ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
การเปลี่ยนแปลงสังคมไทย
หลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549
รอยต่อกันยายน ถึงเดือนตุลาคม มักมีเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองไทย
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนัก ที่พ้องกับช่วงรอยต่อของหน้าฝนสู่หน้าหนาว ท้องฟ้าเริ่มมืดไว นักเรียน นักศึกษาเริ่มสอบก่อนปิดภาคเรียน ข้าวเริ่มออกรวงพร้อมเกี่ยวในช่วงหน้าหนาว แรงงานตามฤดูกาลเริ่มกลับบ้าน
แม้ห้วงเวลาเหล่านี้จะเริ่มเปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยเปิดปิดตามปฏิทินการศึกษาของตะวันตก การปิดเทอมเดือนตุลาคมหายไปที่ธรรมศาสตร์และจุฬาฯ
หน้าหนาวเริ่มหายไปจากวิกฤตโลกร้อนมาหลายปี
ระบบเกษตรพันธสัญญา ทำให้การทำนาทั้งปีหมุนเวียนเร็วขึ้น เช่นเดียวกับแรงงานตามฤดูกาลที่สูญเสียที่ดินไปให้กับทุนธนาคาร พวกเขาหมดนา เป็นหนี้ มาหลายรุ่น ไม่มีบ้านให้กลับพร้อมลมหนาวปลายเดือนตุลาคม
แต่พอย่างเข้าปลายเดือนกันยายน ผมก็อดคิดถึงไม่ได้กับรัฐประหารครั้งแรกที่ผมพอจะจำความได้
19 กันยายน 2549 การรัฐประหารที่ได้เปลี่ยนประเทศไทยไปหลายอย่าง พร้อมกับคงสภาพอะไรไว้หลายอย่างในรัฐประหารครั้งเดียว
ในชีวิตผมมีโอกาสเห็นรัฐประหาร สามครั้ง
ครั้งแรก เมื่อปี 2534 อันพ่วงสู่พฤษภาทมิฬในปี 2535 ตอนนั้นผมอายุเพียง 6-7 ขวบ นอกจากความทรงจำเรื่องโรงเรียนปิดเฉพาะกิจก็จำอะไรตอนนั้นไม่ได้ เพียงแต่จำได้ที่แม่ซึ่งผ่านเหตุการณ์เดือนตุลาฯ บอกผมด้วยเสียงที่มีความหวังในปี 2535 ว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้าย
รัฐประหารครั้งล่าสุดปี 2557 ผมเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว
ส่วนการรัฐประหารปี 2549 ผมเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ผมคิดว่าพฤษภาทมิฬ มีการทบทวนความทรงจำกันเยอะ เช่นเดียวกับรัฐประหารปี 2557 ก็ยังผ่านมาไม่นาน
แต่รัฐประหารปี 2549 แม้จะเป็นรัฐประหารที่เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทย แต่น่าคิดว่าต่อไปจากนี้สถานะในประวัติศาสตร์กระแสหลัก น่าจะเปลี่ยนแปลงไป หลังจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เป็นผู้ถูกกระทำในตอนปี 2549 ได้จับมือกับฝั่งอำนาจนิยมในปี 2566
สถานะของรัฐประหาร 2549 น่าจะเป็นเรื่องที่นำมาพูดถึงแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรืออีกสถานะคือจำไม่ได้ แต่จะลืมก็คงลำบาก
ในบทความนี้ผมคงไม่ได้พูดถึงสถานะในทางประวัติศาสตร์ เพียงแต่อยากทบทวนว่า 17 ปีที่ผ่านมาได้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ในทางสังคมและการเมืองไทย
1.การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร รัฐประหารปี 2549 อินเตอร์เน็ตเข้าถึงประชากรกลุ่มเล็ก เว็บบอร์ดเป็นช่องทางการสนทนาที่สำคัญ อินเตอร์เน็ตไร้สายเริ่มเข้ามาแล้ว โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปได้ แต่รออีกกว่าห้าปี อินเตอร์เน็ตโฟน หรือโทรศัพท์ที่ใช้อินเตอร์เน็ตได้จึงจะเริ่มแพร่หลาย และ Social Media หรือ Youtube ยังใช้ในวงที่จำกัดมากๆ
เคยมีทฤษฎีด้านการสื่อสารว่า หากคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากๆ จะไม่มีรัฐประหาร ผู้คนจะออกมาต่อต้าน ประท้วง หรือส่งเสียงมากขึ้น ทฤษฎีนี้ก้ำกึ่ง
เพราะในปี 2557 การรัฐประหารก็ยังเกิดขึ้นท่ามกลางยุคสมัยของการไหลบ่าของข้อมูลและการเข้าถึงสื่อสังคมของคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์สังคมไทยไปไม่น้อย
การเปลี่ยนแปลงของบทบาทปัญญาชนสาธารณะที่ไม่สามารถผูกขาดการอธิบายแบบใดแบบหนึ่ง
การเสื่อมถอยของสื่อโทรทัศน์และวิทยุที่เคยถูกกำหนดโดยรัฐบาล
การก้าวขึ้นมาของ Influencer ในแวดวงต่างๆ การผูกขาดของข้อมูลน้อยลงแต่ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อ ความลึกซึ้งของข้อมูลที่ผู้คนมีเวลาในการไตร่ตรองและให้ความสำคัญกับข้อมูลน้อยลง
ข้อมูลมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผูกขาดน้อยลง
แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มทุนก็สามารถแทรกแซงและกำหนดข้อมูลได้ง่ายมากขึ้นเช่นเดียวกัน
2.คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นหลังปี 2549 ระยะเวลา 17 ปี อันหมายความว่านักเรียนระดับชั้นมัธยมปีที่ 6 ถึงมหาวิทยาลัยปีที่ 4 แทบไม่มีความทรงจำของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เลย
แม้ว่าพวกเขาจะเติบโตกับดอกผลของนโยบายหลายอย่าง ที่เด่นชัดคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
แต่ความเข้าใจของคนรุ่นใหม่ที่เติบโต พวกเขารับรู้ ชีวิตทางนโยบายในฐานะสิทธิ มากกว่าสิ่งที่เป็นบุญคุณหรือดอกผลจากการต่อสู้ อันต่างจากคนอายุ 30 ปีขึ้นไป
ข้อนี้เป็นข้อที่น่าสนใจ เพราะการตีความสิทธิ์ของคนรุ่นใหม่ มาพร้อมกับแนวคิดสิทธิโดยธรรมชาติ ชีวิตของผู้คนที่เกิดมาเท่าเทียมกัน พวกเขาเห็นความไม่เท่าเทียม เห็นความขัดแย้ง
แต่พวกเขาไม่มองว่าเรื่องเหล่านี้ปกติอันเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ความสัมพันธ์ของพวกเขาต่ออำนาจรัฐย่ำแย่ แต่ในเรื่องดีพวกเขาเติบโตกับครอบครัวที่มีความเข้าใจต่อพวกเขามากขึ้น
แม้ความรุนแรงในครอบครัวจะมีอยู่ แต่ก็ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับความรุนแรงในโรงเรียน ทั้งทางกายภาพ และทางอุดมการณ์ ครอบครัวบ่มเพาะพวกเขาได้ดีขึ้น
เราไม่แปลกใจเลยที่เราจะเห็นเด็กธรรมดาสามารถถาม ท้าทายอำนาจนิยมอย่างเข้มแข็ง พร้อมกับจริงจังกับความเสมอภาคทางเพศ สิทธิมนุษยชน
3.ความชราที่มาถึงไวสำหรับพวกเรา ผมอายุเพียง 38 ปีเท่านั้น แต่รู้สึกตัวเองชรากับโลกนี้
ผมเห็นรัฐประหารสามครั้ง ผ่านการฆ่า-ทำร้ายประชาชนกลางเมือง 3 ครั้ง ที่สำคัญ คือปี 2535 ปี 2553 และปี 2563 สำหรับคนอายุ 30 ปลายถึง 50 บางทีพวกเรารู้สึกด้านชาต่ออำนาจนิยม ในหัวเราเห็นแต่ความพ่ายแพ้และเป็นไปไม่ได้
แต่ในขณะเดียวกัน เราเห็นต้นกล้าที่เติบโตขึ้นมา ในยุคสมัยของพวกเรา
เราเห็นผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมแก่ ผูกขาดอำนาจ เศรษฐกิจ การเมือง จารีตประเพณี การผูกขาดของพวกเขาทำให้เราไม่เติบโตในทุกมิติ
ดังนั้น สำหรับคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ที่เราผ่านช่วงเวลาที่สำคัญ เมื่อถึงจุดหนึ่งสิ่งที่เราต้องทบทวน จากปี 2549 เราต้องเติบโตให้เป็น แก่ให้เป็น และพร้อมสนับสนุนให้จินตนาการใหม่ๆ ได้เติบโตเปลี่ยนแปลง
ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อเราเอง เพื่อให้ต้นกล้าที่เติบโตพร้อมกับความฝัน และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้เติบโตเต็มที่
โลกหลังปี 2549 เปลี่ยนไปไวมาก ทั้งเทคโนโลยี และความสัมพันธ์ทางสังคม แม้โครงสร้างทางการเมืองที่เราเห็นอยู่จะดูไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แม้เราจะเห็นความพ่ายแพ้หลายครั้ง
แต่อย่าให้ความพ่ายแพ้นั้นกลายเป็นสิ่งที่เราส่งต่อให้แก่คนรุ่นถัดไป
โจทย์สำคัญในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา มีเพียงเรื่องเดียวคือเราจะทำอย่างไรให้คนรุ่นหลังได้รับดอกผลจากการต่อสู้ของเรา
ได้เติบโตในประเทศรัฐสวัสดิการ ประชาธิปไตย อย่างสมบูรณ์
แน่นอนที่สุดการต่อสู้ไม่เคยสิ้นสุด แต่เราอยากให้สังคมนี้ปลอดภัยเพียงพอต่อการสร้างความเสมอภาคที่พวกเขาจะได้ไปคิดฝันเรื่องอื่นกันต่อไปในอนาคต
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022