ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน
Instagram : @sueching
Facebook.com/JitsupaChin
ลดวันเข้าออฟฟิศ
ทำงานไฮบริดด้วย AI
ช่วงนี้สิ่งที่ฉันบ่นเป็นประจำทุกวันจนติดปากก็คือปัญหาสภาพการจราจรติดขัด รถแน่นขนัดเต็มท้องถนนในทุกที่ ทุกช่วงเวลาโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร การต้องใช้เวลาอยู่บนรถหลายชั่วโมงทำให้นึกสงสัยว่าแต่ละบริษัทยังเก็บนโยบายที่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านกันไว้อีกหรือเปล่า
เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานจากที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮมก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป ฝั่งพนักงานยังยืนยันว่าพวกเขาสามารถทำงานจากที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้การเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ ดีไม่ดีอาจมีผลลัพธ์และสุขภาพโดยรวมที่ดีกว่าเดิมด้วย
ในขณะที่ฝั่งหัวหน้างานก็เริ่มรู้สึกหวั่นใจว่าการไม่มาเจอหน้าเพื่อนร่วมงานที่ออฟฟิศอาจจะนำไปสู่ปัญหาหลายๆ อย่าง อย่างเช่น ปัญหาเรื่องการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม หรือปัญหาเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้
แต่ละบริษัทจึงมีวิธีรับมือที่แตกต่างกัน บางบริษัทยกเลิกนโยบายทำงานจากที่บ้านทิ้งโดยสิ้นเชิง บางบริษัทให้ทำแบบไฮบริดคือกำหนดวันให้เข้าออฟฟิศประมาณสัปดาห์ละ 1-3 วัน ในขณะที่บางบริษัทก็ยอมให้พนักงานบางตำแหน่งทำงานจากที่บ้านได้ตามที่เห็นสมควร
เมื่อการทำงานจากที่บ้านถูกลดน้อยลง เรากลับมาทำงานในออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่เหมือนก่อนโควิด ในขณะเดียวกันก็มีเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความนิยมสูงอย่าง Generative AI ที่นำโดย ChatGPT
จึงเริ่มมีการถกเถียงกันว่าเป็นไปได้ไหมที่ AI จะช่วยให้มนุษย์อย่างเราทำงานได้น้อยลง
เว็บไซต์ All Work บอกว่า AI ไม่ได้เป็นแค่กระแสที่มาแค่ชั่ววูบ แต่อาจจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าการทำงานของเราไปเลยก็ได้ เพราะมันสามารถช่วยปลดล็อกข้อจำกัดบางอย่างที่บังคับให้เราต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน ช่วยปลดปล่อยมนุษย์ให้มีอิสรภาพในการทำงานได้มากขึ้น
AI สามารถช่วยทำให้การสื่อสารระหว่างพนักงานมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น ช่วยหาเอกสารที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ให้คำแนะนำและจัดลำดับความสำคัญให้กับพนักงานได้ คล้ายๆ กับการมีวาทยากรคอยกำกับให้วงดนตรีบรรเลงเพลงเพราะๆ จากเครื่องดนตรีของตัวเองกันได้อย่างสอดคล้องสวยงาม
หากกลัวว่าทำงานอยู่ที่บ้านไม่ได้มาเจอหน้าเจอตาเพื่อนร่วมงานนานๆ จะเกิดความรู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยวก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะ AI ก็จะช่วยทำให้การวิดีโอคอลล์คุยกันมีความสมจริงมากขึ้น ช่วยปรับแสง ปรับเสียง จัดพื้นหลัง ทำให้การคุยกันแบบเสมือนจริงราบรื่นที่สุด
แถมยังทำบางอย่างที่การเจอหน้ากันยังไม่สามารถทำได้ อย่างเช่น ฟีเจอร์ช่วยถอดคำพูดออกมาเป็นตัวอักษร หรือการแปลภาษาให้ตามเวลาจริง
AI ยังสามารถทำหน้าที่ช่วยฝึกอบรมให้พนักงานมีทักษะที่ดีขึ้นด้วยการออกแบบการเทรนนิ่งที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน ทำให้พนักงานเกิดการเรียนรู้ตลอดเวลาแม้ตัวจะไม่ได้มานั่งอยู่ที่ออฟฟิศ
ส่วนเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ เราก็สามารถใช้ AI มาช่วยดูแลคุณภาพชีวิตได้โดยใช้ควบคู่กับดีไวซ์ประเภทต่างๆ อย่างเช่น อุปกรณ์สวมใส่ได้ ทั้งสมาร์ตวอตช์และสายรัดข้อมือเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพกายและใจของพนักงาน แล้วให้ AI คอยช่วยเฝ้าดูความเรียบร้อย ให้คำแนะนำที่เหมาะสม
อย่างเช่น แนะนำว่าควรจะออกกำลังกายแบบไหน กินอะไร ทำยังไงให้นอนหลับได้ดีขึ้น เตือนให้คอยพักเป็นช่วงๆ หรือสอนเทคนิควิธีคลายเครียด
ประโยชน์การใช้งาน AI ไม่ได้ทำได้แค่ช่วยให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่บอกว่าเทคโนโลยีเดียวกันนี้น่าจะสามารถทำได้แม้กระทั่งลดเวลาการทำงานของมนุษย์อย่างเราให้เหลือแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ได้สำเร็จ
Jean Townend ประธาน Adecco ให้สัมภาษณ์กับ Aol ว่าเธอพนันได้เลยว่า AI อย่าง ChatGPT จะช่วยให้เราทำงานได้น้อยลงเหลือแค่ 4 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น
Townend บอกว่าเราจะไม่จำเป็นต้องทำงานมากเท่าเดิมเลย ถ้าเราสามารถทำให้ ChatGPT เข้ามาช่วยช้อนรับงานน่าเบื่อที่เป็นกิจกรรมซ้ำๆ ซากๆ ไปทำแทนเราได้ โดยปกติแล้วงานซ้ำซากนี่แหละที่จะเป็นงานที่เราเบื่อและไม่อยากทำมากที่สุด
ถ้าเราโยนงานที่ว่านี้ให้ AI ทำแทน มนุษย์ก็จะเป็นอิสระจากงานน่าเบื่อ เอาพลังและเวลาไปทุ่มให้กับงานที่ตัวเองอยากทำ อย่างงานใหม่ๆ หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์นี่แหละจะเป็นงานที่ทำให้เราได้เงินค่าตอบแทนสูงขึ้น หรือได้ค่าตอบแทนเท่าเดิมแต่เราได้ทำงานน้อยลง
อย่างไรก็ตาม การใช้ AI มาช่วยจัดการเปลี่ยนงานให้เป็นแบบไฮบริดถึงจะมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีเลย สิ่งที่ควรต้องระวังก็อย่างเช่น เมื่อเราให้ AI เข้ามาช่วยจัดการมากๆ หากมีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายโดยที่ไม่มีแนวทางจัดการที่ชัดเจนก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ว่าความรับผิดชอบจะไปตกอยู่ที่ไหน
หรือความเสี่ยงที่ AI จะไม่เป็นกลางเพราะผ่านการเทรนโดยไม่ได้มีข้อมูลที่ครบถ้วนก็อาจจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มหนึ่งมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อาจจะทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ทั่วถึง และไม่โปร่งใสได้
ฉันเชื่อว่าเมื่อนำมาใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับองค์กรของตัวเอง AI จะช่วยลดภาระการทำงานของพนักงานได้ ลดความจำเป็นของการเดินทางเข้าออฟฟิศ และอาจจะช่วยแบ่งโหลดการทำงานทำให้เราไม่เหน็ดเหนื่อยเท่าเดิม แต่การที่ AI เข้ามาช่วยรับงานบางอย่างไปทำก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทจะเสียผลประโยชน์เพราะพนักงานอู้งานหรือมีเวลาไปเม้ามอยกันหน้าเครื่องถ่ายเอกสารมากขึ้น
บางทีการที่เราปลดปล่อยพนักงานออกจากภาระงานซ้ำซากน่าเบื่อ เราอาจจะค้นพบความสามารถใหม่ๆ ในตัวพวกเขาที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนก็ได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022