บริโภคความศิวิไลซ์ ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

บริโภคความศิวิไลซ์

ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง (1)

 

สืบเนื่องจากงานเสวนาเปิดตัวหนังสือเรื่อง “เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง : การก่อร่างสร้างภาพลักษณ์สมัยใหม่ของสถาบันกษัตริย์สยาม” (แปลจากหนังสือชื่อ Lord of Things : The Fashion of the Siamese Monarchy’s Modern Image) เขียนโดย อ.เมาริตซิโอ เปเลจจี (Maurizio Peleggi) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งผมได้รับการชวนให้ไปเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาด้วยและทำให้มีโอกาสกลับไปอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจังอีกครั้งและมีประเด็นหลายอย่างให้คิดต่อจากการอ่านใหม่ในครั้งนี้

แม้ในงานเสวนาที่จัดโดย สำนักพิม์ฟ้าเดียวกัน ร่วมกับ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีการบันทึกวิดีโอเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่เนื่องด้วยเวลาที่จำกัดในการนำเสนอ

ทำให้ผมคิดว่าควรเขียนเป็นบทความอีกครั้ง น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจในวงกว้างมากขึ้น

หนังสือ เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง : การก่อร่างสร้างภาพลักษณ์สมัยใหม่ของสถาบันกษัตริย์สยาม
ที่มาภาพ : เพจ ฟ้าเดียวกัน

งานเสวนาวันนั้นใช้ชื่อว่า “บริโภคความศิวิไลซ์ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง” ซึ่งเป็นชื่อที่ชัดเจนในการอธิบายถึงเนื้อหาสาระที่สำคัญของหนังสือ เลยขออนุญาตที่จะใช้เป็นชื่อบทความของผมด้วยในครั้งนี้

ใครก็ตามที่สนใจประวัติศาสตร์สยามยุคสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้คงทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตาตื่นใจอย่างมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้อ่านเมื่อ 20 ปีก่อนซึ่งหนังสือถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรก) เพราะ อ.เปเลจจี จะพาเราไปทำเข้าใจรัชกาลที่ 5 ผ่านหลักฐานและเครื่อมือในการศึกษาที่งานวิชาการทางประวัติศาสตร์โดยปกติอาจจะไม่คุ้นเคยนัก เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์ การครอบครองงานศิลปะ แฟชั่น ภาพถ่าย และงานสถาปัตยกรรม

หัวใจสำคัญของหนังสือคือการอธิบายปรากฏการณ์การบริโภคสิ่งของวัตถุศิวิไลซ์ตามแบบอย่างวัฒนธรรมของชนชั้นสูงในยุโรป โดยชนชั้นนำสยามในสมัยรัชกาลที่ 5

โดยวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ในฐานะเครื่องมือในการนิยามตัวตนอย่างใหม่ของสถาบันกษัตริย์สยามท่ามกลางกระแสธารของความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

อ.เปเลจจี อธิบายความจำเป็นในการสร้างตัวตนอย่างใหม่ (ตัวตนแบบตะวันตก) โดยเชื่อมโยงเข้ากับความพยายามที่จะสถาปนาสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความชอบธรรมรูปแบบใหม่ของชนชั้นนำสยาม ในช่วงเวลาที่ระบบสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความชอบธรรมของรัฐสยามแบบจารีตกำลังถูกท้าทายและล่มสลายลงเรื่อยๆ

ระบบสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความชอบธรรมแบบจารีตคืออะไร

 

สรุปแบบรวบรัดก็คือ “จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ” ที่ตั้งอยู่บนโลกทัศน์ทางศาสนาแบบฮินดู-พุทธ ที่มีลังกาและจีนเป็นตัวแบบในอุดมคติ

ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ จักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิ คือตัวแบบอุดมคติที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการอธิบายทุกสิ่งอย่างในสังคม ทั้งการเมืองการปกครองและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะและสถาปัตยกรรม

พระปรางค์วัดอรุณฯ ที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง คือรูปธรรมที่สะท้อนสัญลักษณ์ของจักรวาลวิทยาแบบไตรภูมิที่ชัดเจนที่สุด

ในขณะที่ลังกาก็เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาอันสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อสยามไม่น้อยในต้นรัตนโกสินทร์ เห็นได้ชัดในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่โปรดฯ ให้สร้างอาคารมากมายที่อ้างอิงยึดโยงเข้ากับ คัมภีร์มหาวงศ์ (พงศาวดารลังกา) ไม่ว่าจะเป็น โลหปราสาท วัดราชนัดดาราม และรอยพระพุทธบาทตามวัดหลายแห่ง

รวมไปถึงการโปรดฯ ให้เขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องราวจากคัมภีร์มหาวงศ์ภายในวิหารพระนอนที่วัดโพธิ์ เป็นต้น

ส่วนจีนเองก็เป็นแหล่งอ้างอิงทางวัฒนธรรมของชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบงานศิลปะแบบพระราชนิยม (จีน) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่แพร่หลายอย่างมากในยุคสมัยดังกล่าว รวมถึงเฟอร์นิเจอร์จีน เครื่องตั้งแบบจีน สินค้า อาหารจีน ฯลฯ ซึ่งหลายอย่างได้กลายมาเป็นสินค้าที่ชนชั้นนำสยามยุคต้นรัตนโกสินทร์ใช้สอยในฐานะสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและบารมี

แต่ความเชื่อและระบบสัญลักษณ์ทั้งหมดนี้กลับถูกท้าทายครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 4 และหมดสิ้นพลังลงอย่างเกือบจะสิ้นเชิงสิ้นเชิงในสมัยรัชกาลที่ 5

 

การวิจารณ์ว่าไตรภูมิไม่ใช่พุทธศาสนาที่แท้จริงและการอธิบายธรรมเนียมจิ้มก้องกับจีนอย่างเสียหาย โดยรัชกาลที่ 4 ไปจนถึงการเสด็จเยือนลังกาของรัชกาลที่ 5 ที่ตามมาด้วยการวิจารณ์ความเชื่อเรื่องพระเขี้ยวแก้วอย่างหนัก ทั้งหมดคือตัวอย่างที่ชัดเจนที่ทำให้เราเห็นถึงการเสื่อมสลายลงของระบบสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความชอบธรรมแบบจารีต ซึ่งกำลังถูกแทนที่ด้วยระบบสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความชอบธรรมอย่างใหม่ที่มีวัฒนธรรมยุโรปเป็นตัวแบบใหม่ทางอุดมคติ

ก่อนงานของ อ.เปเลจจี งานศึกษาเรื่องการสถาปนาอำนาจของรัชกาลที่ 5 ถูกนำเสนอผ่านการศึกษาเรื่องการปฏิรูปการปกครอง กฎหมาย การสร้างกองทัพสมัยใหม่ การสร้างความเจริญสมัยใหม่ เช่น รถไฟ ไฟฟ้า ไปรษณีย์ ถนน ฯลฯ

แต่งานของ อ.เปเลจจี นำเสนอในอีกแง่มุม คือ นัยยะสำคัญของการบริโภควัฒนธรรมและสิ่งของวัตถุจากยุโรปที่ทำให้รัชกาลที่ 5 (และชนชั้นนำสยามร่วมสมัย) เปลี่ยนผ่านจากชนชั้นนำแบบจารีตมาสู่กษัตริย์แบบใหม่ เป็นกษัตริย์กระฎุมพี เป็นผู้ดีอังกฤษ และทัดเทียมเคียงบ่าเคียงไหล่กับกษัตริย์ในยุโรป

การบริโภคนี้เป็นเสมือนกระบวนการสร้างร่างกายใหม่ อำนาจใหม่ และอัตลักษณ์ใหม่ของกษัตริย์สยามให้สอดคล้องไปกับยุคสมัยอย่างใหม่ที่ยุโรปกำลังก้าวขึ้นมาเป็นแกนจักรวาลใหม่แทนที่ อินเดีย จีน และลังกา

 

สําหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับแนวทางศึกษาประเภทนี้ อาจสงสัยและมีคำถามว่า การบริโภคสิ่งของวัตถุจากยุโรป การแต่งกายเป็นกษัตริย์ยุโรป อาศัยในพระราชวังแบบยุโรป จะมีพลังอะไรมากมายขนาดนั้นเลยหรือ

ผมอยากยกตัวอย่างบทความที่ผมชอบมากชิ้นหนึ่งของคุณจันทรา มูเคอร์จี (Chandra Mukerji) เรื่อง Artisans and the Construction of the French State : The Political Role of the Louvre’s Workshops เพื่ออธิบายให้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว

งานชิ้นนี้ศึกษาการสถานปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยให้ความสำคัญต่อแง่มุมที่แตกต่างจากงานทั่วไป

ในอดีต งานศึกษาส่วนมากเมื่อต้องการหาคำอธิบายการเกิดก่อตัวขึ้นของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่งเศสมักมุ่งประเด็นไปที่การปฏิรูประบบราชการและการสร้างกองทัพสมัยใหม่เป็นด้านหลัก

แต่งานชิ้นนี้อธิบายโดยอ้างถึงงานของ โฮเวิร์ด เบคเคอร์ (Howard Becker) ที่เสนอว่า ความสำเร็จของการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่งเศสในราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้น มิใช่เกิดจากการเข้ามายึดกุดอำนาจในการควบคุมกองทัพได้สำเร็จของกษัตริย์ จนเป็นผลให้อำนาจของขุนนางลดลงหรือแม้กระทั่งการปฏิรูประบบราชการอื่นๆ

แต่ความสำเร็จเกิดขึ้นจากการที่ราชสำนักสามารถสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า “โลกศิลปะ” (art world) ขึ้นภายในราชสำนักและสังคมขุนนางชั้นสูงได้สำเร็จ

โลกศิลปะดังกล่าวก่อให้เกิดจินตกรรมว่าด้วยรัฐและโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจรูปแบบใหม่ที่เอื้อให้กับการถือกำเนิดขึ้นของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่งเศส

 

คุณมูเคอร์จี ได้ขยายความแนวคิดนี้ต่อโดยอธิบายว่า ราชสำนักฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อาศัยกลไกทางศิลปะเข้ามาสร้างโลกจำลองในอุดมคติขึ้นโดยมีตัวแบบคือ “อาณาจักรโรมัน”

โดยราชสำนักได้จ้างศิลปินและช่างฝีมือเป็นจำนวนมากเข้ามาทำการเปลี่ยน พระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles) ให้หมุนย้อนกลับไปสู่ยุคโรมัน (Roman revival) งานศิลปกรรม, สถาปัตยกรรม, เฟอร์นิเจอร์, การจัดสวน, การจัดพิธีการต่างๆ, การแสดงละคร ไปจนกระทั่งการแต่งกายในพิธีการต่าง ๆ ของขุนนาง

ทุกอย่างถูกออกแบบอย่างตั้งใจประหนึ่งการจำลองยอดเขาโอลิมปุส (Mount Olympus) ของเหล่าทวยเทพยุคโรมัน

พลังของงานศิลปะอันยิ่งใหญ่ทั้งหมดที่ถูกสร้างขึ้นอย่างประณีต ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ชี้ชวนให้ผู้ที่ได้มีโอกาสใช้สอยและสัมผัสเกิดความรู้สึกคล้อยตามประหนึ่งกำลังยืนอยู่ในอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ เมื่อผนวกเข้ากับการใช้สอยเป็นประจำในทุกวันๆ ของเหล่าขุนนางราชสำนักและชนชั้นสูงในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทั้งหมดได้ก่อให้เกิดปฏิบัติการในเชิงสัญญะวิทยาที่เข้ามาสร้างความรู้สึกให้แก่ชนชั้นนำฝรั่งเศส ณ ขณะนั้นว่า ฝรั่งเศสสามารถจะก้าวไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้ในแบบเดียวกับที่อาณาจักรโรมันเคยเป็น

ความรู้สึกนี้คือบันไดที่สำคัญขั้นแรกของการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธราชย์ และความรู้สึกนี้เป็นกระบวนการภายในจิตใจที่ก่อตัวขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับการใช้สอยและบริโภควัตถุสิ่งของรอบกาย