จาก ภาษาอังกฤษ สู่วิกฤต ‘วรรณคดีไทย’ หนุ่ม หน่ายคัมภีร์

บทความพิเศษ

 

จาก ภาษาอังกฤษ

สู่วิกฤต ‘วรรณคดีไทย’

หนุ่ม หน่ายคัมภีร์

 

ความวัวว่าด้วย “ภาษาอังกฤษ” ยังไม่ทันได้จางจากหายไป ความควายอันเนื่องด้วยการเรียนการสอน “วรรณคดี” ก็เข้ามาเยือน

เมื่อทรงศิริยืนยันว่า “รื่นจิตต์เถียงอาจารย์เรื่องการเรียนวรรณคดีไทย”

จุดเริ่มต้นอยู่ที่รื่นจิตต์ออกความเห็นว่า สอนแบบแปลศัพท์มันน่าเบื่อ ง่วงนอน น่าจะมีวิธีสอนแบบใหม่ใหม่ อาจารย์ก็เสียดสีคนโน้นที คนนี้ที เสียดสีนักเขียนรุ่นใหม่บ้าง หาว่าทำดีเท่าของเก่าไม่ได้ก็ทำท่าแหวกแนวยังโง้นยังงี้ ไอ้รื่นจิตต์ไม่ยอมอาจารย์เถียงคอเป็นเอ็น อาจารย์ก็ไม่ยอมไอ้รื่นจิตต์

ว่า “ปากยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม”

กู (ทองปน บางระจัน) จึงว่า “แล้วอาจารย์ก็ร้องไห้ขี้มูกโป่งออกจากห้องไปอย่างอาจารย์ภาษาอังกฤษ”

นี่ย่อมเป็นเรื่องอ่อนไหว ละเอียดอ่อน

วิธี บังคับ ขืนใจ

ให้รัก ให้เคารพ

เป็นความละเอียดอ่อนในลักษณะที่พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ตะโกนดังกึกก้องว่า บานปลาย ใหญ่ ใหญ่อย่างไม่ธรรมดา หากแต่ใหญ่อย่างมหึมาเมื่อบรรดา “รุ่นพี่” เพียรในการคาดคั้นเอาจาก “รื่นจิตต์” และกลายเป็น “ปฏิกิริยา” ร้อนแรงโต้กลับ

“มารยาททราม” รื่นจิตต์สวนอย่างฉับพลัน

“ถามมาก็ถามกันดีดี ถามให้มันมีสติปัญญา อย่ามาขู่ตะคอก วิธีการอย่างนี้มันเก่าเกินไปสำหรับคนอย่างรื่นจิตต์ วันพระ มหาวิทยาลัยมันไม่ได้วิเศษวิโสนักหนาหรอก

“อย่าถือว่าเป็นรุ่นพี่ คนที่จะเป็นพี่คนต้องมีธรรมะในใจ อย่างน้อยก็ฆราวาสธรรม การที่คนอย่างรื่นจิตต์จะเคารพใคร ใครไม่ต้องมาบังคับขู่เข็ญ

“ต่างคนต่างเกิด ต่างคนต่างอยู่”

 

รากฐาน ความคิด

ฟื้นฟู โซตัส “ใหม่”

นี่ย่อมเป็นการประกาศเสรีภาพ เป็นการเคลื่อนไหวอย่างที่ปรากฏผ่านกลุ่มอิสระซึ่งเรียกขานกันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นั่นก็คือ “กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่”

เมื่อเริ่มขึ้นในลักษณะเหมือนกับไม้ขีดก้านแรก เห็นเพียงเป็น “ประกาย” ส่องวาบขึ้นใน “ความมืด” เป็นแรงดาลใจให้กับ “หนุ่มหน่ายคัมภีร์”

เป็นเงาสะท้อนอันเป็นผลจากการบ่มในทาง “ความคิด” จากที่ได้อ่านใน “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ประสานเข้ากับ “เจ็ดสถาบัน”

และกับความเป็นจริงเบื้องหน้าของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมื่อ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้รับมอบหมายให้เขียนคำนำเสนอในหนังสือรวมกวีนิพนธ์ “เจ้าขุนทอง” ระหว่างพำนักอยู่อิทากะ มหาวิทยาลัยคอร์แนล

เขา “ประมวล” รากฐานของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ออกมา

 

คนบ้านด่าน ปราจีนบุรี

โบราณคดี ศิลปากร

สุจิตต์ วงษ์เทศ เริ่มมีชื่อเสียงในการขีดเขียนในช่วงที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรระหว่าง 2508-2513

งาน 2 ชิ้นในยุคแรกที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้อ่านมาก คือ

“กูเป็นนิสิตนักศึกษา” (รวมพิมพ์ครั้งแรก 2512) เป็นการสะท้อนอารมณ์ของนิสิตนักศึกษาที่สนใจแต่ความเพลิดเพลินโดยไม่นำพาต่อปัญหาสังคม แม้จะกระทบกระเทียบแดกดันนักศึกษา

แต่ก็สะท้อนให้เห็นชัดถึงการเริ่มต้นตื่นตัวกับปัญหาสังคมในหมู่นักศึกษาเอง ส่วนงานอีกชิ้นหนึ่งคือ “ขุนเดช” (รวมพิมพ์ครั้งแรก 2512) อันเป็นเรื่องของความบ้าระห่ำในการอนุรักษ์โบราณสถานของเขา

สุจิตต์ วงษ์เทศ มีต้นตอเป็นคนบ้านนอก

(แต่ก็ถูกสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมดึงดูดเข้ามาให้เติบโตในสังคมกรุงเทพฯ และก็ไปจากกรุงเทพฯ ไม่ได้เหมือนคนจำนวนมาก)

เขาเกิดที่บ้านด่าน ตำบลโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2488

เขาว่าเขามีเชื้อสายลาวพวนและก็มีเชื้อจีนด้วย บางวันอารมณ์ดีเขาก็บอกว่าเขามีเชื้อเขมรเพราะบ้านอยู่ใกล้พรมแดนเขมร

(สงครามสมัยก่อนที่มีการแย่งชิงไพร่พลกัน ปล้นสะดมกัน ฉุดคร่ากัน ใครอยู่ในเส้นทางพม่าผ่านไปก็ไม่แคล้วมีเลือดพม่า ใครอยู่ในเส้นทางที่กองทัพไทยผ่านไปก็ไม่แคล้วมีเลือดไทย

และใครอยู่ในเส้นทางที่ทัพเขมรผ่านก็คงไม่แคล้วมีเลือดเขมรติดตัวด้วย)

สุจิตต์กล่าวว่าหน้าเขาก็ปากหนาคางเหลี่ยมเหมือนคนขอมโบราณ ส่วนบิดามารดาของสุจิตต์นั้นเป็นชาวนาและค้าขายเล็กๆ น้อยๆ

มีฐานะในระดับปานกลางของคนแถวนั้น

สุจิตต์เป็นคนฉลาดแต่เรียนหนังสือไม่เก่ง เขาเรียนชั้นประถมที่วัดต้นโพธิ์ใกล้ๆ บ้าน มาต่อชั้นมัธยมในกรุงเทพฯ

โดยจบมัธยม 6 จากโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม

มาตกชั้นเตรียมอุดมปีที่ 1 จากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ แล้วก็มาจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนผดุงศิษย์พิทยา

สุจิตต์ใช้เวลาอีก 6 ปีที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ระหว่างปี 2508-2513 (ในขณะที่หลักสูตรจริงๆ มีเพียง 4 ปี) การศึกษาของสุจิตต์นอกจากจะเข้าเรียนตามปกติแล้ว ก็วนเวียนอยู่ใกล้ๆ กับ “วัด” อันเป็นบ่อเกิดทางปัญญาที่สำคัญของเขา

เขามักพูดถึงอิทธิพลที่ได้จากพ่อ (ซึ่งเคยบวชเรียนอยู่นาน)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การแหล่” และ “การเทศน์” ที่เขาทำได้อย่างคล่องแคล่วมีชีวิตจิตใจ

เมื่อเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เขาก็อาศัยวัดเทพธิดารามอยู่ เขาคุยอยู่ได้เสมอๆ ว่ามาจาก “สำนักเดียวกับสุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี”

ในช่วงที่เรียนอยู่ศิลปากรนั้นดาวนักเขียนและกวีของเขาก็เริ่มฉายแสง

เขาเริ่มทำงานจริงจังโดยเป็นผู้ช่วย “หลวงเมือง” (สำราญ ทรัพย์นิรันดร์) ทำหนังสือ “ช่อฟ้า”

ซึ่งกลายเป็นหนังสือชั้นดีและคลาสสิกทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

และเขาก็รับจ้างทำหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กให้กับโรงพิมพ์กรุงสยามและสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นอีกด้วย

เมื่อจบปริญญาตรีสุจิตต์ก็ได้ทำงานที่ “สยามรัฐ”

ที่นี่ได้กลายเป็นสนามของปลายปากกาของเขา ครั้งนั้น เขาและ ขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งเป็นนักเขียนคู่กันสร้างความเกรียวกราวให้กับ “สยามรัฐ” ไม่น้อย

และจาก “สยามรัฐ” นั้นเองเขาก็ได้รับความสนับสนุนให้ไปดูงานในอเมริกา 1 ปี

 

แสวงหา ความหมาย

รากฐาน หนังสือ

เส้นทางของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ภายใต้บทสรุปอันรวบรัดของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นเส้นทางแห่งการแสวงหาและค้นพบ

อาศัย “หนังสือ” อาศัย “การเขียน” หนังสือมาเป็น “เครื่องมือ”

อาศัยการเดินทาง อาศัยการลงมือปฏิบัติในห้วงแห่งการเดินทางเป็นเหมือนพาหนะในการส่งผ่าน

“ความรู้” แล “ความคิด”

เป็นห้วงเวลาจาก “นิราศ” ผ่านไปยัง “ขุนเดช” ทะลุไปยัง “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” และเคี่ยวกรำจนกลายเป็น “หนุ่มหน่ายคัมภีร์”

ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกับ “กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่”

นี่ย่อมต่างไปจาก “สภาพการณ์” ทางความคิด ทางการเคลื่อนไหว ในยุคของ จิตร ภูมิศักดิ์ มิได้ต่างเพราะ 1 อยู่สามย่าน และ 1 อยู่ท่าช้าง

หากความน่าสนใจอย่างหนึ่งอยู่ที่การปรากฏขึ้นของ “กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่” คือ การจุดชนวนในทางความคิดอย่างมีนัยสำคัญ ทั้ง จิตร ภูมิศักด์ สุจิตต์ วงษ์เทศ

เท่ากับเป็น “กองหน้า” เท่ากับเป็น “สะพานเชื่อม”