เหตุยิงสาวผิวสีตั้งครรภ์ดับ กับแนวปฏิบัติของตำรวจมะกัน

เป็นอีกครั้งที่ตำรวจในสหรัฐอเมริกา ก่อเหตุยิงคนผิวดำเสียชีวิต และกำลังกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต

เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ย่านเบลนดอน รัฐโอไฮไฮ สหรัฐอเมริกา ขณะที่ “ทาคิยา ยัง” สาวผิวสีวัย 21 ปี ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ เข้าไปนั่งในรถ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจ เนื่องจากร้านค้าที่ยังเพิ่งเดินออกมานั้น แจ้งว่า ยังขโมยของในร้านไป

และเกิดการขัดขืนไม่ยอมลงจากรถ ก่อนที่ยังจะพยายามหลบหนี และหักรถหลบจนชนเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง ทำให้ตำรวจนายนั้น ซึ่งยืนอยู่ที่หน้ารถและกำลังเล็งปืนไปที่ยัง ลั่นไกยิงยังที่อยู่ในรถ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา รวมทั้งเด็กในท้องที่เสียชีวิตด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์ดังกล่าว ถูกบันทึกไว้โดยกล้องติดตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ และถูกเผยแพร่ในเวลาต่อมา

หลังจากที่จอห์น เบลฟอร์ด ผู้บัญชาการตำรวจเบลนดอน ระบุในแถลงการณ์ว่า ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นขโมย ได้ขับรถพุ่งชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ก็ยิงปืนเพียงนัดเดียวทะลุเข้าไปทางกระจกหน้ารถ

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 2 นายที่อยู่ในเหตุการณ์

 

ขณะที่ ฌอน วอลตัน ทนายความของครอบครัวของยัง บอกว่า วิดีโอดังกล่าวสร้างความรู้สึกบั่นทอนอย่างยิ่ง และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่ยิงยังถูกไล่ออกและถูกตั้งข้อหาทางอาญา

และว่า ยังเป็น “เหยื่อ” ทางครอบครัวจึงขอเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสองชีวิตอันมีค่า คือ ทาคิยา ยัง และลูกสาวในครรภ์ของเธอ

การเสียชีวิตของยัง ถือเป็นอีกหนึ่งคดีที่โด่งดังในสหรัฐที่เกี่ยวข้องกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับคนผิวดำและเชื้อชาติอื่นๆ จนทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐ

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในประเด็นต่างๆ นานา ทั้งเรื่องของการปฏิบัติที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะกับคนผิวดำ รวมไปถึงเรื่องการที่เจ้าหน้าที่ยิงปืนใส่รถยนต์ที่กำลังเคลื่อนที่

 

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจนครนิวยอร์ก (เอ็นวายพีดี) เป็นหนึ่งในเมืองแรกๆ ของสหรัฐอเมริกา ที่ห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนไปที่ยานพาหนะที่มีการเคลื่อนที่ หลังจากเมื่อปี 1972 ได้เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ยิงเด็กอายุ 10 ปีเสียชีวิต ขณะที่เด็กนั่งอยู่ในรถยนต์ที่ถูกคนร้ายขโมยไป โดยเหตุดังกล่าวนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ และข้อห้ามดังกล่าวในเวลาต่อมา

โดยผลการวิจัยในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 พบว่า นโยบายดังกล่าว รวมทั้งมาตรการจำกัดเกี่ยวกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ได้นำไปสู่การที่คนตามท้องถนนถูกยิงน้อยลง และทำให้ผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตจากการถูกตำรวจยิงน้อยลงด้วย

ข้อดีที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้มีหน่วยงานด้านกฎหมาย ต่างพากันดำเนินรอยตามเอ็นวายพีดี ด้วยการแนะนำให้มีการจำกัดเกี่ยวกับการใช้ปืนของเจ้าหน้าที่ เพื่อปกป้องผู้คนตามท้องถนน รวมไปถึงผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดด้วย

ขณะที่หลายหน่วยงานของตำรวจได้แนะนำให้เจ้าหน้าที่พยายามหลีกเลี่ยงการไปยืนขวางหน้ารถ เพื่อป้องกันการเกิดอันตราย แต่จากคลิปวิดีโอล่าสุดที่เกิดขึ้นกับยัง พบว่า มีเจ้าหน้าที่นายหนึ่งเดินไปยืนขวางหน้ารถของยังเอาไว้ และถือปืนเล็งไปที่คนในรถ

 

จอห์น พี.กรอส จากมหาวิทยาลัยกฎหมายวิสคอนซิน ผู้เขียนเกี่ยวกับความท้าทายในการยุติการยิงไปที่ยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ บอกว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ไปยืนขวางหน้ารถ เป็นวิธีการที่แย่ และว่า เจ้าหน้าที่ไม่ควรนำตัวเองไปยืนอยู่หน้ารถ เพราะเขาไม่สามารถใช้ร่างกายในการหยุดรถได้

เอ็ดเวิร์ด โอบายาชิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้กำลังและทนายความผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการยิงของเจ้าหน้าที่ บอกว่า เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ไม่ได้ทำตามที่ฝึกไว้ เพราะการปฏิบัติที่ดีที่สุด คืออย่านำตัวเองไปอยู่ในจุดที่เป็นอันตราย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่เขาจะต้องนำตัวเองไปอยู่ในที่ตรงนั้น

กรอสยังได้ตั้งคำถามว่า เหตุใดตำรวจต้องชักปืนออกมา ทั้งที่บุคคลที่อยู่ต่อหน้าเป็นเพียงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าลักขโมยของเท่านั้น จึงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการฝึกเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“ต้องมีการสอนว่า ถ้ามีใครที่พยายามจะขัดขืน และคนคนนั้นกำลังจะต่อสู้หรือหลบหนี นั่นเป็นเพียงแค่การเชื่อมโยงการต่อต้านกับภัยคุกคาม ซึ่งจะต้องอบรมเจ้าหน้าที่ว่า มีอันตรายอยู่ทั่วทุกมุมและมีภัยคุกคามอยู่ทุกแห่ง” กรอสกล่าว