นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : อะไรทำให้ Joseph Schooling ว่ายน้ำชนะ Micheal Phelps? (จบ)

AFP PHOTO / Odd Andersen

ตอน 1

3.หาฮีโร่ของตัวเองให้เจอ

เป็นที่รู้กันดีว่า ไมเคิล เฟลป์ส คือสุดยอดฮีโร่ตั้งแต่วัยเด็กของสคูลลิ่ง

เขาให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งว่า หากไม่มีเฟลป์สเป็นฮีโร่ เขาก็คงไม่มีวันนี้

ก่อนหน้าที่จะได้พบกับไอดอล ความฝันของเขามีเพียงแค่เป็นนักว่ายน้ำทีมชาติให้กับสิงคโปร์ แต่หลังจากได้พูดคุยกันสั้นๆ จุดมุ่งหมายในชีวิตก็เปลี่ยนไป

เขาฝันในสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ คือ อยากคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกให้กับบ้านเกิด

เฟลป์สกับสคูลลิ่งพบกันครั้งแรกเมื่อตอนเขาอายุได้เพียง 13 ปี

ปี 2008 ทีมว่ายน้ำสหรัฐของเฟลป์สไปแวะเก็บตัวฝึกซ้อมที่สิงคโปร์ เพื่อร่วมชิงชัยในโอลิมปิกเกมที่ปักกิ่ง

“พวกเขามากันที่คันทรีคลับที่ผมซ้อมว่ายน้ำเป็นประจำ” สคูลลิ่งรำลึกความหลัง

มันเป็นช่วงเวลาตอนรุ่งเช้า และเขากำลังซ้อมว่ายน้ำอยู่พอดี

“เด็กๆ ทุกคนวิ่งพล่านด้วยความตื่นเต้นและตะโกนว่า “ไมเคิล เฟลป์ส! ไมเคิล เฟลป์ส!” และผมอยากถ่ายรูปด้วยมาก”

รูปคู่รูปนั้นยังอยู่ในความทรงจำของสคูลลิ่ง แม้ว่าหน้าตาของเด็กน้อยจะเก็บอารมณ์ตื่นเต้นไว้ไม่อยู่

“ผมช็อกมากตอนได้ยืนถ่ายรูปกับเขา ผมแทบจะพูดอะไรไม่ออกเลยทีเดียว”

นับตั้งแต่นั้นความฝันก่อนตายของสคูลลิ่งก็คือการได้ว่ายน้ำแข่งกับเฟลป์สในสระเดียวกัน แน่นอนเขาก็แอบหวังอยู่ลึกๆ ว่าอยากเป็นผู้ชนะไอดอลของเขา

“แค่ได้ว่ายน้ำข้างๆ หรือเดินไปด้วยกัน หรือฉลองชัยชนะด้วยกัน แค่นี้ก็เป็นประสบการณ์ที่ผมจะจดจำไปชั่วชีวิต”

เฟลป์สและสคูลลิ่งเริ่มสนิทสนมกัน เด็กน้อยมองเห็นนักว่ายน้ำอันดับหนึ่งของโลกเป็นแบบอย่างในวิชาชีพ โดยในโอลิมปิกปี 2008 เฟลป์สทำผลงานได้อย่างสุดยอดคว้าเหรียญทองได้ถึง 8 เหรียญ

แต่ใช่ว่าเฟลป์สจะเป็นแค่ไอดอลในแง่ความสำเร็จอย่างเดียว ในยามที่สคูลลิ่งพบกับความผิดหวัง ก็เป็นเฟลป์สนี่แหละที่เข้ามาปลอบประโลม

ในโอลิมปิกเกมที่ลอนดอนปี 2012 สคูลลิ่งต้องพบกับอุปสรรค การแข่งขันว่ายน้ำท่าผีเสื้อ 200 เมตรรอบฮีต เมื่อทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดเตรียมหมวกและแว่นว่ายน้ำให้กับเขา เขาจึงต้องดิ้นรนตัวเองและหามาได้ในนาทีสุดท้าย ส่งผลให้การแข่งขันดังกล่าว สคูลลิ่งพลาดตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย

“ผมเดินตามหลังเฟลป์สหลังจบการแข่งขัน เขาหันมาและถามผมว่า “เกิดอะไรขึ้น?” ผมจึงบอกสิ่งที่เกิดขึ้นไป” สคูลลิ่งเล่าความหลัง

“พอทราบเรื่อง เฟลป์สก็กอดผมทันที แล้วบอกว่า “แกยังเด็กมาก ยังมีทางต้องเดินอีกไกล ถือว่าเป็นประสบการณ์และบทเรียนละกัน เงยหน้าขึ้น แล้วเดินหน้าต่อไปนะ””

ผ่านไปอีก 4 ปี ทั้งคู่พบกันอีกครั้ง แต่คราวนี้เฟลป์สไม่จำเป็นต้องปลอบสคูลลิ่งอีกแล้ว เพราะเด็กหนุ่มวัย 21 ปีเข้าเส้นชัยก่อนฮีโร่ตัวเอง

“แน่นอนว่าผมไม่แฮปปี้ ไม่มีใครอยากแพ้หรอก” เฟลป์สพูดถึงความพ่ายแพ้ต่อสคูลลิ่ง “แต่ผมภูมิใจในตัวโจเซฟ (สคูลลิ่ง) มาก” เขายังกล่าวต่ออีกว่า “ผมอยากจะบอกเด็กๆ ทุกคนว่า คุณต้องเชื่อมั่นในตัวเอง อย่ากลัว เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้”

สคูลลิ่งเองก็ออกมายอมรับอีกหลายครั้งว่า เด็กทุกคนควรจะหาฮีโร่ของตัวเองให้เจอ เพราะฮีโร่จะเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นแรงบันดาลใจชั้นยอดในการพาตัวเองไปถึงจุดนั้น

“ถ้าไม่มี ไมเคิล เฟลป์ส ผมไม่คิดว่าผมจะมาถึงจุดนี้ได้ ผมอยากเป็นเหมือนเขาตั้งแต่เด็ก ผมคิดว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้มันเป็นเพราะเขา”

“เฟลป์สคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมอยากเป็นนักว่ายน้ำที่ดีขึ้น”

 

4.เปลี่ยนความล้มเหลวเป็นพลัง

แม้ว่าสคูลลิ่งจะฉายแววความเป็น wonder kid ตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็ใช่ว่าสุดยอดดาวรุ่งตัวความหวังคนนี้จะไม่เคยล้มเหลว

ปี 2011 สคูลลิ่งเริ่มมีชื่อเสียงจากการแข่งขันซีเกมส์ที่อินโดนีเซีย เขาสามารถคว้ามาได้ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ผลงานนี้ทำให้เขากลายเป็นนักกีฬาที่ถูกจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งในโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน

พอเปิดปี 2012 มาได้ไม่นาน เขาก็สร้างชื่ออีกครั้งด้วยการเป็นนักกีฬาอายุน้อยที่สุดในการคว้ารางวัล “นักกีฬายอดเยี่ยมแห่งปี” ของสิงคโปร์

ทุกสายตาจับจ้องไปที่สคูลลิ่งในการแข่งขันลอนดอนเกมส์ปี 2012

แต่ทว่าทุกอย่างกลับพังทลาย

ในการแข่งขันว่ายน้ำท่าผีเสื้อ 200 เมตรรอบฮีต ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้จัดเตรียมหมวกและแว่นว่ายน้ำให้กับเขา เขาจึงต้องดิ้นรนตัวเองและหามาได้ในนาทีสุดท้าย ส่งผลให้การแข่งขันดังกล่าว สคูลลิ่งพลาดตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย นอกจากนี้ เขายังตกรอบท่าผีเสื้อ 100 เมตรอีกด้วย

นั่นคือจุดตกต่ำที่สุดในการเป็นนักว่ายน้ำ

“ผมรู้สึกตัวเองเป็นคนห่วยแตก มันเลวร้ายมาก” เขาเล่าให้ฟังถึงอดีตอันเจ็บปวด

“ผมไม่อยากว่ายน้ำอีกต่อไป หัวเข่าผมเจ็บ ผมมีทัศนคติที่แย่มาก แถมยังพูดไม่ดีกับโค้ชอีก”

แล้วเขาผ่านมันมาได้อย่างไร?

“ผมคิดได้ว่ามันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งในเส้นทางชีวิต และผมไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น” เขาย้ำ

“ความล้มเหลว ความผิดพลาด ทำให้ผมกลายเป็นคนที่ดีขึ้น และเติบโตขึ้น”

Annabel Pennefather ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสิงคโปร์ก็ชื่นชมสคูลลิ่งในมุมนี้

“นักกีฬาทุกคนควรจะเรียนรู้จากชัยชนะและความพ่ายแพ้ สคูลลิ่งก็ทำเช่นนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะเคยจบการแข่งขันด้วยอันดับบ๊วยที่สุดในโอลิมปิกที่ลอนดอน แต่เขาก็เรียนรู้และกลับมาได้อย่างน่าชื่นชม”


5.ไม่มองไปข้างหลัง มุ่งไปข้างหน้าเสมอ

ทุกวันนี้สคูลลิ่งคือซูเปอร์สตาร์ชั่วข้ามคืนของสิงคโปร์ เขาได้รับการต้อนรับกลับบ้านอย่างสมเกียรติ ขึ้นรถบัสเปิดประทุนแห่รอบเมือง ท่ามกลางชาวสิงคโปร์ที่ออกมาชื่นชมแน่นขนัด

นอกจากนี้ ยังได้รับเงินอัดฉีด 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 25 ล้านบาท) จากทางการสิงคโปร์อีกด้วย

“การว่ายน้ำครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อตัวผม แต่เพื่อประเทศของผม บางคนเชื่อว่าสิงคโปร์มีนักกีฬาว่ายน้ำที่มีพรสวรรค์มากมาย ผมก็เชื่อแบบนั้น ผมหวังมาตลอดว่าจะเปิดประตูใหม่ในวงการกีฬาของประเทศและผมก็หวังว่าจะทำให้เป็นแรงบันดาลใจกับเยาวชนในประเทศของผมต่อไป”

“มันเป็นถนนที่ยากลำบาก ผมเคยทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครในประเทศของเราทำมาก่อน ผมต้องขอบคุณกำลังใจจากทุกคนอย่างซาบซึ้ง ตอนนี้ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดี นี่ไม่ใช่แค่ช่วงเวลายิ่งใหญ่สำหรับผมคนเดียว แต่มันเป็นของสิงคโปร์ทั้งประเทศ”

แต่กระนั้นเอง สิ่งที่เขาทำกับความสำเร็จนี้ กลับไม่ใช่การเชยชมจนลืมตัวเอง เพราะหลังจากกลับมาเฉลิมฉลองที่ประเทศบ้านเกิดได้ไม่ถึงอาทิตย์ สคูลลิ่งก็บินไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าแคมป์ฝึกซ้อมต่อกับทีมมหาวิทยาลัย

เขาบอกว่ากำลังมองไปในการแข่งขันข้างหน้า โดยเฉพาะโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว ซึ่งเขาต้องการจะลงแข่งขันให้มากกว่านี้ เพราะเชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพจะคว้าชัยชนะได้อีกมาก

“ผมยังหนุ่ม ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า น่าจะเป็นช่วงพีกของผม” เขากล่าว “ก้าวต่อไปของผมคือการคว้าเหรียญทองมาเพิ่มมากกว่านี้”

“ผมรู้ว่าหลังจากนี้ชีวิตผมจะไม่เหมือนเดิม คงต้องมีความกดดันเพิ่มขึ้น ความหวังมากขึ้น แต่ผมจะเตรียมพร้อมให้มากที่สุด ผมอาจจะเคยมอง ไมเคิล เฟลป์ส เป็นไอดอล แต่ตอนนี้ผมต้องรักษาสถานะตัวเองให้ดีที่สุด”

เหรียญทองอยู่ในมือแล้ว แต่สคูลลิ่งยังคงถ่อมตัวและมองไปข้างหน้า

ถ้าจะมีสักหนึ่งประโยคที่บ่งบอกถึงตัวตนของเด็กหนุ่มผู้พร้อมจะโจนทะยานไปข้างหน้าอย่างเขา ก็เห็นจะเป็นคำพูดนี้

“ผมไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ แค่เป็นเด็กที่เอาชนะ ไมเคิล เฟลป์ส ได้หนึ่งครั้ง”