แก้รัฐธรรมนูญ ฉบับอ้อยอิ่ง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างความวุ่นวายในกลไกทางการเมืองมากมาย

อาทิ มีบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภาในสมัยแรกเกือบทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ คสช. และมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี มีการกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติที่เป็นกรอบในการกำกับการทำงานของรัฐบาล

การมีระบบการเลือกตั้งที่มุ่งสร้างความได้เปรียบแก่พรรคการเมืองบางพรรค และมีกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และสิ้นเปลืองงบประมาณนับหมื่นล้านบาท

ตลอดระยะเวลาที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านและในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้แสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญและถึงกับประกาศในการหาเสียงว่า หากได้เป็นรัฐบาล จะนำเรื่องการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเข้าที่ประชุม ครม. ในการประชุม ครม.ครั้งแรก เพื่อเปิดทางไปสู่การทำประชามติ และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

การประชุมของคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566 กลับไม่ปรากฏวาระการให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

แต่มีเพียงการสั่งการให้มีการตั้ง “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ” มีรองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน โดยให้ยึดถือแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ

การตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อยื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแสดงให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทยมิได้มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ต้องการถ่วงเวลาในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าออกไปเนื่องจากขณะนี้พรรคของตนเป็นรัฐบาล

และยังอยากทำหน้าที่ของตนต่อไปมากกว่าการต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่ หากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น

 

มีอะไรต้องศึกษาอีก

หากยึดแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ศาลได้ชี้ชัดว่า

“หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า เห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

คำวินิจฉัยของศาลชี้ว่า หากจะมี สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยมี สสร. (จะยกเว้นบางหมวดก็ตาม) ต้องมีการทำประชามติ 2 ครั้ง คือ ก่อนการเริ่ม และหลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ

ส่วนเมื่อทำประชามติครั้งที่หนึ่งเสร็จลง หากมีผู้มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ และมีผู้เห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของคนที่มาใช้สิทธิ รัฐบาลหรือรัฐสภาก็ต้องไปเสนอร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่ 15 มาตรา 256 เกี่ยวกับการเปิดช่องให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่ระบุถึงจำนวน สสร. วิธีการได้มาซึ่ง สสร. และขอบเขตการทำงานของ สสร. รวมถึงรายละเอียดด้านงบประมาณและการสนับสนุนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ

หลังจากผ่านวาระที่สามก็มีกระบวนการที่บังคับเข้าสู่การทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจาก (8) ของมาตรา 256 ระบุไว้ว่า หากการแก้รัฐธรรมนูญเป็นการแก้เกี่ยวกับ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องมีการทำประชามติ ก่อนกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

ดังนั้น จึงเป็นความชัดเจนว่า จะต้องมีการทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง หากจะมี สสร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

 

เนื้อหาสาระที่ต้องแก้ไข

ประเด็นคำถามที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาสาระในเรื่องใดที่จำเป็นต้องแก้ไข หากไม่ได้มีเรื่องมากมาย ก็น่าจะใช้วิธีการแก้ไขเป็นมาตราได้ซึ่งวิธีการดังกล่าวก็สามารถใช้กลไกของรัฐสภา ไม่ต้องไปออกเสียงประชามติให้เสียเงินเสียทองมากมาย

ในประเด็นนี้ คงไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาอะไรกันอีก เพราะในอดีต สภาผู้แทนราษฎรก็เคยแต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานกรรมาธิการ มีกรรมาธิการทั้งคณะ 49 คน ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมากมาย อาทิ นายชัยเกษม นิติศิริ รองศาสตราจารย์ชูศักดิ์ เที่ยงตรง นายนิกร จำนง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร นายสุทิน คลังแสง ศาสตราจารย์อุดม รัฐอมฤต เป็นต้น

คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว ใช้เวลาในการศึกษารวม 8 เดือนเศษ นับแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2562 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2563 มีรายงานในเล่มหลัก 446 หน้า รายงานของคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น 186 หน้า รายงานของคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 31 หน้า รวมเป็นรายงานทั้งหมด 663 หน้า

ในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ได้มีการจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) 17 ครั้ง การสัมมนาเปิดกว้างในระดับภูมิภาค 5 ครั้ง การจัดสัมมนาร่วมกับองค์กรอื่นอีก 4 ครั้ง นอกจากนี้ยังได้เชิญบุคคลที่เป็นตัวแทนหน่วยราชการต่างๆ มาให้ความคิดเห็น อีก 7 หน่วยงาน อาทิ ตัวแทนจากวุฒิสภา จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

การทำงานของคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาปัญหาดังกล่าว จึงค่อนข้างเป็นรายงานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีเนื้อหาสาระที่จำเป็นต้องแก้ไขละเอียดเป็นรายมาตราแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาใดๆ อีก

 

ต้องหาคำตอบให้ชัดเจนก่อนไหม
ว่า สสร.จะมีเท่าไร มาจากไหน

คําตอบคือ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องชัดเจนถึงจำนวนของ สสร. ว่าจะมีจำนวนกี่คน แบ่งเป็นกี่ประเภท เลือกตั้งหรือแต่งตั้ง วิธีการเลือกตั้งจะเลือกอย่างไร วิธีการแต่งตั้งจะมีวิธีการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งอย่างไร จะมีกรอบเวลาในการทำงานอย่างไร

รายละเอียดเรื่องต่างๆ เหล่านี้สามารถดำเนินการในช่วงหลังประชามติครั้งที่ 1 โดยต้องเป็นรายละเอียดอยู่ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่รัฐบาล หรือ พรรคการเมืองสามารถเสนอร่างขึ้นมาพร้อมกันได้โดยอาจจะมีแนวทางที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละร่าง และเมื่อรับหลักการในวาระที่หนึ่งแล้ว ยังสามารถแปรญัตติได้มากมายในวาระที่สอง ตลอดจนสามารถสงวนคำแปรญัตติไปอภิปรายก่อนการลงมติวาระที่สามอีก

รายละเอียดของจำนวนและที่มาของ สสร. จึงค่อยไปคุยกันในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นก็ได้ โดยผลสรุปจะมาจากการกลั่นกรองของที่ประชุมรัฐสภาทั้ง 750 คน

 

แก้รัฐธรรมนูญแบบอ้อยอิ่ง

พรรคเพื่อไทยพยายามให้เหตุผลว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีความรอบคอบและรับฟังปัญหาความต้องการจากทุกฝ่ายเพื่อให้การแก้ไขเป็นไปด้วยความสำเร็จ

แต่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาคำตอบในคำตอบที่พรรคเพื่อไทยมีอยู่แล้ว ไม่สามารถแปลความหมายได้ว่าพรรคมีความจริงใจและตั้งใจในการดำเนินการ

ยิ่งคำพูดของบรรดาผู้นำพรรคในเวทีหาเสียงและการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนดูแข็งขัน เอาจริงเอาจังแบบให้ความหวังต่อประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง แต่ท่าทีหลังจากการเป็นรัฐบาลแล้วกลับอ้ำๆ อึ้งๆ ตอบแบบไม่มีความหวัง ไม่มีกรอบเวลาในการทำงาน

ยิ่งเป็นการสะท้อนถึงการไม่รักษาคำพูดของพรรคอีกครั้งหนึ่ง หลังจากคำพูดที่ว่าจะไม่จับมือกับพรรคการเมืองบางพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

หากอยากคืนศรัทธาประชาชน ควรรีบดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

แต่หากอยากรู้ว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าคะแนนนิยมของท่านจะลดลงเพียงไร อ้อยอิ่งเถอะครับ ไม่ต้องรีบเร่ง