เศรษฐาเป็นนายกฯ ทักษิณกลับไทย ภูมิทัศน์การเมืองแบบใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่ง

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ข่าวสารการเมืองตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ยาวมาจนกระทั่งถึงวันนี้มีแต่เรื่องการเดินทางกลับมาตุภูมิของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และไม่กี่ชั่วโมงต่อมาหลังจากที่ทักษิณเหยียบแผ่นดินไทย รัฐสภาก็ได้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้สำเร็จ โดยเป็นชายวัยหกสิบเอ็ดปีที่มีรูปร่างสูงโย่งเกินกว่าชายไทยทั่วไปมาก คือสูงถึง 192 ซ.ม. ใกล้เคียงกับกรณ์ จาติกวณิช ที่มีความสูง 193 ซ.ม. นับว่าเป็นนักการเมืองไทยที่สูงที่สุดคนหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลเพื่อไทยที่กำลังเกิดขึ้นเร็วๆ นี้จะบินได้สูงดั่งความสูงของผู้นำรัฐบาลหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ จังหวะเวลาของการได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่กับการคืนรังครั้งแรกในรอบ 17 ปีของนายกรัฐมนตรีคนเก่าได้ฉายให้เห็นภาพที่ดูเหมือนจะเชื่อมโยงว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวพันกัน ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตรงกันโดยบังเอิญ

นอกเหนือไปจากสองเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ในวันเดียวกันนี้ยังได้มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นอีกหนึ่งข่าว นั่นคือข่าวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องสุเทพ เทือกสุบรรณ ในคดีการเปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 หลัง ตามข่าว “ด่วน! สุเทพ เฮ ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีโรงพักฉาวทุกคน”

สามข่าวที่กล่าวมานี้เกินพอที่จะส่งให้วันที่ 22 สิงหาคม 2566 กลายเป็นวันที่มีความสำคัญทางหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย และเป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่งใน “ภูมิทัศน์การเมืองไทยแบบใหม่” ในวันต่อๆ มาได้

 

กล่าวคือ ภูมิทัศน์การเมืองไทยในสมัยก่อนวันที่ 22 สิงหาคม ฉายแสดงให้เห็นภาพของการต่อสู้กันแบบแบ่งขั้วถาวร ซึ่งกินระยะเวลายาวนานมากกว่าหนึ่งทศวรรษ หรือเกือบสองทศวรรษหากย้อนไปถึงปลายสมัยรัฐบาลไทยรักไทยในการต่อสู้กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ก่อนถูกรัฐประหารในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองในเรื่องสีเสื้อเหลือง-แดงยาวนานมาจนถึงปีนี้

แต่พอถึง 22 สิงหาคม 2566 เมื่อทักษิณกลับไทยจริงๆ ในช่วงเช้า โดยผ่านการเตรียมการมาอย่างดีและพิถีพิถันยิ่ง จากนั้นยกฟ้องสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.ในช่วงกลางวัน และปิดท้ายด้วยรัฐสภาผ่านความเห็นชอบได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” จากพรรคเพื่อไทยในช่วงเย็น ก็เป็นอันว่าสัญญาณของการสิ้นสุดลงของสงครามสีเสื้ออันยาวนานข้ามทศวรรษกำลังมาถึงแล้ว

พรรคเพื่อไทยซึ่งแต่เดิมเคยถูกนับให้อยู่ในฝั่งประชาธิปไตยก็ไม่สามารถอธิบายตัวเองแบบนั้นได้ ทว่า กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายอนุรักษนิยม จารีตนิยม ตลอดจนทุนนิยมที่อิงอาศัยสถาบันทางการเมืองตามประเพณี ที่มีลักษณะเป็นตัวแทนของทุนขนาดใหญ่และอภิสิทธิ์ชนเสียมากกว่าเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่มีเส้นสาย

การประจันหน้ากันอันยาวนานระหว่าง “แดง” กับ “เหลือง” ในอดีตจึงเปลี่ยนผันมาสู่การเผชิญหน้ากันของ “ส้ม” กับ “อะไรสักอย่างที่เป็นส่วนผสมของแดงกับเหลือง”

ซึ่งทำให้ยากจะคาดการณ์อนาคตข้างหน้าได้ว่าจะดำเนินต่อไปสู่อะไร และนำไปสู่บทสรุปใดในอนาคต

 

แม้จะไม่มีใครรู้ตอนจบของเรื่องนี้ แต่ที่แน่ๆ มันได้วาดภาพภูมิทัศน์การเมืองไทยแบบใหม่ขึ้น โดยมีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ

ประการแรก เกิดการแยกพรรคก้าวไกลออกไปให้อยู่โดดเดี่ยวจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เหลือ ยกเว้นบางพรรค เช่น ไทยสร้างไทยกับพรรคเป็นธรรม แล้วอิงอาศัยมวลชนเป็นฐานทางการเมืองสำหรับการต่อสู้ต่อไปในระยะยาว และสลายขั้วการเมืองเหลือง-แดงแบบเดิม ไปสู่ขั้วการเมืองส้มกับอะไรสักอย่างที่มาจากการควบรวมกันระหว่างแดงกับเหลือง

ประการที่สอง ภูมิทัศน์การเมืองไทยแบบใหม่นี้ยังมีความแปรเปลี่ยนไปในอัตราส่วนของมวลชนด้วย จากเดิมที่คนรากหญ้าเป็นฐานหลักของคนเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยทั้งหมด แต่ในภูมิทัศน์แบบใหม่คนเสื้อแดงบางส่วนอาจจะยังคงทำกิจกรรมกับคนเสื้อแดงต่อไปโดยไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยด้วย ในขณะที่บางส่วนอาจเลิกเป็นคนเสื้อแดงแล้วหันไปเป็นคนเสื้อส้มแทน

ซึ่งแน่นอนว่าก็จะเปลี่ยนไปเป็นฐานเสียงที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลแทนเพื่อไทยด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือจำนวนของคนเสื้อแดงจะลดลงแล้วเปลี่ยนไปเป็นส้ม คะแนนเสียงของเพื่อไทยก็จะลดลงแล้วเปลี่ยนไปเป็นคะแนนเสียงของก้าวไกลมากขึ้น

แต่ในขณะที่พรรคก้าวไกลจะได้พลังเพิ่มในเกมของการเลือกตั้ง พวกเขาจะกลายเป็นศัตรูโดดๆ ของเครือข่ายอำนาจในฝั่งอนุรักษนิยม ซึ่งทำให้แม้จะได้เก้าอี้มากขึ้นสักเท่าใดก็กลับจะยิ่งได้อำนาจรัฐยากขึ้นไปด้วย สถานการณ์เช่นนี้จึงมีพรรคก้าวไกลที่ถูกล็อกเป้าอยู่พรรคเดียว และต้องเล่นบทนักต่อสู้อยู่เพียงลำพังดังที่กล่าวไว้ในลักษณะประการแรก

ประการที่สาม การกำหนดทิศทางการเมืองจะเป็นเรื่องที่ถอยห่างออกไปจากเจตจำนงของประชาชนมากขึ้นทุกทีๆ จนทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเพื่อนำจำนวนเก้าอี้ที่ได้ไปสู่ใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองด้วยกันเอง โดยไม่มีเจตจำนงของประชาชนปนอยู่ในนั้น

ผลพวงจากการที่เจตจำนงของประชาชนไม่ได้รับการพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาก็อาจนำไปสู่ปรากฏการณ์อื่นๆ ทั้งในเชิงลบและบวกได้

ในเชิงบวกคืออาจเป็นตัวเร่งให้เกิดพลังผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น

แต่ในทางกลับกันก็อาจส่งผลเชิงลบ เช่น นำไปสู่ความเบื่อหน่ายทางการเมืองในหมู่ประชาชนอันทำให้เกิดความถดถอยของประชาธิปไตย

หรืออาจบีบคั้นให้ผู้คนมองหาหนทางย้ายประเทศ ดังที่เคยเกิดเป็นกระแสย้ายประเทศมาก่อนหน้านี้แล้วในช่วงล็อกดาวน์โควิด

 

พรรคเพื่อไทยและเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ดูเหมือนจะเชื่อว่าหากได้มีโอกาสบริหารรัฐบาลแล้วกอบกู้เศรษฐกิจไทยให้กลับมารุ่งเรืองได้ ผู้คนก็จะกินดีอยู่ดีมากขึ้น

ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นประชาชนก็คงพอใจ และไม่มีใครสนใจไปถือสาหาความกับเรื่องราวในอดีต

ความเชื่อนี้อาจจริงก็ได้หากรัฐบาลเพื่อไทยทำอย่างนั้นได้สำเร็จ

และอาจไม่จริงก็ได้หากประชาชนต้องการมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ คือต้องการเติมเต็มความสุขความสมบูรณ์ของชีวิตในมิติอื่นๆ ด้วย ไม่ได้ต้องการเพียงแค่มีเงินมากขึ้นเท่านั้น

เป็นที่ชัดเจนแน่นอนแล้วว่าการตัดสินใจกลับเมืองไทยของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ด้วยการ “ทุ่มแบบหมดหน้าตัก” ได้ถักทอประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองไทยร่วมสมัยไปแบบเต็มคาราเบล

ซึ่งหากมองเพียงแค่ในเกมการเมืองแต่เพียงอย่างเดียวก็นับว่าเป็นการ “คิดใหญ่ทำใหญ่” ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้บัลลังก์นายกรัฐมนตรีมาอย่างเด็ดขาดจนแทบจะปราศจากแรงต้านของฝ่าย ส.ว. กลไกรัฐ และองค์กรอิสระอื่นๆ

แต่การเดิมพันครั้งมโหฬารนี้จะนำไปสู่การคลี่คลายที่เป็นผลบวกต่อการสร้างประชาธิปไตยให้ลงหลักปักฐานสู่สังคมไทยในระยะยาวหรือไม่

คำถามนี้ยังคงเป็นที่สงสัยอยู่