ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
“แม้จะมีแหล่งน้ำมันและก๊าซมากมายตั้งแต่กลางศตวรรษที่ผ่านมา อิหร่านได้พยายามค้นหาแหล่งพลังงานทางเลือกโดยเฉพาะพลังงานปรมาณู เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์มีราคาถูกกว่าการใช้น้ำมันมาก”
เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E.Mr. Seyed Reza Nobakhti) ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่
ข้อมูลเอกสารนิวเคลียร์ของอิหร่าน
“ก่อนการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 ประเทศมหาอำนาจตะวันตก รวมถึงสหรัฐอเมริกา ได้สนับสนุนความพยายามในเรื่องนี้และลงนามในสัญญาหลายฉบับกับเตหะรานเพื่อช่วยให้ชาห์บรรลุความฝันของเขา”
พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี เป็นชาห์แห่งอิหร่านรัชกาลสุดท้ายก่อนการปฏิวัติอิสลาม
“องค์การพลังงานปรมาณูแห่งอิหร่านก่อตั้งขึ้นในปี 1974 มีการเริ่มต้นเจรจากับประเทศตะวันตกเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอิหร่าน โดยมีแผนที่จะสร้างเครือข่ายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 23 แห่งจนถึงกลางทศวรรษ 1990”
“อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติอิสลามเป็นเหตุการณ์ที่พลิกโฉมหน้าประเทศ ผู้รับเหมาต่างชาติต้องพากันออกจากอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการนิวเคลียร์ของประเทศก็ต้องเผชิญกับการหยุดชะงักระยะยาว เนื่องจากเกิดสงครามอิรักที่ยืดเยื้อนานแปดปี หลังสงคราม อิหร่านจึงดำเนินกิจกรรมด้านนิวเคลียร์อย่างจริงจังมากขึ้น และพยายามสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ (Bushehr) ขึ้นมาใหม่ เนื่องจากได้รับความเสียหายระหว่างการรุกรานของอิรัก”
“ช่วงเปลี่ยนศตวรรษเป็นการประกาศถึงการเริ่มต้นของวิกฤตครั้งใหม่ที่ยาวนานสำหรับอิหร่าน องค์กรต่อต้านอิหร่านโมจาฮีดิน -เอ-คัลก์ (Mujahedin-e-Khalq: MKO) เผยแพร่รูปภาพโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านในเมืองนาตันซ์ (Natanz) และอารัก (Arak) ในปี 2002 โดยอ้างว่าเตหะรานไม่ได้ประกาศกิจกรรมทางนิวเคลียร์ในพื้นที่เหล่านี้”
“รายงานดังกล่าว ส่งผลให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) พยายามเข้าถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ของอิหร่าน และเรียกร้องให้อิหร่านลงนามในพิธีสารเพิ่มเติม 93+2 นับจากนั้นเป็นต้นมา การเจรจาอันยาวนานระหว่างอิหร่านกับมหาอำนาจโลกก็เริ่มขึ้น ซึ่งกินเวลานานกว่าทศวรรษ”
“จากการเจรจาในรอบแรกๆ ระหว่างอิหร่านและฝ่ายยุโรปเกี่ยวกับประเด็นนิวเคลียร์คือการเจรจาที่จัดขึ้นในกรุงเตหะรานในเดือนตุลาคม 2003 โดยมีนักการทูตอิหร่านและผู้แทนจากกระทรวงต่างประเทศของกลุ่มทรอยกายุโรป (European Troika) เข้าร่วม ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร”
“ในระหว่างการเจรจา ยุโรปเรียกร้องให้สาธารณรัฐอิสลามหยุดกิจกรรมนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นคำขอที่ถูกอิหร่านปฏิเสธอย่างแน่นอน ในที่สุดยุโรปตกลงที่จะดำเนินการเจรจากับเตหะรานต่อไป โดยการระงับกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่านในระยะสั้น ไม่ใช่เป็นการยุติโดยสิ้นเชิง”
“การเจรจาต่อมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านตกลงที่จะระงับการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในระยะสั้นและอย่างจำกัด เพื่อเป็นมาตรการสร้างความเชื่อมั่นในการลดแรงกดดันทางการเมืองและการโฆษณาชวนเชื่อ อย่างไรก็ตาม ยุโรปเน้นย้ำถึงการระงับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มคุณค่าทั้งหมดโดยทันที โดยพิจารณาว่าเป็นหน้าที่ทางกฎหมายของเตหะรานตามมติของ IAEA เมื่อเดือนกันยายน 2003”
“การเจรจาในรอบต่อไป ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านและรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มทรอยกายุโรปเข้าร่วม ณ พระราชวังซาอาดาบัด (Sa’adabad Palace) ในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุแถลงการณ์ของเตหะราน (หรือซาอาดาบัด) ตามที่อิหร่านยอมรับ เพื่อร่วมมืออย่างเต็มที่กับ IAEA และลงนามในพิธีสารเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ IAEA มีโอกาสตรวจสอบได้มากขึ้น”
“สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านยังได้ตัดสินใจระงับกิจกรรมเสริมสมรรถนะและแปรรูปยูเรเนียมทั้งหมดโดยสมัครใจ เป็นการแลกเปลี่ยนให้ยุโรปยอมรับสิทธิของเตหะรานในการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ และเน้นย้ำความร่วมมือทางนิวเคลียร์อย่างสันติกับอิหร่าน”
“E3 (สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี) และอิหร่านเจรจากันต่อไปในเบลเยียมในเดือนกุมภาพันธ์ 2004 และลงนามในข้อตกลงบรัสเซลส์ ส่วนเตหะรานตกลงที่จะระงับการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมโดยสมัครใจ และหยุดการผลิตและการประกอบชิ้นส่วนเครื่องหมุนเหวี่ยง”
“ในการแลกเปลี่ยน E3 ยอมรับที่จะพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและ IAEA ให้เป็นปกติ และสำหรับคดีนิวเคลียร์ของเตหะรานที่จะยุติลงในการประชุมคณะกรรมการบริหาร IAEA เดือนมิถุนายน 2004 สาธารณรัฐอิสลามปฏิบัติตามข้อผูกพันของตน”
“แต่ฝ่ายยุโรปไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ความล้มเหลวของข้อตกลงทำให้อิหร่านยุติการระงับการผลิตและการประกอบชิ้นส่วนเครื่องหมุนเหวี่ยง”
“ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัยของมาห์มูด อาห์มาดิเนจัด ( Mahmoud Ahmadinejad) ระหว่างปี 2005-2013 ยุทธศาสตร์นิวเคลียร์หลักของอิหร่าน คือการปฏิเสธการระงับการเสริมสมรรถนะและการยุติความร่วมมือโดยสมัครใจกับ IAEA โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการ IAEA และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้นำมติต่อต้านอิหร่านหลายประการมาใช้”
“หลังการเจรจา หยุดชะงัก ได้มีการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านอย่างไม่เคยมีมาก่อนในปี 2012 นอกเหนือจากการคว่ำบาตรโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแล้ว สหรัฐและสหภาพยุโรปยังได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรที่เป็นการ ‘ทำให้พิการ’ หลายรอบต่อสาธารณรัฐอิสลาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต้องหยุดชะงัก และการส่งออกน้ำมันปริมาณลดลง”
“การเลือกตั้งฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) เป็นประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ในปี 2013 ได้เปิดบทใหม่ในการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะขจัดประเด็นด้านความปลอดภัยของคดีนิวเคลียร์ รูฮานีมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศเจรจาเรื่องนิวเคลียร์แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุด”
“ในการเดินทางไปนิวยอร์กครั้งแรกเพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2013 รูฮานีได้ประกาศแนวทางใหม่ของฝ่ายบริหารในการเจรจาและการระงับวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ผ่านการโต้ตอบและการเจรจาที่สร้างสรรค์ ในระหว่างการเยือนครั้งนี้”
“นับเป็นครั้งแรก ตั้งแต่การปฏิวัติอิสลาม ประธานาธิบดีอิหร่านและสหรัฐได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ เป็นการปูทางไปสู่การประชุมระหว่างอิหร่านและสหรัฐอย่างเป็นทางการในอนาคต”
“ทีมเจรจาอิหร่านชุดใหม่เริ่มงานด้วยแผนเฉพาะเจาะจง อิหร่านและกลุ่มประเทศ P5+1 ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ร่วมกับเยอรมนี บรรลุแผนปฏิบัติการร่วม หรือข้อตกลงชั่วคราวเจนีวา (Geneva Interim Agreement) ในปี 2013 หลังจากการเจรจา 22 เดือน ในแบบขึ้นๆ ลงๆ มากมาย”
“ทั้งสองฝ่ายยังคงพูดคุยกันต่อไปและในที่สุดก็ได้ข้อสรุปแผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (JCPOA) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 ตามข้อตกลงดังกล่าว อิหร่านได้วางข้อจำกัดบางประการเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของตนเพื่อแลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์”
“ยิ่งไปกว่านั้น การยกเลิกและผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ 2231 (2015) มติของ UNSC ก่อนหน้านี้ 6 ฉบับต่ออิหร่านก็ได้ถูกยกเลิก”
“ต่อมา IAEA ได้รับมอบหมายให้ติดตามการปฏิบัติตามข้อกำหนดของข้อตกลงของอิหร่าน ในรายงานหลายฉบับตลอดหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานดังกล่าวกล่าวว่าไม่พบหลักฐานของการเบี่ยงเบนความสนใจในโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน”
กรณีปัจจัยทรัมป์
“ในระหว่างการหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างดุเดือด โดยอธิบายว่าเป็นหายนะและเป็นข้อตกลงที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีการเจรจา ด้วยการยืนยันในการรณรงค์ให้กดดันต่อเตหะรานระดับสูงสุด และในที่สุดทรัมป์ก็ถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2018 แม้ว่าพันธมิตรในยุโรปจะไม่เห็นด้วยก็ตาม”
“อิหร่านแสดงให้โลกเห็นถึงธรรมชาติอันสันติของโครงการนิวเคลียร์ด้วยการลงนามข้อตกลงนิวเคลียร์กับมหาอำนาจโลก 6 แห่ง แต่การถอนตัวฝ่ายเดียวของวอชิงตันในปี 2018 และการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวต่อเตหะรานอีกครั้งในเวลาต่อมา ทำให้ข้อตกลงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจนแน่นอน”
“ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโจ ไบเดน ทุกฝ่ายในข้อตกลงนี้ได้เริ่มต้นการเจรจารอบใหม่ โดยมีจุดประสงค์ที่จะนำสหรัฐกลับเข้าสู่ข้อตกลงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การหารือไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากการยืนกรานของวอชิงตันที่จะไม่ยกเลิกการคว่ำบาตรต่อต้านอิหร่านทั้งหมด และเสนอการรับประกันที่จำเป็นว่าจะไม่ออกจากข้อตกลงอีก”
ความสำเร็จด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิหร่านมีความก้าวหน้าอย่างน่าทึ่งในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ แม้ว่าจะถูกคุกคามและคว่ำบาตรจากตะวันตกก็ตาม เตหะรานย้ำเสมอว่าโครงการนิวเคลียร์ของตนมีวัตถุประสงค์เพื่อสันติภาพเท่านั้น เช่น การผลิตไฟฟ้า การผลิตเภสัชภัณฑ์รังสีที่ใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคต่างๆ รวมถึงมะเร็ง การใช้รังสีเพื่อต่อสู้กับศัตรูพืชทางการเกษตรและอาหาร ฯลฯ”
“ความสำเร็จของอิหร่านในด้านการผลิตยาและไอโซโทปเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นเป็นที่น่าประทับใจมาก”
“อิหร่านสามารถดำเนินการวงจรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จนเสร็จสิ้น ตั้งแต่การสำรวจ การสกัด การแปลง การเพิ่มคุณค่า การผลิตเชื้อเพลิง ไปจนถึงการจัดการของเสีย ตลอดจนการเรียนรู้เลเซอร์และเทคโนโลยีควอนตัม (quantum technology) ประเภทต่างๆ”
“น้ำมวลหนัก (heavy water) เป็นวัสดุนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์อันดับสองรองจากยูเรเนียมในโลก และอิหร่านเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่ผลิตสารประกอบนี้ที่มีความบริสุทธิ์และมีประสิทธิภาพการผลิตสูง ซึ่งหลายประเทศกำลังมองหาซื้อแม้จะมีการคว่ำบาตรก็ตาม”
“อิหร่านยังได้เริ่มงานเบื้องต้นเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 แห่งในการผลิตไฟฟ้า 20 กิกะวัตต์ภายในปี 2041”
นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี กล่าวว่า
“เตหะรานยืนยันอยู่เสมอว่าโครงการนิวเคลียร์ของตนมุ่งเป้าไปที่จุดประสงค์เพื่อสันติภาพอย่างแท้จริง และสาธารณรัฐอิสลามไม่มีความตั้งใจที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์”
“อยาตุลลอฮ์ ไซเยด อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Seyyed Ali Khamenei) ผู้นำการปฏิวัติอิสลาม ยังได้ออกฟัตวา (fatwa ) คือกฤษฎีกาทางศาสนา ที่ประกาศว่าการได้มา การพัฒนา และการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ถือเป็นการละเมิดหลักการอิสลาม และด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งต้องห้าม” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022