‘ดร.นัทธนัย ประสานนาม’ : ความสำเร็จ ‘ข้ามสื่อ-ข้ามพรมแดน’ ของ ‘ซีรีส์วายไทย’

คนมองหนัง

“รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม” อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ และผู้อำนวยการศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ประยุกต์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือนักวิชาการไทยที่ลงมือศึกษาวิจัยเรื่องอุตสาหกรรมบันเทิง “วาย” อย่างเข้มข้นจริงจัง

พิสูจน์ได้จากงานเขียนทางวิชาการในประเด็นเหล่านี้ ทั้งที่ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ล่าสุด เว็บไซต์ FEED ได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์นัทธนัย ว่าด้วยความสำเร็จของ “ซีรีส์วายไทย”

นี่คือคำถาม-คำตอบบางส่วนจากการพูดคุยดังกล่าว

 

: จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจความบันเทิงแบบ “วาย”?

ผมสนใจเรื่องวายหรือ BL (บอยเลิฟ) เป็น 2-3 ระยะ ระยะแรก ในฐานะนักอ่านก่อน ผมเริ่มได้อ่านการ์ตูนวายหรือการ์ตูน BL ที่เป็นฉบับแปลจากภาษาญี่ปุ่น ในช่วงประมาณ พ.ศ.2545 คนที่แนะนำเข้าสู่วงการการ์ตูนวาย ก็คือ เพื่อนที่เรียนระดับปริญญาตรีด้วยกัน ตอนแรก ก็รับรู้สิ่งนี้ในฐานะที่เป็นการ์ตูนผู้หญิง แต่มีฉากรักอันร้อนแรง

ส่วนระยะที่สอง ก็คือหลังจากที่เรียนจบปริญญาโทแล้ว ก็เริ่มเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ช่วงเวลานั้น จะมีลูกศิษย์ที่สนใจเรื่องวาย แล้วก็เป็นแฟนของศิลปินเกาหลี-ญี่ปุ่น

ลูกศิษย์กลุ่มนี้ก็แนะนำให้รู้จักงานประเภทแฟนฟิค (การนำเนื้อหาของการ์ตูนและนิยายวายบางเรื่อง มาแต่งเติมเสริมต่อเป็นวรรณกรรมใหม่อีกเรื่องหนึ่ง) แล้วก็มีทั้งแบบที่ตีพิมพ์ในโลกออนไลน์และตีพิมพ์รวมเล่ม ผมก็มีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมที่คล้ายๆ แฟนมีตด้วย ที่เป็นการรวมกลุ่มกันของคนที่สนใจงานแฟนฟิคพวกนี้ มีการขายสินค้า มีการขายนิยาย ในพื้นที่นั้น

มาถึงระยะที่สาม ก็คือหลังจากที่เกิด “วายบูม” ในประเทศไทย หลัง พ.ศ.2557 ที่เรามี “Love Sick The Series” (รักวุ่น วัยรุ่นแสบ) ช่วงเวลานั้น ผมเรียนปริญญาเอกอยู่ที่สกอตแลนด์ เพราะฉะนั้น ระหว่างที่รู้สึกคิดถึงบ้านอย่างหนัก ก็อาศัยซีรีส์วายเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจ ก็ดูต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2557 เป็นต้นมา

ก็ตามดูทั้ง “Love Sick The Series” ดู “เดือนเกี้ยวเดือน” ดู “SOTUS (พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง)” เป็นช่วงเวลาประมาณนั้น

หลังจากระยะที่สามเป็นต้นมา หลังจากที่เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเสร็จเรียบร้อย ก็ได้เริ่มหันมาศึกษาเรื่องวายจริงจังอีกครั้งหนึ่ง จริงๆ มันสืบเนื่องจากระยะที่สอง ในช่วงต้นทศวรรษ 2550 ผมได้เขียนและได้นำเสนอบทความในเวทีวิชาการสองชิ้น แต่ว่าตอนนั้นสนใจทำ (ประเด็น) แฟนฟิคเป็นหลัก แล้วอุตสาหกรรมวายของไทยยังถือว่าไม่เกิดอย่างเต็มรูปแบบ

ในช่วงต้น 2550 สิ่งที่เราจะเห็นแบบประปรายก็คือพวกคู่จิ้นที่อยู่ตามรายการประกวดนักร้องที่เป็นเรียลลิตี้โชว์ จนกระทั่งเต็มรูปแบบจริงๆ ที่ (ความบันเทิงแบบวาย) มีซีรีส์เป็นของตัวเองคือปี 2557 อันนั้นก็เลยกลายเป็นพื้นที่ที่ผมสนใจศึกษาจนถึงปัจจุบัน

รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม

: “ซีรีส์วาย” เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่ออย่างไร?

เราก็จะเห็นว่าวายนี่เริ่มไปปรากฏตัวตามช่องทางต่างๆ จุดที่ผมมองว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ ก็คือการที่ปรากฏในช่อง (โทรทัศน์) หลัก

ปัจจุบัน เราจะพบว่าอย่างกรณีบางช่องที่เป็นช่องหลักแต่เดิม ก็ใช้วายเป็นคอนเทนต์หนึ่งที่ออกอากาศ จะมีสองแบบด้วย แบบที่หนึ่งก็คือ (ช่อง) ทำตัวเองในฐานะแพลตฟอร์ม คือว่ามีคนอื่นผลิตเนื้อหามา แล้วช่องนี้เป็นช่องทางในการออกอากาศให้ กับอีกแบบหนึ่งก็คือสร้าง (ซีรีส์วาย) ของตัวเอง ซึ่งอันนี้เราจะเริ่มเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น

หรืออย่างบริษัทหรือบางสตูดิโอ แต่เดิมก็จะปฏิเสธเรื่องประมาณนี้ แต่ปัจจุบันก็หันมาสร้างคอนเทนต์ที่มีลักษณะวายด้วยเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าเกือบทุกช่องแล้ว เจ็ดวันเรามีซีรีส์วายให้ดูหมดเลย นั่นแปลว่าทั้งช่องหลัก ช่องรอง ดิจิทัลทีวีทุกช่อง ขานรับซีรีส์วาย

ในมุมนักวิชาการ จุดหนึ่งที่อาจจะหายไปในโลกวิชาการในงานที่ศึกษากัน คือ เวลาคนสนใจ ส่วนใหญ่จะสนใจที่ซีรีส์วาย คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับซีรีส์วาย นักวิชาการจำนวนมากก็ให้ความสำคัญกับซีรีส์วาย แต่ลืมอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการสร้างโมเดลของการพัฒนาอุตสาหกรรมวายขึ้นมา ก็คือ “โลกวรรณกรรม”

สำหรับผม เวลาจะเข้าใจอุตสาหกรรมวายต้องเข้าใจทั้งสองฝั่ง คือฝั่งที่อยู่ในวัฒนธรรมสกรีน (วัฒนธรรมที่เสพความบันเทิงผ่านเทคโนโลยีจอภาพต่างๆ) ก็คือภาพยนตร์-ซีรีส์ อีกฝั่งก็คืออุตสาหกรรมวรรณกรรม เพราะว่าสองฝั่งนี้เกื้อหนุนกันตลอด

อย่างเช่น เรามีเทศกาลวรรณกรรม มีงานหนังสือ เราจะเห็นว่าดาราวายจะไปปรากฏตัวในงานนั้น ในทางกลับกัน เวลาที่มีซีรีส์ เราจะพบว่าหลายที นักเขียนก็ไปปรากฏตัวในซีรีส์ หรือแม้แต่นักเขียนเข้าไปพัวพันในกระบวนการแคสติ้งนักแสดง

แฟนจำนวนหนึ่งที่ดูซีรีส์วายคือแฟนหนังสือ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจการทำงานร่วมกันของฝั่งวัฒนธรรมสกรีนแล้วก็อุตสาหกรรมวรรณกรรม…

จากประสบการณ์การวิจัยของผม พบว่าการดูซีรีส์วายไม่ได้ดูเอาเรื่อง แต่ดูเอาประสบการณ์ เวลาที่เราดูซีรีส์ เราไม่ได้ดูนักแสดงที่เล่นเป็นตัวละครนั้นเท่านั้น แต่เราดูเขาเป็นตัวเขาด้วย สิ่งที่คนดูซีรีส์วายจะทำ ก็คือการยกประสบการณ์ที่อยู่ในซีรีส์มาอยู่นอกซีรีส์ด้วย

เพราะฉะนั้น การทำอุตสาหกรรมวายเป็นธุรกิจการสร้างดาราด้วย แล้วจะต้องคิดไว้อย่างเสร็จสรรพว่า ถ้าเราขายซีรีส์เสร็จแล้ว เราจะต้องไปขายในรูปแบบอื่นๆ ต่อไปอย่างไร

สำหรับผม สิ่งที่ทำให้ซีรีส์วายขยายตัวมาก มันเกิดจากการที่ว่าซีรีส์วายเวลาสร้าง จะถูกคิดในระบบของการเล่าเรื่อง “ข้ามสื่อ” เสมอ

ก็คือเรามีนักแสดงที่ปรากฏในซีรีส์ แล้วต้องมีนักแสดงจริงๆ ไปปรากฏตัวตามแฟนมีต แล้วต้องมีนักแสดงที่ไปร้องเพลงประกอบซีรีส์ ต้องมีนักแสดงที่ไปออกโฆษณา ต้องมีนักแสดงที่ไปไลฟ์ทางอินสตาแกรม เราต้องมีนักแสดงที่ถ่ายติ๊กต็อกเพลงประกอบซีรีส์ของตัวเอง

สิ่งเหล่านี้มันถูกคิด คุณหลบซีรีส์วายไม่ได้ เพราะคุณเปิดอะไรคุณก็เจอ คุณเปิดเฟซบุ๊กคุณก็เจอ คุณเปิดไอจีคุณก็เจอดาราไลฟ์ ช่วงเวลาสัก 3-4 ทุ่ม เราจะเจอดาราวายคนใดคนหนึ่งไลฟ์ตลอดเวลา แล้วการไลฟ์ก็มีไลฟ์แบบทั้งเดี่ยวและร่วม มีการไลฟ์แบบข้ามประเทศก็มี

เพราะฉะนั้น เวลาเราดูตรงนั้น มันไม่ใช่ซีรีส์แล้ว แต่เรากำลังเสพเคมีของคู่เขา (ดาราคู่จิ้น) ว่าเขาดำรงชีวิตอย่างไร มีชีวิตนอกซีรีส์อย่างไร

 

: ทำไม “ซีรีส์วายไทย” จึงได้รับการตอบรับจากคนดูทั่วโลก?

ปัจจุบัน ซีรีส์วาย (ไทย) ขายได้ในทุกภูมิภาคแล้ว มีซีรีส์วายในยุโรป มีแฟนชาวฝรั่งเศสเยอะมาก ขายในเอเชียอันนี้เรารู้อยู่แล้ว เราสังเกตได้จากแฟนมีตที่เกิดขึ้น เกิดในโลกที่พูดภาษาจีน เกิดในเกาหลีใต้ ในญี่ปุ่นเองที่เป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมวาย ก็ซื้อวายไทยเยอะมาก

แม้แต่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกาใต้ ในโลกที่พูดภาษาโปรตุเกสกับภาษาสเปน ก็เสพซีรีส์วาย (ไทย)

สิ่งที่น่าสนใจก็คือรสนิยมของผู้ชมแต่ละภูมิภาคอาจจะต่างกัน (และ) ไม่ใช่ว่าซีรีส์เรื่องหนึ่งจะขายได้ทุกภูมิภาค อย่างเช่น ญี่ปุ่นจะชอบเรื่อง “เพราะเราคู่กัน 2gether” มาก ในขณะที่เรื่องอื่นอาจจะไม่สนใจเท่าไหร่

ในอเมริกาใต้ก็จะชอบเรื่อง “คินพอร์ช เดอะซีรีส์” มาก แล้วก็มีความสนใจเรื่องอื่นรองลงมา หรือในโลกที่พูดภาษาจีน ก็อาจจะชอบ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” มาก เพราะมีประเด็นเรื่องจีน

แต่ความน่าสนใจของวายไทยก็คือคุณชอบแบบไหนก็ได้ เพราะเรามีทุกแบบ อันนี้คือจุดที่โดดเด่น ถ้าคุณชอบมัธยมใสๆ เราก็มี ขอบมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมชมรมเราก็มี แบบนักกีฬาเราก็มี แบบสัตวแพทย์เราก็มี แบบคนทำงานเบื้องหลังกองถ่ายเราก็มี แบบนักเรียนภาพยนตร์เราก็มี

สาเหตุที่เราขายได้มาก เพราะ หนึ่ง เรามี (ผลิตซีรีส์วาย) จำนวนมาก สอง คือเรามีความหลากหลาย เราจึงสามารถตอบสนองรสนิยมของคนที่ชอบไม่เหมือนกันได้มาก

อีกอย่างหนึ่ง ในมุมวิชาการ นักวิชาการก็เสนอเหมือนกันว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ซีรีส์วายของไทยขายได้ ก็เพราะในหลายพื้นที่ การเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งต้องห้าม ทั้งในทางกฎหมายและสังคมวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น การได้เสพซีรีส์วายจึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความหวังให้กับผู้ชม ที่อาจจะผ่านประสบการณ์บาดแผลของการเป็นคนรักเพศเดียวกันมา

หมายเหตุ : เชิญชวนแฟนซีรีส์วายและผู้ที่อยากทำความรู้จักอุตสาหกรรมบันเทิงแขนงนี้ เข้าร่วมงาน “FEED Y CAPITAL 2nd เมืองหลวงซีรีส์วาย ครั้งที่ 2” ในวันที่ 23 กันยายน ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์

ภายในงานจะมีกิจกรรมการแสดง การมอบรางวัลซีรีส์และดาราวายแห่งปี รวมถึงการเสวนาวิชาการที่น่าสนใจตลอดทั้งวัน •

 

| คนมองหนัง