อุษาวิถี (45) อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (45)

อุษาวิถีในวัฒนธรรมไทย (ต่อ)

 

เอกลักษณ์ร่วมนี้ไม่อาจยึดเอาขอบเขตทางการเมืองการปกครองเป็นหลักแต่เพียงด้านเดียว หากแต่ต้องยึดเอาเครือข่ายของชุมชนที่คนในท้องถิ่นสร้างเอกลักษณ์ร่วมกัน จนทำให้เห็นว่าเป็นท้องถิ่นเดียวกันอยู่ในชนบท

ที่ซึ่งรู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “สังคมชาวนา”

ประชาชนในสังคมนี้จัดเป็นชนส่วนใหญ่ของสยามประเทศมาแต่อดีต เป็นกลุ่มชนที่มีขนบจารีตเป็นของตนเอง โดยผ่านพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมาช้านาน

เมื่อสังคมชาวนาเกิดขึ้นภายใต้เศรษฐกิจที่เลี้ยงตัวเองได้แล้วก็ตาม แต่เครือข่ายที่ขยายตามความเจริญของรัฐ ทำให้สังคมชาวนาไม่อาจหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์กับสังคมที่ใหญ่กว่าไปได้ เพราะอย่างน้อยชาวนาก็ต้องอาศัยวิทยาการทางการผลิตที่ก้าวหน้ากว่า มาใช้ประโยชน์ในการเกษตรของตน

ไม่ว่าจะเป็นคู คลอง เหมือง ฝาย เขื่อนกั้นน้ำ และบาราย ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ สังคมชาวนาจึงต้องอิงศูนย์กลางอำนาจที่ใหญ่กว่าในที่สุด และในสมัยทวารวดีนี้เองที่อาจนับได้ว่า เป็นจุดเปลี่ยนผ่านของฐานะทางสังคมของประชาชนในสยามประเทศในเวลาต่อมา

โดยสิ่งที่ประชาชนชาวนาเหล่านี้รับเข้ามาก่อนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวก็คือ ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธนั้นเอง

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นในดินแดนสยามประเทศอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจีนได้เปิดการค้าขายของตนขึ้นมาอย่างกว้างขวางในราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา การค้าขายของจีนยังผลให้เส้นทางทางคมนาคมในบริเวณแถบนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

และเป็นเหตุให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนจนเกิดรัฐใหม่ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นที่ราบลุ่มน้ำปิงตอนบน ลุ่มน้ำกกและอิง และลุ่มน้ำโขงตอนบน ตลอดไปจนลุ่มน้ำยมและน่านตอนล่าง

ซึ่งโดยรวมก็คือ ทางด้านเหนือจะเป็นเขตหริภุญชัยและโยนก ทางตอนกลาง ด้านใต้ และด้านตะวันออกเฉียงเหนือแบ่งเป็นกลุ่มสยามประเทศและละโว้หรือกัมโพชรัฐ

ที่สำคัญคือ ในช่วงนี้เองที่รัฐต่างๆ ในดินแดนสยามประเทศได้มีการติดต่อสัมพันธ์กันกับรัฐที่อยู่รอบนอกออกไป เช่น รามัญหรือมอญ พุกาม ลาว เวียดนาม จีนอวิ๋นหนัน และกัมพูชา

โดยที่รัฐทั้งหมดนี้ต่างยังคงมีอิสระและมีความสัมพันธ์กันในทางเครือญาติ มีการแลกเปลี่ยนกันในทางวัฒนธรรม ไม่มีการรังเกียจในการนับถือศาสนาความเชื่อที่ต่างกัน และต่างก็ให้ความสำคัญกับจีนเหมือนๆ กันในฐานะศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ

มีการส่งบรรณาการและทูตไปติดต่อกับจีนเพื่อให้จีนยอมรับฐานะทางการเมืองของตน

 

การเกิดบทบาทของจีนนี้มีที่น่าสังเกตว่า เป็นบทบาทของมหาอำนาจที่เอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่รัฐในสยามประเทศและบริเวณรอบนอก การยอมรับบทบาทของจีนจนยอมที่จะส่งบรรณาการให้แก่จีนนี้ ในด้านหนึ่งก็เพื่อแลกกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ว่า

ซึ่งสำหรับจีนที่ถือตนเป็นผู้มีอารยธรรม-วัฒนธรรมที่สูงกว่าอยู่แล้ว ย่อมพอใจต่อการยอมรับที่ว่ามากกว่าอะไรอื่น จีนจึงมิได้ใช้อำนาจบังคับให้รัฐเหล่านี้หันมายอมรับอุดมการณ์ทางการเมืองของตน

ด้วยเหตุนี้ รัฐในสยามประเทศ (รวมทั้งบริเวณรอบนอก) จึงยังคงยอมรับนับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธของอินเดียอย่างเหนียวแน่นแม้ในสมัยนี้

สภาพแวดล้อมเช่นนี้ยังดำเนินไปเรื่อยๆ ตราบจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 พัฒนาการในกรอบเวลาที่ว่า ก็นำพาให้รัฐในดินแดนสยามประเทศเปลี่ยนรูปโฉมอย่างมีนัยสำคัญ

รูปโฉมนี้ปรากฏผ่านกลุ่มรัฐเก่าอันประกอบด้วยตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช นครชัยศรี สุพรรณภูมิ กัมโพช-อโยธยา และหริภุญชัย กับกลุ่มรัฐใหม่อันประกอบด้วยโยนก สุโขทัย แพร่ น่าน และล้านช้าง เป็นต้น

ในบรรดารัฐเก่าและรัฐใหม่เหล่านี้เป็นที่ยอมรับกันว่า มีการรวมกลุ่มของรัฐที่สำคัญอยู่ในระหว่างสองรัฐด้วยกันคือ รัฐสุพรรณภูมิในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีนและแม่กลองที่เรียกว่า “สยามประเทศ” กับรัฐละโว้-อโยธยาในบริเวณลุ่มน้ำลพบุรีและป่าสักที่เรียกว่า “ละโว้”

อย่างไรก็ตาม ทั้งกลุ่มรัฐเก่าและรัฐใหม่นี้มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจอย่างค่อนข้างแน่นอน แต่ในด้านการเมืองแล้วมีบ่อยครั้งที่เกิดความขัดแย้งกัน

ฉะนั้น เมื่อรัฐละโว้กับรัฐสยามมีอิทธิพลขึ้นมา ความสัมพันธ์ของรัฐต่างๆ มีจึงเลื่อนไหลไปตามอิทธิพลของรัฐทั้งสองนี้ไปด้วย

ตราบจนปลายพุทธศตวรรษที่ 18 นั้นเอง รัฐสยามจึงค่อยๆ ก้าวขึ้นมามีฐานะนำอย่างค่อนข้างเด่นชัด

 

ที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะรัฐสยามมีพื้นฐานคติความเชื่อบางประการที่แตกต่างไปจากรัฐละโว้ นั่นคือ คติเกี่ยวกับกษัตริย์

กล่าวคือว่า รัฐละโว้เชื่อในคติเทวราช ว่ากษัตริย์คือองค์อวตารอันเป็นเชื้อสายของพระเจ้าที่ทุกคนจะต้องเชื่อถืออย่างเคร่งครัด คตินี้เกี่ยวพันโดยตรงกับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมหายาน และทำให้กลายเป็นคติที่มีความเคร่งครัดไม่ยืดหยุ่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ช่องว่างระหว่างชนชั้นจึงเคร่งครัดไปด้วย และเป็นเหตุทำให้รัฐละโว้ไม่อาจปรับตัวให้เกิดการประสานระหว่างชนชั้นได้ง่ายๆ

ฉะนั้น ยิ่งเป็นชนต่างชาติด้วยแล้วก็ยิ่งมีระยะห่างของความสัมพันธ์มากขึ้น ผิดกับรัฐสยามที่เชื่อในคติสมมุติราช ว่ากษัตริย์คือผู้มีอำนาจตามบุญบารมีที่สั่งสมกันมาแต่ปางก่อน ที่มาของกษัตริย์จึงไม่เคร่งครัดในเชิงสายเลือดหรือแม้กระทั่งเชื้อชาติ

คตินี้เกี่ยวพันโดยตรงกับศาสนาพราหมณ์และพุทธเถรวาท และทำให้กลายเป็นคติที่มีความยืดหยุ่นสูง เมื่อเป็นเช่นนี้ ช่องว่างระหว่างชนชั้นตามคตินี้จึงมีความเลื่อนไหลได้ดีกว่า การประสานกันระหว่างชนชั้น หรือแม้แต่การยอมรับชาวต่างชาติที่มีวัฒนธรรมต่างกันจึงเป็นไปได้ง่ายกว่า

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐสยามยังได้สร้างภาษาไทยขึ้นมาใช้ในการสื่อสารอีกด้วย

โดยยังคงเอาไว้ซึ่งบาลี สันสกฤต ขอม และมอญ เป็นภาษาทางราชการและการศาสนาเอาไว้