ปมปัญหาเรื่อง ‘กู่ม้า’ (2) สร้างสมัยหริภุญไชยหรือล้านนา?

โบราณสถาน “กู่ม้า” นี่ เมื่อพิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมแล้ว นักประวัติศาสตร์ศิลปะตอบได้เป็นเสียงเดียวกันว่า ละม้ายกับ “เจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา” มากกว่ารูปแบบอื่น

เว้นเสียแต่ว่า เมื่อแรกสร้างเคยมีรูปทรงอื่นมาก่อน (อาทิ อาจคล้ายเจดีย์ทรงระฆังลังกาแบบพุกาม ที่เรียกว่าทรงฉปัฏ) ความที่เก่าเกินไป ถูกทิ้งร้างชำรุดทรุดโทรมจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม กระทั่งเมื่อมีการซ่อมใหม่ จากสภาพที่เหลืออยู่กระท่อนกระแท่น พอจะให้นักโบราณคดีคลำทางได้บ้าง จึงตีความออกมาเป็นรูปทรงอย่างที่เห็นตอนบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ 43 ปีก่อน

หรือหากรูปทรงของกู่ม้าที่เราเห็นไม่ได้ซ่อมผิด เป็นรูปแบบดั้งเดิมจริงๆ คำถามตามมาที่เราต้องช่วยกันหาคำตอบก็คือ รูปแบบศิลปะลังกาเช่นนี้เข้ามาสู่เมืองลำพูนได้อย่างไร สมัยใด ติดต่อสัมพันธ์กันตั้งแต่สมัยหริภุญไชยในยุคที่อาณาจักรสุโขทัยยังไม่ก่อเกิด

หรือว่าเพิ่งเข้ามาในยุคล้านนาโดยผ่านสุโขทัย?

กู่ม้า สถูปทรงระฆังแบบลังกา ทรวดทรงเตี้ยแจ้กว่าเจดีย์ทรงระฆังสุโขทัย

กู่ม้า ทำไมจึงเป็นทรงระฆังแบบลังกา?

คําว่าเจดีย์ “ทรงระฆังแบบลังกา” นี้อาจไม่แตกต่างจากคำว่า “ทรงระฆังแบบสุโขทัย” มากนัก แต่แน่นอนว่าห่างไกลกันลิบโลกจากคำว่า “ทรงระฆังแบบล้านนา”

กล่าวคือ ในประเทศศรีลังกา ทั้งในเมืองอนุราธปุระราชธานีโบราณ และเมืองโปลนนารุวะราชธานีที่ต่อเนื่อง ต่างนิยมสร้างเจดีย์ทรงกลมที่เรียกว่า “ทรงระฆัง” แบบง่ายๆ บนฐานเตี้ยๆ เรียบๆ โดยมีแค่ฐานชั้นล่างสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวคว่ำ (บัวถลา) 3 ชั้น จากนั้นก็เป็นองค์ระฆังขนาดมหึมาเลย

รูปแบบเช่นนี้ พบว่าเจดีย์สมัยสุโขทัยรับมาเต็มๆ เพียงแต่ว่า ในส่วนขององค์ระฆังไม่ได้ใหญ่โตมโหฬารเท่า หากถูกจับยืดให้สูงขึ้นอีกนิด เพิ่มส่วนยอดให้เพรียวยาวขึ้นอีกหน่อย ซ้ำบางองค์เสริมฐานช้างล้อมขนาดใหญ่เข้าไปรองรับอีกด้วย

ยิ่งพอเจดีย์ทรงระฆังขึ้นมายังดินแดนล้านนา (ในยุคที่นครหริภุญไชยล่มสลายแล้ว มีอาณาจักรล้านนาเจริญขึ้นแทนที่) รูปแบบเจดีย์ทรงระฆังถูกพัฒนาให้แตกต่างไปจากทรงระฆังของสุโขทัยโดยสิ้นเชิง อันเนื่องมาจากการเสริมฐาน “ยกเก็จ” (บ้างเรียก ย่อเก็จ) มาแทรกคั่นระหว่างฐานบัวสามชั้นสองช่วง และบางองค์มีการปรับฐานบัวถลาเตี้ยๆ กลายเป็นฐาน “มาลัยเถา” (คือมีทั้งบัวคว่ำบัวหงาย) ยิ่งดูสูงชะลูดมากขึ้น ในส่วนขององค์ระฆังก็มีขนาดเล็กลง จนดูห่างไกลไปจากทรงระฆังลังกายิ่งขึ้นไปอีก

ย้อนกลับมาดูสถูปทรงระฆังของกู่ม้า อยู่ในลักษณะดั้งเดิมดูค่อนข้าง Primitif กว่าเจดีย์ทรงระฆังองค์ใดทั้งหมดในดินแดนล้านนาและสุโขทัย โดดเด่นด้วยการใช้วัสดุอิฐเผาผสมแกลบคล้ายอิฐสมัยหริภุญไชย ก้อนโตมหึมา คู่คี่สูสีกับอิฐที่ใช้ก่อสถูปกู่ช้าง

จากรายงานการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานกู่ช้าง-กู่ม้าของหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่ นักโบราณคดีได้นำเสนอว่า ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดเลยที่กู่ม้าจะมีรูปแบบเป็นทรงระฆังคล้ายสุโขทัย เนื่องจากจารึกที่วัดพระยืนระบุว่า ปี 1912 พระมหาสุมนเถระจากสุโขทัยได้รับอาราธนาจากพระญากือนากษัตริย์เชียงใหม่ให้ขึ้นมาเป็นสังฆราชา

กรมศิลปากรจึงสรุปว่า กู่ม้าสร้างขึ้นในสมัยพระญากือนา เพราะล้านนากับสุโขทัยมีการติดต่อกันอย่างแนบแน่นผ่านพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ นิกายรามัญวงศ์ โดยชี้ว่า กู่ม้าน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับ เจดีย์ทรงระฆังที่วัดสวนดอก วัดอุโมงค์ และวัดป่าแดง

เจดีย์ทรงระฆังสององค์แบบสุโขทัย ดูเพรียวชะลูดมากกว่ากู่ม้า

กู่ม้าเกี่ยวข้องกับพระมหาสุมนเถระจริงหรือ?

การฟันธงของนักวิชาการกรมศิลปากรเมื่อ 4 ทศวรรษก่อนมองว่า กู่ม้ามีอายุไม่เก่าไปกว่าสมัยพระญากือนา โดยใช้เส้นแบ่งจากหลักฐานที่ปรากฏชัดด้านศิลาจารึกของวัดพระยืนเป็นตัวตั้ง คือศักราช 1912 ที่ระบุถึงการขึ้นมาของพระมหาเถระรูปสำคัญจากสุโขทัยสู่ดินแดนล้านนา

ดิฉันมีคำถามมากมายเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว อาทิ หากพระมหาสุมนเถระลงมือสร้างสถูปขนาดมหึมาระดับกู่ม้าจริงแล้วไซร้ ไฉนจึงไม่มีการจารึกนามสถูปองค์ดังกล่าวไว้ด้วยเล่า รวมทั้งทำไมจึงไม่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาแต่เมืองบางขลัง ศรีสัชนาไลย ณ ที่นี้เลย ไม่เมื่อมหาสถูปช่างอลังการมากถึงเพียงนี้

อีกประการหนึ่ง เป็นความจริงล่ะหรือที่อำนาจของพระมหาสุมนเถระ ผู้นำนิกายใหม่ลังกาวงศ์สายรามัญวงศ์จากสุโขทัย จักสามารถแผ่อิทธิพลข้ามแม่น้ำกวง (ปิงเก่า) มายังฝั่งตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุหริภุญไชย ซึ่งถูกนิกายใหม่เรียกขานแบบดูแคลนว่า “นิกายเชื้อเก่า” ได้อย่างราบรื่น

ดิฉันไม่แน่ใจว่า การที่พระมหาสุมนเถระดั้นด้นไปสร้างศาสนจักรน้อยๆ ณ วัดพระยืน ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวงนั้น เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า แท้ก็เพื่ออยากหลบให้ไกลจากศาสนาพุทธนิกายเดิมหริภุญไชยอันมีศูนย์กลางอยู่ที่ฝั่งตะวันตกมิใช่หรือ จึงได้ไปฟื้นอรัญวาสีสมัยหริภุญไชยที่ถูกทิ้งรกร้าง เอามาปัดฝุ่นใหม่บูรณะให้เป็นสังฆารามชั่วคราว เพื่อชิมลางก่อนจักย้ายไปขยายศาสนจักรที่เชียงใหม่อย่างถาวร

หากกู่ม้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนิกายลังกาวงศ์ใหม่ที่พระมหาสุมนเถระสถาปนาจริง ก็ยิ่งน่าสงสัยว่า ใครเปิดไฟเขียวให้ท่านไปสร้างเจดีย์ทรงระฆังสุโขทัย (หากยอมรับว่าทรงระฆังนี้เป็นสุโขทัยจริง ไม่ใช่ทรงระฆังที่รับตรงมาจากลังกา) ประชิดกับสถูปรุ่นโบราณมากคือ กู่ช้าง ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับว่ามีอายุอย่างต่ำพุทธศตวรรษที่ 15-16 หรืออาจเก่าถึง 13-14 ด้วยซ้ำ

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้พระมหาสุมนเถระเลือกที่จะสร้างเจดีย์อีกองค์หนึ่งประกบคู่ วางเคียงข้างกันกับสถูปกู่ช้างทรงลอมฟาง ศิลปะแบบพยู่ อันมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับช้างทรงของพระนางจามเทวี?

เป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันขบคิดให้สุดทางด้วยนะคะ แม้รูปแบบของกู่ม้าจักละม้ายกับเจดีย์ทรงระฆังลังกาที่ปรากฏอยู่มากมายในสุโขทัยก็ตาม แต่เราต้องถามต่อด้วยว่า หากกู่ม้ารับรูปแบบทรงระฆังลังกาผ่านสุโขทัยจริง ผู้เอารูปแบบขึ้นมานั้นเขาควรขึ้นมาสมัยไหน และขึ้นมาได้อย่างไร อีกทั้งทำไมต้องมาใช้บริเวณที่มีกู่ช้างอยู่ก่อนแล้วมาสร้างเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย?

ยิ่งพิจารณาจากอิฐผสมแกลบแบบหริภุญไชยก้อนเบ้อเร่อเบ้อร่า พบว่าเจดีย์กู่ม้าไม่น่าจะสร้างในสมัยพระญากือนา และมีกลิ่นอายที่เก่ากว่าเจดีย์วัดสวนดอก อุโมงค์ ป่าแดง อยู่พอสมควร ที่เห็นชัดๆ ก็คือกู่ม้ามีฐานที่เตี้ยแจ้มาก องค์ระฆังใหญ่เทอะทะคล้ายกับมหาสถูปในลังกา ไม่เพรียวชะลูดแบบสุโขทัย

แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ หากหริภุญไชยจักรับอิทธิพลจากลังกาสายตรง?

พระพิมพ์รุ่นพระสิบสอง และพระแผงเหวัชระ พบใต้ฐานกู่ม้าขณะขุดแต่งปี 2503-2505

เงื่อนงำความสัมพันธ์ระหว่างหริภุญไชย-ลังกา

ความที่เมืองลำพูนอยู่ตอนบนเหนือสุโขทัยขึ้นไป ดังนั้น อะไรๆ ที่มีเค้าลางว่าเป็นศิลปะแบบลังกาหรืออิทธิพลลังกาในดินแดนภาคเหนือ มักถูกลากยาวลงมาว่า ทุกสิ่งอย่างย่อมไม่เก่าเกินไปกว่าการก่อเกิดรัฐสุโขทัยแล้วเสมอ

พูดง่ายๆ คือ จำเป็นต้องขอให้สุโขทัยเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างลังกา นครศรีธรรมราช ขึ้นไปสู่ลำพูนทุกครั้ง

หากงานศิลปะชิ้นนั้นสร้างสมัยล้านนาจริงๆ ดิฉันก็ไม่มีข้อโต้แย้งแต่อย่างใด ยอมรับว่ามีแนวโน้มที่สุโขทัยควรเป็นสะพานเชื่อม ทว่าหากร่อยรอยวัตถุชิ้นนั้นมันเก่ากว่ายุคล้านนาล่ะ! คือร่วมรุ่นกับสมัยหริภุญไชย จะยังให้ต้องผ่านสุโขทัยอีกด้วยล่ะหรือ ในเมื่อรัฐสุโขทัยยังเป็นวุ้นอยู่

ขอยกตัวอย่างปัญหาคับอกคับใจดิฉันมานานอยู่ 2 กรณี นั่นคือเราพบร่องรอยของคติพุทธแบบลังกาในดินแดนหริภุญไชย (ไม่ใช่แค่ “ดินแดน” เท่านั้นนะคะ แต่ยังหมายถึง “สมัย” หริภุญไชยด้วย ไม่ใช่สมัยล้านนา-สุโขทัย) นั่นคือ 1.พระอัฏฐารส 2.พระมหาธาตุกลางเวียง

ตำนานมูลศาสนาและชินกาลมาลินีกล่าวถึงกษัตริย์ราชวงศ์หริภุญไชยลำดับที่ 33 ผู้เป็นโอรสพระญาอาทิตยราช นามว่า พระญาธัมมิกราชาได้สร้างพระอัฏฐารสขึ้นองค์หนึ่ง (ไม่ได้ระบุทิศหรือสถานที่)

ซึ่งทุกวันนี้เราก็ไม่ทราบแน่ชัด ว่าหมายถึงองค์ไหน เพราะที่วัดพระยืนด้านทิศตะวันออกก็มีพระอัฏฐารส เป็นพระยืนสูงใหญ่หนึ่งองค์ก่อนถูกครอบในสมัยพระญากือนา ในขณะเดียวกันด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระธาตุหริภุญไชยก็มีพระอัฏฐารสอีกองค์หนึ่ง (น่าเสียดายเดิมเป็นพระยืนสูง 18 ศอก ต่อมาถูกครอบทับให้กลายเป็นพระนั่งในช่วงสงครามโลกนี่เอง)

คอพาน (เชิงเทียน) ดินเผาสมัยหริภุญไชยและพระพุทธรูปปางสมาธิเนื้อโลหะดำ พบในกู่ม้าขณะขุดแต่ง

คำถามคือ พอได้ยินคำว่า “อัฏฐารส” ปั๊บ นักวิชาการมักฟันธงว่า ตำนานสองเล่มดังกล่าวน่าจะเขียนผิด จับแพะชนแกะ เอาคติการสร้างพระอัฏฐารสที่มีขึ้นในลังกาทวีปครั้งแรก แล้วสุโขทัยรับมาในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-ต้น 20 แล้วลำพูน (ยุคล้านนา) ก็รับจากสุโขทัยมาอีกต่อหนึ่ง

โดยพุ่งเป้าวิจารณ์ต่อไปอีกว่า ก็เพราะตำนานสองฉบับนี้เขียนโดยพระภิกษุยุคล้านนา เป็นไปได้ว่าพระท่านคงสับสน หยิบเอาพุทธศิลป์ที่เพิ่งมีขึ้นในยุคล้านนาที่ร่วมสมัยกับสุโขทัย (คือพระอัฏฐารส) ไปจับยัดใส่ให้เป็นผลงานของพระญาธัมมิกราชาสมัยหริภุญไชยช่วงราว พ.ศ.1600 กว่าๆ โน่น

นี่คือสิ่งที่ดิฉันได้ยินได้ฟังมาตลอดเมื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในแวดวงวิชาการ ด้วยส่วนใหญ่เชื่อว่า อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นคติแบบลังกา เป็นไปไม่ได้ที่จะให้มีขึ้นบนแผ่นดินลำพูนในยุคหริภุญไชยซึ่งเป็นพุทธนิกายมหายาน?

โดยตัดสินจากการที่เจดีย์แบบหริภุญไชยนิยมทำพระยืนในซุ้มหลายองค์คล้ายพระปัจเจกพุทธผงาดเปล่งกระจายรัศมีแบบลัทธิตรีกาย ทั้งยังชอบทำ “พระมีหนวด” ดูขึงขังคล้ายนิกายวัชรยาน

เจดีย์คีรีวิหาร ศิลปะลังกาเมืองโปลนนารุวะ สร้างระหว่าง พ.ศ.1696-1729 โดยชายาองค์หนึ่งของพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช

ดังนั้น หริภุญไชยจึงไม่น่าจะติดต่อกับลังกาด้านพระพุทธศาสนาโดยเด็ดขาด เพราะลังกาเป็นเสาหลักของนิกายเถรวาท มาตรแม้นจะสัมพันธ์กันได้ ก็มีอีกช่องทางหนึ่งคือต้องผ่านรัฐพุกามเท่านั้น เพราะพุกามมีหลักฐานชัดเจนว่ามีความพยายามไปรับเอาอิทธิพลพุทธศาสนาจากลังกาขึ้นมาสายตรง และพุกามเองก็ไปมาหาสู่กับหริภุญไชยอยู่เนืองๆ

อีกหนึ่งตัวอย่างที่สงสัย คือตำนานระบุว่านครหริภุญไชยมีการสถาปนาพระมหาธาตุกลางเวียง โดยพระญาอาทิตยราชราวปลาย พ.ศ.1500 ถึงต้น พ.ศ.1600 อยากทราบเหมือนกันว่าหากหริภุญไชยยุคนั้นเป็นนิกายมหายานจริงตามความเห็นของนักวิชาการหลายท่าน พระญาอาทิตยราชเอาแนวคิดเรื่องการสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุนี้มาจากไหน การสร้างพระมหาธาตุกลางเวียงของนครหริภุญไชย (ในยุคที่ยังไม่มีรัฐสุโขทัย) ซึ่งมีกลิ่นอายคล้ายพุทธศาสนาแบบเถรวาท จักมีการติดต่อสัมพันธ์กันกับลังกาสายตรงได้หรือไม่

ฉบับหน้าจักเป็นตอนสุดท้ายเรื่องปริศนากู่ม้า ที่ไปมีหน้าตาคล้ายกับเจดีย์ทรงระฆังลังกา ทำให้ดิฉันจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า เป็นไปไม่ได้เลยหรือ ที่พระภิกษุลังกากับลำพูนสมัยหริภุญไชยจักไปมาหาสู่ ถ่ายทอดและรับอิทธิพลด้านพุทธศิลป์ซึ่งกันและกันบ้างไม่ได้

เอะอะอะไรก็ต้องรอให้ถึงยุคสุโขทัยลูกเดียว? •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ