เครื่องเคียงข้างจอ วัชระ แวววุฒินันท์ / เมื่อ Die Tomorrow มาเจอกับวันรัฐธรรมนูญ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

เมื่อ Die Tomorrow มาเจอกับวันรัฐธรรมนูญ

ในช่วงวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคมที่เพิ่งผ่านมา ผมไม่ได้ให้ความสนใจกับวันนี้เลย มันเหมือนเป็นเช่นวันอื่นๆ ที่ดำเนินชีวิตอยู่

หากจะมีข่าวคราวอะไรที่เกี่ยวกับวันนี้บ้าง ก็พอกระตุ้นให้ไม่ลืมว่าวันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญของปวงชนชาวไทยนะจ๊ะเธอจ๋า อย่างเช่น การสัมภาษณ์อดีตนักการเมืองรุ่นใหญ่คนหนึ่ง ที่ท่านก็ตอบมาดีนะครับว่า “รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของกฎหมาย กฎหมายไม่สำคัญเท่ากับคนที่เข้ามาสู่การเมืองว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหน”

เท่ากับบอกว่าที่การเมืองไทยล้มลุกคลุกคลานมานานขนาดนี้ก็เป็นผลพวงมาจากความไม่เอาไหนของ “คน” นั่นเอง

หรือข่าวคราวที่เรียกร้องให้มีการปลดล็อกเพื่อจะได้ดำเนินการทางการเมือง พาบ้านเมืองสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้สมบูรณ์แบบนั่นก็คือ “การเลือกตั้ง”

ก็เป็นเรื่องที่ยังต้องยื้อยุดฉุดกระชากกันไประหว่าง 3 ฝ่าย คือ คสช. พรรคการเมือง และประชาชน ซึ่งถามว่าควรจะฟังใครมากที่สุดก็ต้องย้อนกลับไปอ่านพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 7 ในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยเมื่อปี 2475 ที่ว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องอยู่ที่ว่าราษฎรนั้นมีความเห็น มีความต้องการ ให้ประเทศไทยของเขาเป็นเช่นไร และเขาอยากอยู่ในสังคมบ้านเมืองแบบใด

ยังเป็นเรื่องที่ยังต้องหาทางออกและคำตอบกันไปไม่จบสิ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ต้องค้นหาคำตอบใดๆ แล้ว เพราะมันคือ “สัจธรรม” ของชีวิตทุกคนนั่นก็คือ “ความตาย”

ในห้วงเดียวกันนี้เองที่ผมได้มีโอกาสชมภาพยนตร์แนวอินดี้ของผู้กำกับฯ ไฟแรง เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับหนังดังเรื่อง “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย…ห้ามพัก…ห้ามรักหมอ” ก่อนหน้านี้เขาก็มีหนังเล็กๆ แต่น่าสนใจมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “36” “Mary is happy, Mary is happy”

มาปีนี้เขาทำหนังแนวๆ เรื่องใหม่ชื่อว่า “Die Tomorrow”

เป็นเรื่องที่บอกเล่าเกี่ยวกับความตายในหลายแง่มุม หลายต้นทาง หลายที่มา แต่มีที่ไปเดียวกันคือ “ความตาย”

หนังเอาเรื่องปรุงแต่งจากความทรงจำของเต๋อในช่วงปี 2555-2559 มาเล่า บวกกับข้อมูลสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับความตายมาใช้ เช่น รู้ไหมว่าในทุกๆ วินาทีจะมีคนทั่วโลกตาย 2 คน… จึงทำให้ผู้ชมต้องวางตัวเองดีๆ ระหว่างการรับรู้ข้อมูลจริงกับการชมเรื่องสมมุติ แต่เป็นสมมุติที่มาจากเรื่องจริง ผสมกับการสัมภาษณ์ความคิดเห็นจริงๆ ของคนต่างวัยอีก

งงไหมครับ ถ้างงต้องไปชม เพราะจะไม่งงมากเท่าที่เล่า แฮ่ม

ความตายเป็นเรื่องของธรรมชาติ เต๋อจึงเลือกวิธีการถ่ายทอดแบบธรรมชาติมากๆ นับแต่การถ่ายทำแบบ Long Shot คือถ่ายกล้องเดียว และใช้การแพนภาพเพื่อเล่าเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น เหมือนกำลังถูกแอบถ่ายอยู่

วิธีการนี้หลายคนอาจไม่คุ้นเคยและอาจไม่ชอบ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันให้ความรู้สึกของ “ความจริง” มากๆ ซึ่งคงเป็นกลวิธีที่เต๋อตั้งใจใช้

และสิ่งที่ตามมาของความเป็นธรรมชาติ คือ บทพูดของตัวละคร เพราะตัวละครในเรื่องนั้นๆ มีการพูดที่เป็นธรรมชาติมากๆ เหมือนไปแอบถ่ายจริงๆ อ่านเบื้องหลังก็จะเห็นถึงวิธีการทำงานของเต๋อ ที่เขาใช้วิธีเล่าเรื่องให้ตัวละครฟังแล้วให้คิดบทกันเองตามคาแร็คเตอร์ของตัวละครนั้นๆ จึงได้ความสมจริงที่ว่า

บางเรื่องเล่นเป็นกลุ่ม บางเรื่องเล่นเป็นคู่ มีเรื่องเดียวที่เล่นคนเดียว ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคนอื่นในเรื่องนั้นเลย แต่มีโฟกัสที่คนคนเดียว นั่นก็คือ “เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ” นอกนั้นเป็นตัวละครแวดล้อม

ต้องชมการแสดงของเต้ยที่เล่นได้น่าสนใจมาก ช่วงแรกตลอด 4-5 นาทีเต้ยไม่มีบทพูดเลย มีแต่การแสดงออกของสีหน้าเมื่อได้รับฟังข่าวข่าวหนึ่งจากคนรอบข้าง ฟังไปทานขนมไปและคิดตามกับเรื่องที่ได้ยิน แถมยังร้องไห้ออกมาด้วย

และในตอนท้ายเพิ่งจะได้พูดอยู่ 6-7 ประโยคเท่านั้น แต่ก็สามารถสื่อสารเรื่องราว ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครออกมาให้เราอึ้งได้

ทุกเรื่องแสดงให้เห็นว่าความตายนั้นมันอยู่ใกล้ตัวเรานิดเดียว เห็นๆ อยู่นี้เดี๋ยวก็ลุกไปตายได้ ที่พูดคุยกันอยู่นี้ เดี๋ยวก็จบชีวิตลงได้ หรือเมื่อตายแล้วคนแวดล้อมรู้สึกกับการตายนั้นอย่างไรแตกต่างกันไป

ที่น่าสนใจคือการสัมภาษณ์คน 2 วัยอย่างที่เกริ่นไปแล้ว เป็นสองวัยจริงๆ คนหนึ่งคือ คุณปู่วัย 104 ปีที่ยังมีสติและความจำที่ดี พูดจาได้ฉาดฉาน และคุณปู่ก็สามารถพูดถึงความรู้สึกเกี่ยวกับ “ความตาย” แบบคนผ่านโลกมาเยอะ

ส่วนอีกการสัมภาษณ์หนึ่งนั้น เป็นเด็กชายวัยน่าจะสัก 10 ขวบ ที่พูดถึงความตายได้อย่างธรรมดามาก เหมือนกำลังพูดถึงหุ่นยนต์ตัวโปรดตัวหนึ่ง ความเห็นของน้องน่าสนใจทีเดียวในแง่ของการผ่านโลกมาน้อย แต่มองแบบน้อยแต่เจ๋ง…ทำนองนั้น

หนังจบลงด้วยการทุบหัวคนดูให้อึ้ง หลายคนอาจจะอึ้งกับวิธีการของหนังว่า “อะไรวะ” และหลายคนอาจจะอึ้งกับ “ความรู้สึก” ที่ได้รับจากการชมหนังเรื่องนี้

แต่อย่างไรก็ตาม “พรุ่งนี้คนเราก็ต้องตายกันทุกคน”

จะวันรัฐธรรมนูญกันอีกกี่ปี จะมีรัฐธรรมนูญกันอีกกี่ฉบับ จะมีการเลือกตั้งกันอีกกี่ครั้ง จะมีรัฐประหารกันอีกกี่หน แต่สุดท้ายตัวละครที่โดดโลดเต้น ต่อสู้ แก่งแย่งกัน ชิงดีชิงเด่น หักหลังกัน ก็ต้องตายทุกคน

และก็มีให้เห็นจริงๆ มาแล้ว ที่เมื่อตายไปแล้วคนรู้สึกอย่างไรกับเรา จดจำได้ในเรื่องดีเรื่องร้ายอย่างไร

ธรรมนูญอาจเกิดใหม่ในวันนี้ แต่พรุ่งนี้ทุกคนก็ต้องตายตามกัน