แมนสรวง

วัชระ แวววุฒินันท์

น่าดีใจที่ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “แมนสรวง” ทำรายได้ทะลุ 50 ล้านบาท และมุ่งสู่ 100 ล้านที่ต้องบอกว่ามาไกลเกินคาด

ด้วยแนวของตัวหนังไม่ใช่แนวแมสที่จะถูกคอแฟนหนังไทยส่วนใหญ่ แถมจากหน้าหนังก็มีกลิ่นอายของความวายนิดๆ ที่เป็นกลุ่มเฉพาะ แต่ด้วยคุณภาพของตัวหนังเองทำให้เป็นที่ถูกใจผู้ชม โดยเฉพาะคนที่แสวงหาอะไรใหม่ๆ

หากจะว่ากันให้ถูกแล้ว ต้องบอกว่าแมนสรวงเป็นภาพยนตร์แนวสืบสวน โดยมีเรื่องของการเมืองและการแย่งชิงอำนาจเป็นตัวขับเคลื่อน หากทว่าการมีฉากหลังของเรื่องราวเป็นสถานเริงรมย์สำหรับคนพิเศษในปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 ก็ขับให้ตัวโปรดักชั่นนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง

ตัวละครที่เป็นแกนของเรื่องคือ “เขม” นายรำที่มีรูปลักษณ์ดีและมีฝีมือในการร่ายรำไม่เบา รับบทโดย “อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์” เขมมีสถานะเป็น “ไพร่” ที่พยายามดิ้นรนถีบตัวเองขึ้นมาเป็นคนแถวหน้ากับเขาบ้าง

“เขม” ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สังหารท่านหมื่นท่านหนึ่ง ร่วมกับ “ว่าน” เพื่อนที่สนิทสนมกันจากเมืองแปดริ้ว ทางเดียวที่จะไถ่โทษได้คือ การยอมเข้าไปทำงานเป็นนายรำในแมนสรวง

พร้อมทำหน้าที่สายลับว่า ใครเป็นผู้สังหาร “ขุนนาง” ผู้หนึ่งที่รู้เรื่องราวในวังอย่างดี และสืบให้รู้ว่ามีการซ่องสุมกำลังอาวุธเพื่อทำการอันเป็นภัยต่อแผ่นดินในช่วงที่จะเปลี่ยนถ่ายรัชสมัยจริงหรือไม่ พร้อมหาเอกสารการซื้อขายอาวุธนั้นให้เจอเพื่อนำมาเป็นหลักฐานมัดตัว

แมนสรวง เป็นสถานเริงรมย์ที่เป็น เอ็กเซ็กคิวซีฟสถาน มีไว้ให้บริการเจ้าขุนมูลนาย พ่อค้าใหญ่ และคนต่างชาติ ได้เข้ามาใช้บริการหาความสำราญกับเหล่านารีที่จะคอยบำเรอความสุข รวมทั้งพวกที่ชอบเสพชายด้วยกัน พร้อมกับชมการแสดงที่หลากหลาย ทั้งนาฏศิลป์ไทย จีน และตะวันตก

เจ้าของแมนสรวงเป็นชาวจีนชื่อ “เจ้าสัวเฉิง” ที่มาอยู่ในเมืองไทยนานแล้ว และทำการค้าขายผูกติดกับข้าราชการไทยจนร่ำรวย มีอำนาจและอิทธิพลไม่น้อย และถูกทางการเพ่งเล็งถึงความเป็นอั้งยี่ซึ่งรวบรวมกลุ่มคนจีนไว้ด้วยกัน

นี่เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของสังคมในสมัย ร.3 ที่มีความรุ่งเรืองด้านการค้าขายกับต่างชาติจนสร้างความร่ำรวยให้กับแผ่นดินสยามได้เป็นกอบเป็นกำ และต่างชาติที่ค้าขายด้วยมากที่สุดก็คือ “ชาวจีน” ซึ่งหลายคนได้มาอยู่อาศัยในสยาม และรับราชการสนองพระเจ้าแผ่นดิน จนได้รับยศตำแหน่งก็มี

ในช่วงหลังๆ นี้ ละครและภาพยนตร์ของไทยหลายเรื่องที่เป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ มักจับเรื่องราวให้เกิดขึ้นในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ซึ่งเป็นเรื่องดี ที่เรื่องราวในยุคของพระองค์จะได้ถูกเผยแพร่และนำเสนอในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น

ในเรื่องแมนสรวงนี้ก็เช่นกัน เราจะได้เห็นการทรงอิทธิพลของคนชั้นนำที่มีสิทธิ์ มีอำนาจ มีโอกาส มากกว่าคนชั้นราษฎรทั่วไป ไม่ต้องพูดถึงพวก “ไพร่” ที่ชีวิตเหมือนไม่มีค่าอันใด

หากแต่ไพร่อย่างเขมไม่ยอมแพ้กับชะตาชีวิต ตั้งใจว่าจะต้องใช้ “วิชานาฏศิลป์” ที่ตนมีเป็นเครื่องมือในการถีบตัวเองขึ้นไปให้ได้ ซึ่งนาฏศิลป์ไทยในสมัยนั้นถือเป็นศิลปะชั้นสูง หากว่าตนซึ่งเป็นนายรำที่ฝากตัวเป็นศิษย์กับครูที่มีชื่อเสียงก็น่าจะมีโอกาสอยู่บ้าง

การแสดงนาฏศิลป์ของไทยสมัยก่อนเป็นโลกของผู้ชาย ผู้หญิงไม่มีโอกาสขึ้นเวทีเหมือนในยุคต่อมา ตัวละครหญิงในเรื่องก็จะเป็นนักแสดงชายเป็นผู้สวมบทบาทแทน นี่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง “ผู้ชาย” และ “ผู้หญิง” ที่ผู้ชายยังมีศักดิ์และสิทธิ์มากกว่า

ระหว่างที่ต้องถีบตัวเองขึ้นมาให้ได้ เขมก็ต้องทำหน้าที่นักสืบเจมส์บอนด์ 007 ไปด้วย ซึ่งช่วงของการสืบสวนนี้หนังทำได้อย่างน่าติดตาม เดินเรื่องฉับไว ผ่านมุมมองของคนหลายคนในวันที่เกิดเหตุฆาตกรรมนั้น

สุดท้ายแล้วผลของการสืบสวนจะออกมาอย่างไรต้องไปชมเอง แต่สิ่งที่ “ประจักษ์”ยิ่งกว่าผลการสืบสวนนั้น ก็คือการเกี้ยเซียะกันของคนชั้นนำในสังคมเพื่อที่จะได้สืบทอดอำนาจและรักษาผลประโยชน์ของตนต่อไป แม้ว่าจะบอกว่าทำเพื่อแผ่นดินก็ตาม

สถานการณ์ตอนจบของหนังช่างเข้ากับเหตุการณ์ทางการเมืองบ้านเราในปัจจุบัน ที่มีการ “สลายขั้วเพื่อชาติ” โดยบังเอิญ จึงเป็นบทสรุปที่โดนใจผู้ชมที่มีความรู้สึกร่วมอย่างยิ่ง จนมีคนแซวว่า “เหมือนเขียนบทวันนี้” เลย

และอดสะท้อนใจไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย แต่เรื่องการแย่งชิงอำนาจและสืบทอดผลประโยชน์ยังคงเวียนว่ายอยู่เสมอ ไม่เคยขาดไปจากสังคมไทยเลยสักน้อย

ด้วยเหตุนี้ แมนสรวงจึงได้รับการชื่นชมว่ามีประเด็นที่ร่วมยุคร่วมสมัย มีมิติอย่างที่หาไม่ค่อยได้ในหนังไทยที่ผ่านๆ มา และที่โดดเด่นมากๆ คือแนวทางการออกแบบโปรดักชั่น ที่ผนวกเอาศิลปะสมัยก่อนเติมความเกินจริงเข้าไปอย่างมีรสนิยมร่วมสมัย และที่สำคัญคนทำงานสามารถควบคุมมันให้ออกมาดีได้ จึงทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพอย่างสูง ทั้งงานภาพ แสง ดนตรี และการตัดต่อ

นอกจากตัวละคร “เขม” และ “ว่าน” แล้ว ยังมีตัวละครที่เข้ามาทีหลัง แต่เดินเรื่องไปคู่ๆ กัน คือ “ฉัตร” หนุ่มหน้าใสมือตะโพนของวงดนตรีที่แสดงอยู่ในแมนสรวงนั้นเอง รับบทโดย “มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง” ที่เป็นคู่จิ้นกับอาโป ใน “คินน์พอร์ชเดอะซีรีส์” มาแล้ว ในเรื่องนี้ไม่ได้จับคู่เป็นคนรักกันเหมือนในซีรีส์ที่แฟนๆ สาววายอาจจะผิดหวังนิดๆ หากจับคู่กันเป็นคู่หูนักสืบเพื่อค้นหาคำตอบของภารกิจของแต่ละคนให้ได้

อีกคนที่มีบทเด่นไม่เบาในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง คือตัวละคร “ฮ้ง” บุตรชายของเจ้าสัวเฉิง ที่มาเสียชีวิตลง และตนต้องแบกรับภารกิจนำพาแมนสรวงก้าวเดินต่อไป ท่ามกลางสงครามผลประโยชน์และการหักหลังจากคนใกล้ตัว นักแสดงที่รับบทนี้คือ “ต๋อง-ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา” ที่มีออร่าและฝีมือในการแสดงไม่เบา โดยเฉพาะในฉากที่ต้องกระชากหน้ากากของคนที่หักหลัง และมีแผนร้ายต่อแผ่นดินสยาม

ในครึ่งหลังของเรื่อง น้ำหนักของตัวละครส่วนหนึ่งถ่ายเทจากเขมไปอยู่ที่ฮ้ง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ชมที่ติดตามและลุ้นกับเขมมาแต่ต้นเรื่อง ขาดความต่อเนื่องและลดทอนอารมณ์ร่วมไปได้

ด้านการแสดงที่มีเสียงวิจารณ์ออกมาบ้างว่า “เล่นใหญ่เกินจอ” ด้วยความที่ตัวละครสำคัญส่วนหนึ่งรับบทโดยผู้ที่เป็นนักแสดงละครเวทีมาก่อน ซึ่งลักษณะของละครเวทีนั้นจำเป็นต้องแสดงเกินจริงเพื่อให้คนนั่งชมไกลๆ ก็รับรู้ได้ แต่เมื่อมาปรากฏบนจอภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่ จึงมีอาการ “โอเวอร์ แอ๊กติ้ง” ไปไม่น้อย

ในความเห็นนั้นเห็นว่า หากการแสดงแบบนี้ไปอยู่บนองค์ประกอบที่เหมือนจริง ก็จะเป็นการเล่นใหญ่เกินเบอร์แน่นอน แต่ด้วยแมนสรวงเลือกใช้แนวทางของโปรดักชั่นให้เป็นแบบเกินจริงทำนองภาพยนตร์เรื่อง “มูแลงรูจ” การแสดงแบบนี้จึงพอจะกลมกลืนไปได้

ประโยคหนึ่งที่เขมพูดออกมาตอนท้ายเรื่องว่า

“ตอนนี้ข้ารู้แล้วว่า ไพร่แบบข้า ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้”

เป็นคำพูดที่บอกเป็นนัยว่า คนตัวเล็กๆ ด้อยค่าขนาดที่เป็นไพร่ หากมีความทะเยอ ทะยานและความตั้งใจจริงก็สามารถมี “พลัง” ในการสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างการเปลี่ยนแปลงสังคมได้

จึงเข้ากับบริบทของสังคมตอนนี้ที่หลายคนรู้สึกว่า เวลาของ “พลังของคนตัวเล็กๆ ที่เคยถูกด้อยค่า” กำลังจะมาถึง และหากทรงพลังพอ ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางประเทศได้

ตอนที่มติชนสุดสัปดาห์นี้ตีพิมพ์ออกมา ไม่ทราบว่าจะยังมีโรงฉายเรื่องนี้อยู่หรือไม่ และมากน้อยรอบเพียงใด หากยังฉายอยู่ ใครยังไม่ได้ชมลองสละเวลาไปชมดูนะครับ

กับภาพยนตร์เรื่อง “แมนสรวง” ที่น่าสนับสนุนไม่ใช่น้อย •

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์