ธุรกิจพอดีคำ : “พ่อ ลูก”

ปีนี้ลูกชายผมอายุ “สองขวบ” แล้วครับ

ทุกครั้งที่นับอายุลูกชาย ก็จะนึกถึงการเริ่มเขียนคอลัมน์ “ธุรกิจพอดีคำ” ของตัวเองในมติชนสุดสัปดาห์

เพราะเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน

สองปีที่ใช้เวลาเลี้ยงดู “ลูกชาย” หนึ่งคนขึ้นมา

จากที่ นอนหงายหน้า ได้อย่างเดียว

เริ่มพลิกตัว เริ่มคลาน เริ่มตั้งไข่

เริ่มเดินเตาะแตะ จนวิ่งไปทั่ว แบบทุกวันนี้

เป็นสองปีที่มีความทรงจำหลายๆ อย่างเกิดขึ้นมากมาย

เดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้

“พอดี” เริ่มพูดได้เป็นประโยคแล้ว

“พอดีปวดท้อง”

“พอดีกินไอติม”

“พอดีจะขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส”

สำหรับพ่อมือใหม่ ที่งานประจำล้นมือคนหนึ่ง

นี่ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ได้พัฒนาตัวเองอย่างมีนัยสำคัญ “หนึ่งอย่าง” จากลูกชายตัวจ้อย

สิ่งนั้นคือ…

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน

ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบไป

มีชื่อว่า “ฮิต รีเฟรช (Hit Refresh)” เขียนโดยผู้บริหารสูงสุดของบริษัทไมโครซอฟต์คนปัจจุบัน

“สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella)” ชายชาวอินเดีย ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ต่อจาก สตีฟ บาลเมอร์ และ “บิล เกตส์”

เรื่องราวของ “สัตยา” นั้น เป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวอินเดียหลายคน

เด็กหนุ่มจากเมืองไฮเดอราบัด ผู้คลั่งไคล้กีฬา “คริกเก็ต”

กีฬาที่เป็นที่โปรดปรานของชาวอินเดีย มีการเล่นคล้ายๆ “เบสบอล”

เขาสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในอินเดีย คือ “ไอไอที (IIT)”

และไม่เคยคิดที่จะออกไปทำงานนอกประเทศ

ความฝันเดียวของเขาตอนที่เป็นเด็กคือ เล่นคริกเก็ตให้กับเมืองบ้านเกิดของเขา

เหตุใดเขาจึงสามารถสร้างความโดดเด่นท่ามกลางเพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันหลายหมื่นคน

จนได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของ “ไมโครซอฟต์” ได้สำเร็จ

เรื่องราวความเก่งกาจในการทำงานของ “สัตยา” นั้น คงจะได้มีโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟังในอนาคต

หากแต่ว่า เหตุการณ์หนึ่งอย่างที่ “สัตยา” เชื่อว่า ทำให้เขามายืนตรงจุดนี้ได้นั้น

คือเรื่องราวต่อไปนี้

ปี1996 ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในเมืองซีแอตเติล

ทารกเพศชายคนหนึ่งถือกำเนิด

เขามีชื่อว่า “เซน (Zain)”

เซน ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมภาวะ “ขาดออกซิเจน” หรือที่เรียกว่า “Asphyxia”

โรคนี้ส่งผลให้อวัยวะของ “เซน” เติบโตไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นสมอง หรือหัวใจ

เป็นโรคที่มีโอกาส “พิการ” และ “เสียชีวิต” ได้ทุกเมื่อ

ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครอง

แม่ของเซน มีชื่อว่า “อานุ (Anu)”

เป็นภรรยาของ “สัตยา” ชายหนุ่มชาวอินเดียที่เดินทางมาทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังจากที่ “เซน” เกิดมา ชีวิตของ “สัตยา” ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เขาเล่าว่า จากที่เขาเคยเป็นคนใจร้อน บ้างาน

พอต้องมาดูแล “ลูกชาย” ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

แม้แต่พูดยังพูดไม่ได้

ทำให้เขาต้อง “สนใจ” ทุกสิ่งทุกอย่างที่เซนทำ

ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง กิริยา เสียงร้อง แววตา เพื่อที่จะอ่านให้ออกว่า “เซน” ต้องการอะไร รู้สึกอย่างไร

ช่วงเวลาที่ดูแล “เซน” อยู่หลายปี ทำให้ “สัตยา” สร้างสิ่งหนึ่งที่ตัวเขาคิดว่าไม่เคยมีมาก่อน

นั่นคือ “การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” หรือที่เรียกว่า “Empathy”

ซึ่งเขาถือเป็นหลักการที่สำคัญของการเป็น “ผู้นำ” ที่สำคัญที่สุด

และเป็นสิ่งที่เขานำมาใช้ทำงาน การสร้างทีมงาน การขายของ

รวมไปถึงการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของไมโครซอฟต์ ให้มี “ผลิตภัณฑ์” ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

โดยเอา “ความต้องการลูกค้า” เป็นจุดเริ่มต้น

สิ่งที่ “ไมโครซอฟต์” ทำหล่นหายไปเกือบสิบปี ทำให้พลาดยุคทองของ “โทรศัพท์มือถือ” ไป

การมี “ลูกชาย” ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ทำให้ “สัตยา” พัฒนา “ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)” ขึ้นมา

และเป็นส่วนสำคัญทำให้เขาได้รับเลือกเป็น “ซีอีโอ” บริษัทไมโครซอฟต์ จนถึงทุกวันนี้

ผมเคยได้มีโอกาสฟังบรรยายจากอาจารย์ “ชัชชาติ” ท่านอดีตรัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีของประเทศไทย

ในหัวข้อ “ความเป็นผู้นำ (Leadership)”

ตอนแรกก็คิดว่า ท่านจะเอาเรื่องที่ทำงานในกระทรวงคมนาคม มาเล่าให้ฟัง

เจออุปสรรคการทำงานอย่างไร แก้ไขอย่างไร ดูแลลูกน้องอย่างไร

แต่ “เปล่าเลย” ครับ

ท่านเอาเรื่อง “ลูกชาย” ของท่านมาเล่าเช่นกัน

เป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้ว่า ลูกชายของท่านชัชชาติ ก็ “พิการทางด้านการได้ยิน” มาตั้งแต่กำเนิด

ท่านชัชชาติเล่าว่า การรู้ว่าลูกชายพิการทางได้ยินนั้น คือ “จุดเปลี่ยนชีวิต” ของท่านเช่นกัน

ท่านต้องใช้เวลา “ดูแล” ลูกชาย ผู้ซึ่งไม่ได้ยินเสียงของท่านมาหลายสิบปี

การดูแลจะเกิดได้ดี ก็ต้องเริ่มจาก “ความเข้าใจ” ที่คนเป็นพ่อมีให้ลูกนั่นเอง

ท่านชัชชาติ ศึกษา วิจัย หาข้อมูลสารพัด เพื่อหาวิธีรักษาให้กับลูกชายของตน

ไม่เคยยอมแพ้

จนปัจจุบัน ลูกชายของท่านได้รับการผ่าตัด ฝังเครื่องช่วยฟังเข้าไปในใบหู

สามารถฟังเสียง และพูดคำว่า “รักพ่อ” ได้แล้ว

อีกหนึ่งตัวอย่างของ “เรื่องราว”

ที่ “ความเข้าอกเข้าใจ” ลูกชาย นำมาซึ่งการเป็นคนที่ดีขึ้นของผู้เป็นพ่อ

ใช่ครับ ผมเองก็เป็นคนใจร้อนเหมือนกัน

แต่พอเจ้าลูกชายเริ่มพูด เรากลับต้องตั้งใจฟังอย่างที่ไม่เคยตั้งใจฟังใครมาก่อน

รู้สึกได้ว่า เราใจเย็นลง พยายามเข้าใจเขา จากมุมมองของเขา ด้วยใจจริง

ก็แหม ลูกชายเรานี่ครับ

“Empathy” เกิดได้จริง แบบอัตโนมัติ พิสูจน์มาแล้วกับตัวเอง

คนยังไม่มีลูก อาจจะไม่เข้าใจ