จาก RBP ถึง ‘เดอกาแวง’ ไถมือถือจนร่างพัง! | จักรกฤษณ์ สิริริน

National Sleep Foundation หรือ “มูลนิธิการนอนหลับแห่งสหรัฐอเมริกา” ได้ให้กำหนดนิยามของคำ Revenge Bedtime Procrastination หรือ RBP ว่าหมายถึง “การผัดเวลานอนเพื่อชดเชยช่วงกลางวันที่หายไป”

Revenge Bedtime Procrastination นั้น Revenge แปลว่า “การแก้แค้น” Bedtime คือ “กลางคืน (ช่วงเวลานอนหลับ)” และ Procrastination หมายถึง “การผัดวันประกันพรุ่ง”

RBP เป็นการชดเชยทางจิตวิทยาของหลายคน Daphne K. Lee นักเขียนหญิงชื่อดังชาวสหรัฐบอกว่า RBP คือพฤติกรรมของผู้ที่ไม่สามารถควบคุมตารางชีวิตตนเองได้

“RBP เป็นเหตุการณ์ระหว่างวันที่มาปรากฏตอนกลางคืน คือการปฏิเสธที่จะนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อทวงคืนความรู้สึกของอำนาจ และอิสรภาพในช่วงเวลากลางคืนแทน” Daphne K. Lee กล่าว

RBP เกิดขึ้นก็เพื่อชดเชยเวลาส่วนตัวที่ขาดหายไปในช่วงกลางวันนั่นเอง

เพราะ RBP เป็นการยืดเวลาส่วนตัวที่ถูกคนอื่นขโมยไปในตอนกลางวัน โดยผู้ป่วย RBP จะเอาเวลาที่ควรพักผ่อน มาแสดงความเป็นเจ้าของร่างกาย และจิตวิญญาณ

 

ในอดีต ส่วนใหญ่ พฤติกรรม RBP จะเป็นในรูปของการฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ หรือไม่ก็นอนก่ายหน้าผากคิดโน่นคิดนี่ นอนกระสับกระส่าย นอนพลิกไปพลิกมาบนเตียง

แต่ปัจจุบัน RBP แสดงออกผ่านพฤติกรรมการ “ไถมือถือ” ดู Social Media, YouTube, Netflix นานติดต่อกันหลายชั่วโมง

เป็นการผัดเวลานอน เพื่อเรียกคืนอำนาจ และอิสรภาพที่ถูกเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า รวมถึงสมาชิกในครอบครัว ริบไปในตอนกลางวัน

RBP จึงช่วยชุบชูจิตใจ และสร้างความมั่นใจหลอกๆ อย่างน้อยก็ในช่วงหัวค่ำ และอีกหลายชั่วโมงก่อนนอน

แน่นอนว่า ผลเสียจาก RBP นอกจากที่โลกไม่ได้รับรู้ หรือสนใจแล้ว การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกาย และจิตใจ เหนื่อยล้าหนักขึ้นกว่าเดิม

ยิ่งปิดไฟห้องนอนแล้ว “ไถมือถือ” แสงจ้าจะยิ่งทำลายสายตาได้ในระยะยาว

นอกจากสายตาย่ำแย่ ภาวะภูมิคุ้มกันยังต่ำ อารมณ์แปรปรวน ส่งผลต่อความคิด และการตัดสินใจต่างๆ เป็นวงจรนรกวนลูป ร่างพัง!

เพราะเช้าวันใหม่ก็จะถูกริบอำนาจ และอิสรภาพไปอีก ตกกลางคืนก็ลากยาวเพื่อเรียกอำนาจ และอิสรภาพหลอกๆ คืนมา แบบไม่จบไม่สิ้น

 

ดร. Michael Breus ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน บอกทางแก้อาการ RBP โดยให้จัดตารางชีวิตตอนกลางวันใหม่

“วิธีแก้ RBP ก็คือ ให้กำหนดเวลากิจกรรมกลางวันอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็น เวลาในการทำงานร่วมกับคนอื่น และเวลาในการบริหารจัดการงานของเรา” ดร. Michael Breus กล่าว และว่า

ต้องปฏิเสธทันที หากมีคนมาแทรกตารางเวลาโดยไม่จำเป็น เมื่อเวลากลางวันทุกอย่างลงล็อกแล้ว ความรู้สึกอยากชดเชยเวลากลางคืนก็จะลดน้อยถอยลง

ดร. Michael Breus ทิ้งท้ายด้วยเทคนิค Power-Down Hour โดยให้แบ่งเวลา 1 ชั่วโมงก่อนนอนออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 20 นาที

“ช่วงแรก เป็นการตระเตรียมสิ่งต่างๆ ที่จะใช้ในวันรุ่งขึ้น ช่วงที่ 2 คือการทำธุระส่วนตัวก่อนนอน และช่วงสุดท้าย คือการผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ หรือทำสมาธิ” ดร. Michael Breus สรุป

 

ปัจจุบัน นอกจาก RBP จะนำไปสู่พฤติกรรม “ไถมือถือ” ต่อเนื่องยาวนานในเวลากลางคืนแล้ว

ตอนกลางวัน ถ้ายัง “ไถมือถือ” ไม่หยุด ก็จะเจอกับอีกโรคหนึ่งบวกเข้าไป นั่นคือ “เดอกาแวง”

“เดอกาแวง” หรือ de Quervain’s Tenosynovitis หมายถึง “โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ” มีสาเหตุจากการใช้งานข้อมือซ้ำๆ

อาทิ ใช้เมาส์ในการทำงาน หรือทำการบ้าน ใช้มีด ตะหลิว ในการทำครัว ใช้ไขควงในการซ่อมข้าวของ ใช้ข้อมือในการเล่นดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอุ้มลูก เป็นต้น

ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็น “เดอกาแวง” จึงเป็นผู้ที่ทำงาน หรือกิจกรรมดังได้กล่าวมาข้างต้น

ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานออฟฟิศ นักเรียน นิสิต นักศึกษา แม่บ้าน แม่เรือน แม่ลูกอ่อน ช่างซ่อมบำรุง นักดนตรี

เพราะการใช้ข้อมือซ้ำๆ ของกลุ่มเสี่ยงข้างต้น จะทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างเอ็นข้อมือกับปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บของเอ็น และปลอกหุ้มเอ็นของกล้ามเนื้อ 2 มัด

ได้แก่ Abductor Pollicis Longus และ Extensor Pollicis Brevis ซึ่งเอ็นของกล้ามเนื้อทั้งสองที่ว่านี้ จะอยู่ฝั่งนิ้วหัวแม่มือ บริเวณด้านนอกของข้อมือ

ข้อมูลจากการวิจัยพบว่า เพศหญิงมีโอกาสเป็น “เดอกาแวง” มากกว่าเพศชาย ในอัตราส่วน 10 ต่อ 1 และพบผู้ป่วย “เดอกาแวง” ได้มากในช่วงอายุ 35-55 ปี

 

อาการของ “เดอกาแวง” จะปวดบริเวณข้อมือด้านนิ้วโป้ง ทำให้ปลายแขนด้านนิ้วโป้งมีอาการบวม หากกดลงที่ตำแหน่งนั้น จะปวดมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะปวดมากเมื่อมีการเคลื่อนไหวของนิ้วโป้งทั้งหนักทั้งเบา เช่น เปิดขวดน้ำ บิดผ้า หมุนไขควง ไขลูกกุญแจ ใช้มีด ใช้ตะหลิว กวาดบ้าน ถูบ้าน ใช้ขันน้ำ อุ้มเด็ก ไปจนถึงเล่นดนตรี

นอกจากกิจกรรมต่างๆ ข้างต้นแล้ว การ “ไถมือถือ” เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด “เดอกาแวง”

เพราะการ “ไถมือถือ” ต้องใช้นิ้วโป้งของมือข้างที่ถนัด ในการประคองน้ำหนักโทรศัพท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลายท่านใช้นิ้วโป้งในการ “ไถมือถือ” โดยตรง

สำหรับวิธีการตรวจอาการ “เดอกาแวง” เบื้องต้นนั้น สามารถทำได้ด้วยตนเอง เรียกว่า Finkelstein’s Test

1. พับนิ้วโป้งเข้าหาฝ่ามือ จากนั้นพับนิ้วที่เหลือทับนิ้วโป้งไว้ บิดข้อมือลงมาทางด้านนิ้วก้อย

2. ให้คะแนนความเจ็บเต็ม 10 หากได้ 7 เต็ม 10 ให้รีบไปหาหมอ ถ้า 6 เต็ม 10 หรือ 6 ลงมา ก็สามารถทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง (อ่านวิธีกายภาพบำบัดเบื้องต้นได้ในตอนท้ายบทความ)

3. หากเป็น “เดอกาแวง” แค่บิดข้อมือเพียงเล็กน้อย ก็จะเจ็บจี๊ดจนร้องซี้ด คะแนน 7 เต็ม 10 ขึ้นไป โดยจะเจ็บตั้งแต่โคนนิ้วโป้ง สะท้านสะเทือนไปถึงหัวไหล่

ครบ 3 ข้อ ก็เป็น “เดอกาแวง” เรียบร้อยโรงเรียนจีน

 

การป้องกัน “เดอกาแวง” ให้ใช้วิธีบริหารข้อมือดังนี้ (ทุกท่า ให้ทำซ้ำ 10 ครั้ง)

1. แตะปลายนิ้วโป้งกับปลายนิ้วก้อย ทำค้างไว้ 5 วินาที

2. ดัดข้อมือ งอลงให้มากที่สุด ทำค้างไว้ 5 วินาที สลับกับดัดข้อมือ กระดกขึ้นให้มากที่สุด ทำค้างไว้ 5 วินาที

3. หงายมือ กำมือ จากนั้น ค่อยๆ กระดกข้อมือขึ้น ทำค้างไว้ 5 วินาที แล้วค่อยกลับไปตำแหน่งเดิม

4. คว่ำมือ จากนั้น กระดกมือ ทำขึ้น-ลงสลับกัน

5. กระดกข้อมือเอียงไปทางด้านข้าง จากนั้น ทำขึ้น-ลงสลับกัน

6. นำลูกบอลยาง หรือดินน้ำมัน มาบีบให้แน่น ทำค้างไว้ 10 วินาที สลับกับคลายมือออก

7. นำยางยืดใส่ไว้บริเวณรอบนอกของนิ้วมือ จากนั้น กาง-หุบนิ้วมือ เพื่อต้านแรงยืดของยาง

 

การรักษา “เดอกาแวง” มีแนวทางดังนี้

1. ลดการเคลื่อนไหวของนิ้วโป้ง อาจจะใส่เฝือกอ่อน หรือติดเทปบำบัดนักกีฬาบริเวณเส้นเอ็นนิ้วโป้ง

2. ใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด อาทิ เครื่อง Ultrasound เครื่อง Electrical Stimulation (เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า) หรือประคบร้อน

3. เอามือแช่น้ำอุ่นประมาณ 15 นาที วันละ 3 ครั้ง

อย่าลืมว่า “เดอกาแวง” เป็นโรคที่ป้องกันได้ แม้จะเป็นโรคที่ใช้เวลาในการรักษายาวนานมาก กว่าจะหาย

นอกจากนี้ “เดอกาแวง” ยังเป็นโรคที่น่ารำคาญ เพราะแม้จะหายแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกหนึบๆ แปล๊บๆ อยู่นิดๆ

สาเหตุสำคัญก็คือ มนุษย์จำเป็นต้องใช้มือในการทำกิจกรรมประจำวันนั่นเอง