ได้อำนาจนั้นยาก รักษาอำนาจยากยิ่งกว่า (ตอนที่ 1 : การได้มาซึ่งอำนาจ)

พรรคเพื่อไทย (พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน) อาจเป็นพรรคการเมืองที่เป็นกรณีศึกษาทางการเมืองไทยได้อย่างน่าสนใจพรรคหนึ่ง ด้วยความสำเร็จในการชนะการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยในฐานะพรรคการเมืองตั้งใหม่ในการเลือกตั้ง ปี พ.ศ.2544 ที่ได้ ส.ส.ถึง 248 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง ชนะพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้เพียง 128 ที่นั่ง

ยิ่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ.2548 พรรคไทยรักไทย โดยนายทักษิณ ชินวัตร สามารถชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายถึง 377 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง โดยพรรคเป็นคู่แข่งคือพรรคประชาธิปัตย์ ได้เพียง 96 ที่นั่ง แต่ก็จบลงด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 และการยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2550

การจัดตั้งพรรคพลังประชาชนขึ้นมาทดแทนโดยยังประกอบด้วยแกนนำของพรรคไทยรักไทย สามารถชนะการเลือกตั้งที่จัดให้มีขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 ได้ ด้วยจำนวน ส.ส. 233 ที่นั่งจาก 480 ที่นั่ง โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 164 ที่นั่ง มีนายกรัฐมนตรี 2 คน คือ นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และจบลงด้วยการยุบพรรค เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2551

เมื่อมีการจัดตั้งพรรคเพื่อไทยขึ้นมาต่อเนื่อง พรรคเพื่อไทยสามารถชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.ถึง 265 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ 159 ที่นั่ง มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และจบด้วยการรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มากที่สุด คือ 136 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนการเลือกตั้งครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มาเป็นอันดับสอง 141 ที่นั่ง รองจากพรรคก้าวไกลที่ได้ 151 ที่นั่ง แต่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรี คือ นายเศรษฐา ทวีสิน

มองในด้านความสำเร็จ พรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง สามารถได้มาซึ่งอำนาจรัฐในแทบทุกครั้งที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง มีนายกรัฐมนตรีถึง 5 คน คือ นายทักษิณ ชินวัตร นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน

มองในด้านความสามารถในการรักษาอำนาจ รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นแทบทุกครั้งจบลงด้วยการหมดอำนาจแบบไม่สวยงามนัก

ทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหาร สมัคร สุนทรเวช ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นหน้าที่

สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากกรณีโดนยุบพรรคพลังประชาชนและถูกตัดสิทธิทางการเมืองเนื่องจากเป็นหัวหน้าพรรค

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกสั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรมและตามด้วยการรัฐประหาร

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ราวกับเป็นการบอกว่า การดำเนินงานของพรรคนั้นมักจะประสบความสำเร็จได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่กลับไม่สามารถรักษาอำนาจที่มีอยู่ในมือให้อยู่ต่อเนื่อง

 

เหตุแห่งความสำเร็จในการเลือกตั้ง

ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย สิ่งที่เป็นความแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นคือ ความสามารถในการเสนอนโยบายในการหาเสียงที่เป็นรูปธรรมและตรงกับปัญหาความเดือดร้อน ตรงกับความต้องการของประชาชน ความสามารถในการสื่อสารกับประชาชนด้วยถ้อยคำที่เป็นรูปธรรมและแตกต่างอย่างโดดเด่น เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งนโยบายดังกล่าวมาจากการเก็บข้อมูล ศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบและมีทีมงานในการกลั่นกรองและนำเสนอเป็นนโยบายที่ถูกใจประชาชน

ในด้านตัวบุคลากร พรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทย มีบุคลากรจำนวนมากที่ผสมผสานระหว่างคนรุ่นใหม่ จากภาคธุรกิจ และนักการเมืองรุ่นเก่าที่มีฐานอยู่ในพื้นที่และเล็งเห็นว่าชื่อเสียงและความนิยมของพรรคจะเป็นส่วนส่งเสริมให้ได้ความสำเร็จในการเลือกตั้งและมีตำแหน่งทางการเมือง การผสมผสานอย่างลงตัวดังกล่าวทำให้พรรคเติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งหลายรอบ

ในด้านผู้นำพรรค คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นแบบอย่างของผู้นำประเทศที่เข้าถึงประชาชนแบบ “ตาดูดาว เท้าติดดิน” มีท่วงทีเจรจาที่ฉลาดหลักแหลมในการประชุมผู้บริหาร มีความเป็นกันเองเข้าถึงประชาชน เช่นกรณีการจัดให้มีการประชุม ครม.นอกสถานที่เพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่เข้าถึงและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ การทำ “อาจสามารถโมเดล” ด้วยการไปกิน ไปนอน ให้ผู้บริหารระดับสูงลงไปสัมผัสประชาชน ที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด

ในขณะที่คุณสมัคร สุนทรเวช ก็มีภาพของนักการเมืองที่เข้าถึงประชาชนได้ มีความสามารถในการสื่อสารเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย

ส่วนคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะอ่อนประสบการณ์ทางการเมือง แต่ด้วยวิธีการทางการตลาด ทำให้เป็นที่นิยมชื่นชอบ แม้ว่าในการบริหารอาจจะมีจุดอ่อนข้อบกพร่องไม่น้อย แต่ด้วยทีมงานสนับสนุนก็สามารถบริหารงานลุล่วงไปในระดับหนึ่ง

ในด้านผลของการทำงาน พรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทยในยุคที่สามารถเป็นฝ่ายบริหาร เป็นพรรคการเมืองที่บริหารราชการแผ่นดินด้วยความแตกต่างจากพรรคแนวอนุรักษนิยมในอดีต มีการนำแนวคิดในการบริหารแบบเอกชนมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน

เช่น การให้หน่วยราชการต้องทำแผนยุทธศาสตร์ มีการตั้งค่าตัวชี้วัดผลการปฏิบัติราชการ (KPIs.) มีการประเมินผลและให้รางวัลแก่หน่วยงานที่ทำงานแล้วเกิดผลสำเร็จ ทำให้นโยบายต่างๆ ที่หาเสียงเกิดผลสำเร็จ มีผลเชิงประจักษ์ต่อสายตาประชาชน นโยบายประชานิยมจำนวนมากได้ถูกส่งผลถึงประชาชนรากหญ้า เป็นภาพจดจำว่า พูดแล้วทำได้จริง

ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทย ยังคงสม่ำเสมอในการเสนอนโยบายประชานิยมใหม่ๆ ที่คาดว่าจะถูกใจประชาชน เช่น ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีการนำเสนอนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ลดราคาค่าไฟฟ้า น้ำมัน การพักชำระหนี้เกษตรกรพร้อมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี เป็นต้น นโยบายเหล่านี้ เป็นนโยบายที่มีความเป็นรูปธรรมสูงและตอบสนองตรงกับปัญหาความต้องการของคนแต่ละกลุ่มค่อนข้างชัดเจน

ในด้านจุดยืนทางการเมือง พรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทย แสดงจุดยืนทางการเมืองเป็นฝ่ายเสรีนิยม (Liberal) รักประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ และ เป็นขั้วตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษนิยม (Conservative) มาโดยตลอด โดยเฉพาะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ที่ประกาศอย่างชัดเจนในการไม่จับมือกับพรรคการเมืองในขั้วอำนาจเดิมที่อิงแอบกับเผด็จการทหาร จนสามารถได้ผลสำเร็จในการเลือกตั้งได้แม้จะได้จำนวน ส.ส.น้อยกว่า พรรคก้าวไกลที่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนกว่าก็ตาม

ในประการสุดท้ายที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ เรื่องทุนในการจัดการ การเริ่มต้นพรรคโดยมีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาเป็นผู้นำพรรค ย่อมมีทุนประเดิมเบื้องต้นในยอดที่เป็นต่อพรรคการเมืองอื่น ผสมผสานกับความพร้อมในการใช้เงินของกลุ่มการเมืองระดับจังหวัดที่เข้ามาร่วมพรรคและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่พร้อมลงขันให้การสนับสนุน ทำให้การรณรงค์หาเสียง การจัดเวที การใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์ ตลอดจนการทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

 

เหตุของการไม่สามารถรักษาอำนาจ

การสิ้นสุดของการอยู่ในอำนาจหลายครั้งที่ผ่านมาที่จบด้วยการรัฐประหารบ้าง

พ้นจากตำแหน่งโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญบ้าง

หรือการโดนยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคหลายกรรมหลายวาระบ้าง

หากมองในมุมของพรรคเองอาจมองว่า เป็นเรื่องที่ฝ่ายอนุรักษนิยมใช้กลไกทางการเมืองต่างๆ กลั่นแกล้งรังแกโดยเห็นว่าพรรคการเมืองดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจเดิมที่มีอยู่ในสังคม

แต่หากวิเคราะห์ให้รอบด้านยังจะเห็นปัจจัยต่างๆ อีกมาก ซึ่งจะเสนอในตอนถัดไป

(รออ่าน ตอนที่ 2 : การไม่สามารถรักษาอำนาจ)