด้วยหลักประกันชีวิตดีที่สุด กลับปรากฏว่าเหมือนคนที่เป็นข้าราชการจะยังไม่พอเพียงกับสิทธิที่เหนือกว่าที่ได้รับ

ล่าสุดจากผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เรื่อง “เงินเดือนข้าราชการ” ที่สอบถามความเห็นจากข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ

ในคำถาม “ปัจจุบันเฉพาะเงินเดือนที่ได้รับ เพียงพอต่อการใช้จ่าย และมีเงินเก็บหรือไม่” คำตอบ ร้อยละ 44.81 ไม่เพียงพอ และไม่มีเงินเก็บ, ร้อยละ 28.32 เพียงพอและมีเงินเก็บ, ร้อยละ 26.87 เพียงพอแต่มีเงินเก็บ

ในคำถามมีหนี้สินจากการกู้ยืมหรือไม่ ร้อยละ 44.35 มีหนี้สินกับสถาบันการเงิน, ร้อยละ 43.36 มีหนี้สินกับสหกรณ์, ร้อยละ 25.57 ไม่มีหนี้สินใดๆ, ร้อยละ 3.66 มีหนี้สินนอกระบบ

และเมื่อถามว่า เห็นด้วยกับนโนบายเงือนเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท หรือไม่ ร้อยละ 57.86 เห็นด้วยอย่างมาก, ร้อยละ 20.38 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 13.36 ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 7.94 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 0.46 ไม่ตอบ

 

รวมความว่าชีวิตของข้าราชการส่วนใหญ่ แม้จะได้รับการดูแลอย่างพิเศษกว่าคนอาชีพอื่น แต่ส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่พอใช้ รุงรังด้วยหนี้ และอยากมีรายได้เพิ่ม

นี่เป็นเรื่องน่าคิด เพราะการเพิ่มรายได้ควรเกิดด้วยคุณภาพของการทำงานที่มีประสิททธิภาพสูงขึ้น

นั่นหมายถึงการทำหน้าที่ของ “ข้าราชการและกลไกภาครัฐ” ควรจะต้องกลับคืนสู่ความเป็นปกติของความรับผิดชอบตามอำนาจอธิปไตยไทยที่นิยามกันไว้

ลดความแปลกประหลาดของประชาธิปไตยแบบไทยๆ ลง