ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ
‘พิธี’ ตามยุคสมัย
ลดได้-เพิ่มได้
ชีวิตของผมทุกวันนี้นอกจากการเที่ยวเล่นและหาของกินตามใจชอบแล้ว
สิ่งที่ถือเป็นการงานได้อย่างหนึ่งคือ การรับเชิญไปพูดเรื่องโน้นเรื่องนี้ตามที่มีผู้ติดต่อมา
เราก็เหมือนคณะลิเกล่ะครับ มีคนจ้างไปเล่นที่ไหนก็ไปเรื่อย ไม่มีเกี่ยงงอนอะไร
ข้อสำคัญคือหัวข้อที่รับปากว่าจะไปพูดให้เขาฟังนั้น ต้องเป็นเรื่องที่เรามีความสันทัดหรือมีข้อมูลพอสมควร
เช่น ถ้าจะให้ผมไปพูดเรื่องทำไมอินเดียจึงส่งยานอวกาศไปลงที่ดวงจันทร์ แบบนี้ผมก็ไม่ไหวเหมือนกัน เพราะพระจันทร์ตามความรู้ของผมเวลานี้มีอยู่เพียงอย่างเดียว
คือ ขนมไหว้พระจันทร์เท่านั้น ฮา!
หัวข้อเรื่องที่คนทั้งหลายนิยมเชิญผมไปพูดมีหลายเรื่องครับ ที่ติดอันดับหมายเลขหนึ่งคือเรื่องเทคนิคการประชุมให้มีประสิทธิภาพ
เรื่องนี้ผมว่าประสบการณ์ของผมพอใช้ได้เลยทีเดียว เพราะแม้จนทุกวันนี้ก็ยังประชุมอยู่ทุกวัน และในชีวิตนี้ก็ได้เคยเห็นการประชุมทั้งที่ล้มเหลวและประสบผลสำเร็จมาแล้วมากมาย จนเอามาเป็นบทเรียนสอนใจตัวเองและสอนใครต่อใครได้พอสมควร
เมื่อวานนี้ผมเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการชุดหนึ่งของทางราชการ เป็นการประชุมเพื่อคัดเลือกผู้ได้รางวัลซึ่งมีหลักเกณฑ์ชัดเจนอยู่แล้วตามกฎหมาย ข้อมูลก็มีมากพอสำหรับการตัดสินใจ แนวทางที่เคยทำมาในอดีตก็รู้กันอยู่ มีข้อเสนอเพื่อขอรับรางวัลสิบราย พิจารณาแล้วผ่านเกณฑ์สองราย อีกแปดรายไม่ถึงเกณฑ์
ประชุมเสร็จ ปิดประชุมปั๊บ
กรรมการท่านหนึ่งหัวร่อแล้วบอกผมว่า ท่านประธานใช้เวลาประชุมทั้งหมด 22 นาทีพอดี
ใครว่าประชุมอย่างนี้ไม่มีประสิทธิภาพก็ต้องมาเถียงกันล่ะครับ
อีกหัวข้อหนึ่งที่ได้รับเชิญไปพูดบ่อยครั้ง คือเรื่องงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี และพิธีการต่างๆ
ในสังคมไทยเราตั้งแต่เกิดจนตายนี้มีพิธีมากพอสมควรนะครับ
เรื่องเกิดมาแล้วทำขวัญเดือนนั้นยกไว้เสียเถิดเพราะคนหมู่มากเลิกทำกันมานานแล้ว
แต่อย่างน้อยพอเข้าโรงเรียนก็ต้องมีพิธีไหว้ครู
เรียนจบก็มีพิธีแจกประกาศนียบัตรหรือพิธีรับปริญญา
ทำงานแล้วเผลอตัวไปครู่เดียวก็ต้องเข้าพิธีแต่งงาน
หลังจากนั้นไม่ช้าหรือเร็วก็ต้องมีพิธีเผาศพหรือฝังศพตามมาแน่นอน
คำถามแรกน่าจะมีอยู่ว่า พิธี คืออะไร
คำอธิบายส่วนตัวของผมบอกว่า พิธี คือการจัดการงานที่มีรูปแบบสืบเนื่องกันมา ส่วนมากมีคำอธิบายที่เป็นเหตุผลทางศาสนาหรือเป็นเหตุผลทางด้านสังคม เรื่องอย่างนี้บังคับกะเกณฑ์กันไม่ได้ สุดแต่ใจสมัครครับ
รายละเอียดในแต่ละพิธีก็สามารถเพิ่มหรือลดได้ตามความเห็นของผู้เป็นเจ้าของงาน และไม่ใช่แต่เพียงเพิ่มลดเท่านั้น อาจจะเป็นการปรับรูปแบบตามความคิดของเจ้าของงานที่เห็นว่าเหมาะสมก็ได้ทั้งสิ้น
ยกตัวอย่างเรื่องพิธีแต่งงานมาดูกันสักเรื่องหนึ่ง
ในยุคสมัยหนึ่ง การจัดงานแต่งงานต้องเชิญคนมาเข้าแถวยาวยืดรดน้ำอำนวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว เสร็จพิธีรดน้ำแล้วแขกทั้งหลายจึงได้รับอนุญาตให้กินข้าวได้ และโบราณท่านถือกันด้วยนะครับว่าผู้ที่จะรดน้ำอวยพรได้ต้องเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาว เพราะเด็กไม่อยู่ในฐานะที่จะอำนวยพรผู้ใหญ่ได้ ต้องเป็นผู้ใหญ่เท่านั้นถึงจะอวยพรเด็กได้
เวลาผ่านไปพักหนึ่ง ผู้คนเริ่มไม่เข้าใจเสียแล้วว่าผู้ที่จะไปต่อแถวรดน้ำได้ต้องเป็นผู้ใหญ่กว่าบ่าวสาว เพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกันได้ชวนกันไปต่อแถวรดน้ำเป็นที่ครื้นเครง มีการกระซิบกระซาบอะไรกันกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวให้หน้าแดงไปทั้งสองคน
มาในช่วงหลังนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด ผู้ใหญ่ไม่อยากออกจากบ้านไปรดน้ำใครอีกแล้ว กลัวจะติดโควิดแล้วจะต้องเชิญคนมารดน้ำศพ ว้าว!
ธรรมเนียมการรดน้ำอำนวยพรบ่าวสาวจึงจำกัดจำนวนผู้รดน้ำให้น้อยลง เหลือเพียงคุณพ่อคุณแม่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาวและญาติสนิทผู้คุ้นเคยจริงๆ
ดังผมเคยเล่าไว้แล้วครั้งหนึ่งในที่นี้ว่า ระหว่างโรคภัยระบาดหนัก การจัดงานแต่งงานของลูกเพื่อนผมคนหนึ่ง เราจัดงานกันในคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเขา นิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์และถวายภัตตาหารเพียงแค่หนึ่งรูป พระกลับแล้วเป็นพิธีรดน้ำ มีผู้ใหญ่รดน้ำในราวไม่เกินหนึ่งโหล จบแล้วก็กินข้าวกันได้คอนโดมิเนียมนั้นเอง
ส่วนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะไปนัดเพื่อนกินข้าวฉลองสมรสกันที่ไหนเมื่อไหร่ ลุงของเจ้าสาวอย่างผมไม่ต้องรู้ครับ และไม่ต้องไปด้วย ฮา!
เห็นไหมครับว่า พิธีการแต่งงานนี้ลดได้ เพิ่มได้ ปรับได้ตามยุคสมัย สุดแต่ความเหมาะสมที่จะพิจารณากัน
หลักนี้ใช้ตลอดไปจนถึงพิธีอื่นๆ ได้ด้วย ขอให้เราเข้าใจเหตุผลของการปรับเปลี่ยนเท่านั้นเป็นพอ
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นการปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจและเป็นพิธีการที่อยู่ในชีวิตของเราเนืองๆ นั่นคือเรื่องของการบังสุกุล
ต้องนึกเข้าใจหลักเสียก่อนว่าการบังสุกุลนั้น เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา มีต้นทางมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลที่ไตรจีวรครั้งนั้นยังเป็นของหายาก เพราะไม่มีโรงงานทอผ้าอย่างทุกวันนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทอผ้าใช้กันเอง พระภิกษุท่านจำเป็นต้องไปอาศัยเก็บผ้าห่อศพที่คนเขาทิ้งแล้วมาทำความสะอาดแล้วฟอกย้อมตัดเย็บเป็นไตรจีวร
ต่อมาผู้คนก็ไปขอพระบรมพุทธานุญาตนำผ้าผืนใหม่ไปวางไว้ใกล้ศพ แล้วนิมนต์พระไป “พิจารณา” ปลงอสุภกรรมฐาน ขณะเดียวกันก็อุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับด้วย ว่าแล้วพระก็นำผ้าผืนใหม่นั้นกลับไปใช้ประโยชน์
ธรรมเนียมอย่างนี้สืบมาจนถึงปัจจุบัน เวลาเราไปงานศพ เมื่อพระสี่รูปท่านสวดพระอภิธรรมจบแล้ว จึงมีการทอดผ้าบังสุกุลบนภูษาโยงที่เชื่อมต่อมาจากหีบศพ ด้วยความที่ผมมีอายุมากพอสมควรแล้ว เวลานี้ผมจึงเป็นมืออาชีพในเรื่องการทอดผ้าบังสุกุลเดียวครับ
งานไหนงานนั้นมักจะไม่มีพลาด
ทีนี้สำหรับศพที่เผาแล้วและเก็บอัฐิไว้ที่วัดก็ดี ที่บ้านก็ดี เมื่อมีงานประจำปีอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ลูกหลานก็ทำพิธีทอดผ้าบังสุกุลโดยเชื่อมต่อด้ายสายสิญจน์หรือภูษาโยงมาจากโกศอัฐิหรือป้ายชื่อของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว
ส่วนรายที่ไม่ได้เก็บอัฐิไว้ เช่น กรณีบ้านของผมซึ่งพ่อแม่สั่งไว้ว่าเมื่อเผาศพแล้วให้นำอัฐิและอังคารไปลอยน้ำเสียให้หมด เมื่อถึงคราวจะบังสุกุลอุทิศกุศลให้พ่อแม่ ผมก็ใช้วิธีการตั้งรูปคู่ของพ่อแม่ไว้แทนโกศหรือภาชนะบรรจุอัฐิ
เร็ววันนี้ผมจะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเพื่อนร่วมรุ่นเรียนหนังสือด้วยกันตั้งแต่ชั้นประถมหรือมัธยมที่ล่วงลับไปแล้ว นับจำนวนได้รวมกว่า 20 คน
ครั้นจะไปขวนขวายหารูปเพื่อนที่ตายแล้ว 20 คนมาเรียงแถวกันไว้เพื่อโยงสายสิญจน์เข้าหากันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ผมจึงตกลงตัดสินใจให้ใช้วิธีพิมพ์ชื่อเพื่อนที่เสียชีวิตแล้วทุกคนลงบนกระดาษแผ่นเดียวกัน แล้วใส่กรอบให้สวยงาม นำไปตั้งเป็นวัตถุประธานในงานทำบุญดังที่ว่า
นี่ก็เป็นการปรับเปลี่ยนอย่างหนึ่ง โดยไม่ทิ้งหลักเดิม คือ มีอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นเครื่องหมายที่ระลึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเราตั้งใจจะบำเพ็ญกุศลอุทิศไปให้ มาตั้งเป็นต้นทางของภูษาโยงหรือด้ายสายสิญจน์
ส่วนของที่จะทอดวางบนภูษาโยงหรือได้สายสิญจน์นั้น หลักของเดิมมีอยู่ว่า เป็นผ้าไตรจีวรสำหรับพระภิกษุนำไปใช้ประโยชน์ได้ มาถึงยุคนี้ ไตรจีวรเป็นของหาง่ายได้ขึ้นกว่าเดิม ถ้าจะทอดผ้าไตรจีวรอย่างธรรมเนียมเก่าก็ไม่ขัดข้องอะไร และเป็นของถูกต้องตามขนบด้วย
หรือถ้าจะลดรูปลงเพียงทอดผ้าอาบน้ำฝน ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าอย่างอื่นใดที่พระภิกษุสามารถจะนำไปใช้งานได้
ความเห็นส่วนตัวของผมก็เห็นว่าไม่น่าขัดข้องแต่อย่างใด และผมก็ได้ประพฤติเช่นนั้นอยู่เสมอ
เช่น งานที่จะทอดผ้าบังสุกุลให้เพื่อนในเร็ววันนี้ ผมเตรียมผ้าขนหนูผืนงามไว้ตามจำนวนพระภิกษุที่นิมนต์มาครบถ้วนแล้วครับ
แต่ถ้าจะถวายของอย่างอื่นที่ไกลเกินไปกว่า “ผ้า ”
ผมรู้สึกกระดากใจและรู้สึกว่าหลุดไปจากแนวทางที่มีคำอธิบายมาแต่ก่อน
เช่น ถ้านึกว่าจะเอาไฟฉายอย่างดีไป “ทอดผ้าบังสุกุล” มันจะยังไงๆ อยู่นะครับ
เพราะบังสุกุลนั้นรูปศัพท์เดิมแปลว่า “ผ้าเปื้อนฝุ่น” ไฟฉายไม่ใช่ผ้า แล้วจะใช้ได้อย่างไรเล่า
เล่าเรื่องมายืดยาวเสียขนาดนี้แล้ว เห็นจะพอเป็นหลักฐานได้ว่า ถ้ามีใครเชิญไปพูดเรื่องงานพิธีการทั้งหลาย ผมพร้อมรับเชิญเลยครับ
ลิเกไม่เกี่ยงงานฉันใด ข้าพเจ้าก็ไม่เกี่ยงบรรยายฉันนั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022