ไม่เหลือแล้วซึ่ง ‘ความเชื่อถือ’

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

ไม่เหลือแล้วซึ่ง ‘ความเชื่อถือ’

 

นับเป็นความเลวร้ายระดับ “ตำนานอัปยศสถาบันผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” สำหรับเหตุการณ์ที่บ้าน “กำนันนก-ประวีณ จันทร์คล้าย” ผู้สร้างสถานะมหาเศรษฐีด้วยการขยายเครือข่ายอิทธิพลต่อวงการข้าราชการ จนไต่ขึ้นเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างงานราชการระดับ 7,000 ล้านบาทได้ในวัยแค่ 35 ปี

เป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

งานเลี้ยงที่จัดขึ้น และกลายเป็นงานสังหาร “สารวัตรแบงก์-พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว” อย่างอุกอาจนั้น ไม่เพียงมีตำรวจตั้งแต่ระดับผู้กำกับจนถึงชั้นประทวนนั่งหน้าสลอนอยู่เต็มงาน บางนายยังทำหน้าที่ “เด็กเสิร์ฟ” บริการแขกเหรื่อของเจ้าพ่อหนุ่มแห่งนครปฐม

แต่เมื่อ “หน่อง ท่าผา-ธนัญชัย หมั่นมาก” เดินปรี่เข้าไปจ่อปืน ลั่นกระสุนใส่ “สารวัตรแบงก์” ต่อหน้าต่อตานั้น เพื่อน พี่ น้องผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ทุกคนพกปืนตุงอยู่ในเอว ไม่มีสักคนที่จะชักปืนออกมาสู้ ปล่อยให้เพื่อนตำรวจถูกสังหารโหดโดยไม่แม้แต่จะคิดว่า “ศักดิ์ศรีของตำรวจ” ที่อยู่กันเต็มงานจะเป็นอย่างไร

หนักหนาสาหัสกว่านั้นคือ ในนามของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเผชิญเหตุร้ายซึ่งหน้า บางคนเผ่นหนีเอาตัวรอดอย่างรวดเร็ว บางคนช่วยคุ้มกันคนร้ายหลบหนี บางคนสั่งการทำลายหลักฐานที่เกิดเหตุด้วยหวังว่าคนร้ายจะพ้นผิด

มีบ้างที่ช่วยนำเพื่อนส่งโรงพยาบาล

แต่ไม่มีการสั่งการให้สกัดการหลบหนีของคนร้าย

 

นี่คือ “ตำนานแห่งความเลวร้าย” ซึ่งไม่มีทางเลยที่ “สารวัตรแบงก์” จะเข้าใจว่า “ท่ามกลางห้อมล้อมของเพื่อนพ้องตำรวจ” ไม่มีใครเลยที่มีสำนึกที่จะสู้เพื่อศักดิ์ศรีของอาชีพตำรวจ อย่างชวนสลดหดหู่เช่นนั้นได้

มุ่งรับใช้อย่างจงรักภักดีต่อการเลี้ยงดูของ “มาเฟียท้องถิ่น”

มากกว่าจะคิดถึงความเป็นความตายของเพื่อนร่วมอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

เหตุการณ์นี้จึงเป็น “ตำนานแห่งความเลวร้าย” ที่จะต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ตำรวจไทยไปชั่วกาลนาน

 

หลังเหตุการณ์นี้ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “ผู้มีอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐ”

ในคำถาม “ท่านกล้าที่จะมีปัญหาหรือมีข้อขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพลหรือไม่” ประชาชนร้อยละ 60.30 ตอบไม่กล้า, ร้อยละ 16.34 ไม่ค่อยกล้า มีแค่ร้อยละ 12.75 ที่ตอบว่ากล้าอยู่แล้ว, ร้อยละ 9.08 ค่อนข้างกล้า, ร้อยละ 1.53 ไม่ตอบ

ในคำถาม “มีความมั่นใจแค่ไหนว่าตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถปกป้องคุ้มครองและให้ความยุติธรรมได้ เมื่อประชาชนมีปัญหาคือข้อขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพล” ร้อยละ 38.93 ไม่มั่นใจเลย, ร้อยละ 37.10 ไม่ค่อยมั่นใจ, ร้อยละ 13.51 ค่อนข้างมั่นใจ, ร้อยละ 9.92 มั่นใจมาก, ร้อยละ 0.54 ไม่ตอบ

เมื่อถาม “เชื่อหรือไม่ว่ามีตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนทำตัวเป็นลูกน้องหรือเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองผู้มีอิทธิพล” ร้อยละ 59.77 เชื่อมาก, ร้อยละ 26.49 ค่อนข้างเชื่อ มีแค่ร้อยละ 8.32 ไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 4.35 ไม่เชื่อเลย, ร้อยละ 1.07 ไม่ตอบ

จากเหตุการณ์บ้านกำนันนก และจนป่านนี้ผู้มีอำนาจทั้งหลายยังไม่มีใครพูดถึง “ความอัปยศของวงการตำรวจระดับตำนาน” นี้ พร้อมกับสั่งการให้เกิดขบวนการแก้ปัญหาอย่างถอนรากถอนโคนจริงจัง

ความเสื่อมศรัทธาอันเกิดจากความไม่วางใจ ไม่เชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของ “ตำรวจ” น่าจะพัฒนาสู่ความสิ้นหวังมากขึ้นเรื่อยๆ

และที่สุดแล้วภาพของ “ตำรวจ” ในความรับรู้ของประชาชนจะมีแค่เรื่องน่าเศร้า เพราะมีแต่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อทำมาหากิน

อย่างเป็นทางการและถูกกฎหมายคือการเอาแต่ตระเวนตรวจจับรถทำผิดกฎจราจร ล็อกล้อรถที่จอดในที่ห้ามจอด ซึ่งเป็นงานที่มีรายได้จากส่วนแบ่งของค่าปรับ เลยไปถึงการมุ่งเน้นงานที่มี “สินบนนำจับ”

และขยายไปสู่การรับใช้ “ผู้มีอิทธิพล” ที่แบ่งเศษผลประโยชน์จากกิจการผิดกฎหมายให้

การทำมาหากินโดย “สำนึกที่นำความอัปยศ” มาให้เช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องชำระล้าง ก่อนที่จะฝังรากลึกจนกลายเป็นความปกติที่ยากจะเยียวยา