ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ยานยนต์ |
ผู้เขียน | สันติ จิรพรพนิต |
เผยแพร่ |
กว่าที่ “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้จะถึงมือผู้อ่าน น่าจะเห็นราคาค่าตัวของรถไฟฟ้าน้องใหม่จากจีน GAC “Aion Y Plus” กันแล้ว
ก่อนหน้านี้อวดโฉมให้สื่อมวลชนเห็นตัวเป็นๆ ทั้งภายนอก-ภายใน โดยมี 3 รุ่นย่อยให้เลือก แตกต่างที่ขุมพลัง ความจุแบตเตอรี่ และระยะทางวิ่ง
GAC Group (Guangzhou Automotive Corporation Group) ถือเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ยานยนต์ของจีน เข้ามาทำตลาดในไทยผ่านบริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Aion)
ส่วนแบรนด์ที่ทำตลาดคือ “Aion” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ผลิตรถไฟฟ้า 100%
ถ้าเทียบให้เห็นภาพ คล้ายๆ กับบริษัท เกรทวอลล์ มอเตอร์ ที่มาทำตลาดในเมืองไทยแล้ว แบรนด์หรือยี่ห้อรถ คือ “ฮาวาล” และ “โอร่า” นั่นเอง
รุ่นแรกที่เข้ามาในไทยคือ “Aion Y Plus” และมีแผนใช้ไทยเป็นฐานรุกตลาดอาเซียนด้วย
“Aion Y Plus” แม้ทางบริษัทจะระบุว่าอยู่ในเซ็กเมนต์เอสยูวี แต่หากดูภาพรวมน่าจะกระเดียดไปทางครอสโอเวอร์มากกว่า เพราะภาพรวมไม่ว่าจะเป็นความสูงของรถ หรือแบบตัวถัง ไม่ค่อยคุ้นกับภาพเอสยูวีเท่าใดนัก
ด้านหน้ากระจังแบบปิดทึบ ด้านล่างเป็นตะแกรงให้อากาศไหลผ่าน ชุดไฟหน้า LED ดีไซน์คล้ายปีก ซึ่งเป็นไฟเดย์ไทม์ในตัว
ตรงกลางเป็นโลโก้ตัว “G”
ด้านข้างแต่งซุ้มล้อและชายข้างประตูด้วยสีเงินขนาดใหญ่
ที่เปิดประตูเท่มากเพราะเป็นแบบฝังแนบกับตัวรถ
ด้านท้ายติดสปอยเลอร์ชุดไฟท้าย LED ที่วางพาดยาวตามสมัยนิยม
ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว
ส่วนที่ชาร์จอยู่บริเวณแก้มด้านหน้าฝั่งซ้าย
ภาพรวมถือว่าออกแบบได้ดูเรียบๆ แต่ได้ไฟหน้าทำให้ดูโดดเด่นขึ้น
ด้านในถือว่าเป็นจุดเด่นเลยโดยเฉพาะเบาะนั่ง เล่นสีสันโทนเดียวกับสีภาพนอก
พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นแบบสามก้าน เกียร์จะเป็นก้านติดอยู่ด้านขวาคอพวงมาลัย คล้ายกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ จอมาตรวัดแบบ Full Digital ขนาด 10.25 นิ้ว
ขยับมาตรงกลางเป็นจออินโฟรเทนเมนต์แบบสัมผัส 14.6 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto และยังใช้ควบคุมระบบต่างๆ ของรถด้วย
ช่องปรับอากาศอยู่ต่ำลงมา
ขณะที่คอนโซลกลางเป็นสีเงินดูโดดเด่น มาพร้อมแท่นชาร์ตสมาร์ตโฟนแบบไร้สาย ช่องว่างด้านล่างวางของได้ และติดตั้งช่องเสียบพอร์ตยูเอสบี
เท้าแขนตรงกลางขนาดใหญ่
ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ไฟ Ambient Light เบรกมือไฟฟ้า EPB พร้อม Auto Brake Hold
เบาะนั่งคนขับ ปรับด้วยไฟฟ้า เบาะนั่งด้านหลัง แยกพับอิสระ 60:40 อาจจะติดอยู่นิดหน่อยตรงที่เบาะหลังไม่มีที่เท้าแขนกลางมาให้
ภายในดูกว้างขวางมาก ยิ่งได้หลังคากระจก Panoramic Sunroof ทำให้ดูโปร่งขึ้นไปอีก
ไม่น่าแปลกที่ดูกว้างขวาง เพราะหากดูมิติตัวถัง (กว้าง x ยาว x สูง) 1,870 x 4,535 x 1,650 ม.ม. ฐานล้อ 2,750 ม.ม.
ความยาวและฐานล้อถือว่ามากสุด เมื่อเทียบกับรถในเซ็กเมนต์เดียวกัน
ขุมพลังมี 2 บล็อกหลักๆ คือ มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 136 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 176 นิวตัน-เมตร แบตเตอรี่ Lithium-ion phosphate ขนาด 51.9 kWh
วิ่งได้ระยะทางสูงสุด 400 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC
อีกรุ่นเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า พละกำลังสูงสุด 204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 225 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ Lithium-ion phosphate ขนาด 61.7 kWh
วิ่งได้ระยะทางสูงสุด 480 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC)
และรุ่นท็อปใช้มอเตอร์ไฟฟ้า พละกำลังสูงสุด 204 แรงม้า แต่เปลี่ยนเป็นแบตเตอรี่ Ternary Lithium ขนาด 69.9 kWh
จึงเพิ่มพิสัยการวิ่งไกลสุดถึง 580 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC
โหมดการขับขี่มี 3 แบบให้เลือก คือ ECO / Normal และ Sport
ระบบคันเร่งอัจฉริยะ i-PEDAL
ด้านความปลอดภัยและตัวช่วยขับขี่จัดให้แบบครบๆ อาทิ กล้องมองภาพรอบคัน 360 องศา
ระบบเตือนการชนด้านหน้า รักษารถในเลน ระบบควบคุมความเร็ว ฯลฯ
GAC “Aion Y Plus” มีให้เลือก 3 รุ่นย่อย Standard Range, Standard Range Plus และ Long Range
แตกต่างที่พละกำลัง และความจุแบตเตอรี่
โดย 2 รุ่นที่ได้เปิดตัวในประเทศไทย และประกาศราคาออกมาดังนี้
- รุ่น 490 Elite ราคา 1,069,900 บาท
- รุ่น 550 Ultra ราคา 1,299,900 บาท
ปิดท้ายด้วยรถญี่ปุ่นรุ่นไมเนอร์เชนจ์ที่น่าสนใจ “มาสด้า CX 3” อวดโฉมในงาน “บิ๊กมอเตอร์เซลส์” ที่ผ่านมา
อาจปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อยแต่ยังสวยงามตามอกลักษณ์โคโดะ ดีไซน์ ทั้งเพิ่มสีสันความดุเข้ามา ด้วยกระจังหน้าสีดำ ไฟหน้าระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (HBC)
กระจกมองข้างสีดำ ซุ้มล้อสีดำเงา และหลังคาสีดำเงา
ล้ออัลลอยดีไซน์ใหม่ ขนาด 18 นิ้ว
พร้อมสีภายนอกใหม่ สีเทา แอโร เกรย์
ห้องโดยสารพัฒนาภายใต้คอนเซ็ปต์ HMI (Human-Machine Interface) ขับขี่เป็นศูนย์กลาง คอนโซลหน้าหุ้มด้วยหนังสีฟ้าเทา ตกแต่งด้วยด้ายสีคอปเปอร์ พร้อมกรอบช่องแอร์สีคอปเปอร์
เบาะหนังสีดำและผ้า Grand Luxe Suede เบาะนั่งคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมระบบบันทึกตำแหน่ง 2 ตำแหน่ง
เบาะหลังสามารถแยกพับ 60:40 อิสระออกจากกัน พร้อมพนักวางแขนและที่วางแก้วแบบมีฝาปิด
พวงมาลียมัลติฟังก์ชั่น มีระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย Sports Paddle Shift
Center Display แบบทัชสกรีน ขนาด 7 นิ้ว เชื่อมต่อ Mazda Connect รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto ระบบเสียง Bose รอบทิศทาง พร้อมลำโพง 7 ตำแหน่ง อุปกรณ์ชาร์จไฟแบบไร้สาย Wireless Charger
หลังคาซันรูฟไฟฟ้า
เครื่องยนต์สกายแอคทีฟเบนซิน ขนาด 2.0 ลิตร (SKYACTIV-G 2.0) กำลังสูงสุด 156 แรงม้า ประหยัดน้ำมันถึง 16.4 กิโลเมตร/ลิตร
ระบบควบคุมสมรรถนะการขับขี่อัจฉริยะ หรือ G-Vectoring Control (GVC) เทคโนโลยีเฉพาะของมาสด้าภายใต้ Skyactiv-Vehicle Dynamics
อุปกรณ์มาตรฐานด้านความปลอดภัย i-Activsense อาทิ ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (ABSM)
ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน (LDWS)
ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง (SCBS-R)
ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTA)
ระบบช่วยเตือนเมื่อผู้ขับเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (DAA)
ระบบเตือนการชนด้านหน้าและช่วยเบรกอัตโนมัติ (SBS)
ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติแบบ Advance (Advanced SCBS)
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ แบบ Stop & Go (MRCC with Stop & Go) ฯลฯ
มาสด้า CX-3 มีให้เลือก 4 รุ่นย่อย
รุ่น 2.0 Base 770,000 บาท
รุ่น 2.0 Base Plus 830,000 บาท
รุ่น 2.0 Comfort 900,000 บาท
และรุ่นย่อยใหม่ 2.0 Sport Luxe 970,000 บาท •
ยานยนต์ สุดสัปดาห์ | สันติ จิรพรพนิต
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022