33 ปี ชีวิตสีกากี (35) | เมื่อต้องชันสูตร ‘ศพ’

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

สําหรับมนุษย์แล้ว การตายนั้นเป็นเรื่องปกติหากตายโดยธรรมชาติ ตายเพราะชรา หรือเจ็บป่วย

แต่จะไม่ปกติทันทีก็เมื่อตายโดยผิดธรรมชาติ ตามที่มีใน ป.วิ.อาญา มาตรา 148

เมื่อผมไปทำงานเป็นนายร้อยเวรสอบสวนคดีอาญา ผมได้ชันสูตรพลิกศพ หลายเหตุ หลายกรณี ได้เห็นความเศร้าโศกเสียใจของหมู่ญาติ ร้องไห้ปิ่มว่าหัวใจจะแตกสลายเมื่อผู้ที่ตนรักต้องจากไปด้วยเหตุต่างๆ น้ำตาแทบจะหลั่งรินออกมาเป็นสายเลือด

บรรยากาศที่ไปทำการชันสูตรพลิกศพ ไม่ได้ก่อให้เกิดความรื่นรมย์ พบแต่ความทุกข์ระทม

ผมพบศพมีสภาพที่แตกต่างกันไป สภาพศพที่ถูกยิงทั้งที่ไม่น่ากลัว และที่น่าสยดสยอง ที่ถูกยิงพรุนไปทั้งร่าง

ยังพบศพที่แขวนคอตาย ศพถูกฆ่าแล้วเอาไปฝัง รวมทั้งมีการเอาไปเผา ศพจมน้ำตาย ศพถูกฆ่าแล้วโยนทิ้งลงทะเล สภาพศพขึ้นอืด ศพถูกมีดพร้าฟันที่ศีรษะจนผ่าออกเป็นสองซีก ศพที่ถูกระเบิดจนร่างกายถูกฉีกเป็นชิ้นๆ ศพที่ถูกมีดแทงบาดแผลเหวอะหวะ

และสภาพศพที่ดูอุจาดสายตาเป็นที่สุด เมื่อผมต้องไปชันสูตรพลิกศพคดีอุบัติเหตุจราจร ศพนั้นเป็นหญิงขี่รถจักรยานยนต์ถูกรถบรรทุกสิบล้อบดขยี้จนร่างกายแหลกเหลว หัวใจกระเด็นหลุดออกมาและยังเต้นอยู่เลย ผมต้องรีบเก็บใส่ถุงพลาสติกเพื่อรวบรวมไปชันสูตร รวมกับอวัยวะส่วนอื่นๆ

และถ้าเป็นศพที่เสียชีวิตสดๆ สิ่งที่เห็นอีกคือเลือดที่ไหลออกมาจากบาดแผลจนกองท่วมบริเวณ หรือไม่ก็สาดกระเซ็นเต็มฝาผนังห้อง ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็ง ต้องเบือนหน้าหนี บางครั้งสภาพศพที่เสียชีวิตผ่านมาหลายวันขึ้นอืด มีกลิ่นจากแก๊สเพิ่มเข้าไปอีก หรือมีทั้งหนอน แมลงวัน น้ำเหลืองไหล

ถ้าลำพังการชันสูตรเพียงศพเดียวก็หนักหนามากพอแล้ว แต่บางคดีมีศพมากกว่า 2-3 ศพ หรือตายหมู่คราวละมากๆ กรณีอุบัติเหตุ คดีเครื่องบินตกที่ภูเก็ต ต้องนำศพมาตั้งวางเรียงกันในอาคารขนาดใหญ่กว่า 80 ศพ

และเมื่อครั้งที่เป็นโศกนาฏกรรมของโลก การเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปี พ.ศ.2547 ผมได้พบผู้เสียชีวิตนับจำนวนไม่ถ้วนจริงๆ

 

แต่เดิมเมื่อครั้งเป็นเด็ก ผมเป็นคนกลัวผี เมื่อมามีหน้าที่ ความกลัวกลับหายไป ความรู้สึกแบบเดิมๆ แทบไม่หลงเหลืออีกเลย

เมื่อเห็นศพ จึงรู้สึกเศร้า เสียใจกับผู้ที่ต้องเสียชีวิต นึกเสมอว่า ผมจะติดตามไปจับกุมคนที่ฆ่าคุณและมาพรากเอาชีวิตของคุณไป มาดำเนินคดีอาญาให้ได้ จะใช้สติปัญญาของผมอย่างสุดความสามารถตามที่ผมมีอำนาจหน้าที่

เคยมีบางคดีผมจนแต้ม ถึงกับจุดธูปบอกผู้เสียชีวิตให้มาเข้าฝันว่า ใครเป็นคนฆ่า ถึงผมจะลงทุนขนาดนั้นแล้ว ก็ไม่เป็นผล

ในเวลาเรียน ก็เรียนไปตามปกติ ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เห็นเหตุการณ์จริง ชีวิตของพนักงานสอบสวนในแต่ละเดือนจะมีเหตุการณ์เหล่านี้ผ่านเข้ามา คดีแล้วคดีเล่า เป็นเวลานานตลอดชีวิตการรับราชการ มันหนักหนายิ่งกว่าที่อาจารย์บรรยายไม่รู้กี่เท่า และชีวิตพนักงานสอบสวนก็วนเวียนอยู่กับชีวิตของผู้คน เมื่อมีคนตายก็ต้องไปแคะไปแกะค้นหาความจริงเบื้องหลังความตายนั้น

ส่วนคนเป็นก็มีปัญหาความทุกข์ที่แต่ละคนได้รับ จะต้องเข้าไปแก้ไขให้ ผมแบกความทุกข์ของประชาชนมาเป็นเรื่องของผมตั้งแต่เป็นตำรวจยศน้อยๆ จนวันสุดท้าย

 

ตามที่ผมบอกไว้แล้วว่าวิชาหลักที่จะต้องรู้ เมื่อเป็นตำรวจอาชีพ คือ วิชาการสืบสวน ซึ่งแตกแขนงไปมากมายว่าจะสืบสวนเกี่ยวกับทางด้านไหน ทุกอย่างจึงต้องมีวิชาการ เวลาดูหนังสืบสวนมันสนุกชวนติดตามและคนดูคอยคาดเดาว่า อะไรจะเกิดขึ้น เรื่องราวทางคดีจะจบอย่างไร การตัดต่อและถ่ายทำ กระชับ รวดเร็ว คนดูก็เพลิดเพลินไปตามความรู้สึก แต่พอมาเป็นวิชาการที่ต้องเรียนในชั้นเรียน มันน่าเบื่อ มันช้าเหมือนภาพ slow motion และบางครั้งก็มีอาการเซ็งๆ เอามากๆ ไม่เห็นสนุกเหมือนในหนังเลย

แต่ก็นั่นแหละ หนังกว่าจะสนุกตามที่เห็น ต้องถ่ายทำทีละฉาก ทีละตอน มีเบื้องหลังการถ่ายทำ ดังนั้น ทุกอย่างมันจึงต้องมีตำราสอนๆ กันมา แล้วก็ถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นหลังๆ ได้เรียนรู้ ที่ในเวลานี้เขามีศัพท์ใหม่ว่า การถอดบทเรียน ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามเวลา

ในยุคของผมที่เรียนกับอาจารย์ที่ให้ความรู้ ที่มาสอนในปีนั้นอาจารย์เขาสอนกันแบบนี้ แล้วคณะอาจารย์ก็ประกอบด้วย

1. พ.ต.อ.เกษม แสงมิตร รอง ผบก.สันติบาล

2. พ.ต.อ.วุทธิ จำปีรัตน์ รอง ผบก.น.ใต้

3. พ.ต.ท.อัมพร ศิริวัฒนกุล

4. พ.ต.ท.สำเริง โกมลเสน

5. พ.ต.ท.อังกูร อาทรไผท

6. พ.ต.ท.สมยศ อรรถศาสตร์ รอง ผกก.1 สันติบาล

เนื้อหาของวิชานี้ เป็นเรื่องที่ควรจะต้องสนใจ เพราะตำรวจถือเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะปกครองบ้านเมืองให้มีความเจริญและมีความสงบสุข ถ้ารัฐบาลที่ดี เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชน ก็ใช้ตำรวจเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่เมื่อใดเปลี่ยนเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หรือเผด็จการ ตำรวจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทันที ในทุกวิถีทาง โดยไม่สนใจหลักการที่ชอบธรรมของกฎหมายที่สากลถือปฏิบัติ

ความรู้เหล่านี้จึงเสมือนมีด 2 ด้าน เหมือนดาบ 2 คม คนที่สั่ง และคนถูกสั่ง จะใช้ไปทางด้านใด แล้วมาดูกันว่า วิชาการสืบสวนนั้นเขามีหลักการอย่างไร พวกนักสืบทำกันยังไง คิดกันยังไง

 

การสืบสวน เป็นการหาวัตถุดิบ (เส้น, ถั่วงอก)

การสอบสวน เป็นการปรุงวัตถุดิบ (ก๋วยเตี๋ยว)

การสืบสวน คือ การแสวงหาข้อเท็จจริง และหลักฐาน ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ ได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด (ป.วิ.อาญา มาตรา 2(10))

ผู้ที่ทำการสืบสวนคดีอาญาได้ มี 3 ประเภท คือ

1. ตำรวจ ตั้งแต่พลตำรวจ จนถึง อ.ตร.

2. พนักงานฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้านจนถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด

3. ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น ศุลกากร,สรรพสามิตร, ทรัพยากรธรณี

การสืบสวนแบ่งเป็น 2 ลักษณะ

1. ก่อนเกิดเหตุ เช่น การสืบสวนลักษณะพื้นที่ภูมิประเทศ หรือตัวบุคคลในพื้นที่นั้น

2. หลังเกิดเหตุ จะต้องสืบสวนให้เป็นไปตาม กฎหมายลักษณะพยาน เช่น พยานอย่างไรบ้างที่ศาลจะรับฟัง ซึ่งมีทั้งพยานบุคคล เอกสาร และวัตถุ

การสืบสวนจากตัวบุคคล คือ ผู้เสียหาย, ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ หรือผู้ให้ข่าว หรือสายลับ ถ้าทั้งหมดนี้ไม่มี ก็ให้ใช้วิธีที่ 2

สืบสวนจากร่องรอยที่เกิดเหตุ ซึ่งอาจต้องใช้วิทยาการเข้าช่วย เช่น ฟิสิกส์ เคมี สืบสวนร่องรอยในที่เกิดเหตุ

สืบสวนจากวัตถุหรือเอกสาร

สืบสวนดำเนินการเองโดย ปลอมตัว, เฝ้าจุด, ลอกคราบ ในข้อนี้ จะใช้กันบ่อยมาก

ในสหรัฐอเมริกา ใช้วิธีสืบสวนโดยใช้หลัก 3I

1. Information การหาข่าวจากตัวบุคคล

2. Interrogation การซักถาม

3. Instrument การใช้เครื่องมืออุปกรณ์

 

ฟังการบรรยายของอาจารย์ในวิชาการสืบสวน ตามหลักสากลที่ใช้กันนั้น เมื่อผมจบออกไปทำงาน ก็ใช้หลักการเหล่านี้มาโดยตลอดชีวิตการเป็นตำรวจ ทั้งต้องอ้างอิงข้อกฎหมายที่ระบุ อำนาจหน้าที่เอาไว้ และต้องอาศัยหลักการทั่วๆ ไป ในการสืบสวนและการสื่อสาร มีวิธีการดังนี้

Effective of Communication การสื่อสารระหว่างคนต่อคน

1. พูดด้วยการใช้ภาษาเดียวกัน

2. ใช้กิริยาท่าทาง

3. การใช้สื่อกลางด้วยการใช้ภาพ เช่น การสืบสวนหาตัวคนร้าย หรือการนำตัวอย่างมาให้ดู

Technic of Interview and Interrogation ศิลปะของการซักถาม และการสอบถาม

มีความมุ่งหมายที่จะให้ได้ข้อความอันควรรู้ อันเป็นข้อเท็จจริงของอาชญากรรม เป็นเครื่องนำทางให้ผู้สืบสวน เอาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

ผู้สืบสวนทำการซักถาม เพื่อตรวจสอบสวนข้อความที่ได้รับมาแล้ว ประกอบการเปรียบเทียบ

1. เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงของอาชญากรรม

2. เพื่อหักล้างหรือสนับสนุนคำให้การ

3. เพื่อสอบดูข้อวินิจฉัยจากวัตถุพยานในคดี

4. เพื่อที่จะโยงวัตถุพยาน หรือผู้ต้องสงสัยให้เข้ากับคดี

5. เพื่อให้ผู้ต้องหายินยอมรับสารภาพ โดยจำนนต่อหลักฐาน

6. เพื่อให้ได้มาซึ่งของกลาง

เมื่อไปทำงานพนักงานสืบสวนสอบสวนจะต้องสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานให้ชำนาญและเพียงพอจึงจะสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และนำมาใช้เพื่อหลักการนี้เท่านั้น เช่น เมื่อจับแก็งลักทรัพย์ได้ จะต้องใช้วิธีการอย่างไรจึงจะได้ทรัพย์สินที่ถูกโจรกรรมไปกลับคืนมา

จึงมาดูกันต่อว่า การสืบสวนนั้นเขาต้องทำอะไรกันบ้าง คดีแต่ละประเภทสืบสวนกันอย่างไร จะซักถามหาความจริงทำกันยังไง และมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

ประโยชน์ของการซักถาม

1. เพื่อเป็นเครื่องช่วยในการพิจารณาผู้กระทำผิด

2. เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง

3. เพื่อมาสนับสนุนผู้ต้องสงสัย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าได้กระทำผิดหรือร่วมกระทำผิด

4. เพื่อให้ได้มาซึ่งของกลาง และพยานที่เห็น พยานวัตถุเพื่อไปปรากฏต่อศาล